โรควิตกกังวล

ความหมาย โรควิตกกังวล

โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder) คือ โรคทางจิตใจที่มีความรุนแรงกว่าความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ซึ่งผู้ป่วยที่เป็นโรควิตกกังวลจะพบว่ามีความวิตกกังวลและอาการอื่น ๆ ต่อเนื่องและอาการไม่หายไป หรืออาจมีอาการที่แย่ลงได้ในที่สุด

โรควิตกกังวล

โรควิตกกังวลทำให้เกิดอุปสรรคในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การทำงาน การเรียนหนังสือ และการรักษาความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมก็สามารถจัดการกับอาการและกลับมาใช้ชีวิตปกติได้

โรควิตกกังวลมีหลายประเภท เช่น โรคแพนิค (Panic Disorder) โรคกังวลทั่วไป (Generalized Anxiety Disorder: GAD) โรคกลัวการเข้าสังคม (Social Anxiety Disorder) หรือโรคกลัวแบบจำเพาะ (Specific Phobias) เป็นต้น

อาการของโรควิตกกังวล

อาการของโรควิตกกังวลขึ้นอยู่กับประเภทของโรควิตกกังวล โดยอาการทางกายและใจที่เกิดขึ้นโดยทั่วไป ได้แก่

  • มีอาการตื่นตระหนก กลัว และไม่สบายใจ
  • ไม่สามารถอยู่ในความสงบได้ กระสับกระส่าย กระวนกระวาย หงุดหงิด ไม่มีสมาธิ
  • มีปัญหาเรื่องการนอนหลับ
  • มือและเท้าเย็น หรือเหงื่อแตก
  • หายใจตื้น
  • ใจสั่น
  • เจ็บหน้าอก
  • ปากแห้ง
  • มีอาการเหน็บชาที่มือและเท้า
  • มีอาการคลื่นไส้
  • เวียนศีรษะ
  • ปวดศีรษะ
  • กล้ามเนื้อตึงเกร็ง
  • มีความอ่อนล้า เหนื่อยง่าย
  • มีอาการสั่น

นอกจากนั้น ในแต่ละประเภทยังมีอาการเฉพาะ ดังต่อไปนี้

  • อาการของโรคแพนิค (Panic Disorder) เช่น เหงื่อออก เจ็บหน้าอก ใจสั่น รู้สึกสำลัก มีความรู้สึกเหมือนตนเองเป็นโรคหัวใจหรือเหมือนจะเป็นบ้า
  • อาการของโรคกังวลทั่วไป (Generalized Anxiety Disorder: GAD) เช่น มีความเครียดหรือมีความกังวลมากเกินไปจากความเป็นจริง ถึงแม้ว่าจะมีสาเหตุเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีสาเหตุที่ไปกระตุ้นให้เกิดอาการกังวลได้
  • อาการของโรคกลัวการเข้าสังคม (Social Anxiety Disorder) เช่น มีความกังวลที่รุนแรงมากหรือมีความระมัดระวังตัวเกินเหตุในสถานการณ์ทางสังคมต่าง ๆ ที่ต้องพบเจอตามปกติในชีวิตประจำวัน โดยความกังวลที่เกิดขึ้นมักเป็นความกลัวการตัดสินจากผู้อื่น หรือกลัวว่าจะเกิดความอับอายและถูกล้อเลียน
  • อาการของโรคกลัวแบบจำเพาะ (Specific Phobias) ผู้ป่วยจะมีความกลัวอย่างรุนแรงต่อสิ่งของหรือสถานการณ์เฉพาะ เช่น กลัวความสูง กลัวการเข้าสังคม และกลัวสัตว์บางชนิด ซึ่งจะกลัวในระดับที่ต้องพยายามหลีกเลี่ยงสถานการณ์ปกติในชีวิตประจำวัน

สาเหตุของโรควิตกกังวล

สาเหตุของโรควิตกกังวล ไม่ได้มาจากความบกพร่องทางบุคคลิกภาพ หรือการเลี้ยงดูที่ไม่ดี แต่มีสาเหตุคล้ายกับโรคทางจิตชนิดอื่น ๆ จากการวิจัยพบว่าโรคทางจิตใจเหล่านี้เกิดจากปัจจัยหลายอย่างร่วมกัน ได้แก่ การทำงานของสมองบางส่วนที่เกิดความเปลี่ยนแปลง และความเครียดที่เกิดจากสภาพแวดล้อม

  • โครงสร้างการทำงานของสมอง โรควิตกกังวลอาจมีสาเหตุมาจากข้อบกพร่องหรือปัญหาที่เกิดขึ้นกับการทำงานของสมองส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์ต่าง ๆ หรือหากมีความเครียดมาก ๆ เป็นเวลานาน อาจทำให้เซลล์ประสาทและสมองส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ นอกจากนั้น ยังพบว่าผู้ที่เป็นโรควิตกกังวลบางชนิด มีการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างสมองส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับความจำ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับอารมณ์และความรู้สึก
  • กรรมพันธุ์ โรควิตกกังวลเกิดได้จากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมจากพ่อแม่สู่ลูกทำนองเดียวกันกับการถ่ายทอดทางพันธุกรรมของโรคมะเร็งและโรคหัวใจ
  • ปัจจัยที่มาจากสิ่งแวดล้อม เช่น การได้รับบาดเจ็บ หรือประสบกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่อาจทำให้เกิดโรควิตกกังวล โดยเฉพาะผู้ป่วยเป็นโรควิตกกังวลที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม จะมีปฏิกิริยาที่ไวต่อการถูกกระตุ้นจากปัจจัยดังกล่าว
  • ปัจจัยเฉพาะอื่น ๆ เช่น  
    • ความขี้อายหรือไม่กล้าแสดงอารมณ์ในเด็ก
    • มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ไม่ดี
    • เป็นหม้ายหรือเคยหย่าร้าง
    • ต้องพบกับเหตุการณ์ในชีวิตที่มีความตึงเครียด ทั้งในวัยเด็กและวัยผู้ใหญ่
    • มีประวัติของคนในครอบครัวที่เป็นโรคทางจิตใจ
    • มีระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลในน้ำลายเพิ่มในช่วงบ่ายซึ่งมาจากความเครียด โดยเฉพาะกับผู้ที่เป็นโรคกลัวการเข้าสังคม (Social Anxiety Disorder)
    • โรคอื่น ๆ ที่มีอาการคล้ายคลึงกับอาการของโรควิตกกังวล เช่น ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน หัวใจเต้นผิดปกติ หรือภาวะหัวใจล้มเหลว ซึ่งเป็นกรณีที่ต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม

การวินิจฉัยโรควิตกกังวล

แพทย์จะเริ่มจากการถามประวัติทางการแพทย์ที่จำเป็น เช่น อาการที่เกิดขึ้นและโรคประจำตัว หลังจากนั้นจะตรวจร่างกายและอาจตรวจเพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือด ตรวจสมรรถภาพปอด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และตรวจปัสสาวะ เพื่อแยกโรคอื่น ๆ ที่มีอาการคล้ายกับโรควิตกกังวล เช่น ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน โรคกระเพาะอาหารอักเสบเฉียบพลัน โรคหืด หรือหัวใจเต้นผิดปกติ หรือภาวะได้รับยาและสารเสพติดที่ทำให้เกิดอาการคล้ายโรควิตกกังวล

แต่หากไม่พบโรคทางกายใด ๆ แพทย์จะส่งตัวไปให้จิตแพทย์วินิจฉัยโดยการสัมภาษณ์ หรือใช้เครื่องมือช่วยในการประเมินโรคทางจิตใจ โดยการประเมินสุขภาพทางจิตอย่างละเอียดจะมีประโยชน์ต่อการวินิจฉัยโรควิตกกังวลเป็นอย่างมากในการแยกโรคทางจิตใจ เพราะโรควิตกกังวลมักมีอาการคล้ายกับภาวะอื่น ๆ เช่น ภาวะซึมเศร้า หรือโรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive-Compulsive Disorder: OCD)

การรักษาโรควิตกกังวล

การรักษาโรควิตกกังวลขึ้นอยู่กับประเภทของโรค ซึ่งวิธีที่ใช้ในการรักษาโดยทั่วไป มีดังนี้

  • จิตบำบัด (Psychotherapy) เป็นการรักษาด้วยการให้คำปรึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต เพื่อให้ผู้ป่วยเรียนรู้วิธีรับมือกับปัญหาของโรควิตกกังวลได้ในที่สุด
  • การรักษาด้วยการเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (Cognitive-Behavioral Therapy) เป็นวิธีการรักษาทางจิตที่ช่วยให้ผู้ป่วยได้เรียนรู้การปรับเปลี่ยนวิธีคิดและพฤติกรรมที่นำไปสู่ปัญหาทางอารมณ์และความรู้สึก เช่น ช่วยให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคแพนิคเรียนรู้ว่าอาการแพนิคนั้นไม่ใช่อาการของโรคหัวใจ หรือช่วยให้ผู้ที่เป็นโรคกลัวการเข้าสังคมเรียนรู้ที่จะเอาชนะความเชื่อที่คิดว่าคนอื่นคอยจ้องมองหรือตัดสินตน เป็นต้น
  • การฝึกจัดการกับความเครียด วิธีฝึกการจัดการกับความเครียดและการทำสมาธิ เป็นวิธีที่จะช่วยให้ผู้ป่วยโรควิตกกังวลมีอารมณ์ที่สงบลงและยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบำบัดวิธีอื่นได้ด้วย
  • การรักษาด้วยยา ยาที่นำมาใช้ในการรักษาและลดอาการของโรควิตกกังวล เช่น
  • ยารักษาอาการซึมเศร้า เช่น ยากลุ่มเอสเอสอาร์ไอ 
  • ยาระงับอาการวิตกกังวล เช่น ยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีน เช่น ยาอัลปราโซแลม และยาโคลนาซีแพม 
  • ยาช่วยควบคุมอาการทางร่างกายเมื่อมีความวิตกกังวล เช่น ใจสั่น มือสั่น คือ ยาเบต้า บล็อกเกอร์ เช่น ยาโพรพราโนลอล 
  • ยาอื่น ๆ เช่น ยารักษาโรคลมชัก และยาระงับอาการทางจิต

การใช้ยาเหล่านี้ต้องอยู่ภายใต้คำแนะนำและดุลยพินิจของแพทย์

นอกจากนั้น ยังพบว่าการออกกำลังกายด้วยวิธีแอโรบิกมีผลทำให้อาการสงบลงได้ แต่ยังไม่มีหลักฐานจากการศึกษาค้นคว้าที่มากพอเพื่อนำมาเป็นหนึ่งในวิธีการรักษา รวมไปถึงควรพิจารณาที่จะหลีกเลี่ยงคาแฟอีน ยาเสพติด และยาแก้หวัดที่ซื้อตามร้านขายยาทั่วไป เพราะมีผลทำให้อาการของโรควิตกกังวลแย่ลงและที่สำคัญ คือการได้รับการสนับสนุนและกำลังใจจากคนในครอบครัวเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ป่วยโรควิตกกังวลฟื้นฟูสู่สภาพปกติได้ดี

ภาวะแทรกซ้อนโรควิตกกังวล

โรควิตกกังวลเป็นภาวะที่อาจทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน เรียนหนังสือ หรือการรักษาความสัมพันธ์ให้ดี นอกจากนั้น หากไม่ได้รับการรักษาอาจเพิ่มความเสี่ยงที่รุนแรงต่าง ๆ จนถึงขั้นเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เช่น

  • ภาวะซีมเศร้า โรควิตกกังวลมักจะเกิดขึ้นพร้อมกับภาวะซึมเศร้า ซึ่งต่างมีอาการที่คล้ายกัน เช่น  ไม่มีสมาธิ กระสับกระส่าย หงุดหงิด นอนไม่หลับ และรู้สึกกังวล
  • การฆ่าตัวตาย โรคทางจิตใจหรือโรควิตกกังวลเป็นหนึ่งในสาเหตุของการฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ โรคกลัวการเข้าสังคม หรือผู้ที่เป็นโรควิตกกังวลพร้อมกับมีภาวะซึมเศร้า จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดการฆ่าตัวตายได้ หากผู้ป่วยเริ่มรู้ตัวว่าตนเองมีความคิดในการฆ่าตัวตาย ควรรีบขอรับความช่วยเหลือจากแพทย์โดยเร็ว
  • การใช้สารเสพติด ผู้ป่วยที่เป็นโรคทางจิตหรือโรควิตกกังวล มีแนวโน้มที่จะติดสิ่งเสพติดที่ให้โทษ เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ หรือยาเสพติด โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้าร่วมด้วยก็ยิ่งจะเพิ่มความเสี่ยงให้ติดสิ่งเสพติดเหล่านี้ โดยผู้ป่วยมักใช้สิ่งเสพติดเพื่อบรรเทาอาการ
  • ความเจ็บป่วยทางกาย โรควิตกกังวลอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคทางกายได้ เช่น ผู้ที่มีความเครียดเรื้อรังเกี่ยวกับความวิตกกังวล จะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายต่ำลง ซึ่งส่งผลให้ร่างกายไวต่อการเจ็บป่วยหรือติดเชื้อต่าง ๆ เช่น หวัด ไข้หวัดใหญ่ และโรคติดเชื้อแบคทีเรียและไวรัส

การป้องกันโรควิตกกังวล

ถึงแม้ว่าโรควิตกกังวลจะไม่สามารถป้องกันได้ อย่างไรก็ตาม มีวิธีที่จะช่วยควบคุมหรือบรรเทาอาการให้ทุเลาลงได้ เช่น

  • หลีกเลี่ยงหรืองดการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม ช็อกโกแลต หรือเครื่องดื่มชูกำลัง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่อาจกระตุ้นให้อาการของโรควิตกกังวลแย่ลงได้
  • ก่อนซื้อยารักษาโรคหรือสมุนไพรต่าง ๆ ตามร้านขายทั่วไป ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อน เพราะยาหรือสมุนไพรบางชนิดอาจมีส่วนประกอบที่อาจกระตุ้นอาการวิตกกังวลได้
  • ควรฝึกทำจิตใจให้ผ่อนคลายและรู้จักปล่อยวางด้วยการฝึกทำสมาธิ ซึ่งจะช่วยจิตใจสงบ
  • หากรู้ตัวว่าตนเองเริ่มมีความวิตกกังวลอยู่บ่อยครั้งโดยไม่มีสาเหตุชัดเจน ควรไปพบจิตแพทย์หรือผู้ให้คำปรึกษาเพื่อขอความช่วยเหลือ ทำความเข้าใจ และหาวิธีแก้ไขต่อไป