แมกนีเซียม (Magnesium)

แมกนีเซียม (Magnesium)

แมกนีเซียม (Magnesium) เป็นแร่ธาตุที่มีอยู่ในร่างกายตามธรรมชาติ มีบทบาทสำคัญต่อกระบวนการทำงานของร่างกายอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะระบบกล้ามเนื้อ ระบบประสาท กระเพาะอาหารและลำไส้ โดยนำมารักษาและป้องกันภาวะขาดแมกนีเซียม ภาวะแมกนีเซียมในร่างกายต่ำ หรือป้องกันโรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขาดแมกนีเซียม เช่น โรคกระดูกพรุน ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น นอกจากนี้ อาจใช้รักษาโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์ด้วย

การใช้ Magnesium มีข้อห้ามใช้และอาจเกิดผลข้างเคียงได้ ดังนั้น การใช้ยาชนิดนี้ควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรเสมอ

1669 magnesium resized

เกี่ยวกับ Magnesium

กลุ่มยา แร่ธาตุ
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ รักษาอาการจากภาวะแมกนีเซียมในเลือดต่ำ และใช้เสริมระดับแมกนีเซียมในร่างกาย
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่ เด็ก
รูปแบบของยา ยารับประทาน

คำเตือนในการใช้ Magnesium

  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ Magnesium หากมีประวัติการแพ้ใด ๆ หรือเป็นโรคไต เพราะโดยส่วนใหญ่จะไม่สามารถใช้ยาได้ หรือบางรายอาจต้องปรับปริมาณการใช้ยาหรือตรวจร่างกายระหว่างที่ใช้ยา
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยาทุกชนิดที่กำลังใช้ เพราะมียาบางชนิดที่อาจทำปฏิกิริยากับยานี้ เช่น ยากรดนาลิดิซิก ยารักษาโรคกระดูกพรุน ยาเพนิซิลลามีน ยาปฏิชีวนะอย่างยาเตตราไซคลีน ยาปฏิชีวนะฟลูออโรควิโนโลนอย่างยาไซโปรฟลอกซาซิน เป็นต้น
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์ วางแผนมีบุตร หรือกำลังให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ถึงข้อดีและข้อเสียของยาก่อนใช้เสมอ และห้ามใช้ยาโดยไม่ปรึกษาแพทย์ เพราะยังไม่ทราบแน่ชัดว่ายาจะเป็นอันตรายต่อทารกหรือไม่

ปริมาณการใช้ Magnesium

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้

รักษาอาการจากภาวะแมกนีเซียมในเลือดต่ำ

ผู้ใหญ่ รับประทานปริมาณ 500-1,000 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง
เด็ก รับประทานปริมาณ 10-20 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ 4 ครั้ง

เสริมระดับแมกนีเซียมในร่างกาย

ผู้ใหญ่ รับประทานปริมาณ 500-1,000 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง

การใช้ Magnesium

  • ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ใช้ยาในปริมาณมากกว่า น้อยกว่า หรือติดต่อกันนานกว่าที่แพทย์แนะนำ หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ
  • รับประทาน Magnesium พร้อมกับน้ำเปล่า 1 แก้ว โดยให้รับประทานพร้อมอาหารหรือหลังอาหารทันที เพื่อให้ยาสามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดผลข้างเคียงอย่างอาการท้องเสีย
  • การใช้ Magnesium ชนิดสารละลาย ให้ใช้ช้อนยาหรือถ้วยสำหรับตวงยาโดยเฉพาะ
  • หากลืมรับประทานยาตามเวลาที่กำหนด ให้ใช้ยาทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้ถึงเวลาของยาในรอบถัดไป ให้ข้ามไปรับประทานยารอบต่อไป และห้ามเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
  • หากสงสัยว่าตนใช้ยาเกินกว่าปริมาณที่กำหนด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที ซึ่งอาจทำให้มีอาการบางอย่าง เช่น ผิวหนังแดง ง่วงซึมมาก สับสน วิงเวียน หน้ามืด กล้ามเนื้ออ่อนแรง และหัวใจเต้นช้า เป็นต้น
  • เก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ให้ห่างจากความชื้น ความร้อน และแสงแดด

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Magnesium

การใช้ Magnesium อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียง แต่อาจพบได้น้อย เช่น ปวดท้อง ท้องอืด และท้องเสีย เป็นต้น หากอาการดังกล่าวไม่หายไปหรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์

หากพบผลข้างเคียงที่รุนแรงจากการใช้ Magnesium ดังต่อไปนี้ ควรหยุดใช้ยาและไปพบแพทย์ทันที

  • อาการแพ้ยา เช่น ลมพิษ หายใจลำบาก หน้าบวม ริมฝีปากบวม ลิ้นบวม และคอบวม เป็นต้น
  • คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียน หน้ามืด
  • หัวใจเต้นช้า หรือหัวใจเต้นเร็ว
  • รู้สึกอุ่น คล้ายเข็มทิ่ม หรือมีอาการแดงบริเวณผิวหนัง