โรคเครียด

ความหมาย โรคเครียด

โรคเครียด (Acute Stress Disorder) คือ ภาวะที่ต้องเผชิญแรงกดดันจากเหตุการณ์ร้ายแรง ซึ่งภาวะดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการตอบสนองของร่างกายและจิตใจ ผู้ที่ผ่านเหตุการณ์ซึ่งก่อให้เกิดความเครียด จะเกิดอาการเครียดประมาณหนึ่งเดือน หากเกิดอาการนานกว่านั้นจะกลายเป็นโรคเครียดหลังเกิดเหตุสะเทือนขวัญ (Posttraumatic Stress Disorder: PTSD)

โรคเครียด

โดยทั่วไปแล้ว เมื่อต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์อันตราย ร่างกายจะหลั่งสารสื่อประสาทที่ทำให้ร่างกายตอบสนองด้วยการสู้หรือหนี (Fight-or-Flight) ส่งผลให้หัวใจเต้นเร็ว หายใจถี่ขึ้น กล้ามเนื้อหดตัว และความดันโลหิตสูงขึ้น ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเครียดจะรู้สึกกลัว หวาดระแวง หรือตื่นตระหนกหลังเผชิญสถานการณ์อันตราย ทั้งนี้ อาจรู้สึกวิตกกังวล ว้าวุ่น และฟุ้งซ่าน หรือฝันร้ายเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลายครั้ง อย่างไรก็ตาม มนุษย์เราจะประสบภาวะเครียดจากสถานการณ์ที่แตกต่างกันไป กล่าวคือ สถานการณ์บางอย่างอาจทำให้คนหนึ่งเกิดความเครียดได้ ในขณะที่อีกคนอาจรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวได้ และไม่รู้สึกเครียดกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

อาการของโรคเครียด

ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเครียดมักเกิดอาการของโรคทันทีที่เผชิญสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความเครียด โดยจะเกิดอาการของโรคเป็นเวลานานหลายวันหรือหลายสัปดาห์ อาการโรคเครียด มีดังนี้

  • เห็นภาพเหตุการณ์ร้ายแรงซ้ำ ๆ ผู้ป่วยจะเห็นฝันร้าย หรือนึกถึงเหตุการณ์ร้ายแรงไม่ดีที่เคยเกิดขึ้นซ้ำ ๆ อยู่เสมอ
  • อารมณ์ขุ่นมัว อารมณ์หรือความรู้สึกของผู้ป่วยโรคเครียดมักแสดงออกมาในเชิงลบ ผู้ป่วยจะรู้สึกอารมณ์ไม่ดี มีความทุกข์ ไม่ร่าเริงแจ่มใสหรือรู้สึกไม่มีความสุข
  • มีพฤติกรรมแยกตัวออกมา ผู้ป่วยจะเกิดหลงลืมมึนงง ไม่มีสติหรือไม่รับรู้การมีอยู่ของตัวเอง หรือรู้สึกว่าเวลาเดินช้าลง
  • หลีกเลี่ยงสิ่งต่าง ๆ ผู้ป่วยจะหลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้นึกถึงเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความเครียด ไม่ว่าจะเป็นผู้คน สถานที่ สิ่งของ กิจกรรม หรือบทสนทนาที่เกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ
  • ไวต่อสิ่งเร้า ผู้ป่วยจะนอนหลับยาก โมโหหรือก้าวร้าว ไม่มีสมาธิจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้

ทั้งนี้ โดยทั่วไป มนุษย์เรามักเกิดความเครียดจากการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งความรู้สึกดังกลาวอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของร่างกายและอารมณ์บ้าง ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ความรู้สึก และพฤติกรรม ดังนี้

  • ความเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย
    • กล้ามเนื้อหดตัว ส่งผลให้ปวดหลัง เจ็บขากรรไกร รวมทั้งมีปัญหาเกี่ยวกับเอ็นตามกล้ามเนื้อ
    • ร่างกายตื่นตัวมาก ส่งผลให้ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น เหงื่อออกที่ฝ่ามือ มือเท้าเย็น เวียนศีรษะ ปวดไมเกรน หายใจไม่สุด และเจ็บหน้าอก
    • อ่อนเพลีย
    • แรงขับทางเพศลดลง
    • ปวดท้อง หรือรู้สึกไม่สบายท้อง ซึ่งเกิดจากปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร เช่น กรดไหลย้อน กรดในกระเพาะอาหาร ท้องอืด ท้องร่วง หรือท้องผูก
    • มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ
  • ความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ความรู้สึก
    • วิตกกังวลและฟุ้งซ่าน
    • รู้สึกกดดันอยู่เสมอ รวมทั้งตื่นตัวได้ง่ายกว่าปกติ
    • ไม่มีสมาธิ หรือหมดแรงจูงใจในการทำสิ่งต่าง ๆ
    • ซึมเศร้า
    • อารมณ์แปรปรวนง่าย
  • ความเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรม
    • รับประทานอาหารมากขึ้นหรือน้อยลงกว่าปกติ
    • มักโกรธและอาละวาดได้ง่าย
    • สูบบุหรี่ หรือใช้สารเสพติดอื่น ๆ
    • ไม่เข้าสังคม ไม่พบปะผู้คน รวมทั้งไม่สนใจสิ่งรอบตัว
    • ทำกิจกรรมต่าง ๆ หรือออกกำลังกายเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง

สาเหตุโรคเครียด

โรคเครียดมีสาเหตุมาจากการพบเจอหรือรับรู้เหตุการณ์อันตรายที่ร้ายแรงมาก โดยเหตุการณ์นั้นทำให้รู้สึกกลัว ตื่นตระหนก หรือรู้สึกสะเทือนขวัญ เช่น การประสบอุบัติเหตุจนเกือบเสียชีวิต การได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรง รวมทั้งทราบข่าวการเสียชีวิต ประสบอุบัติเหตุ หรือการป่วยร้ายแรงของคนในครอบครัวหรือเพื่อนสนิท ทั้งนี้ เหตุการณ์ที่ทำให้เกิดโรคเครียดซึ่งพบได้ทั่วไปนั้น มักเป็นเหตุการณ์เกี่ยวกับการออกรบของทหาร ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถูกโจรปล้น ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือทราบข่าวร้ายอย่างกะทันหันโดยไม่ทันตั้งตัว นอกจากนี้ โรคเครียดยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ด้วย โดยผู้ที่เสียงป่วยเป็นโรคเครียดได้สูง มักมีลักษณะ ดังนี้

  • เคยเผชิญเหตุการณ์อันตรายอย่างรุนแรงในอดีต
  • มีประวัติป่วยเป็นโรคเครียดหรือภาวะเครียดหลังเกิดเหตุสะเทือนขวัญ
  • มีประวัติประสบปัญหาสุขภาพจิตบางอย่าง
  • มีประวัติว่าเกิดอาการของโรคดิสโซสิเอทีฟเมื่อเผชิญเหตุการณ์อันตราย เช่น หลงลืมตัวเองหรือสิ่งต่าง ๆ อารมณ์แปรปรวนกะทันหัน วิตกกังวลหรือรู้สึกซึมเศร้า ไม่มีสมาธิ เป็นต้น

การวินิจฉัยโรคเครียด

ผู้ที่ผ่านการเผชิญเหตุการณ์ร้ายแรง อาจเกิดอาการของโรคเครียดได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เกิดอาการดังกล่าวควรไปพบแพทย์ทั่วไปหรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต เพื่อรับการตรวจและวินิจฉัยสาเหตุ โดยแพทย์จะสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ได้พบหรือได้รับรู้ รวมทั้งสอบถามอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นของผู้ป่วย ทั้งนี้ เมื่อได้รับการตรวจแล้ว แพทย์อาจวินิจฉัยหาสาเหตุของอาการป่วยว่า เกิดจากสาเหตุอื่นหรือไม่ เช่น การใช้สารเสพติด ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางอย่าง ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ หรือโรคทางจิตเวชอื่น ๆ หากอาการที่ผู้ป่วยเป็นไม่ได้เกิดจากสาเหตุอื่น ก็แสดงว่าอาการดังกล่าวอาจเกิดจากโรคเครียด

การรักษาโรคเครียด

วิธีรักษาโรคเครียดคือการรับมืออาการของโรคที่เกิดขึ้นเมื่อต้องเผชิญสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความเครียด ผู้ป่วยควรเข้าใจสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการดังกล่าว และพูดคุยกับครอบครัวหรือเพื่อนเพื่อระบายความเครียดอย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่เกิดอาการรุนแรงหรือเกิดความเครียดเรื้อรัง จำเป็นต้องเข้ารับการรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยตรง ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

  • ปรึกษาแพทย์ การปรึกษาจิตแพทย์ถือเป็นวิธีรักษาโรคเครียดที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยรักษาผู้ป่วยโรคเครียดที่เกิดอาการรุนแรงและเป็นมานาน โดยแพทย์จะช่วยให้ผู้ป่วยรับมือกับสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความเครียด รวมทั้งช่วยให้ผู้ป่วยจัดการอาการของโรคที่เกิดขึ้นได้
  • บำบัดความคิดและพฤติกรรม ผู้ป่วยโรคเครียดที่เกิดความวิตกกังวลและอาการไม่ดีขึ้น จะได้รับการรักษาด้วยวิธีบำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioural Therapy: CBT) การบำบัดความคิดและพฤติกรรมเป็นวิธีจิตบำบัดที่มีแนวคิดว่าความคิดบางอย่างของผู้ป่วยส่งผลต่อปัญหาสุขภาพจิต ผู้ป่วยโรคเครียดอาจได้รับการบำบัดระยะสั้น โดยแพทย์จะพูดคุยเกี่ยวกับความรู้สึกและความคิดของผู้ป่วย รวมทั้งช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจว่าความคิดบางอย่างนั้นไม่ถูกต้อง และปรับทัศนคติของผู้ป่วยที่มีต่อสิ่งต่าง ๆ ให้มองทุกอย่างได้ถูกต้องและตรงตามความเป็นจริง
  • ใช้ยารักษา แพทย์อาจจ่ายยารักษาโรคเครียดให้แก่ผู้ป่วยบางราย โดยผู้ป่วยมักจะได้รับการรักษาด้วยยาเป็นระยะเวลาสั้น ๆ เพื่อบรรเทาอาการปวดของร่างกาย ปัญหาการนอนหลับ หรืออาการซึมเศร้า โดยยาที่ใช้รักษาโรคเครียด ได้แก่
    • เบต้า บล็อกเกอร์ (Beta-Blocker) ยานี้จะช่วยบรรเทาอาการป่วยทางร่างกายซึ่งเกิดจากการหลั่งฮอร์โมนความเครียดออกมา เช่น อาการหัวใจเต้นเร็ว ผู้ป่วยรับประทานเมื่อเกิดอาการป่วย เนื่องจากเบต้า บล็อกเกอร์ไม่จัดอยู่ในกลุ่มยาระงับประสาท จึงไม่ก่อให้เกิดอาการง่วง ส่งผลต่อการทำงานต่าง ๆ หรือทำให้ผู้ป่วยเสพติด
    • ไดอะซีแพม (Diazepam) ยาตัวนี้จัดอยู่ในกลุ่มยาเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiapines) ซึ่งเป็นยาระงับประสาท แพทย์ไม่นิยมนำมาใช้รักษาผู้ป่วย เว้นแต่บางกรณีที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยาไดอะซีแพม ซึ่งจะใช้รักษาเป็นระยะสั้นเท่านั้น ทั้งนี้ ยาไดอะซีแพมอาจทำให้ผู้ป่วยเสพติดยา และประสิทธิภาพในการรักษาเสื่อมลงหากผู้ป่วยใช้ยาดังกล่าวเป็นเวลานาน

นอกจากนี้ แพทย์อาจจ่ายยาอื่น ๆ เพื่อบรรเทาอาการของโรค เช่น ยาระงับอาการวิตกกังวล ยาต้านเศร้ากลุ่มเอสเอสอาร์ไอ (Selective Serotonin Reuptake Inhibitors: SSRIs) และยาต้านซึมเศร้ากลุ่มอื่น ๆ หรือรักษาจิตบำบัดด้วยการสะกดจิต (Hypnotherapy) ซึ่งพบในการรักษาไม่มากนัก ส่วนผู้ป่วยที่เสี่ยงฆ่าตัวตายหรือมีแนวโน้มทำร้ายผู้อื่น จะต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลและได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด

ภาวะแทรกซ้อนของโรคเครียด

ผู้ที่เกิดความเครียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นประจำควรดูแลตัวเอง โดยหากิจกรรมอย่างอื่นทำยามว่าง เพื่อให้ตนเองรู้สึกผ่อนคลาย ทั้งนี้ ผู้ที่เกิดความเครียดเรื้อรังเป็นเวลานาน อาจประสบปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมาได้ ดังนี้

  • โรคเครียดหลังเกิดเหตุสะเทือนขวัญ ผู้ป่วยโรคเครียดบางรายอาจมีอาการของโรคนานกว่า 1 เดือน โดยอาการเครียดจะรุนแรงขึ้นและทำให้ดำเนินชีวิตตามปกติได้ยาก ซึ่งอาการดังกล่าวจะทำให้ป่วยเป็นโรคเครียดหลังเกิดเหตุสะเทือนขวัญ ผู้ป่วยควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษา ซึ่งจะช่วยลดโอกาสเสี่ยงไม่ทำให้อาการของโรคแย่ลง ทั้งนี้ ผู้ป่วยภาวะเครียดหลังเกิดเหตุสะเทือนขวัญร้อยละ 50 รักษาให้หายได้ภายใน 6 เดือน ในขณะที่ผู้ป่วยรายอื่นอาจประสบภาวะดังกล่าวนานหลายปี
  • ปัญหาสุขภาพจิตต่าง ๆ ผู้ป่วยโรคเครียดที่ไม่ได้รับการรักษา และมีอาการของโรคเรื้อรังอาจมีปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ ได้ เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล หรือบุคลิกภาพแปรปรวน

การป้องกันโรคเครียด

โรคเครียดเป็นปัญหาสุขภาพที่ป้องกันได้ยาก เนื่องจากสถานการณ์อันตรายอันเป็นสาเหตุของโรคเครียดนั้น ควบคุมไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยโรคเครียดดูแลตนเองและจัดการอาการของโรคไม่ให้แย่ลงได้ โดยปฏิบัติ ดังนี้

  • หลังจากเผชิญสถานการณ์ร้ายแรง ต้องรีบเข้ารับการรักษาจากแพทย์ เพื่อช่วยลดโอกาสป่วยเป็นโรคเครียด
  • ผู้ที่ประกอบอาชีพซึ่งเสี่ยงเผชิญสถานการณ์อันตราย เช่น ทหาร อาจต้องเข้ารับการฝึกซ้อมรับมือเหตุการณ์อันตรายและปรึกษาจิตแพทย์ เพื่อเตรียมตัวรับมือกับเหตุการณ์ดังกล่าวและลดโอกาสเสี่ยงป่วยเป็นโรคเครียด
  • ออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่เคลื่อนไหวร่างกายอย่างสม่ำเสมอ
  • ฝึกหายใจลึก ๆ ทำสมาธิ เล่นโยคะ หรือนวด เพื่อให้ร่างกายผ่อนคลาย รวมทั้งทำจิตใจให้แจ่มใส
  • พบปะสังสรรค์กับเพื่อน หรือพูดคุยกับครอบครัว
  • หางานอดิเรกทำในยามว่าง เช่น อ่านหนังสือ หรือฟังเพลง
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รวมทั้งรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบถ้วน
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ รวมทั้งงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน หรือใช้สารเสพติดอื่น ๆ