รับมือพฤติกรรม FOMO อย่างไรไม่ให้กระทบกับสุขภาพจิต

FOMO ย่อมาจากคำว่า “Fear of Missing out” เป็นคำที่ใช้เรียกพฤติกรรมของคนที่กลัวหรือระแวงว่าตัวเองจะตกข่าว ตกกระแส พลาดบางสิ่งบางอย่างไป หรือแม้แต่กลัวไม่ได้เป็นคนสำคัญ ไม่เป็นที่ยอมรับ จึงมักเช็คข่าวสารบ่อยกว่าปกติ คิดว่าตนเองต้องรู้ก่อนใคร พอพลาดเรื่องใดไปจะเกิดความเครียดหรือวิตกกังวลโดยที่ไม่รู้ตัว

พฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียในยุคปัจจุบันเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเกิดพฤติกรรม FOMO เนื่องจากกระแสที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนตามไม่ทัน หลายคนเสพติดการใช้มือถือและโซเชียลมีเดีย หากไม่ได้เช็คข้อความในไลน์ก่อนนอนจะนอนไม่หลับ หรือเปิดมือถือดูตลอดเวลาแม้จะไม่มีเสียงแจ้งเตือนดังก็ตาม ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณ FOMO ที่หากไม่รีบหาวิธีรับมืออาจนำไปสู่ปัญหาที่รุนแรงกว่า

รับมือพฤติกรรม FOMO อย่างไรไม่ให้กระทบกับสุขภาพจิต

พฤติกรรม FOMO กับผลกระทบต่อสุขภาพ

เมื่อสื่อออนไลน์กลายเป็นส่วนสำคัญในการใช้ชีวิต ผู้คนเลือกเสพสื่อต่าง ๆ จากโซเชียลมีเดียด้วยหลากหลายเหตุผลต่างกันไป เพราะเป็นวิธีง่าย ๆ ใกล้ตัว เมื่อใดที่เครียดหรืออยากรู้สึกผ่อนคลาย คนจะเคยชินกับการกดรีเฟรชหน้าเฟซบุ๊กมากกว่าพยายามหากิจกรรมอย่างอื่นทำ 

ผลจากการใช้โซเชียลมีเดียที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้คนมีแนวโน้มผลที่จะเสพติดโซเชียลมีเดีย และมีพฤติกรรม FOMO มากขึ้นด้วยโดยไม่รู้ตัว คนส่วนใหญ่จึงไม่ได้หาทางดูแลรักษาและปล่อยไว้จนอาจนำไปสู่ปัญหาร้ายแรงอื่น ๆ

อาการกลัวสังคม (Social anxiety) ถือเป็นหนึ่งในผลกระทบทางจิตใจที่เกิดขึ้นได้กับผู้มีพฤติกรรม FOMO เนื่องจากการใช้พื้นที่ออนไลน์สร้างตัวตนให้เป็นที่ยอมรับของผู้อื่นนั้นเป็นเรื่องง่ายกว่า สุดท้ายหลายคนจึงอาจกลัวการมีตัวตนในโลกออฟไลน์และพยายามหลีกเลี่ยงการเข้าสังคมจริง ๆ 

เมื่อไม่ได้รับความสนใจเท่าที่คาดหวังในโลกออนไลน์ ผู้ที่มีพฤติกรรม FOMO มักจะเริ่มเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น ให้ความสำคัญกับยอดถูกใจหรือความเห็นในโซเชียลมีเดียมากเกินไปจนการเห็นคุณค่าในตัวเองน้อยลง และพยายามเช็คมือถือตลอดเวลาเพราะไม่อยากพลาดการแจ้งเตือนหรือเรื่องราวของคนอื่น ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้อาจนำไปสู่การกลัวการถูกกีดกันจากสังคม ความรู้สึกโดดเดี่ยว รวมถึงความรู้สึกว่าตัวเองดีไม่พอได้เช่นกัน 

อาการทางจิตใจเหล่านี้ยังอาจส่งผลต่อการนอนหลับและพฤติกรรมการกินของผู้ที่มีพฤติกรรม FOMO อีกด้วย อาจทำให้นอนหลับไม่เพียงพอหรือกินได้น้อยลง ส่งผลกระทบจนเกิดปัญหาทางสุขภาพและอาการอื่นตามมา เช่น ความเหนื่อยล้า ปวดหัว ขาดแรงจูงใจ หรือเกิดภาวะหมดไฟ (Burnout)

วิธีรับมือกับพฤติกรรม FOMO

การหลีกเลี่ยงพฤติกรรม FOMO เป็นเรื่องยากเมื่อโซเชียลมีเดียเป็นส่วนสำคัญในชีวิตประจำวันของทุกคน วีธีต่อไปนี้จะลดปัญหาจากการใช้โซเชียลมีเดีย และช่วยให้คนที่มีพฤติกรรม FOMO มีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น

  • คัดกรองเนื้อหาหรือผู้คนที่จะติดตามบนโซเชียลมีเดีย โดยเลือกติดตามคนที่ให้แนวคิดเชิงบวกหรือคนที่เห็นแล้วรู้สึกสบายใจ และเลิกติดตามเนื้อหาที่อาจไปกระตุ้นพฤติกรรม FOMO ของคุณ เช่น ความรู้สึกไม่เป็นที่ยอมรับหรือความรู้สึกว่าตัวเองดีไม่เท่าคนอื่น
  • ทำดิจิทัลดีท็อก (Digital detox) โดยการลดการใช้สมาร์ทโฟนหรือการหยุดจากโลกออนไลน์ไปสักพัก เพื่อช่วยให้คุณมีสมาธิกับสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตจริงมากขึ้น และให้ความสำคัญกับผู้คนในโลกออนไลน์น้อยลง
  • จดบันทึกความรู้สึกและเรื่องราวที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน เพื่อช่วยให้คุณรู้จักตัวเองมากขึ้น รู้ว่าสิ่งใดที่อาจเป็นสาเหตุของพฤติกรรม FOMO ของคุณ หรือสิ่งใดที่ทำให้เกิดความสบายใจ อีกทั้งยังช่วยลดเวลาการใช้งานโซเชียลมีเดียน้อยให้ลงอีกด้วย
  • ทำกิจกรรมที่ช่วยฝึกสมาธิและสติ อย่างการนั่งสมาธิหรือเล่นโยคะ จะช่วยให้รู้สึกสงบและมีสมาธิอยู่กับสิ่งตรงหน้า ช่วยให้ตระหนักรู้ว่าโลกออนไลน์นั้นสำคัญหรือจำเป็นมากน้อยกับคุณอย่างไรบ้าง บางครั้งเพียงแค่ได้ออกไปเดินเล่นข้างนอกอาจช่วยให้คุณรู้สึกดีได้เช่นเดียวกัน
  • ใช้เวลากับผู้คนในชีวิตจริงให้มากขึ้น เช่น ไปเที่ยวกับเพื่อนหรือคนที่ไว้ใจ พูดคุยกับคนในครอบครัวให้มากขึ้น เพราะผู้คนเหล่านี้จะช่วยย้ำเตือนว่าคุณยังเป็นที่รักและมีตัวตนสำหรับเขาเสมอ
  • หากพฤติกรรม FOMO ส่งผลต่ออย่างมากต่อการใช้ชีวิตของคุณ การเข้ารับการบำบัดโดยวิธีบำบัดด้วยความคิดและพฤติกรรม (Cognitive behavioral therapy) อาจเป็นทางเลือกที่เหมาะสม โดยนักบำบัดจะพูดคุยเพื่อช่วยหาสาเหตุของความเครียดหรือวิตกกังวล และหาวิธีการเพื่อรับมือกับอาการดังเกล่า

พฤติกรรม FOMO กับการใช้โซเชียลมีเดียมักเป็นของคู่กัน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากคุณกำลังรู้สึกไม่ดีกับอาการเหล่านี้ แต่หากลองทำตามคำแนะนำแล้วยังไม่ดีขึ้น การไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะช่วยป้องกันปัญหาอื่น ๆ ที่อาจรุนแรงมากกว่าเดิมได้