โรคกลัวการเข้าสังคม

ความหมาย โรคกลัวการเข้าสังคม

โรคกลัวการเข้าสังคม (Social Anxiety Disorder หรือ Social Phobia) เป็นความผิดปกติทางจิตใจรูปแบบหนึ่งที่ส่งผลให้รู้สึกวิตกกังวลหรือกลัวหากต้องเข้าสังคมหรือต้องพบปะผู้คนที่ไม่คุ้นเคย ผู้ป่วยจึงพยายามหลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและกระทบต่อความสัมพันธ์กับผู้อื่นได้

โรคกลัวการเข้าสังคมจัดเป็นหนึ่งในกลุ่มโรควิตกกังวล (Anxiety Disorder) และมักพบในวัยรุ่น ซึ่งผู้ที่มีอาการกลัวการเข้าสังคมจะรู้สึกกลัวอย่างรุนแรงเมื่อเข้าเรียน ทำงาน หรือทำความรู้จักคนใหม่ ๆ โดยอาการจะเป็นต่อเนื่องในระยะยาว ผู้ป่วยบางรายอาการอาจค่อย ๆ ดีขึ้นได้เองเมื่อเวลาผ่านไป แต่ส่วนมากมักต้องเข้ารับการรักษาเพื่อให้สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้ตามปกติ

2624-โรคกลัวการเข้าสังคม

อาการของโรคกลัวการเข้าสังคม

ความกังวลในบางสถานการณ์เป็นความรู้สึกโดยธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน อย่างความรู้สึกตื่นเต้นหรือประหม่าเมื่อต้องนำเสนองานหน้าชั้นเรียนหรือในที่ประชุม แต่โรคกลัวการเข้าสังคมจะแตกต่างจากความกังวลหรือความอายทั่วไป เนื่องจากผู้ป่วยจะรู้สึกกลัวหรือกังวลทุกครั้งที่ต้องทำกิจกรรมหรือเข้าสังคมพบปะผู้อื่น ทำให้ความวิตกกังวลเกิดขึ้นในระยะยาวจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและความสัมพันธ์กับผู้อื่น

ผู้ป่วยโรคกลัวการเข้าสังคมแต่ละคนอาจมีอาการแตกต่างกัน โดยสามารถแบ่งอาการได้เป็นสองกลุ่ม ดังนี้

อาการทางร่างกาย

สัญญาณหรืออาการที่แสดงออกทางร่างกายของผู้ที่มีอาการกลัวการเข้าสังคม ได้แก่

  • หน้าแดง
  • รู้สึกมวนท้อง คลื่นไส้
  • เหงื่อออกมาก
  • ตัวสั่น
  • พูดติดขัด คิดอะไรไม่ออก
  • เวียนศีรษะ หน้ามืด
  • หายใจไม่ทัน
  • หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
  • กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง

อาการทางจิตใจและพฤติกรรม

ผู้ที่มีโรคกลัวการเข้าสังคมอาจมีอาการทางจิตใจ ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมที่แสดงออก ดังนี้

  • วิตกกังวลอย่างรุนแรงเมื่อต้องอยู่ในสถานการณ์ทางสังคม เช่น การพูดคุยกับคนแปลกหน้า การเข้าร่วมงานเลี้ยง หรือแม้แต่การสบตากับผู้อื่น
  • กังวลล่วงหน้าหลายวันหรือหลายสัปดาห์แม้เหตุการณ์จะยังไม่เกิดขึ้น หรือกังวลว่าจะเกิดความผิดพลาดซ้ำเหมือนในอดีต
  • กังวลว่าตนเองจะทำเรื่องน่าอายต่อหน้าผู้อื่น และจะถูกผู้อื่นตัดสิน เยาะเย้ย หรือถากถาง
  • กังวลว่าผู้อื่นจะสังเกตเห็นความเครียดหรือความกังวลของตนเอง เช่น หน้าแดง มือสั่น หรือพูดติดขัด
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานการณ์ทางสังคม หรือหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ อาจพยายามทำตัวกลมกลืนไปและไม่ให้เป็นจุดสนใจของผู้อื่น
  • พึ่งพาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เมื่อต้องอยู่ในสถานการณ์ทางสังคม
  • ขาดเรียนหรือขาดงาน

เมื่อเวลาผ่านไป อาการของโรคกลัวสังคมอาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอด แต่หากไม่ได้รับการรักษา อาจส่งผลเสียในระยะยาว และอาจมีอาการรุนแรงขึ้นเมื่อต้องเผชิญหน้ากับสภาวะกดดันหรือสถานการณ์ที่ทำให้วิตกกังวล อย่างไรก็ตาม การหลีกหนีจากสถานการณ์ทางสังคมอาจเป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น หากผู้ป่วยมีอาการหวาดกลัว วิตกกังวล และหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมในสังคมร่วมกับผู้อื่น ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา

สาเหตุของโรคกลัวสังคม

โรคกลัวสังคมอาจคล้ายกับภาวะความผิดปกติทางจิตใจอื่น ๆ โดยสาเหตุเกิดจากปัจจัยภายในของแต่ละบุคคลรวมกับปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม ดังนี้

  • การถ่ายทอดทางพันธุกรรม แม้จะยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบว่าหากคนในครอบครัวมีประวัติของโรควิตกกังวลมาก่อน อาจมีแนวโน้มที่จะเกิดโรควิตกกังวลได้สูงขึ้น
  • ความผิดปกติของโครงสร้างของสมองส่วนอะมิกดาลา (Amygdala) ซึ่งทำหน้าที่ตอบสนองต่อความกลัว เมื่อสมองถูกกระตุ้นให้ตื่นตัวผิดปกติ อาจทำให้บุคคลนั้นตอบสนองต่อความกลัวสังคมด้วยความเครียดและวิตกกังวลเพิ่มขึ้น
  • สภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดู โรคกลัวการเข้าสังคมอาจเกิดจากพฤติกรรมการเรียนรู้หลังเผชิญเหตุการณ์ที่น่าอาย หรือเรียนรู้พฤติกรรมการเลี้ยงดูของผู้ปกครอง เด็กที่เคยถูกทำร้ายร่างกายหรือจิตใจอย่างรุนแรง เช่น ถูกดุด่า มีการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ถูกล่วงละเมิดทางเพศ หรือถูกเพื่อนรังแก อาจทำให้รู้สึกหวาดกลัวเมื่อต้องเข้าสังคม

นอกจากนี้ ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่อาจกระตุ้นให้เกิดโรคกลัวสังคม ได้แก่ ความกดดันจากการทำงานหรือการเข้าสังคมใหม่ เด็กที่มีลักษณะนิสัยขี้อาย เก็บตัวหรือแยกตัวออกจากผู้อื่น รวมถึงความผิดปกติทางร่างกาย เช่น พูดติดอ่าง มีอาการสั่นจากโรคพาร์กินสัน (Parkinson’s Disease) หรือใบหน้าเสียโฉม อาจเกิดความรู้สึกกังวลและกลัวที่จะเข้าสังคมได้

การวินิจฉัยโรคกลัวสังคม

แพทย์จะสอบถามลักษณะอาการ ความถี่ในการเกิดอาการ โดยอาจพูดถึงสถานการณ์ทางสังคมที่มักทำให้เกิดความกลัวและสังเกตปฏิกิริยาของผู้ป่วย หรือให้ผู้ป่วยเล่าเหตุการณ์ที่รู้สึกกังวลหรือหวาดกลัวด้วยตนเอง นอกจากนี้ แพทย์อาจสอบถามประวัติสุขภาพและการใช้ยาของผู้ป่วย ประวัติสุขภาพหรือพฤติกรรมของคนในครอบครัว และตรวจร่างกายเบื้องต้น เพื่อวินิจฉัยว่าโรคกลัวการเข้าสังคมเกิดจากสาเหตุทางร่างกายหรือจิตใจ

ทั้งนี้ แพทย์จะใช้เกณฑ์ตามคู่มือการวินิจฉัยและสถิติของความผิดปกติทางจิต ตีพิมพ์ครั้งที่ 5 (DSM-5) ของสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน ได้แก่

  • รู้สึกกลัวหรือวิตกกังวลอย่างรุนแรงในบางสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากกลัวการถูกตัดสิน ถูกเยาะเย้ยให้อาย หรือการดูถูกเหยียดหยาม
  • หลีกเลี่ยงสถานการณ์ทางสังคมที่ทำให้เกิดความวิตกกังวล หรืออดทนในการอยู่ในสถานการณ์นั้นด้วยความกลัวหรือหวั่นวิตก
  • รู้สึกกลัวต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในระดับรุนแรงเกินกว่าจะควบคุมได้ 
  • รู้สึกกังวลหรือลำบากใจจนกระทบต่อการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน
  • รู้สึกวิตกกังวลโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือไม่สามารถอธิบายสาเหตุทางการแพทย์ได้ เช่น ปัญหาสุขภาพ การใช้ยารักษาโรค หรือใช้สารเสพติด

การรักษาโรคกลัวการเข้าสังคม

วิธีการรักษาอาจแตกต่างกันขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน โดยวิธีที่มักนำมาใช้รักษา ได้แก่ การดูแลตนเองด้วยการปรับพฤติกรรม จิตบำบัด (Psychotherapy) และการใช้ยารักษาโรค ซึ่งอาจใช้วิธีใดวิธีหนึ่งหรือหลายวิธีร่วมกัน 

การดูแลตนเอง

แม้ว่าการรักษาโรคกลัวการเข้าสังคมอาจต้องเข้ารับการรักษาตัวโดยแพทย์หรือนักจิตบำบัด แต่ผู้ป่วยสามารถรับมือกับสถานการณ์ที่กระตุ้นให้เกิดอาการกลัวสังคมได้ดีขึ้นด้วยการดูแลตนเองตามวิธีต่อไปนี้

  • จัดการกับความเครียดด้วยวิธีที่เหมาะสม
  • ออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ได้ออกแรงเป็นประจำ
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เนื่องจากการอดนอนอาจกระตุ้นให้เกิดความวิตกกังวลและทำให้อาการของโรคแย่ลงได้
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และมีสารอาหารครบถ้วนในแต่ละวัน จำกัดปริมาณหรือหลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ ช็อคโกแลต และโซดา เพราะอาจกระตุ้นให้เกิดอาการวิตกกังวล
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 

นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรฝึกการเข้าสังคมอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยอาจเริ่มจากคนที่รู้สึกคุ้นเคย เช่น ร่วมรับประอาหารกับญาติที่ใกล้ชิดหรือเพื่อนสนิทในร้านอาหาร สบตาและทำความรู้จักกับคนใหม่ ๆ รวมถึงแสดงความใส่ใจและชื่นชมในตัวผู้อื่นเมื่อพูดคุยกัน 

ทั้งนี้ ควรเตรียมความพร้อมเมื่อต้องอยู่ในสถานการณ์ทางสังคม เช่น เตรียมหัวข้อที่สนใจเพื่อพูดคุยกับผู้อื่น ฝึกการผ่อนคลายร่างกายและจัดการกับความเครียด โดยไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อคลายความกังวล และระลึกไว้เสมอหากมีข้อผิดพลาดหรือเรื่องน่าอายเกิดขึ้น ผู้อื่นอาจไม่ทันได้สังเกตเห็นหรือไม่ได้ถือเป็นความผิดพลาดร้ายแรง ดังนั้น จึงไม่ควรเก็บมาคิดโทษตนเองหรือวิตกกังวลในภายหลัง 

จิตบำบัด

จิตบำบัดเป็นวิธีที่นิยมนำมาใช้ในการรักษาโรคกลัวการเข้าสังคม ผู้ป่วยจะได้เรียนรู้วิธีการปรับมุมมองความคิดแง่ลบเกี่ยวกับตัวเอง และเสริมสร้างความมั่นใจเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ทางสังคม เช่น 

  • การบำบัดด้วยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavior Therapy) โดยพูดคุยกับนักจิตบำบัดเพื่อจัดการกับความกังวลด้วยการผ่อนคลายร่างกาย และปรับความคิดแง่ลบให้เป็นบวก ซึ่งถือเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการรักษาโรควิตกกังวล 
  • การบำบัดด้วยการจำลองโลกเสมือนจริง (Exposure Therapy) โดยให้ผู้ป่วยได้เผชิญกับสถานการณ์ที่รู้สึกกลัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ฝึกความมั่นใจและทักษะการรับมือกับความวิตกกังวลในสถานการณ์นั้น
  • การบำบัดด้วยวิธีกลุ่ม (Group Therapy) ผู้ป่วยจะได้เรียนรู้ทักษะในการพูดคุยและเข้าสังคม เพื่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนในกลุ่มผ่านการทำกิจกรรม ซึ่งการบำบัดร่วมกับคนในกลุ่มที่มีอาการกลัวสังคมเช่นเดียวกันจะทำให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกแปลกแยกหรือโดดเดี่ยว

การรักษาด้วยยา

การรักษาโรคกลัวการเข้าสังคมอาจใช้ยาหลายชนิดในการรักษา แต่ยาที่นิยมนำมาใช้เป็นอันดับแรก คือ กลุ่มยาต้านเศร้าเอสเอสอาร์ไอ (SSRIs) อย่างยาพาร็อกซีทีน (Paroxetine) หรือยาเซอร์ทราลีน (Sertraline) หรือยารักษาโรคซึมเศร้ากลุ่มเอสเอ็นอาร์ไอ (SNRIs) อย่างยาเวนลาฟาซีน (Venlafaxine) อาจนำมาใช้ในการรักษาเช่นกัน ซึ่งแพทย์จะเริ่มจ่ายยาให้ผู้ป่วยในปริมาณน้อย แล้วค่อย ๆ ปรับเพิ่มขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงของผลข้างเคียงหลังได้รับยา 

นอกจากนี้ อาจใช้ยาอื่น ๆ ในการรักษา ดังนี้

  • ยาต้านเศร้าชนิดอื่นที่เหมาะสมกับการรักษา และเกิดผลข้างเคียงน้อยที่สุด
  • ยารักษาภาวะวิตกกังวล อย่างยาเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepines) มักใช้รักษาในระยะสั้น เนื่องจากอาจเสี่ยงต่อการดื้อยาหรือเสพติดยา
  • ยาเบต้า บล็อกเกอร์ (Beta Blockers) ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของฮอร์โมนอะดรีนาลีน ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต และอาการสั่นลดลง จึงช่วยควบคุมอาการเฉพาะบางสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความวิตกกังวล อย่างการนำเสนองานหรือกล่าวบรรยายในที่สาธารณะ 

ในบางกรณี โรคกลัวการเข้าสังคมอาจค่อย ๆ ดีขึ้นหลังได้รับการรักษา และผู้ป่วยอาจไม่ต้องรับประทานยาต่ออีก แต่บางรายอาจต้องได้รับยาและการบำบัดอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหลายปีเพื่อป้องกันการเกิดอาการซ้ำ ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ตามการนัดหมาย รับประทานยาให้ครบตามที่แพทย์สั่ง และตั้งเป้าหมายเพื่อก้าวข้ามความกลัวในการใช้ชีวิตในสังคม

ภาวะแทรกซ้อนของโรคกลัวการเข้าสังคม

หากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษา โรคกลัวการเข้าสังคมอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การเรียน การทำงาน ความสัมพันธ์ และความสุขในชีวิต โดยอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ดังนี้

  • ความมั่นใจในตัวเองต่ำ
  • มีปัญหากับการแสดงออก หรือไม่กล้าแสดงความคิดเห็น
  • ตำหนิติเตียนหรือดูถูกตนเอง
  • อ่อนไหวง่ายผิดปกติเมื่อได้รับคำวิจารณ์
  • ขาดทักษะการเข้าสังคม และพัฒนาได้ยาก
  • แปลกแยกและไม่มีความสัมพันธ์ทางสังคมกับผู้อื่น
  • ไม่ประสบความสำเร็จในการเรียนหรือหน้าที่การงาน
  • เป็นโรคซึมเศร้า หรือความผิดปกติทางจิตใจอื่น ๆ
  • ใช้สารเสพติด อย่างการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก
  • มีความคิดหรือพยายามฆ่าตัวตาย

การป้องกันโรคกลัวการเข้าสังคม

โรคกลัวการเข้าสังคมอาจป้องกันได้ยาก เนื่องจากไม่สามารถคาดเดาสาเหตุของการเกิดโรคได้ แต่วิธีต่อไปนี้อาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคในผู้ที่มีความกังวลได้

  • หากรู้สึกวิตกกังวลควรเข้ารับการรักษาโดยเร็วที่สุด เพราะถ้าปล่อยให้มีอาการเป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลให้การรักษาทำได้ยากขึ้น
  • จดบันทึกในแต่ละวัน เพื่อช่วยให้สังเกตและวิเคราะห์อารมณ์ความรู้สึกได้ง่ายขึ้น
  • จัดลำดับความสำคัญของเรื่องต่าง ๆ ในชีวิต เพื่อให้สามารถจัดสรรเวลาและการใช้พลังในแต่ละวันได้ดีขึ้น รวมทั้งควรแบ่งเวลาสั้น ๆ เพื่อทำสิ่งที่ชอบหรือสนใจในแต่ละวัน
  • หลีกเลี่ยงหรือเลิกใช้สารเสพติดที่ทำให้เสียสุขภาพ ทั้งแอลกอฮอล์ ยาเสพติด บุหรี่ หรือแม้แต่คาเฟอีนที่ทำให้อาการวิตกกังวลแย่ลง โดยอาจปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีเลิกการใช้สารเสพติดด้วยวิธีที่เหมาะสม