เจ็บหน้าอกข้างขวา กับสาเหตุใกล้ตัวที่ควรใส่ใจ

เจ็บหน้าอกข้างขวาเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งหลายคนมักจะตีความว่าเป็นปัญหาสุขภาพหัวใจอย่างภาวะหัวใจขาดเลือดในทันที แต่แท้จริงแล้ว อาการเจ็บหน้าอกข้างขวาอาจเกิดจากปัญหาในระบบทางเดินอาหารหรือปอดได้ แล้วปัญหาสุขภาพดังกล่าวจะประกอบไปด้วยโรคหรือภาวะใดบ้าง บทความนี้มีคำตอบ

อาการเจ็บหน้าอกอาจมีได้หลายรูปแบบ อาจเจ็บแปลบเหมือนถูกของมีคมแทงที่หน้าอก ปวดตื้อ ๆ และบางครั้งอาจรู้สึกเจ็บปวดเหมือนถูกบีบหรือปวดแสบร้อน ทั้งนี้ อาการเจ็บหน้าอกข้างขวาในผู้ป่วยบางรายอาจลามไปยังคอ ขากรรไกร แผ่นหลัง แขนข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองแขนได้ด้วย 

เจ็บหน้าอกข้างขวา

สาเหตุของเจ็บหน้าอกข้างขวา

เจ็บหน้าอกข้างขวาอาจเป็นผลมาจากปัญหาสุขภาพบางอย่าง ดังนี้

ปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร

สาเหตุที่อาจพบได้ เช่น

  • กรดไหลย้อน
    กรดไหลย้อนเกิดขึ้นเมื่อกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมาสู่หลอดอาหารหรือหลอดลม ส่งผลให้มีอาการแสบร้อนกลางอก อาหารไม่ย่อย เจ็บคอ มีเสียงแหบ เจ็บหน้าอกข้างขวา มีรสเปรี้ยวในปาก ไอแห้ง หรือมีปัญหาในการกลืนได้ 
  • ถุงน้ำดีอักเสบ
    ภาวะนี้ไม่ก่อให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกโดยตรง แต่มักทำให้ผู้ป่วยปวดบริเวณท้องส่วนบนด้านขวา ซึ่งอาการปวดอาจลามไปยังหน้าอก หัวไหล่ข้างขวาและหลังได้
  • ตับอ่อนอักเสบ
    ผู้ป่วยตับอ่อนอักเสบอาจมีอาการปวดท้องส่วนบนที่อาจลามไปยังหลัง และมีอาการเจ็บหน้าอกร่วมด้วยได้ ซึ่งอาการมักแย่ลงเมื่ออยู่ในท่านอนราบ โดยผู้ป่วยโรคเบาหวาน นิ่วในถุงน้ำดี หรือติดสุราอาจเสี่ยงเป็นตับอ่อนอักเสบมากกว่าปกติ

ปัญหาเกี่ยวกับปอด

สาเหตุที่อาจพบได้ เช่น

  • เยื่อหุ้มปอดอักเสบ
    เยื่อหุ้มปอดอักเสบอาจส่งผลให้ผู้ป่วยเจ็บหน้าอกไม่ว่าจะข้างซ้ายหรือข้างขวาในระหว่างที่หายใจเข้าออก โดยมักเจ็บมากขึ้นหากผู้ป่วยหายใจเข้าลึก ๆ ไอ จามหรือหัวเราะ นอกจากนี้ ยังเกิดอาการปวดหลังและไหล่ หายใจหอบเหนื่อย มีไข้ หรือไอร่วมด้วย 
  • ปอดบวม
    อาการปอดบวมเป็นการติดเชื้อในปอดข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง ก่อให้เกิดอาการไอ อาจมีเสมหะเป็นบางครั้ง มีไข้ และเจ็บหน้าอกได้ทั้งสองข้างโดยเฉพาะเวลาหายใจ   
  • ภาวะปอดรั่วหรือปอดแตก
    ภาวะถือเป็นภาวะอันตรายที่ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาอย่างเร่งด่วน โดยมักเกิดขึ้นหลังจากได้รับอุบัติเหตุ ซึ่งส่งผลให้เกิดอาการเจ็บแปลบบริเวณหน้าอกข้างที่มีความผิดปกติอย่างฉับพลัน หายใจหอบเหนื่อย แน่นหน้าอก หัวใจเต้นเร็ว ไอ และอ่อนเพลีย 
  • โรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด
    ลิ่มเลือดในหลอดเลือดที่ไหลไปอุดตรงปอดอาจไปปิดกั้นการไหลของเลือดที่ไปเลี้ยงเนื้อเยื่อของปอดจนเป็นเหตุให้เกิดการเจ็บหน้าอก ซึ่งอาจลามไปยังแขน ขากรรไกร หัวไหล่ และคอได้ โดยโรคนี้อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตหากไม่ทำการรักษาอย่างเร่งด่วน
  • ภาวะความดันหลอดเลือดปอดสูง
    ภาวะนี้เป็นเหตุให้หัวใจทำงานหนักขึ้น จึงก่อให้เกิดอาการเจ็บหน้าอก โดยอาจจะมีอาการอื่น ๆ เกิดขึ้นร่วมด้วย เช่น หายใจไม่อิ่มในระหว่างทำกิจวัตรประจำวัน รู้สึกคล้ายจะหมดสติ เหนื่อยล้า หัวใจเต้นเร็ว ปวดท้องส่วนบนด้านขวา เป็นต้น

ปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ

สาเหตุที่อาจพบได้ เช่น

  • โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ
    โรคนี้เป็นการอักเสบของเยื่อหุ้มที่ล้อมรอบหัวใจ ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บหน้าอกข้างขวา โดยการขยับในบางท่าทางหรือการหายใจเข้าลึก ๆ อาจส่งผลให้อาการแย่ลงได้
  • กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลัน
    ภาวะนี้ไม่เพียงแต่จะสร้างความเจ็บปวดที่หน้าอกเท่านั้น แต่ยังทำให้ผู้ป่วยเป็นไข้ อ่อนแรง หายใจลำบาก ไอ ใจสั่น เหนื่อยล้า มีอาการบวมที่แขน หัวเข่า ฝ่าเท้า และท้องด้วย

ทั้งนี้ ปัญหาอื่น ๆ ก็อาจก่อให้เกิดการเจ็บหน้าอกข้างขวาได้ เช่น ความเครียดหรือวิตกกังวล กล้ามเนื้อฉีกขาด อาการบาดเจ็บจากแรงกระแทกบริเวณหน้าอก งูสวัด กระดูกอ่อนของซี่โครงอักเสบ เป็นต้น

เจ็บหน้าอกข้างขวารักษาได้อย่างไร

ผู้ป่วยแต่ละคนย่อมมีสาเหตุของอาการเจ็บหน้าอกข้างขวาที่แตกต่างกับไป การรักษาจึงแตกต่างกันไปตามสาเหตุที่ตรวจพบ และดุลพินิจของของแพทย์ผู้ดูแล นอกเหนือจากขั้นตอนการผ่าตัดและการรักษาด้วยกระบวนการอื่น ๆ แล้ว แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยใช้ยารักษาอาการเจ็บหน้าอกอันเกิดจากสาเหตุที่พบได้บ่อย เช่น ยาไนโตรกลีเซอรีน ยาแอสไพริน ยาละลายลิ่มเลือด ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยาลดการหลั่งกรด ยารักษาโรคซึมเศร้า เป็นต้น 

สำหรับผู้ป่วยที่กังวลเกี่ยวกับอาการเจ็บหน้าอกข้างขวา และมีอาการคงอยู่นานกว่า 2-3 วัน ควรพบไปแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยอย่างถี่ถ้วนและการรักษาที่เหมาะสม ยิ่งไปกว่านั้น การทำกิจกรรมใด ๆ ในระหว่างวันอาจส่งผลให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกได้ ผู้ป่วยจึงควรหยุดทำกิจกรรมทันที หากยังรู้สึกเจ็บหน้าอกอย่างต่อเนื่องควรรีบนำตัวส่งโรงพยาบาล เพราะอาจเสี่ยงต่อการเป็นภาวะหัวใจขาดเลือดได้