จิตแพทย์และนักจิตวิทยา ผู้ช่วยเยียวยาปัญหาสุขภาพจิต

ความเครียดและความวิตกกังวลต่อปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตนั้นเป็นสิ่งที่ทุกคนล้วนต้องเผชิญ แต่บางครั้งการก้าวผ่านช่วงเวลาที่ทรมานก็เป็นเรื่องยากเกินกว่าจะรับมือโดยลำพัง การขอความช่วยเหลือจากจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาจึงเป็นทางเลือกที่ดีและเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าอายแบบที่หลายคนเป็นกังวลแต่อย่างใด

จิตแพทย์ rs

ทำความรู้จักกับจิตแพทย์ และนักจิตวิทยา

แม้จิตแพทย์และนักจิตวิทยาจะมีหน้าที่ฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้ป่วยเหมือนกัน แต่ทั้งคู่ก็ทำงานต่างกัน โดยจิตแพทย์ คือ แพทย์เฉพาะทางด้านจิตเวช มีความเชี่ยวชาญด้านการวินิจฉัยและรักษาอาการป่วยทางจิต ทำหน้าที่พิจารณาให้ผู้ป่วยเข้ารับการตรวจต่าง ๆ เช่น การตรวจเลือด การตรวจทางรังสีวิทยา เป็นต้น รวมทั้งทำการรักษา เช่น บำบัดด้วยการพูดคุยเพื่อปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม สั่งจ่ายยา ใช้คลื่นไฟฟ้ากระตุ้นสมอง และประเมินว่าผู้ป่วยต้องพักฟื้นในโรงพยาบาลหรือไม่ เป็นต้น

ส่วนนักจิตวิทยา คือ ผู้ที่เรียนทางจิตวิทยาและได้รับการฝึกจนเป็นนักจิตวิทยาคลินิก มีหน้าที่ให้คำปรึกษาหรือบำบัดผู้ป่วยด้วยการพูดคุย แต่นักจิตวิทยาจะไม่สามารถสั่งจ่ายยาหรือวินิจฉัยอาการทางการแพทย์ได้ โดยทั้งคู่มักทำงานร่วมกันเพื่อช่วยฟื้นฟูสุขภาพจิตของผู้ป่วย นอกจากนี้ นักจิตวิทยาอาจทำงานร่วมกับแพทย์เฉพาะทางด้านอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน ซึ่งอาจช่วยเยียวยาสภาพจิตใจของผู้ป่วยมะเร็งหรือผู้ป่วยระยะสุดท้ายได้

ทั้งจิตแพทย์และนักจิตวิทยาสามารถช่วยรับฟัง ให้คำปรึกษา และเยียวยาสภาพจิตใจของผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากความเครียด ความวิตกกังวล ความสะเทือนใจจากการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ภาวะซึมเศร้า โรคกลัว ปัญหาในครอบครัวและปัญหาความสัมพันธ์ รวมทั้งช่วยบำบัดพฤติกรรมการใช้สารเสพติด รักษาโรคการกินผิดปกติ ปัญหาการนอนหลับ รวมไปถึงโรคทางจิตเวชทั้งหลาย เช่น โรคไบโพลาร์ โรคซึมเศร้า โรคจิตเภท โรคย้ำคิดย้ำทำ ความผิดปกติทางบุคลิกภาพ เป็นต้น

การทำงานของจิตแพทย์และนักจิตวิทยา

เมื่อมีปัญหาสุขภาพกายใจใด ๆ ผู้ป่วยสามารถเริ่มต้นจากการไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจในเบื้องต้น โดยจะมีแพทย์ทั่วไปเป็นผู้สอบถามอาการ ซักประวัติสุขภาพ และตรวจร่างกายอย่างละเอียดเพื่อคัดกรองโรค เนื่องจากอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นอาจไม่ได้เกิดจากโรคทางจิตเสมอไป แต่อาจเป็นผลมาจากปัญหาเกี่ยวกับสมอง ระบบประสาท หรือระบบอื่น ๆ ในร่างกายได้เช่นกัน หากพิจารณาแล้วว่าผู้ป่วยไม่มีความผิดปกติทางร่างกายแต่อย่างใด และน่าจะเป็นปัญหาทางสุขภาพจิตมากกว่า แพทย์จึงจะส่งตัวผู้ป่วยไปยังแผนกจิตเวช

เมื่อไปพบจิตแพทย์ ผู้ป่วยจะได้รับการประเมินสุขภาพกายและสภาพจิตใจ โดยจิตแพทย์จะสอบถามอาการหรือปัญหาที่เกิดขึ้นอีกครั้ง ถามคำถามทั่วไปเกี่ยวกับชีวิตและความคิดของผู้ป่วย และอาจสอบถามอาการจากครอบครัวหรือคนใกล้ตัวของผู้ป่วยด้วย หลังประเมินและวินิจฉัยอาการแล้ว จิตแพทย์อาจให้ยาหรือแนะนำให้ผู้ป่วยเข้ารับการบำบัดตามเหมาะสม เช่น การบำบัดโดยให้คำปรึกษา การพูดคุยเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและความคิด เป็นต้น ซึ่งจำนวนครั้งและระยะเวลาที่ผู้ป่วยต้องมาพบจิตแพทย์จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ความคืบหน้าในการรักษา และความรุนแรงของอาการ หากผู้ป่วยไม่ได้เป็นโรคทางจิตที่รุนแรงหรือได้รับการรักษาจนอาการดีขึ้นแล้ว จิตแพทย์อาจให้นักจิตวิทยาเป็นผู้ดูแลต่อไปจนกว่าผู้ป่วยจะกลับมามีสุขภาพจิตที่ดีและใช้ชีวิตในสังคมได้ตามปกติ

ทั้งนี้ ผู้ป่วยและญาติสามารถมั่นใจได้ว่าจิตแพทย์และนักจิตวิทยามีความรู้ความเชี่ยวชาญในการรับมือและทำความเข้าใจผู้ป่วยแต่ละคนโดยใช้แนวคิดชีวจิตสังคม ซึ่งเป็นการนำประสบการณ์ในอดีตของผู้ป่วย ความสัมพันธ์ในครอบครัว วัฒนธรรม สังคมรอบข้าง รวมถึงประวัติสุขภาพมาเป็นปัจจัยพิจารณาหาสาเหตุ อีกทั้งจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาที่เชี่ยวชาญเฉพาะในแต่ละด้านจะมีทักษะในการพูดคุยกับผู้ป่วยแต่ละวัยหรือแต่ละกลุ่มอาการด้วย เช่น นักจิตวิทยาเด็กจะรู้วิธีทำให้เด็กเชื่อใจหรือมีคำปรึกษาที่ดีเกี่ยวกับความสัมพันธ์ในครอบครัว ส่วนจิตแพทย์ที่รักษาผู้ใหญ่ก็จะรู้ว่าควรพูดคุยกับคนไข้ที่มีอาการประสาทหลอนหรือมีความผิดปกติทางความคิดอย่างไร เป็นต้น

สัญญาณอาการที่ควรไปพบผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต

การไปพบจิตแพทย์และนักจิตวิทยาไม่ใช่เรื่องน่าอายหรือน่าหวาดกลัวสำหรับผู้ป่วย เพราะสุขภาพจิตที่มีปัญหาควรได้รับการเยียวยารักษาเช่นเดียวกับสุขภาพร่างกาย ปัญหาสุขภาพจิตถือเป็นอาการป่วยอย่างหนึ่งที่ควรไปพบแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นความเครียด ความวิตกกังวล การเป็นโรคกลัว ภาวะซึมเศร้า หรือการป่วยด้วยโรคความผิดปกติทางจิตชนิดอื่น ๆ

หากมีความคิดหรืออารมณ์ที่ไม่สามารถจัดการได้ด้วยตนเอง กังวลว่าตนอาจมีปัญหาที่ต้องการความช่วยเหลือจากจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา หรือสังเกตได้ถึงอาการดังต่อไปนี้ ควรไปพบแพทย์เพื่อป้องกันสุขภาพจิตย่ำแย่ลงไปกว่าเดิม

  • เคยมีภาวะซึมเศร้าในวัยเด็กหรือในช่วงวัยรุ่น
  • มีช่วงชีวิตในวัยเด็กที่ต้องเผชิญความหดหู่ ความวิตกกังวล หรือความเครียด
  • มีพฤติกรรมทำร้ายตนเอง
  • มีพฤติกรรมการกินผิดปกติ เช่น กินมากหรือน้อยเกินไป ล้วงคอหลังจากกินอาหาร เป็นต้น
  • มีพฤติกรรมผิดปกติอย่างรุนแรง เช่น ชอบใช้ความรุนแรง ทำร้ายผู้อื่น ทำลายข้าวของ เป็นต้น
  • เป็นโรคที่เกิดจากความเครียดหรือความสะเทือนใจจากเหตุการณ์ต่าง ๆ
  • มีปัญหาเกี่ยวกับสภาพจิตใจหรืออารมณ์ที่ส่งผลให้อาการเจ็บป่วยทางร่างกายทรุดลงไปด้วย
  • เป็นโรคจิตเภท