Social Phobia ทำความเข้าใจโรคกลัวสังคมให้มากขึ้น

Social Phobia หรือโรคกลัวสังคม เป็นสภาวะทางจิตใจรูปแบบหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในสังคม โดยเป็นอาการในระยะยาวที่เกิดจากความวิตกกังวลและความกลัวเมื่อต้องเข้าสังคมหรือเมื่อต้องพบปะผู้คน ซึ่งโรคกลัวสังคมนี้อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและความสัมพันธ์กับผู้อื่นได้

ความตื่นเต้นหรือประหม่าเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ในบางสถานการณ์ เช่น เมื่อต้องนำเสนองานต่อหน้าผู้คนจำนวนมากหรือไปอยู่ท่ามกลางผู้คนที่เราไม่รู้จักคุ้นเคยในสถานที่ใหม่ ๆ บางคนอาจรู้สึกมวนท้องหรือเหงื่อออกที่ฝ่ามือ แต่ Social Phobia จะเป็นความรู้สึกวิตกกังวลที่รุนแรงเกินกว่าจะรับมือได้ บทความนี้จะช่วยไขข้อข้องใจว่าโรคกลัวสังคมเกิดขึ้นจากสาเหตุใด ต้องรับมืออย่างไรกับโรคนี้ 

2549-Social phobia

ความแตกต่างระหว่าง Social Phobia และความประหม่า

โดยทั่วไป ความประหม่าหรือความอายจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้น ๆ และไม่กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันมากนัก แต่ Social Phobia หรือ Social Anxiety Disorder เป็นความกลัวและวิตกกังวลอย่างรุนแรง ผู้ป่วยจึงพยายามจะหลีกเลี่ยงที่จะอยู่ในสถานการณ์ทางสังคมนั้น ๆ โดยอาการมักเกิดขึ้นในช่วงวัยรุ่นและจะคงอยู่ต่อเนื่องในระยะยาว ซึ่งอาจจะกระทบต่อการเรียน การทำงาน หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ ในชีวิตประจำวัน

อาการที่อาจพบได้ของ Social Phobia เช่น หน้าแดง เหงื่อออกมาก มือสั่น ใจสั่น พูดติดขัด คิดอะไรไม่ออก หายใจหอบถี่ หรือคลื่นไส้ เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจรู้สึกกลัวหรือวิตกกังวลว่าการกระทำของตนเองจะถูกจับจ้องหรือถูกตัดสิน กลัวว่าคนอื่นจะสังเกตเห็นความกังวลของตนเองจากอาการทางร่างกาย มักมองโลกในแง่ร้ายหรือวิตกกังวลไปก่อนล่วงหน้าอีกด้วย บางรายอาจต้องพึ่งพาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อให้ตนเองกล้าเผชิญหน้ากับสถานการณ์ต่าง ๆ

Social Phobia เกิดจากอะไร

แม้จะยังไม่รู้ถึงสาเหตุที่แน่ชัดของโรค แต่โอกาสในการเกิด Social Phobia จะมีแนวโน้มสูงขึ้นหากสมาชิกในครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นโรคนี้มาก่อน รวมทั้งยังอาจเกิดได้จากความผิดปกติของโครงสร้างภายในสมองส่วนอะมิกดาลา (Amygdala) ที่มีหน้าที่ตอบสนองต่อความหวาดกลัวและวิตกกังวล เมื่อสมองถูกกระตุ้นให้ตื่นตัวผิดปกติอาจทำให้บุคคลนั้นตอบสนองต่อความกลัวสังคมด้วยความเครียดและความวิตกกังวล 

นอกจากนี้ ปัจจัยภายนอกที่มีผลในการเกิด Social Phobia อาจเกี่ยวข้องกับประสบการณ์ในวัยเด็ก จากผลจากการวิจัยระบุว่า เด็กที่เติบโตขึ้นท่ามกลางสภาพแวดล้อมไม่ดี ถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจอย่างรุนแรง เช่น ถูกใส่ร้าย ด่าทอ มีการใช้ความรุนแรงในครอบครัว หรือถูกเพื่อนรังแก อาจเกิดความรู้สึกหวาดกลัวและเกิดบาดแผลฝังลึกภายในใจได้ 

วิธีรับมือกับ Social Phobia

การจัดการกับสถานการณ์ที่กระตุ้นให้เกิด Social Phobia อาจดีขึ้นได้หากลองทำตามคำแนะนำต่อไป 

  • ทำความเข้าใจและเรียนรู้วิธีจัดการกับความเครียดหรือความกังวลของตนเอง โดยลองคิดถึงวิธีแสดงออกที่เหมาะสม และวิธีการแก้ปัญหาเมื่ออยู่ในสถานการณ์ทางสังคมต่าง ๆ 
  • ปรับมุมมองความคิดใหม่และมองสิ่งต่าง ๆ ด้วยเหตุผล ไม่ควรกังวลไปเองล่วงหน้าถึงผลลัพธ์ที่ยังไม่เกิดขึ้น ไม่คิดมากเกี่ยวกับความคิดหรือสายตาของผู้อื่นจนเกินพอดี เพราะจะยิ่งทำให้วิตกกังวลและเครียดมากขึ้น
  • ทดลองทำกิจกรรมที่เคยกลัวหรือพยายามหลีกเลี่ยง โดยเริ่มจากเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ กับผู้ที่เรารู้สึกสนิทใจอย่างค่อยเป็นค่อยไป เช่น การสบตา การตอบรับและชวนคุยด้วยความเป็นมิตร หรือการเสนอความช่วยเหลือให้กับผู้อื่น เป็นต้น
  • รักษาสุขภาพร่างกายด้วยการออกกำลังกายกายอย่างสม่ำเสมอ ร่วมกับการฝึกสมาธิให้จิตใจสงบ
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เนื่องจากการอดนอนหรือนอนน้อยอาจกระตุ้นให้ความวิตกกังวลมากขึ้นและทำให้อาการ Social Phobia แย่ลง
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาแฟอีนและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ผู้ที่มีอาการ Social Phobia มักจะอ่อนไหวง่ายกับสถานการณ์ต่าง ๆ และแสดงออกถึงพฤติกรรมอย่างไม่เหมาะสม เพื่อตอบสนองความรู้สึกกลัวหรือวิตกกังวลภายในจิตใจตนเอง หากรู้สึกว่าอาการ Social Phobia เป็นปัญหาที่ไม่สามารถรับมือได้ด้วยตนเอง ควรปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา เพื่อเข้ารับการรักษาและขอคำแนะนำในการรับมือกับ Social Phobia อย่างเหมาะสม 

นอกจากนี้ แพทย์อาจรักษาผู้ป่วยด้วยการบำบัด โดยอาจเป็นการเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy) เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยได้เรียนรู้สาเหตุของ Social Phobia รู้จักปรับเปลี่ยนวิธีคิดและพฤติกรรมที่เกิดจากความวิตกกังวล ในบางกรณีอาจใช้ยาเพื่อรักษาโรคร่วมด้วย อย่างยารักษาโรคซึมเศร้ากลุ่มเอสเอสอาร์ไอ (SSRIs) ยาเซโรโทนินหรือยากลุ่มเอสเอ็นอาร์ไอ (SNRIs)

การจัดการกับโรค Social Phobia ต้องใช้ระยะเวลาและความตั้งใจในการปรับความคิดและพฤติกรรมของผู้ป่วย พร้อมกับต้องขอความร่วมมือจากคนใกล้ชิด ทั้งครอบครัว เพื่อน และจิตแพทย์ที่จะช่วยในการวิเคราะห์สาเหตุ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยได้เรียนรู้วิธีการในการรับมือกับความวิตกกังวลอย่างเหมาะสม สามารถก้าวข้ามขีดกำจัดของความกลัวและกล้าที่จะทำกิจกรรมต่าง ๆ ในสังคมกับผู้อื่นได้ ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการดีขึ้นภายในระยะเวลาประมาณ 2-3 เดือนหลังเข้ารับการบำบัด