ยานอนหลับไดอะซีแพม
ยานอนหลับไดอะซีแพม (Diazepam) เป็นยาที่ออกฤทธิ์ต่อสารเคมีในสมองที่ไม่สมดุลกัน ใช้เพื่อคลายความวิตกกังวลอันเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหานอนไม่หลับ นอกจากปัญหาเกี่ยวกับการนอน ไดอะซีแพมยังใช้เพื่อรักษาผู้ป่วยโรควิตกกังวล อาการถอนพิษยาจากแอลกอฮอล์ อาการกล้ามเนื้อกระตุก ลดความวิตกกังวลก่อนการผ่าตัด รักษาอาการตกใจกลัวอย่างรุนแรง และใช้ร่วมกับยาตัวอื่นเพื่อรักษาภาวะชักได้ด้วย
เกี่ยวกับยาไดอะซีแพม
กลุ่มยา | เบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepine) |
ประเภทยา | ยาตามใบสั่งแพทย์ |
สรรพคุณ | ช่วยคลายความวิตกกังวล แก้ปัญหาโรคนอนไม่หลับ |
กลุ่มผู้ป่วย | เด็กและผู้ใหญ่ |
รูปแบบของยา | ยารับประทาน ยาฉีด |
การใช้ยาไดอะซีแพมอาจกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ ควรใช้ยาตามที่แพทย์แนะนำ ไม่ใช้ยาเกินขนาดและผิดวัตถุประสงค์ เพราะจะก่อให้เกิดการเสพติด หรือเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้
คำเตือนของการใช้ยาไดอะซีแพม
ไม่ควรหยุดใช้ยาทันที ปรึกษาแพทย์หากต้องการเลิกใช้ยาตัวนี้
ไม่ขับขี่พาหนะและไม่ดื่มแอลกอฮอล์ในขณะที่ใช้ยา
ปริมาณการใช้ยาไดอะซีแพม
การรักษาความวิตกกังวล
- ผู้ใหญ่ ยารับประทาน 2-10 มิลลิกรัม 3 ครั้ง/วัน ไม่รับประทานเกิน 30 มิลลิกรัม/วัน
- ผู้ใหญ่ ยาฉีดเข้ากล้ามเนื้อและยาหยดเข้าเส้นเลือด 5-10 มิลลิกรัม ฉีดซ้ำหากมีความจำเป็นหลังจากผ่านไป 4 ชั่วโมง
- เด็ก ยารับประทาน 1-2.5 มิลลิกรัม 3-4 ครั้ง/วัน
นอนไม่หลับ
- ผู้ใหญ่ ยารับประทาน 5-15 มิลลิกรัม ก่อนนอน
- เด็ก 1-2.5 มิลลิกรัม 3-4 ครั้ง/วัน
ส่วนการใช้ไดอะซีแพมในทางรักษาโรคและอาการด้านอื่น ๆ แพทย์จะแนะนำยาในโดสที่เหมาะสมตามโรคและอาการนั้น ๆ โดยผู้ป่วยต้องไม่ใช้ยาเกินขนาดและใช้ยาตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น
การใช้ยาไดอะซีแพม
ผู้ป่วยควรใช้ยาตามปริมาณที่แพทย์กำหนด ไม่ใช้ยาเกินขนาดหรือผิดวัตถุประสงค์ ควรปรึกษาแพทย์หากรู้สึกว่าการใช้ยาไม่ได้ผล หรือรู้สึกว่าต้องการใช้ยามากกว่าปริมาณปกติที่เคยใช้ โดยต้องตรวจวัดความดันโลหิตอยู่เสมอในช่วงที่ใช้ยา ตรวจเช็คปริมาณยาที่ใช้ ป้องกันไม่ให้ผู้อื่นใช้ยาโดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์ เก็บยาให้พ้นจากความชื้น ความร้อน แสงแดด และควรใช้ไดอะซีแพมเพื่อรักษาในช่วงเวลาสั้น ๆ ห้ามใช้ยาติดต่อกันนานเกิน 4 เดือนโดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์
ผลข้างเคียงจากการใช้ยาไดอะซีแพม
การออกฤทธิ์ของไดอะซีแพมสามารถช่วยบรรเทารักษาบางอาการ แต่อาจส่งผลกระทบต่อร่างกาย และทำให้เกิดอาการอื่น ๆ ตามมา เช่น
- ง่วงซึม รู้สึกเหนื่อยล้า กล้ามเนื้ออ่อนแรง ร่างกายสูญเสียความสมดุล
- กระเพาะปัสสาวะสูญเสียการควบคุม ทำให้ปัสสาวะน้อย หรือไม่ปัสสาวะเลย
- ลมหายใจอ่อนแรง หายใจแผ่วเบา
- มึนงง เห็นภาพหลอน มีความคิดและมีพฤติกรรมที่ต่างไปจากที่เคย
- ทำอะไรเสี่ยง ๆ ไม่เกรงกลัวอันตราย ขาดความยับยั้งชั่งใจ
- อยู่ไม่นิ่ง อยู่ไม่เป็นสุข กระสับกระส่าย ก้าวร้าว ไม่เป็นมิตร
- ซึมเศร้า มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย หรือทำร้ายตัวเอง
- กล้ามเนื้อกระตุก ตัวสั่น
- เกิดอาการชัก หรือทำให้อาการชักแย่ลงไปอีก
- อาการแพ้ยา เช่น ผื่นขึ้น หายใจติดขัด ใบหน้า ปาก ลิ้น ลำคอ มีอาการบวม
ผู้ป่วยควรเฝ้าระวังอาการหลังจากใช้ไดอะซีแพมไปแล้ว หากผู้ป่วยเกิดอาการแพ้ยา มีความคิด พฤติกรรม หรือเริ่มมีอาการที่เป็นอันตราย ควรรีบเข้ารับการรักษาจากแพทย์ทันที