รู้จัก JOMO กับ 4 ประโยชน์จากการปล่อยวางจากโลกออนไลน์

JOMO ย่อมาจากคำว่า “Joy of missing out” ซึ่งอาจหมายถึงแนวคิดหรือพฤติกรรมในการปล่อยวางจากกระแส ข่าวสาร หรือเรื่องราวของผู้อื่นใน Social Media ที่ไม่ได้จำเป็นสำหรับชีวิตของเรามากนัก และสนใจแค่เรื่องราวของตัวเอง ซึ่งอาจเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่กำลังรู้สึกว่าตัวเองเสพติด Social Media มากเกินไป จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของตัวเอง

พฤติกรรมแบบ JOMO ตรงข้ามกับพฤติกรรมแบบ FOMO ที่ย่อมาจากคำว่า “Fear of missing out” หมายถึงการกลัวการตกข่าว หรือการตามกระแสใน Social Media ไม่ทัน ทำให้หลายคนเสพติดการใช้ Social Media มากเกินไป และเปรียบเทียบชีวิตของตัวเองกับผู้อื่นจนนำไปสู่การเกิดความเครียดสะสม การสูญเสียความมั่นใจ ไปจนถึงการเห็นคุณค่าในตัวเองต่ำเลยทีเดียว

JOMO

ทำความรู้จักกับพฤติกรรม JOMO

แนวคิดหรือพฤติกรรมแบบ JOMO อาจสามารถอธิบายได้ง่าย ๆ ว่า “ถึงพลาดบ้างก็ไม่เป็นไร” ซึ่งหมายถึงการให้ความสำคัญกับความสุขและความสบายใจของตัวเองเป็นหลัก ไม่เอาชีวิตของตัวเองไปผูกติดอยู่กับกระแส ข่าวสาร หรือเรื่องราวในชีวิตของผู้อื่นมากจนเกินไป โดยเฉพาะกระแส ข่าวสาร หรือเรื่องราวของผู้อื่นใน Social Media ที่มักทำให้เราติดโทรศัพท์จนรู้สึกเครียด หรือรู้สึกว่าตัวเองยังไม่ดีพอ

ซึ่งเมื่อเราเห็นชีวิตของคนอื่นใน Social Media น้อยลง อาจทำให้เรามีความสุขอยู่กับชีวิตของตัวเองในปัจจุบันมากขึ้น โดยไม่ต้องรู้สึกว่าชีวิตของตัวเองด้อยกว่าใคร หรือไม่ต้องพยายามทำอะไรจนเกินตัวเพื่อมีชีวิตเหมือนคนอื่น เพราะในบางครั้งการพยายามทำอะไรก็ตามเพื่อให้รู้สึกว่าชีวิตของตัวเองดีกว่าคนอื่น ก็เป็นเรื่องที่บั่นทอนจิตใจ และอาจส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตด้วย

นอกจากนี้ แนวคิดหรือพฤติกรรมแบบ JOMO อาจรวมถึงการที่เรารู้จักปฏิเสธที่จะเข้าร่วมงานสังคมหากเราไม่ชอบหรือไม่สะดวกใจที่จะไป โดยไม่ต้องกังวลว่าหากปฏิเสธไปแล้วคนอื่นจะไม่พอใจ หรือกังวลว่าหากไม่ไปงานนี้คงจะคุยกับคนอื่นไม่รู้เรื่อง และใช้เวลาเหล่านั้นไปกับการทำกิจกรรมที่ตัวเองอยากทำจริง ๆ มากกว่า

พฤติกรรม JOMO กับประโยชน์ต่อสุขภาพ 

พฤติกรรมแบบ JOMO อาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจได้หลายประการ ดังนี้

ส่งผลดีต่อสภาพจิตใจ

การเล่น Social Media มากเกินไปสามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตได้ เช่น การเสพข่าวที่มากเกินไปอาจทำให้เกิดความเครียด การติดตามชีวิตของผู้อื่นตลอดเวลาอาจทำให้รู้สึกว่าชีวิตของตัวเองด้อยกว่า และสูญเสียความมั่นใจ ดังนั้น การปล่อยวางจากเรื่องราวในโลกออนไลน์อาจสามารถช่วยลดความเครียดหรือความกังวลได้ ซึ่งเป็นวิธีในการดูแลสุขภาพจิตอีกทางหนึ่ง

ช่วยปรับปรุงคุณภาพการนอนหลับ

การจำกัดเวลาการเล่นโทรศัพท์ ดูโทรทัศน์ หรือใช้เครื่องมือสื่อสารอื่น ๆ ก่อนเวลานอนประมาณ 1–2 ชั่วโมง รวมถึงการปิดเสียงโทรศัพท์เพื่อไม่ให้เสียงแจ้งเตือนต่าง ๆ ดังรบกวนในขณะที่กำลังนอนหลับ อาจสามาถช่วยปรับปรุงคุณภาพการนอนหลับให้ดีขึ้นได้ ซึ่งเมื่อเรานอนหลับสนิท ร่างกายก็จะได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ ส่งผลให้เราตื่นอย่างสดชื่นและไม่ง่วงในระหว่างวันด้วย

ช่วยพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และสมาธิ

การใช้เวลาอยู่กับตัวเองโดยการหากิจกรรมที่สร้างสรรค์และมีประโยชน์ทำ เช่น การอ่านหนังสือหรือการทำงานฝีมือ อาจช่วยพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ยิ่งไปกว่านั้น การอ่านหนังสือและการทำงานฝีมือไม่เพียงแต่ช่วยเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์เท่านั้น แต่ยังช่วยฝึกสมาธิ ทำให้เราสามารถจดจ่อกับสิ่งต่าง ๆ เป็นเวลานานขึ้นด้วย

ช่วยให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้คนรอบตัว

การลดความสนใจจากโลกออนไลน์ลงจะทำให้เรามีเวลาในการใช้ชีวิตของตัวเองมากขึ้น จึงอาจทำให้เราได้ใช้เวลานี้ในการพูดคุยสื่อสารกับคนในครอบครัวมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ การหากิจกรรมทำร่วมกันในเวลาว่าง เช่น การทำงานอดิเรก การรับประทานอาหารนอกบ้านร่วมกัน หรือการท่องเที่ยว ยังสามารถช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับคนรอบตัวดีขึ้นด้วย

เคล็ดลับง่าย ๆ ในการเริ่มพฤติกรรม JOMO

พฤติกรรมแบบ JOMO อาจทำได้ยาก เพราะในปัจจุบันชีวิตของเราผูกติดอยู่กับโทรศัพท์และ Social Media แทบจะตลอดเวลา แต่หากลองทำตามเคล็ดลับเหล่านี้ อาจช่วยให้สามารถเริ่มทำพฤติกรรมแบบ JOMO ได้ไม่ยากจนเกินไป เช่น

  • หลีกเลี่ยงการติดตามคอนเทนต์ใน Social Media ที่ทำให้เรารู้สึกเครียด กังวล หรือรู้สึกว่าตัวเองยังไม่ดีพอ รวมถึงอาจลดหรือจำกัดเวลาในการเล่น Social Media ด้วย
  • เปิดโหมด “ห้ามรบกวน” ในโทรศัพท์นอกเวลาเรียนหรือเวลาทำงาน ขณะกำลังนอนหลับ รวมถึงในวันหยุดเสาร์อาทิตย์ เพื่อไม่ให้แจ้งเตือนที่ไม่จำเป็นมารบกวนเวลาส่วนตัวสำหรับการพักผ่อน
  • ใช้เวลาในวันหยุดเสาร์อาทิตย์กับตัวเองแทนการเล่น Social Media เช่น ทำงานอดิเรก เล่นกับสัตว์เลี้ยง หรือไปเที่ยวในสถานที่ใกล้ ๆ กับคนในครอบครัว
  • รู้จักปฏิเสธคำชวนของเพื่อนหรือคนรู้จักในบางครั้ง หากเราไม่สะดวกใจที่จะทำกิจกรรมเหล่านั้น โดยไม่ต้องกังวลว่าจะพลาดสิ่งสำคัญอะไรไป หรือกังวลว่าทำให้คนอื่นไม่พอใจ

แม้ว่าพฤติกรรมแบบ JOMO อาจเป็นเรื่องที่ทำได้ยากในสังคมปัจจุบันที่โลกหมุนไวมากจนการไม่ติดตาม Social Media เพียงไม่กี่ชั่วโมงสามารถทำให้เราพลาดเรื่องราวสำคัญได้สารพัด แต่การยึดมั่นในแนวคิดที่ว่า “ถึงพลาดบ้างก็ไม่เป็นไร” ก็มีประโยชน์ต่อสุขภาพอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะสุขภาพจิตที่สำคัญไม่แพ้สุขภาพกายเลยทีเดียว