อาการก่อนมีประจำเดือน เป็นอย่างไร รู้ทันเพื่อป้องกัน

อาการก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual Syndrome) หรือที่เรียกว่า พีเอ็มเอส (PMS) คืออาการทางอารมณ์ ร่างกายและพฤติกรรม เช่น หงุดหงิด เครียด วิตกกังวล นอนไม่หลับ หรือเจ็บเต้านม พบว่าอาการต่าง ๆ ของอาการก่อนมีประจำเดือนนั้นเกิดกับสตรีวัยเจริญพันธ์ได้ถึง 85 เปอร์เซ็นต์ โดยระดับความรุนแรงของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ จะมีตั้งแต่ที่สามารถสังเกตได้เล็กน้อยไปจนถึงอาการที่รุนแรงมาก อาการต่าง ๆ มักจะเกิดขึ้นในช่วง 1-2 สัปดาห์ก่อนมีประจำเดือนและมักจะหายไปเมื่อประจำเดือนมา

อาการก่อนมีประจำเดือน

อาการก่อนมีประจำเดือนเกิดขึ้นได้อย่างไร ?

ส่วนใหญ่ผู้ที่มีอาการก่อนมีประจำเดือนจะไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่มีปัจจัยสำคัญ คือ การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเพศหญิง คือ ฮอร์โมนโปรเจสเตโรน (Progesterone) และเอสโตรเจน (Estrogen) ในช่วงก่อนมีประจำเดือน รวมไปถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น เกิดการเปลี่ยนแปลงของสารสื่อประสาทในสมอง โดยมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงของเซโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่มีผลต่ออารมณ์และเป็นส่วนที่กระตุ้นอาการก่อนมีประจำเดือนได้ การขาดเซโรโทนิน อาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าในช่วงก่อนมีประจำเดือน ทำให้เกิดความอ่อนล้า มีความอยากอาหารมากขึ้นและทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับได้

นอกจากนั้น อาการก่อนมีประจำเดือนสามารถมีความรุนแรงขึ้นได้หากเกิดภาวะซึมเศร้า อย่างไรก็ตาม ภาวะซึมเศร้าไม่ได้เป็นสาเหตุโดยตรงที่ทำให้เกิดอาการนี้

อาการก่อนมีประจำเดือนเป็นอย่างไร ?

มักจะเกิดขึ้น 1-2 สัปดาห์ก่อนมีประจำเดือน โดยอาการและความรุนแรงของแต่ละคนจะแตกต่างกันไป และอาจเกิดขึ้นไม่ซ้ำกันในแต่ละเดือน แต่โดยส่วนใหญ่แล้วจะเกิดเพียงไม่กี่อาการดังต่อไปนี้

อาการทางด้านอารมณ์และพฤติกรรม ได้แก่

  • มีอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดหรือโกรธง่าย
  • มีความตึงเครียด วิตกกังวล และไม่มีสมาธิ
  • มีอารมณ์เศร้า ร้องไห้บ่อย
  • มีความต้องการหรืออยากอาหารมากกว่าปกติ
  • มีพฤติกรรมแยกตัวออกจากสังคม (Social Withdrawal)
  • มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ เช่น นอนไม่หลับ (Insomnia)

อาการทางด้านร่างกาย ได้แก่

  • เจ็บเต้านม
  • ปวดกล้ามเนื้อและข้อต่อ
  • ปวดศีรษะ
  • ปวดท้อง ท้องอืด
  • ท้องผูกหรือท้องเสีย
  • น้ำหนักตัวเพิ่ม
  • เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
  • มีสิวขึ้น

อาการเจ็บปวดทางร่างกายหรือความเครียดที่เกิดขึ้นกับบางราย อาจมีความรุนแรงจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แต่โดยปกติอาการต่าง ๆ จะหายไปภายใน 4 วัน ตั้งแต่เริ่มมีประจำเดือน

เมื่อใดที่ควรพบแพทย์ ?

หากอาการก่อนมีประจำเดือนเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่สามารถควบคุมอาการได้และยังคงอยู่หรือพัฒนาไปจนเกิดกลุ่มอาการรุนแรงก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual Dysphoric Disorder: PMDD) ซึ่งมีความรุนแรงทางด้านอารมณ์มากกว่าอาการก่อนมีประจำเดือน โดยมีอาการผิดปกติทางกายและใจอย่างรุนแรง เช่น ซึมเศร้าอย่างมาก อารมณ์แปรปรวนง่าย โกรธง่าย ไม่มีสมาธิ อ่อนเพลีย วิตกกังวลและเครียด ซึ่งควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว

สามารถวินิจฉัยอาการก่อนมีประจำเดือนได้อย่างไร ?

อาการก่อนมีประจำเดือนจะเกิดขึ้น 2 สัปดาห์ก่อนการมีประจำเดือนและส่งผลทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง ซึ่งแพทย์จะมีวิธีวินิจฉัยด้วยการแยกโรคหรือภาวะที่ทำให้เกิดอาการคล้ายกันกับอาการก่อนมีประจำเดือน เช่น โรคไทรอยด์ ภาวะซึมเศร้า ไมเกรน ลำไส้แปรปรวน หรือกลุ่มอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง โดยอาจวินิจฉัยด้วยวิธีต่อไปนี้

  • การตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์ เพราะโรคต่อมไทรอยด์มักเกิดขึ้นบ่อยกับผู้หญิงวัยเจริญพันธ์ุ และบางอาการของฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำยังมีความคล้ายกันกับอาการของอาการก่อนมีประจำเดือน เช่น น้ำหนักตัวเพิ่ม เป็นต้น
  • การจดบันทึกอาการของอาการก่อนมีประจำเดือน แพทย์อาจให้ผู้ป่วยเขียนบันทึกอาการในช่วง 2-3 เดือนของรอบประจำเดือน เพื่อดูว่าอาการได้เกิดขึ้นเวลาใดและเกิดขึ้นนานเท่าไหร่ หรืออาการในแต่ละเดือนเกิดขึ้นแตกต่างกันอย่างไร

รักษาและบรรเทาอาการได้อย่างไร ?

วิธีบรรเทาอาการก่อนมีประจำเดือนมีมากมาย แต่บางวิธีอาจจะไม่ได้ผลสำหรับบางคน ผู้ป่วยจึงต้องพยายามลองปฏิบัติให้หลากหลาย เพื่อให้ได้วิธีที่ได้ผลกับตนเองที่สุด

ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต

  • หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ โดยแต่ละสัปดาห์ควรปฏิบัติให้ได้ดังนี้
    • ออกกำลังกายที่ใช้กำลังระดับปานกลางเป็นเวลา 2 ชั่วโมง 30 นาที
    • ออกกำลังกายแบบแอโรบิคที่ใช้กำลังมาก เป็นเวลา 1 ชั่วโมง 15 นาที
    • ออกกำลังกายผสมผสานกันระหว่างการออกกำลังกายที่ใช้กำลังระดับปานกลางและแบบแอโรบิคที่ใช้กำลังมาก
    • ออกกำลังกายที่ฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ 2 วันต่อสัปดาห์ขึ้นไป
  • ฝึกบริหารร่างกายหรือออกกำลังกายแบบผ่อนคลายกล้ามเนื้อ หรือออกกำลังกายที่ช่วยฝึกการหายใจอย่างถูกต้อง เช่น โยคะ จะช่วยลดอาการปวดศีรษะ ความวิตกกังวล หรือนอนไม่หลับได้เป็นอย่างดี
  • นอนหลับให้ได้ 8 ชั่วโมงต่อวัน
  • ทำกิจวัตรประจำวันให้เป็นเวลา เช่น รับประทานอาหาร ออกกำลังกาย และเข้านอน ให้ตรงเวลาเสมอ
  • พยายามรับมือกับความเครียดด้วยวิธีที่ดีต่อสุขภาพ เช่น พูดคุยกับเพื่อน เล่นโยคะ นวดผ่อนคลายหรือการบำบัดต่าง ๆ
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเฉพาะช่วงก่อนมีประจำเดือน เพราะอาจมีผลทำให้รู้สึกเศร้าหรือหดหู่มากยิ่งขึ้น
  • เลิกสูบบุหรี่

ดูแลโภชนาการหรือบริโภคอาหารเสริม

  • รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพเพื่อรักษาสมดุลของร่างกายและจิตใจให้ดีอยู่เสมอ
  • ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน (Complex Carbohydrate) อยู่สูง เช่น ผัก ผลไม้ และธัญพืชต่าง ๆ
  • ลดการบริโภคเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เกลือ (โซเดียม) และน้ำตาล มากจนเกินไป
  • บริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางชนิด ที่อาจช่วยลดอาการก่อนมีประจำเดือนบางอาการ เช่น วิตามินบี 6 วิตามินอี กรดโฟลิก แคลเซียม แมกนีเซียม แบล็คโคโฮส (Black Cohosh) หรือน้ำมันอีฟนิ่งพริมโรส (Evening Primrose Oil) อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทุกชนิด เนื่องจากบางชนิดอาจมีปฏิกิริยาต่อยาที่กำลังใช้รักษาโรคอยู่หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางชนิดไม่ได้รับการรับรองว่าช่วยรักษาได้จริง

การรักษาด้วยยา
ยาบรรเทาอาการปวด เช่น ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ยาคีโตโปรเฟน (Ketoprofen) ยานาพรอกเซน (Naproxen) ยาแอสไพริน (Aspirin) หรืออาจใช้ยาที่ยับยั้งการตกไข่อย่างยาคุมกำเนิด เพื่อช่วยบรรเทาอาการทางร่างกายที่เกิดจากอาการก่อนมีประจำเดือนได้ เช่น ตะคริว ปวดหลัง และอาการเจ็บเต้านม อย่างไรก็ตาม ก่อนใช้ยาเหล่านี้ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรเพื่อการใช้ยาอย่างปลอดภัย