ลูกหายใจครืดคราด รู้จักสาเหตุและสัญญาณที่ควรรีบพาไปพบแพทย์

เมื่อลูกหายใจครืดคราด หายใจมีเสียงดัง หรือหายใจมีเสียงหวีด คุณพ่อคุณแม่มักเกิดความกังวลใจ เพราะกลัวว่าลูกจะหายใจไม่ออกหรืออาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรง แต่ทราบว่าอาการหายใจเสียงดังของลูกเกิดจากสาเหตุใด และอาการแบบไหนที่อาจเป็นอันตราย ก็จะสามารถรับมือได้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น

อาการหายใจครืดคราดเป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้ในเด็กทารก แต่มักเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว โดยส่วนใหญ่เกิดจากสาเหตุทั่วไปที่ไม่เป็นอันตราย แต่ในบางกรณีก็อาจเกิดจากปัญหาสุขภาพที่ควรได้รับการรักษาจากแพทย์เช่นกัน คุณพ่อคุณแม่จึงไม่ควรละเลยหากพบอาการดังกล่าว เพราะสาเหตุที่ทำให้ลูกหายใจครืดคราดบางประการอาจส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็กทารกได้

ลูกหายใจครืดคราด รู้จักสาเหตุและสัญญาณที่ควรรีบพาไปพบแพทย์

ลูกหายใจครืดคราด เกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง

อาการหายใจครืดคราดอาจเป็นธรรมชาติของเด็กทารก เนื่องจากทารกแรกคลอดจะยังพัฒนากระบวนการหายใจได้ไม่เต็มที่ มีการหายใจทางจมูกมากกว่าทางปาก อีกทั้งช่องทางการหายใจของเด็กทารกยังเล็กกว่าผู้ใหญ่มาก ทำให้อาจมีน้ำมูกหรือเสมหะคั่งค้างได้ง่ายกว่า เวลาหายใจจึงมีเสียงดังออกมา อย่างไรก็ตาม การที่ลูกหายใจครืดคราดก็อาจเกี่ยวข้องกับภาวะสุขภาพบางอย่างได้เช่นกัน

ภาวะสุขภาพที่อาจส่งผลให้ทารกหายใจครืดคราด มีดังนี้

ไข้หวัดทั่วไป

การเป็นไข้หวัดสามารถทำให้ลูกหายใจครืดคราดได้ เนื่องจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสจะส่งผลให้ต่อมอะดีนอยด์ซึ่งอยู่ในโพรงจมูกขยายตัวขึ้น โดยต่อมนี้มีหน้าที่คอยดักจับและทำลายเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย เมื่อต่อมอะดีนอยด์บวมหรือเกิดการอักเสบ ก็อาจขัดขวางช่องทางการหายใจทำให้เกิดอาการคัดจมูกหรือหายใจดังครืดคราดตามมาได้

อาการแพ้

อาการแพ้ โดยเฉพาะแพ้อากาศ แพ้ไรฝุ่น หรือแพ้สัตว์เลี้ยง ก็อาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กทารกมีอาการหายใจครืดคราดได้ อาการแพ้เป็นปฏิกิริยาของระบบภูมิคุ้มกันที่ตอบสนองต่อเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดอาการหายใจครืดคราดแล้ว ก็มักจะทำให้เกิดอาการคัดจมูก ไอ จาม น้ำมูกไหล หรือเกิดผื่นลมพิษร่วมด้วย

ภาวะกระดูกอ่อนกล่องเสียงอ่อนยวบ (Laryngomalacia)

ลูกหายใจครืดคราดอาจเกิดจากภาวะกระดูกอ่อนกล่องเสียงอ่อนยวบ ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของอาการหายใจเสียงดังในเด็กทารก โดยภาวะนี้อาจเกี่ยวข้องกับระบบประสาทและกล้ามเนื้อของเด็กทารกที่ยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ จึงเกิดการอ่อนตัวของเนื้อเยื่อบริเวณกล่องเสียงในขณะที่หายใจเข้า และทำให้มีอาการหายใจครืดคราดตามมา

โดยส่วนใหญ่ภาวะนี้มักเกิดขึ้นในช่วง 2–3 สัปดาห์หลังคลอดและสามารถหายได้เองเมื่อลูกอายุประมาณ 1–2 ปี แต่คุณแม่คุณแม่อาจต้องพาไปพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอเพื่อตรวจการหายใจ ส่วนในกรณีที่มีอาการรุนแรงอาจต้องรักษาด้วยการใช้ยาหรือการผ่าตัด

โรคหลอดลมฝอยอักเสบ (Bronchiolitis)

ลูกหายใจครืดคราดอาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจ ทำให้หลอดลมเกิดอาการบวม ระคายเคือง และมีเสมหะคั่งค้างจำนวนมาก ทำให้เกิดอาการหายใจลำบากตามมา อาการเริ่มแรกของโรคหลอดลมฝอยอักเสบจะคล้ายกับอาการของไข้หวัด เช่น ไอ จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล แต่จะมีอาการหายใจเสียงดังหรือหายใจเร็วร่วมด้วย

โรคหลอดลมฝอยอักเสบมักเกิดในเด็กทารกที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี ซึ่งเด็กที่เป็นโรคนี้ส่วนใหญ่จะมีอาการไม่รุนแรงและคุณพ่อคุณแม่สามารถดูแลได้เองที่บ้าน แต่ในบางกรณีก็สามารถนำไปสู่การเกิดอาการรุนแรงที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ได้เช่นกัน

กลุ่มอาการหายใจลำบาก (Respiratory Distress Syndrome: RDS)

กลุ่มอาการหายใจลำบากเกิดจากการที่สารลดแรงตึงผิว (Surfactant) ซึ่งมีหน้าที่ช่วยให้ถุงลมในปอดทำงานได้อย่างปกติในเด็กทารกมีปริมาณไม่เพียงพอ ทำให้เด็กทารกมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับการหายใจ เช่น หายใจเสียงดัง หายใจเร็ว หน้าอกบุ๋มหรือช่องระหว่างซี่โครงยุบลงในขณะที่หายใจ ไปจนถึงมีอาการตัวเขียวซึ่งเป็นสัญญาณของการขาดออกซิเจนด้วย 

ในเด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนด โดยเฉพาะเด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนดมากกว่า 6 สัปดาห์ จะมีความเสี่ยงในการเกิดกลุ่มอาการหายใจลำบากได้มากกว่าเด็กทารกที่คลอดตามกำหนด ซึ่งก็อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการหายใจครืดคราดในเด็กทารกได้

โรคปอดบวม (Pneumonia) 

โรคปอดบวมก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กทารกหายใจครืดคราดได้เช่นกัน โดยเกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรียภายในปอด เช่นเชื้อไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus) ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคปอดบวม ส่งผลให้ปอดเกิดการอักเสบและทำให้เด็กทารกมีอาการหายใจครืดคราด หายใจเร็ว หอบเหนื่อย เจ็บหน้าอก เป็นไข้ ไอ หนาวสั่น รวมถึงไม่อยากอาหารหรือดื่มนมได้น้อยลงด้วย

ลูกหายใจครืดคราดแบบไหนที่ควรพาไปพบแพทย์ 

การที่ลูกหายใจครืดคราดอาจเป็นได้ทั้งอาการของโรคไข้หวัดธรรมดาทั่วไป หรือเป็นสัญญาณของภาวะสุขภาพบางอย่างที่สามารถนำไปสู่การเกิดอาการที่รุนแรงมากขึ้นหากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม ดังนั้น หากลูกหายใจครืดคราดร่วมกับมีอาการเหล่านี้ ควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา

  • อาการหายใจครืดคราดไม่หายไปแม้ว่าจะรักษาอาการป่วยอื่น ๆ หายแล้ว หรืออาการหายไปแล้วกลับมาเป็นใหม่
  • บริเวณหน้าอกมีการหดกลับทุกครั้งที่หายใจ โดยเฉพาะบริเวณกระดูกไหปลาร้าและโดยรอบซี่โครง
  • รูจมูกบานเมื่อหายใจ หรือมีอาการหายใจลำบาก
  • มีเสียงครางในตอนท้ายของการหายใจแต่ละครั้ง
  • มีอาการง่วง อ่อนเพลีย รวมถึงเบื่ออาหาร 
  • มีภาวะหายใจเร็ว หรือหายใจมากกว่า 60 ครั้ง/นาที
  • มีภาวะหยุดหายใจเป็นเวลานานมากกว่า 20 วินาที
  • มีอาการของการขาดออกซิเจน เช่น ตัวเขียว ริมฝีปาก ลิ้น และเล็บมีสีเขียวคล้ำหรือสีม่วง

เคล็ดลับที่อาจช่วยให้คุณพ่อคุณแม่ทราบเมื่อลูกหายใจครืดคราดได้ง่ายขึ้น คือการที่คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตเสียงหายใจของลูกน้อยในเวลาปกติ เพื่อให้สามารถแยกแยะได้ว่าเสียงหายใจแบบใดคือเสียงหายใจที่ผิดปกติ รวมถึงการฝึกนับจำนวนครั้งที่ลูกหายใจใน 1 นาที เพื่อให้สามารถสังเกตเห็นได้อย่างรวดเร็วเมื่อลูกมีอาการหายใจผิดปกติเกิดขึ้น และสามารถรับมือได้อย่างทันท่วงทีนั่นเอง