เครื่องกระตุ้นหัวใจ คืออะไร ใช้กรณีไหนบ้าง ?

เครื่องกระตุ้นหัวใจด้วยไฟฟ้า (Implantable Cardioverter Defibrillator: ICD) เป็นอุปกรณ์ช่วยเหลือที่ถูกผ่าตัดฝังใต้ผิวหนัง ส่วนใหญ่บริเวณหน้าอกด้านซ้ายใต้กระดูกไหปลาร้าของผู้ป่วยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น ภาวะหัวใจห้องล่างเต้นเร็ว ภาวะหัวใจสั่นพลิ้ว หรือภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน

เครื่องกระตุ้นหัวใจ

ส่วนเครื่องกระตุ้นหัวใจชนิดฝังใต้ผิวหนังอีกแบบหนึ่ง (Subcutaneous ICD) เป็นอุปกรณ์ซึ่งตัวเครื่องจะถูกฝังอยู่ใต้ผิวหนังบริเวณใต้รักแร้ โดยขั้วไฟฟ้าที่ต่อจากเครื่องจะถูกแนบไปตามกระดูกหน้าอก และการฝังเครื่องชนิดนี้จะมีความยุ่งยากน้อยกว่า แต่มีขนาดใหญ่กว่าเครื่องกระตุ้นหัวใจทั่วไปที่ต้องต่อสายฉนวนไฟฟ้าเข้ากับเส้นเลือดหัวใจ โดยเครื่องกระตุ้นหัวใจชนิดนี้จะถูกใช้เพียงในสถานพยาบาลบางแห่งและในผู้ป่วยบางรายที่มีความผิดปกติของเส้นเลือดหัวใจ ทำให้ไม่สามารถต่อสายเครื่องกระตุ้นหัวใจเข้ากับเส้นเลือดที่เข้าสู่หัวใจได้ หรือผู้ที่ต้องการหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจแบบทั่วไป

การทำงานของเครื่องกระตุ้นหัวใจ

ตัวเครื่องจะมีขนาดเล็ก ทำงานด้วยระบบแบตเตอรี่ และมีสายบาง ๆ ที่เป็นสายหุ้มฉนวนไฟฟ้าเชื่อมต่อไปยังเส้นเลือดที่เข้าสู่หัวใจ เพื่อช่วยควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจให้เป็นปกติ ป้องกันและลดความเสี่ยงไม่ให้ผู้ป่วยเสียชีวิตจากการเต้นผิดปกติของหัวใจ โดยเครื่องกระตุ้นหัวใจจะทำงานด้วยการส่งกระแสไฟฟ้าช็อคกระตุ้นให้หัวใจเต้นอย่างเป็นปกติหากหัวใจมีจังหวะการเต้นที่ผิดปกติ เต้นช้า เต้นเร็วเกินไป หรือหัวใจหยุดเต้น

ทั้งนี้ ระดับการส่งกระแสไฟฟ้าช็อค ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการผู้ป่วยด้วย โดยแบ่งระดับการรักษาของเครื่องกระตุ้นหัวใจได้ ดังนี้

  • การกระตุ้นหัวใจระดับต่ำ (Low-energy Pacing Therapy) เกิดขึ้นเมื่อเครื่องกระตุ้นหัวใจได้รับสัญญาณความผิดปกติในจังหวะการเต้นของหัวใจเพียงเล็กน้อย ในกรณีนี้ ผู้ป่วยอาจไม่รู้สึกตัวหรือรู้สึกถึงการสั่นที่ไม่ทำให้เกิดความเจ็บปวดใด ๆ ในขณะที่เครื่องส่งกระแสไฟฟ้าช็อค
  • การรักษาให้หัวใจเต้นเป็นปกติแบบคาร์ดิโอเวอร์ชั่น (Cardioversion Therapy) เครื่องกระตุ้นหัวใจจะส่งกระแสไฟฟ้าช็อคในระดับที่สูงขึ้น ในกรณีที่ผู้ป่วยมีความผิดปกติในอัตราการเต้นของหัวใจที่รุนแรงขึ้น ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเหมือนถูกกดหรือทุบบริเวณหน้าอกในขณะที่เครื่องส่งกระแสไฟฟ้าช็อค
  • การรักษาหัวใจเต้นเป็นปกติแบบดิฟิบริลเลชั่น (Defibrillation Therapy) เครื่องกระตุ้นหัวใจจะส่งกระแสไฟฟ้าช็อคในระดับที่แรงที่สุดเพื่อให้การเต้นของหัวใจกลับมาเป็นปกติหลังเกิดอาการหัวใจเต้นผิดปกติอย่างหนัก โดยผู้ป่วยอาจรู้สึกเหมือนถูกเตะหรือกระแทกเข้าที่หน้าอกอย่างรุนแรง และอาจทำให้ผู้ป่วยล้มทั้งยืนได้ในขณะที่เครื่องส่งกระแสไฟฟ้าช็อค

ความเจ็บปวดใด ๆ ที่เกิดขึ้นจากประสิทธิภาพทางการรักษาของเครื่องกระตุ้นหัวใจจะค่อย ๆ จางหายไปในเวลาไม่นานหลังเครื่องส่งกระแสไฟฟ้าช็อค โดยเครื่องจะส่งกระแสไฟฟ้าช็อคเมื่อจำเป็นเท่านั้น โดยประมาณเพียง 1 ครั้ง หรือมากกว่านั้นเล็กน้อยภายในช่วง 24 ชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยรับรู้ถึงกระแสไฟฟ้าช็อคเกิดขึ้นตามมาอย่างต่อเนื่องหลาย ๆ ครั้ง ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็คการทำงานของเครื่องกระตุ้นหัวใจ ในบางรายแพทย์อาจปรับระดับการทำงานของเครื่องเพื่อลดความถี่ในการส่งกระแสไฟฟ้าช็อค และแพทย์อาจจ่ายยารักษาเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีอัตราการเต้นของหัวใจเป็นปกติร่วมกับการใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจด้วย

นอกจากนี้ เครื่องกระตุ้นหัวใจยังมีประโยชน์ในด้านอื่น ๆ ด้วย เช่น

  • ควบคุมการเต้นของหัวใจที่เร็วผิดปกติ
  • ปล่อยสัญญาณควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ กระตุ้นให้หัวใจเต้นเป็นปกติ
  • บันทึกการทำงานของหัวใจ ข้อมูลเกี่ยวกับการเต้นของหัวใจ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อแพทย์ในการวินิจฉัยอาการของผู้ป่วย หรือในการปรับโปรแกรมของเครื่องกระตุ้นหัวใจเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ป่วย

เครื่องกระตุ้นหัวใจทำงานได้นานแค่ไหน ?

เครื่องกระตุ้นหัวใจที่ถูกฝังไว้จะทำหน้าที่ป้องกันความเสี่ยงและกระตุ้นให้หัวใจของผู้ป่วยเต้นตามปกติตลอด 24 ชั่วโมง แต่อายุการใช้งานจริง ๆ ของเครื่องขึ้นอยู่กับแบตเตอรี่ที่ใช้ โดยส่วนใหญ่ เครื่องกระตุ้นหัวใจที่ใช้แบตเตอรี่ลิเทียม (Lithium) จะอยู่ได้นานถึง 7 ปี แต่ผู้ป่วยมักได้รับการนัดหมายจากแพทย์เพื่อตรวจเช็คการทำงานของเครื่องกระตุ้นหัวใจเป็นระยะ และแพทย์จะทำการเปลี่ยนเครื่องใหม่หากเครื่องเดิมใกล้หมดอายุการใช้งาน

ใครบ้างที่ควรใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจ ?

แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยโรคหัวใจผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจต่อเมื่อผู้ป่วยมีอาการที่เสี่ยงอันตรายถึงชีวิตจากภาวะหัวใจเต้นผิดปกติจนเกิดหัวใจวาย โดยผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์และศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องกระตุ้นหัวใจ ประโยชน์ ข้อดี ข้อเสีย และความเสี่ยงจากการฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจให้ดี

โดยอาการป่วยที่มีความเสี่ยงเกิดอันตรายถึงชีวิตจากภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ ที่ผู้ป่วยอาจได้รับประโยชน์จากการใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจ ได้แก่

  • ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน 
  • ภาวะหัวใจห้องล่างเต้นเร็ว
  • ผู้รอดชีวิตหลังเคยประสบภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน
  • โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
  • กลุ่มอาการระยะคิวทียาว (Long QT Syndrome) ทำให้ผู้ป่วยมีการนำไฟฟ้าหัวใจที่ผิดปกติ
  • กลุ่มอาการบรูกาดา (Brugada Syndrome) ที่ทำให้เกิดภาวะไหลตาย
  • ภาวะอาการป่วยอื่น ๆ ที่อาจทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน และภาวะหัวใจวาย

การผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจ

เมื่อแพทย์ตรวจวินิจฉัยอาการของผู้ป่วยด้วยภาพเอกซเรย์หรือการทดสอบอื่น ๆ เสร็จสิ้นแล้ว มีความเห็นว่าผู้ป่วยควรได้รับการผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจ และผู้ป่วยยินยอมเข้ารับการผ่าตัด ขั้นตอนสำคัญที่ตามมา ได้แก่

  • การผ่าตัด โดยทั่วไป แพทย์อาจใช้ยาระงับความรู้สึกแก่ผู้ป่วย แต่ผู้ป่วยจะยังคงรู้สึกตัวอยู่ในระหว่างที่ทำการผ่าตัด ยกเว้นผู้ป่วยบางรายที่แพทย์อาจให้ยาสลบเพื่อทำให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัวในกรณีที่มีความจำเป็น แพทย์จะผ่าตัดนำเครื่องกระตุ้นหัวใจฝังในร่างกายและต่อท่อของเครื่องเข้ากับหลอดเลือดหัวใจ โดยดูจากภาพฉายเอกซเรย์ช่วงหน้าอกและหัวใจของผู้ป่วยประกอบการผ่าตัด เมื่อฝังเครื่องแล้ว แพทย์จะทดสอบการทำงานของเครื่องด้วยการเร่งอัตราการเต้นของหัวใจผู้ป่วยและใช้กระแสไฟฟ้าช็อคให้อัตราการเต้นกลับมาเป็นปกติ โดยขั้นตอนการผ่าตัดจะใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ 2-3 ชั่วโมง
  • หลังการผ่าตัด ผู้ป่วยอาจต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลา 1-2 วัน ในระหว่างนี้ แพทย์อาจทดสอบการทำงานของเครื่องกระตุ้นหัวใจอีกครั้งก่อนให้ผู้ป่วยกลับไปพักรักษาตัวต่อที่บ้าน ส่วนการรักษาบรรเทาความเจ็บปวดจากแผลผ่าตัด แพทย์อาจให้ผู้ป่วยใช้ยาระงับอาการปวดที่ไม่ใช่แอสไพริน เพื่อป้องกันความเสี่ยงภาวะมีเลือดออกมากเกินไป อย่างพาราเซตามอล หรือไอบูโพรเฟน โดยบริเวณแผลผ่าตัดจะบวมและเจ็บปวดอยู่ประมาณ 2-3 วัน ไปจนถึงหลายสัปดาห์ ผู้ป่วยควรให้ผู้ดูแลมารับตัวกลับไปพักฟื้นที่บ้าน และหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะเป็นเวลาอย่างน้อย 1 สัปดาห์ ระหว่างนี้ผู้ป่วยควรฟื้นฟูสภาพร่างกาย และป้องกันไม่ให้แผลได้รับการกระทบกระเทือน

ข้อควรระวังหลังฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจ

หลังฟื้นตัวจากการผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจจนหายดี ผู้ป่วยสามารถทำงานและกิจกรรมต่าง ๆ ได้เป็นปกติ แต่ควรระมัดระวังในการทำกิจกรรมต่าง ๆ มากขึ้น และหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจกระทบต่อสุขภาพได้ เช่น

  • หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือการใช้แรงที่ต้องเคลื่อนไหวร่างกายช่วงบน โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวอวัยวะเหนือไหล่ขึ้นไป หรือการออกกำลังกายอย่างหนัก เช่น การว่ายน้ำ ตีกอล์ฟ เล่นเทนนิส โยนโบว์ลิ่ง ปั่นจักรยาน การใช้เครื่องดูดฝุ่น การยกของหนักในช่วง 4 สัปดาห์แรกหลังการผ่าตัด
  • หลีกเลี่ยงการเล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการปะทะกัน
  • หลีกเลี่ยงการวางโทรศัพท์มือถือไว้ใกล้กับบริเวณที่ฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจ ควรวางให้ห่างอย่างน้อย 15 เซนติเมตร
  • หากต้องเดินทาง แจ้งให้เจ้าหน้าที่สนามบินทราบว่าเป็นผู้ป่วยที่ฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจ หลีกเลี่ยงการถูกตรวจค้นด้วยเครื่องสแกนโลหะมือถือในบริเวณที่ฝังเครื่องไม่ให้เกินกว่า 30 วินาที เพื่อป้องกันการรบกวนการทำงานของเครื่องกระตุ้นหัวใจ
  • เมื่อไปตรวจรักษา ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนเสมอว่าตนเป็นผู้ได้รับการผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจ เนื่องจากอาจกระทบต่อขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยและกระบวนการรักษาต่าง ๆ ของแพทย์
  • ควรยืนให้ห่างจากแหล่งหรือเครื่องมือที่มีพลังงานไฟฟ้าอย่างน้อย 2 ฟุต
  • หลีกเลี่ยงไม่ให้แม่เหล็กหรืออุปกรณ์ที่มีส่วนประกอบของแม่เหล็ก เช่น หูฟังเพลง อยู่ใกล้บริเวณที่ฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจ โดยควรอยู่ห่างจากสิ่งเหล่านั้นอย่างน้อย 15 เซนติเมตร

นอกจากนั้น อุปกรณ์สื่อสารหรือเครื่องใช้อื่น ๆ ใกล้ตัวภายในบ้าน มักไม่ทำให้เกิดความเสี่ยง หรือรบกวนการทำงานของเครื่องกระตุ้นหัวใจน้อยมาก แต่หากผู้ป่วยมีข้อสงสัยใด ๆ ก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์ ไปพบแพทย์ตามนัดหมาย และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดเสมอ เพื่อประสิทธิภาพทางการรักษาสูงสุดจากการฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจ

ความเสี่ยงของเครื่องกระตุ้นหัวใจ

หากผู้ป่วยไปพบแพทย์ตามนัดหมาย และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดเสมอ ย่อมช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอันตรายต่อสุขภาพและชีวิตหลังการฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจ

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้จากเครื่องกระตุ้นหัวใจ ได้แก่

  • การติดเชื้อในบริเวณที่ผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจ
  • อาการแพ้ต่อยาที่ใช้ในระหว่างการผ่าตัด
  • อาการบวม มีเลือดไหล หรือมีรอยช้ำตำแหน่งที่ผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจ
  • เกิดความเสียหายบริเวณเส้นเลือดที่ถูกต่อเข้ากับเครื่องหรือในบริเวณใกล้เคียง
  • มีเลือดไหลออกจากลิ้นหัวใจตำแหน่งที่ฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจ
  • มีเลือดออกบริเวณหัวใจ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
  • ปอดแตก หรือภาวะโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศ (Pneumothorax)