ปอดบวม (Pneumonia)

ความหมาย ปอดบวม (Pneumonia)

ปอดบวม (Pneumonia) เป็นอาการปอดติดเชื้อและเกิดภาวะอักเสบ ทำให้เกิดอาการผิดปกติตามมา เช่น มีไข้ ไอ เจ็บหน้าอก หรือหอบเหนื่อย โดยสาเหตุอาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อรา หรือพยาธิ หากเกิดการติดเชื้อจากสารเคมีหรือยาบางอย่างมักจะเรียกว่าปอดอักเสบ 

ปอดบวมหรือปอดอักเสบเกิดได้ในทุกเพศทุกวัย แต่จะพบมากในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง

ปอดบวม (Pneumonia)

อาการของปอดบวม

อาการของปอดบวมที่สำคัญคือ มีไข้ ไอ เจ็บหน้าอก และหอบเหนื่อย ซึ่งผู้ป่วยอาจมีอาการเหล่านี้ไม่ครบทุกอย่างได้ โดยมากมักจะพบอาการติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนต้นหรือโรคหวัดนำมาก่อน หลังจากนั้นจะมีอาการไอและหายใจหอบตามมา โดยเฉพาะปอดบวมที่เกิดจากเชื้อสเตรปโตค็อกคัส นิวโมเนียอี (Streptococcus pneumoniae

ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เจ็บคอ ปวดท้อง เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ร่วมด้วย สำหรับผู้สูงอายุอาจมีอาการซึม สับสน และไม่มีไข้ 

ส่วนทารกหรือเด็กเล็กอาจมีอาการปวดท้อง ท้องอืด อาเจียน ซึม ร้องกวน ไม่ดูดนม และอาจมีอาการชักจากไข้ หากอาการรุนแรงมักจะมีอาการหายใจหอบเร็วมาก รูจมูกบาน ซี่โครงบุ๋ม อาจมีอาการตัวเขียว ริมฝีปาก ลิ้น เล็บเขียว และเกิดภาวะขาดน้ำ 

อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยมีอาการหายใจลำบาก เจ็บหน้าอก มีไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส ผิวซีด เย็น และมีเหงื่อออก ไอมีเสมหะ ไอปนหนองหรือไอเป็นเลือด หน้าเขียวหรือริมฝีปากม่วง มีอาการสับสนหรือง่วงซึมมาก ปัสสาวะน้อยลงหรือไม่ปัสสาวะเลย หรือหมดสติ ควรรีบไปพบแพทย์หรือนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที

โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ผู้ป่วยที่ทำคีโมบำบัดหรือใช้ยากดภูมิคุ้มกัน และผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับปอดเรื้อรังหรือภาวะหัวใจวาย 

สาเหตุของปอดบวม

สาเหตุหลักของปอดบวมแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ปอดบวมหรือปอดอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อ และชนิดที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ โดยชนิดที่เกิดจากการติดเชื้อจะพบได้บ่อยกว่า มักเกิดจากเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย ผู้ป่วยสามารถติดต่อได้จากการหายใจเอาเชื้อที่แพร่กระจายอยู่ในอากาศเข้าไป

โรคปอดบวมหรือปอดอักเสบมีอยู่หลายประเภท สามารถแบ่งได้จากชนิดของเชื้อโรคที่ต้นเหตุและสถานที่ที่ได้รับเชื้อ ในปัจจุบันนิยมจำแนกตามสภาพแวดล้อมที่เกิดปอดบวม ดังนี้

ปอดอักเสบชุมชน (Community-Acquired Pneumonia) 

ปอดอักเสบชุมชนหมายถึงปอดอักเสบจากการติดเชื้อจุลินทรีย์นอกโรงพยาบาล มีสาเหตุของการติดเชื้อที่สำคัญดังนี้

  • ติดเชื้อจากแบคทีเรีย ส่วนมากจะมาจากเชื้อสเตรปโตค็อกคัส นิวโมเนียอี
  • ติดเชื้อจากไวรัส เป็นสาเหตุที่พบบ่อยในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบ แต่อาการจะไม่ค่อยรุนแรงมาก และเชื้อไวรัสบางชนิดที่เป็นสาเหตุของไข้หวัดก็สามารถทำให้เกิดปอดบวมได้
  • ติดเชื้อจากเชื้อรา มักเกิดในผู้ป่วยที่มีสุขภาพร่างกายย่ำแย่ มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ หรือเป็นโรคเรื้อรังอย่างโรคเบาหวานและโรคไตวาย

ปอดอักเสบในโรงพยาบาล (Nosocomial Pneumonia หรือ Hospital-Acquired Pneumonia) 

ปอดอักเสบประเภทนี้หมายถึง ปอดอักเสบที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยหลังจากรับไว้รักษาตัวในโรงพยาบาลตั้งแต่ 48 ชั่วโมงขึ้นไป ผู้ป่วยจะมีอาการที่รุนแรงเนื่องจากป่วยเป็นโรคอื่น ๆ อยู่ก่อนแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีภาวะปอดบวมจากสารพิษหรือสารเคมีด้วย เช่น การสูดดมแอมโมเนีย หรือการสูดไอกรดเข้าไป

การวินิจฉัยปอดบวม

แพทย์จะซักถามประวัติอาการ ตรวจร่างกาย และอาจส่งตรวจเพิ่มเติม ขึ้นอยู่กับอายุและอาการของผู้ป่วย เช่น

  • ตรวจเลือด เพื่อหาว่าผู้ป่วยได้รับเชื้อชนิดใดมา แต่อาจยังระบุได้ไม่แน่ชัด
  • เอกซเรย์หน้าอก เพื่อหาตำแหน่งของการติดเชื้อ
  • วัดออกซิเจนในกระแสเลือดและวัดชีพจร เพื่อดูการทำงานของปอด
  • ตรวจเสมหะ โดยการเก็บตัวอย่างเสมหะไปเพาะเชื้อในห้องปฏิบัติการ เพื่อวิเคราะห์และระบุชนิดของเชื้อโรคต้นเหตุ ผลลัพธ์ที่ได้จะใช้เป็นแนวทางการรักษาของผู้ป่วยแต่ละคนต่อไป

นอกจากนั้น แพทย์อาจให้มีการตรวจเพิ่มเติมตามความเหมาะสม เช่น การตรวจตัวอย่างของเหลวในปอด โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ผู้ที่มีอาการรุนแรง และผู้ที่มีสุขภาพร่างกายอ่อนแอ

การรักษาปอดบวม

การรักษานั้นต้องดูว่าผู้ป่วยได้รับเชื้อชนิดใด และความรุนแรงของอาการ โดยมีเป้าหมายในการรักษาคือ ฟื้นฟูอาการ และป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้อาการของปอดบวมทรุดลง

การรักษาทั่วไปจะพิจารณาตามอาการของผู้ป่วย เช่น การให้ยาลดไข้ ให้สารน้ำทางหลอดเลือด หรือให้ออกซิเจน 

ในกรณีที่ปอดบวมเกิดจากเชื้อแบคทีเรียจะเป็นการให้ยาปฏิชีวนะชนิดรับประทานอย่างยาอะม็อกซี่ซิลลิน (Amoxicillin) มักใช้ในผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง และไม่มีอาการแทรกซ้อน แต่หากอาการรุนแรงหรือมีปัญสุขภาพอื่นร่วมด้วยจนต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาล แพทย์ถึงจะให้ยาปฏิชีวนะชนิดฉีดแก่ผู้ป่วย 

ในกรณีที่ปอดบวมเกิดจากเชื้อไวรัสมักหายได้เองภายใน 1–3 สัปดาห์ แต่หากอาการไม่ดีขึ้น อาจมีอาการรุนแรงหรือรุนแรงมาก หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ผู้ป่วยจะต้องได้รับการรักษาตัวในโรงพยาบาล และอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

ภาวะแทรกซ้อนของปอดบวม

ภาวะแทรกซ้อนของปอดบวมมักเกิดในกลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือผู้ที่มีสภาพร่างกายอ่อนแอ ซึ่งผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงดังกล่าวอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนต่อไปนี้ขึ้นได้

  • เกิดฝีในปอดจากการติดเชื้ออย่างรุนแรง โดยมีการทำลายเนื้อปอดจนเกิดเป็นโพรงขึ้น ซึ่งการรักษาจะใช้ยาปฏิชีวนะควบคู่กับการระบายหนองออกจากปอด
  • ติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือด และแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ ซึ่งอาจทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อหุ้มสมอง เยื่อบุหัวใจอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ และมีอาการข้ออักเสบ
  • มีการสะสมของของเหลวรอบปอด หรือที่เรียกว่าน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด 
  • หายใจลำบาก หากเป็นปอดบวมขั้นรุนแรงหรือขั้นเรื้อรังอาจทำให้มีปัญหาในการหายใจ เนื่องจากได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ และอาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
  • หลอดลมพอง (Bronchiectasis) ทำให้เกิดอาการไอเรื้อรัง และมีเสมหะจำนวนมาก

การป้องกันปอดบวม

การป้องกันโรคปอดบวมทำได้โดยการดูแลสุขภาพอนามัยของตัวเองอย่างเหมาะสม ผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แออัด หลีกเลี่ยงการสูดดมควันไฟหรือควันบุหรี่ ดูแลให้ร่างกายให้มีความอบอุ่นอยู่เสมอเวลาที่อากาศเย็น และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และครบ 5 หมู่

นอกจากปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตแล้ว แพทย์อาจแนะนำให้กลุ่มเสี่ยงต่อไปนี้ เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคปอดบวม 

  • เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี
  • ผู้สูงวัยที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป
  • ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน 
  • ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคเบาหวาน โรคหัวใจวาย และโรคตับแข็ง 
  • ผู้ที่สูบบุหรี่ติดต่อกันมาเป็นเวลานาน
  • ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากเป็นประจำ
  • ผู้ที่ผ่าตัดม้าม

สำหรับผู้ที่เป็นปอดบวมอาจป้องกันอาการกำเริบได้ด้วยการหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แออัด และควรสวมหน้ากากอนามัย เพื่อไม่ให้มีการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น อยู่ในสถานที่ที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก หมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ รวมถึงดูแลสุขภาพตามอาการ เช่น หากมีไข้สูงควรเช็ดตัว รับประทานยาลดไข้ และดื่มน้ำมาก ๆ