ความหมาย โรคแพนิค
โรคแพนิค หรือ Panic Disorder คือ ภาวะตื่นตระหนกต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยไม่มีเหตุผลหรือหาสาเหตุไม่ได้ ซึ่งโรคนี้แตกต่างจากอาการหวาดกลัวหรือกังวลทั่วไป เนื่องจากผู้ป่วยจะเกิดอาการแพนิค (Panic Attacks) หรือหวาดกลัวอย่างรุนแรงทั้งที่ตัวเองไม่ได้เผชิญหน้าหรือตกอยู่ในสถานการณ์อันตราย อาการแพนิคเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ส่งผลให้ผู้ป่วยโรคแพนิครู้สึกกลัวและละอาย เนื่องจากไม่สามารถควบคุมตัวเองหรือดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติ
โรคแพนิคมักพบได้บ่อยในวัยรุ่นตอนปลายหรือผู้ที่ย่างเข้าวัยผู้ใหญ่ตอนต้น โดยผู้หญิงจะป่วยมากกว่าผู้ชาย อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เกิดอาการแพนิคไม่ได้ป่วยเป็นโรคแพนิคทุกราย เนื่องจากอาการดังกล่าวเกิดขึ้นและหายไปเมื่อเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดอาการแพนิคจบลงหรือผ่านพ้นไปแล้ว ต่างจากผู้ป่วยโรคแพนิคที่มักเกิดอาการแพนิคหรือตื่นตระหนกอยู่เสมอเป็นเวลายาวนาน รวมทั้งมักมีปัญหาสุขภาพจิตอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น โรคซึมเศร้า หรือใช้สารเสพติดอื่น ๆ
อาการของโรคแพนิค
ผู้ป่วยโรคแพนิคจะรู้สึกหวาดกลัวหรือตื่นตระหนกอย่างไม่มีสาเหตุ ซึ่งเรียกว่าอาการแพนิค โดยอาการนี้จะเกิดขึ้นกะทันหัน รวมทั้งเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แพนิคเป็นอาการที่รุนแรงกว่าความรู้สึกเครียดทั่วไป มักเกิดขึ้นเป็นเวลา 10-20 นาที บางรายอาจเกิดอาการแพนิคนานเป็นชั่วโมง โดยผู้ป่วยโรคแพนิคจะเกิดอาการ ดังนี้
- หัวใจเต้นเร็ว
- หายใจไม่ออก รู้สึกเหมือนขาดอากาศ
- หวาดกลัวอย่างรุนแรงจนร่างกายขยับไม่ได้
- เวียนศีรษะหรือรู้สึกคลื่นไส้
- เหงื่อออกและมือเท้าสั่น
- รู้สึกหอบและเจ็บหน้าอก
- รู้สึกร้อนวูบวาบ หรือหนาวขึ้นมาอย่างกะทันหัน
- เกิดอาการเหน็บคล้ายเข็มทิ่มที่นิ้วมือหรือเท้า
- วิตกกังวลหรือหวาดกลัวว่าจะตาย รวมทั้งรู้สึกว่าไม่สามารถควบคุมสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตได้
- กังวลว่าจะมีเหตุการณ์อันตรายเกิดขึ้นในอนาคต
- หวาดกลัวและพยายามหลีกเลี่ยงสถานที่หรือสถานการณ์อันตรายที่ทำให้รู้สึกหวาดกลัวในอดีต
ทั้งนี้ ผู้ที่เกิดอาการแพนิคควรพบแพทย์ทันที เนื่องจากอาการแพนิคถือว่าเป็นปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรง ผู้ที่เกิดอาการดังกล่าวจะจัดการตัวเองได้ยาก ทั้งนี้ หากไม่ได้รับการรักษาให้หาย อาการแพนิคจะแย่ลงเรื่อย ๆ
สาเหตุของโรคแพนิค
สาเหตุของโรคแพนิคยากจะระบุได้อย่างชัดเจนเช่นเดียวกับปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคแพนิคอาจเกิดจากปัจจัยทางกายภาพและปัจจัยทางสุขภาพจิต ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
ปัจจัยทางกายภาพเป็นต้นเหตุของโรคแพนิค
ผู้ป่วยโรคแพนิคอาจได้รับผลกระทบ ซึ่งประกอบด้วยการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ความผิดปกติของสมอง และการได้รับสารเคมีต่าง ๆ ดังนี้
การถ่ายทอดทางพันธุกรรม ผู้ที่บุคคลในครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นโรคแพนิคหรือปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ โดยบุคคลนั้นมีความสัมพันธ์ทางสายเลือดที่ใกล้ชิดกันมาก ก็เสี่ยงป่วยเป็นโรคแพนิคได้ โดยผู้ป่วยอาจได้รับการถ่ายทอดทางพันธุกรรมจากพ่อหรือแม่ หรือได้รับจากทั้งพ่อและแม่
- ความผิดปกติของสมอง โดยทั่วไปแล้ว สมองจะมีสารเคมีที่เรียกว่าสารสื่อประสาท หากสารสื่อประสาทภายในสมองไม่สมดุล อาจทำให้เกิดอาการแพนิคได้ ทั้งนี้ โรคแพนิคอาจเกิดจากการทำงานของสมองส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุมการตอบสนองแบบสู้หรือหนีของร่างกาย (Fight or Flight) เนื่องจากหัวใจจะเต้นเร็วขึ้นเมื่อเผชิญหน้ากับเหตุการณ์อันตราย
- การได้รับสารเคมีต่าง ๆ ผู้ที่ใช้สารเสพติด ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือเครื่องดื่มที่ผสมคาเฟอีน รวมทั้งผู้ที่สูบบุหรี่ อาจป่วยเป็นโรคแพนิคได้ ทั้งนี้ นักวิจัยบางรายยังสันนิษฐานว่าโรคแพนิคอาจเกี่ยวข้องกับความไวของระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ กล่าวคือ เมื่อสูดอากาศที่มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปมาก ก็จะกระตุ้นให้เกิดอาการแพนิคได้ อย่างไรก็ตาม การหายใจให้ถูกวิธีจะช่วยบรรเทาอาการแพนิคให้หายหรือทุเลาลงได้
โรคแพนิคกับปัจจัยทางสุขภาพจิต
เหตุการณ์ร้ายแรงที่เกิดขึ้นในชีวิตส่งผลให้เกิดโรคแพนิคได้ โดยเฉพาะการสูญเสียหรือพลัดพรากจากบุคคลอันเป็นที่รัก ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้เกี่ยวเนื่องกับอาการแพนิค ผู้ป่วยจะรู้สึกหวาดกลัวหรือตื่นตระหนกหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น หรืออาจเกิดอาการดังกล่าวต่อไปเรื่อย ๆ ยาวนานเป็นปี จนนำไปสู่การป่วยเป็นโรคแพนิค นอกจากนี้ ผู้ที่เกิดอาการแพนิคมีแนวโน้มที่จะคิดว่าอาการป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ บางอย่างที่เกิดขึ้นนั้นเกี่ยวเนื่องกับสถานการณ์อันตรายต่าง ๆ เช่น ผู้ที่เกิดอาการใจสั่นจากการดื่มกาแฟ จะคิดว่าอาการใจสั่นนั้นเกิดจากอาการหวาดกลัว
การวินิจฉัยโรคแพนิค
ผู้ที่เคยเกิดอาการแพนิคควรพบแพทย์ทันที เนื่องจากผู้คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าอาการดังกล่าวเป็นสัญญาณหรืออาการของโรคหัวใจ เบื้องต้นแพทย์จะซักประวัติการรักษาของผู้ป่วยและตรวจร่างกาย โดยแพทย์จะตรวจเลือดเพื่อดูความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ รวมทั้งตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเพื่อดูการทำงานของหัวใจ การตรวจเหล่านี้จะช่วยวินิจฉัยสาเหตุของอาการที่เกิดขึ้นว่ามีสาเหตุมาจากปัญหาสุขภาพทางกายหรือไม่ หากไม่พบความผิดปกติของปัญหาสุขภาพดังกล่าว ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจเพื่อวินิจฉัยโรคแพนิค โดยแพทย์จะสอบถามอาการ ความรู้สึกหวาดกลัวหรือวิตกกังวล และสถานการณ์หรือเหตุการณ์ที่ทำให้หวาดกลัวหรือตื่นตระหนก ผู้ป่วยควรอธิบายความรู้สึกและอาการที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน โดยไม่ต้องกดดันตัวเอง และพยายามทำให้ตัวเองผ่อนคลายระหว่างที่พูดคุยกับแพทย์ ทั้งนี้ แพทย์อาจให้ทำแบบประเมินทางจิตวิทยาและสอบถามประวัติการใช้สารเสพติดหรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อประกอบการวินิจฉัย
ผู้ป่วยที่เกิดอาการแพนิคทุกรายไม่จำเป็นต้องป่วยเป็นโรคแพนิคเสมอไป
แพทย์จะวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคแพนิคหากผู้ป่วยมีลักษณะ ดังนี้
- เกิดอาการแพนิคบ่อยๆ โดยหาสาเหตุไม่ได้
- รู้สึกหวาดกลัวหรือกังวลหลังผ่านเหตุการณ์สะเทือนขวัญ โดยเกิดอาการดังกล่าวนานเป็นเดือนหรือมากกว่านั้น รวมทั้งรู้สึกว่าไม่สามารถจัดการหรือควบคุมสิ่งต่าง ๆ ได้ และมักเลี่ยงสถานที่ที่คิดว่าจะทำให้เกิดอันตราย
- อาการแพนิคที่เกิดขึ้นไม่ได้มีสาเหตุมาจากการใช้สารเสพติด การใช้ยาบางอย่าง หรือปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ เช่น โรคกลัวสังคม หรือโรคย้ำคิดย้ำทำ
การรักษาโรคแพนิค
ผู้ป่วยโรคแพนิคที่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง จะมีอาการแพนิคน้อยลงและสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ การรักษาโรคแพนิคประกอบด้วยจิตบำบัดและการรักษาด้วยยา โดยการรักษาแต่ละวิธีขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ป่วย ประวัติการรักษา ความรุนแรงของโรค และความพร้อมในการเข้ารับการรักษากับนักจิตบำบัดหรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง วิธีรักษาโรคแพนิคมีรายละเอียด ดังนี้
- จิตบำบัด วิธีนี้ช่วยรักษาอาการแพนิคและโรคแพนิคได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยผู้ป่วยจะเข้าใจอาการแพนิคและโรคแพนิคมากขึ้น รวมทั้งเรียนรู้วิธีที่จะรับมือกับอาการป่วยของตนเอง วิธีจิตบำบัดที่ใช้รักษาโรคแพนิคคือการบำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy: CBT) ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยเรียนรู้ว่าอาการแพนิคที่เกิดขึ้นไม่ได้อันตรายแต่อย่างใด การบำบัดความคิดและพฤติกรรมจะปรับวิธีคิด พฤติกรรม และการตอบสนองต่อความรู้สึกหวาดกลัวหรือตื่นตระหนกที่เกิดขึ้น นักจิตบำบัดจะสอบถามว่าผู้ป่วยตอบสนองและรู้สึกอย่างไรเมื่อเกิดอาการแพนิคเพื่อช่วยในการบำบัด โดยจะเริ่มบำบัดจากการปรับความคิดที่บิดเบือนไปจากความจริง เพื่อให้รับรู้ความเป็นจริงและมองสิ่งต่าง ๆ ในแง่บวกเมื่อเกิดอาการแพนิคอย่างไม่มีสาเหตุ ส่วนการบำบัดพฤติกรรมผู้ป่วยนั้น จะใช้เทคนิคการบำบัดที่คล้ายกับวิธีรักษาโรคโฟเบีย (Phobias) ซึ่งให้ผู้ป่วยค่อย ๆ เผชิญหน้ากับความกลัว (Systematic Desensitization) โดยเทคนิคบำบัดโรคแพนิคจะเน้นให้ผู้ป่วยรับมือกับอาการแพนิคที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ต่าง ๆ เนื่องจากผู้ป่วยโรคนี้หวาดกลัวอาการแพนิคที่เกิดขึ้น ไม่ได้รู้สึกกลัวสิ่งของหรือสถานที่ใดสถานที่หนึ่งอย่างเฉพาะเจาะจง เช่น อาการกลัวการนั่งเครื่องบินของผู้ป่วยบางราย ไม่ได้เป็นเพราะกลัวเครื่องบินตก แต่ผู้ป่วยกลัวว่าจะเกิดอาการแพนิคเมื่อต้องไปอยู่ในเครื่องบินหรือสถานที่ที่ทำให้รับความช่วยเหลือได้ยาก หรือผู้ป่วยบางคนไม่ดื่มกาแฟ เพราะคิดว่าการดื่มกาแฟจะทำให้เกิดอาการแพนิคขึ้นมา ทั้งนี้ การบำบัดพฤติกรรมยังช่วยรักษาพฤติกรรมหลีกเลี่ยงสถานที่หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ซึ่งผู้ป่วยคาดว่าทำให้เกิดอาการแพนิคด้วย
นอกจากการเข้ารับการรักษาด้วยวิธีจิตบำบัดตามที่กล่าวมาแล้ว การฝึกลมหายใจและฝึกการคิดเชิงบวกก็ช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลายและสามารถรับมือกับอาการแพนิคได้ง่ายขึ้น โดยผู้เชี่ยวชาญบางรายพบว่าผู้ป่วยโรคแพนิคหายใจถี่กว่าปกติ หากผู้ป่วยฝึกหายใจช้า ๆ จะช่วยให้สามารถรับมือกับอาการแพนิคได้ ทั้งนี้ การตั้งกลุ่มสนับสนุน (Support Groups) ซึ่งเป็นการรวมตัวผู้ที่ประสบภาวะดังกล่าว ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ รวมทั้งได้รับคำแนะนำในการจัดการกับอาการป่วยได้อย่างเหมาะสม กลุ่มสนับสนุนถือเป็นช่องทางในการรักษาโรคแพนิคที่ดี เนื่องจากผู้ป่วยจะได้พบปะพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และรับฟังปัญหาซึ่งกันและกัน
การรักษาด้วยยาของผู้ป่วยโรคแพนิค
จำเป็นต้องใช้ยาเพื่อรักษาอาการแพนิค โดยยาที่ใช้รักษาอาการดังกล่าวประกอบด้วยยาต้านซึมเศร้า กลุ่มยาเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepines) และยากันชัก ซึ่งยาแต่ละกลุ่มมีตัวยาที่ใช้รักษาโรคแพนิค ดังนี้
กลุ่มยาต้านซึมเศร้า ยากลุ่มนี้มักใช้รักษาอาการซึมเศร้าและปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ โดยยาต้านซึมเศร้าที่ใช้รักษาโรคแพนิค ได้แก่ ยาเอสเอสอาร์ไอ ยาเอสเอ็นอาร์ไอ และยาไตรไซลิก ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
- ยาเอสเอสอาร์ไอ (Selective Serotonin Reuptake Inhibitors: SSRI) ยานี้จะช่วยเพิ่มระดับสารสื่อประสาทที่มีชื่อว่าเซโรโทนิน (Serotonin) แพทย์มักใช้ยาเอสเอสอาร์ไอรักษาผู้ป่วยโรคแพนิค โดยจะเริ่มให้ยาในปริมาณน้อย และค่อย ๆ เพิ่มปริมาณเมื่อร่างกายของผู้ป่วยปรับตัวได้แล้ว ตัวยาในกลุ่มยาเอสเอสอาร์ไอที่ใช้รักษาโรคแพนิคประกอบด้วยฟลูออกซิทีน (Fluoxetine) พาร็อกซิทีน (Paroxetine) และเซอร์ทราลีน (Sertraline) อย่างไรก็ตาม ยาเอสเอสอาร์ไอก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ ปวดศีรษะ ตามัว ท้องร่วงหรือท้องผูก แรงขับทางเพศลดลง เบื่ออาหาร หรือนอนไม่หลับ หากอาการป่วยแย่ลงควรรีบพบแพทย์ ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่หยุดใช้ยาเองทันทีโดยไม่ปรึกษาแพทย์ อาจเกิดอาการอื่น ๆ ตามมา เช่น เวียนศีรษะ เกิดเหน็บชา คลื่นไส้และอาเจียน วิตกกังวล นอนไม่หลับ และเหงื่อออก
- ยาเอสเอ็นอาร์ไอ (Serotonin and Norepinephrine Reuptake Inhibitors, SNRIs) ยานี้มักใช้รักษาโรคซึมเศร้าและโรคแพนิค มีชื่อเรียกอีกอย่างว่าเวนลาฟาซีน (Venlafaxine) ผู้ป่วยอาจต้องรอหลายสัปดาห์เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ ทั้งนี้ ยาเอสเอ็นอาร์ไอก็ก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ หรือนอนหลับยาก ซึ่งอาการดังกล่าวไม่รุนแรงนัก
- ยาไตรไซลิก (Tricylic Antidepressants) ผู้ป่วยที่อาการไม่ดีขึ้นหลังจากได้รับการรักษาด้วยยาเอสเอสอาร์ไอเป็นเวลา 12 สัปดาห์ จะได้รับยาไตรไซลิกเพื่อรักษาอาการป่วย โดยยานี้จะช่วยปรับระดับนอร์อิพิเนฟริน (Noradrenaline) และเซโรโทนิน ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทในสมอง ทำให้อารมณ์และความรู้สึกของผู้ป่วยดีขึ้น ตัวยาในกลุ่มยาไตรไซลิกที่ใช้รักษาโรคแพนิคประกอบด้วยอิมิพรามีน (Imipramine) และโคลมิพรามีน (Clomipramine) ผู้ป่วยจะได้รับผลข้างเคียงจากการใช้ยาไตรไซลิก โดยจะเกิดอาการท้องผูก ปัสสาวะไม่ค่อยออก ตามัว ปากแห้ง น้ำหนักขึ้นหรือลดลง เหงื่อออก เวียนศีรษะ และมีผื่นขึ้นที่ผิวหนัง ซึ่งอาการดังกล่าวจะทุเลาลงหลังจากที่ร่างกายปรับตัวเองให้เข้ากับตัวยาได้แล้วภายใน 7-10 วัน อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรพบแพทย์ทันทีหากอาการอันเนื่องมาจากผลข้างเคียงของการใช้ยาไม่ทุเลาลง
- ยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepines) ยานี้จัดเป็นยาระงับประสาท ซึ่งช่วยลดอาการแพนิคได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยแพทย์จะใช้รักษาขณะที่ผู้ป่วยเกิดอาการแพนิค ตัวยาที่ใช้รักษาโรคแพนิคประกอบด้วยอัลปราโซแลม (Alprazolam) และโคลนาซีแพม (Clonazepam) อย่างไรก็ตาม ยากลุ่มนี้จะใช้รักษาในระยะสั้นเท่านั้น เนื่องจากผู้ป่วยอาจเกิดอาการเสพติดได้ ทั้งนี้ ผู้ที่ใช้สารเสพติดอื่น ๆ หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ก็ไม่ควรใช้ยาในกลุ่มเบนโซไดอะซีปีนในการรักษาโรค
- ยากันชัก ยากลุ่มนี้ที่ใช้รักษาโรคแพนิคคือพรีกาบาลิน (Pregabalin) โดยยาจะช่วยบรรเทาอาการวิตกกังวลให้ทุเลาลงได้ ผู้ป่วยที่ใช้ยาพรีกาบาลินอาจรู้สึกง่วง เวียนศีรษะ เจริญอาหารและน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ตามัว ปวดศีรษะ ปากแห้ง และเกิดอาการบ้านหมุน โดยอาการเหล่านี้เป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยา ทั้งนี้ ยาพรีกาบาลินจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกคลื่นไส้และแรงขับทางเพศลดลงได้น้อยกว่ายาเอสเอสอาร์ไอ
ภาวะแทรกซ้อนของโรคแพนิค
โรคแพนิคเป็นโรคที่รักษาได้ โดยผู้ป่วยต้องไปพบแพทย์และเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากผู้ป่วยโรคแพนิคจะหายได้หากได้รับการรักษาตั้งแต่เริ่มป่วยเป็นโรคดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษา อาจได้รับผลกระทบในการดำเนินชีวิตประจำวัน รวมทั้งเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพทางจิตอื่น ๆ ตามมา ดังนี้
- โรคกลัวที่ชุมชน (Agoraphobia) ผู้ป่วยโรคแพนิคสามารถป่วยเป็นโรคกลัวที่ชุมชนได้ โดยโรคนี้เป็นปัญหาสุขภาพทางจิตเกี่ยวกับอาการกลัวชุมชนหรือที่สาธารณะที่อาจเกิดเหตุการณ์อันตราย และหนีออกออกมาได้ยาก ส่งผลให้ผู้ป่วยรู้สึกกังวล และไม่กล้าเดินทางไปข้างนอกเพียงลำพังได้ เนื่องจากผู้ป่วยจะกังวลว่าอาจเกิดอาการแพนิคเมื่อออกไปข้างนอก แล้วทำให้รู้สึกขายหน้าที่ไม่สามารถควบคุมตัวเองให้เป็นปกติได้ หรืออาจหวาดกลัวว่าจะได้รับความช่วยเหลือไม่ทันการณ์หากอาการแพนิคกำเริบขึ้นมา ทั้งนี้ ผู้ป่วยอาจเกิดอาการโฟเบียอื่น ๆ ได้ เช่น ผู้ป่วยอาจกลัวที่แคบ เนื่องจากเคยเกิดอาการแพนิคเมื่ออยู่ที่แคบ
- พฤติกรรมหลีกเลี่ยงสิ่งต่าง ๆ ผู้ป่วยอาจเลี่ยงหรือไม่ทำสิ่งต่าง ๆ หากสิ่งนั้นจะทำให้เกิดอาการแพนิค พฤติกรรมหลีกเลี่ยงนี้ส่งผลต่อการใช้ชีวิต ทำให้ไม่สามารถดำเนินชีวิตตามปกติได้
- ปัญหาอื่น ๆ ผู้ป่วยโรคแพนิคเสี่ยงใช้สารเสพติดหรือดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ได้สูง ทั้งนี้ การสูบบุหรี่หรือบริโภคเครื่องดื่มที่ผสมคาเฟอีนก็ส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดความเครียดหรือรู้สึกกังวลมากขึ้น ส่วนผู้ที่กำลังหยุดใช้ยารักษาโรคบางอย่างหรือถอนยาเสพติด อาจเกิดความวิตกกังวลสิ่งต่าง ๆ มากขึ้นอันเป็นผลข้างเคียงจากการถอนยา
การป้องกันโรคแพนิคในอนาคต
โรคแพนิคเป็นปัญหาสุขภาพทางจิตที่ป้องกันให้เกิดขึ้นได้ยาก อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เกิดอาการแพนิคหรือป่วยเป็นโรคนี้สามารถดูแลตัวเองเพื่อไม่ให้เกิดความเครียดมากขึ้น และเกิดอาการแพนิคน้อยลงได้ ดังนี้
- งดหรือลดดื่มเครืองดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่ผสมคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา โคล่า หรือช็อกโกแลต
- ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนรับประทานยาหรือสมุนไพรรักษาอาการป่วยต่าง ๆ เนื่องจากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอาจมีส่วนประกอบที่กระตุ้นให้เกิดอาการแพนิคได้
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบถ้วน
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อลดอาการง่วงเซื่องซึมระหว่างวัน
- เข้ารับการรักษาจากแพทย์อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งฝึกรับมือกับความเครียด เช่น ฝึกหายใจลึก ๆ หรือเล่นโยคะ เพื่อให้รู้สึกผ่อนคลายขึ้น
- ฝึกคิดหรือมองโลกในแง่บวก ลองนึกถึงสถานที่หรือเหตุการณ์ที่ทำให้จิตใจสงบหรือผ่อนคลาย และเพ่งความสนใจไปที่ความคิดดังกล่าว วิธีนี้จะช่วยลดความฟุ้งซ่านและอาการวิตกกังวลต่าง ๆ ของผู้ป่วย รวมทั้งช่วยปรับความคิดของผู้ป่วยที่มีต่อตนเองและสิ่งรอบข้างให้ดีขึ้น
- ควรยอมรับว่าตัวเองรับมือกับอาการแพนิคได้ยาก เนื่องจากการกดดันตัวเองและพยายามระงับอาการแพนิคนั้นจะทำให้รู้สึกแย่กว่าเดิม ทั้งนี้ ควรทำความเข้าใจว่าอาการแพนิคไม่ได้ร้ายแรงถึงชีวิต แต่เป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นและหายไปได้
- เผชิญหน้ากับความวิตกกังวลที่เกิดขึ้น โดยลองหาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการดังกล่าว
- เมื่อเกิดอาการแพนิคขึ้นมา ควรพยายามตั้งสติ พุ่งความสนใจไปยังสิ่งที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย รวมทั้งหายใจให้ช้าลง โดยนับหนึ่งถึงสามเมื่อหายใจเข้าหรือออกแต่ละครั้ง เนื่องจากการหายใจเร็วจะทำให้อาการแพนิคกำเริบมากขึ้น