อาการของโรคทางเดินหายใจยอดฮิต รู้จักไว้ปลอดภัยกว่า

เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 (COVID-19) เป็นเชื้อไวรัสที่ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจเป็นหลัก สามารถเกิดความรุนแรงได้หลายระดับ โดยทั่วไปมักทำให้เกิดอาการไอ จาม หรือมีน้ำมูก ในช่วงเริ่มแรก อาการเหล่านี้มีความคล้ายกับโรคไข้หวัดและโรคภูมิแพ้ จึงทำให้ผู้ที่มีอาการดังกล่าวรู้สึกสับสนและเกิดความกังวลอยู่ไม่น้อย

แม้ว่าอาการของทั้งสามโรคจะมีความคล้ายกัน แต่ก็มีจุดที่แตกต่างกันอยู่บ้าง หากลองสังเกตจากจุดแตกต่างดังกล่าวก็อาจช่วยให้ผู้ที่ป่วยในช่วงนี้สามารถเช็กอาการเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง โดยในบทความนี้ได้รวบรวมอาการ สาเหตุ และวิธีรักษาของทั้งสามโรคนี้มาฝากกัน

ภูมิแพ้,covid19

เช็กสาเหตุและอาการของโรคโควิด-19 โรคไข้หวัด และโรคภูมิแพ้

มาดูกันว่าทั้งสามโรคนี้จะเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร ?

โรคโควิด-19

อาการหลักของโรคโควิด-19 คือ มีไข้สูง ไอ และหายใจลำบาก ส่วนอาการอื่น ๆ อาจพบได้ในบางราย อย่างน้ำมูกไหล คัดจมูก จาม ท้องเสีย และปวดเมื่อยร่างกาย ผู้ป่วยมักมีอาการภายใน 2-14 วันหลังได้รับเชื้อ แต่ที่ร้ายแรง คือ เชื้อโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้อาจทำให้ผู้ป่วยบางรายเกิดโรคปอดบวมจนเป็นอันตรายได้ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว

โรคโควิด-19 เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือมีชื่อเต็มว่า Severe Acute Respiratory Syndrome Coronavirus 2 (SARS-CoV-2) จัดเป็นเชื้อในกลุ่มโคโรนาไวรัส (Coronavirus) แต่เป็นสายพันธุ์ที่ไม่เคยมีการพบการติดเชื้อในคนมาก่อน โดยสามารถแพร่กระจายสู่คนอื่นได้ผ่านการสัมผัสกับสารคัดหลั่ง อย่างน้ำมูกและน้ำลายเข้าทางปาก จมูก และดวงตา ซึ่งอาจติดต่อผ่านการพูดคุยใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ การยืนอยู่บริเวณที่ผู้ติดเชื้อไอจามจนทำให้มีละอองฝอยของสารคัดหลั่งในอากาศ การใช้มือสัมผัสกับวัตถุที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่งแล้วนำมาขยี้ตาหรือสัมผัสบริเวณจมูกและปาก

โรคไข้หวัด

ผู้ป่วยโรคไข้หวัด (Common Cold) อาจมีอาการที่หลากหลายและแตกต่างกัน ตั้งแต่มีไข้ต่ำ คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ จาม เจ็บคอ และปวดเมื่อยตามตัว แต่จะไม่มีอาการหายใจลำบาก ผู้ป่วยมักจะมีอาการภายใน 1-3 วันหลังได้รับเชื้อ 

ส่วนสาเหตุของไข้หวัดนั้นเกิดจากการติดเชื้อไวรัสหลายสายพันธุ์ รวมถึงไวรัสโคโรนาสายพันธุ์เดิมบางสายพันธุ์ แต่ส่วนใหญ่มักพบว่าเกิดจากไวรัสไรโน (Rhinoviruses) โดยมักเป็นการแพร่เชื้อจากผู้ที่มีอาการป่วยไปยังผู้อื่นผ่านสารคัดหลั่งที่ล่องลอยในอากาศ ซึ่งเชื้อจะเข้าสู่ร่างกายผ่านจมูก ปาก และดวงตา ดังนั้น การอยู่ในบริเวณที่มีผู้ป่วยด้วยไข้หวัด ไอ จาม หรือมีการพูดคุยใกล้ชิดกับผู้ป่วยก็อาจทำให้ติดเชื้อได้ นอกจากนี้ การได้รับเชื้อไวรัสจากการสัมผัสกับสิ่งของที่เปื้อนสารคัดหลั่งแล้วนำมาสัมผัสบริเวณดวงตา จมูกหรือปากของตนเอง เช่น ลูกบิดประตู โทรศัพท์มือถือ หรือของใช้ต่าง ๆ จึงทำให้เชื้อไวรัสนั้นสามารถเข้าสู่ร่างกาย

โรคภูมิแพ้

อาการของโรคภูมิแพ้อาจเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ที่สัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ ผู้ป่วยมักจะมีอาการน้ำมูกไหล คัดจมูก ไอ คันตา คันคอ มีผื่นแดง แต่จะไม่มีไข้และไม่มีอาการปวดเมื่อย ส่วนใหญ่อาการแพ้อาจดีขึ้นเองภายในไม่กี่ชั่วโมงหรือไม่กี่วัน แต่สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้เมื่อสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรง (Anaphylaxis) ทำให้ท้องเสีย อาเจียน หายใจไม่ออกและเป็นอันตรายถึงชีวิต ซึ่งหากเกิดอาการดังกล่าวจะต้องเข้ารับการรักษาอย่างเร่งด่วน โดยสาเหตุมักเกิดจากการแพ้อาหารหรือยา รวมทั้งถูกสัตว์มีพิษกัดต่อย แต่เป็นอาการที่พบได้น้อยมาก 

โรคภูมิแพ้เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันที่ตอบสนองต่อสารบางอย่างมากกว่าปกติ ซึ่งสารก่อภูมิแพ้มักแตกต่างกันไปในแต่ละคน ส่วนใหญ่มักเกิดจากการสัมผัสกับไรฝุ่น ควันบุหรี่ สารเคมี รังแคของสัตว์เลี้ยง เกสรดอกไม้ และอาหาร สามารถส่งผลได้ทั้งระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร และระบบอื่น ๆ โดยโรคภูมิแพ้เป็นผลมาจากการทำงานของร่างกายที่มากกว่าปกติ ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ จึงไม่สามารถติดต่อกันได้

อย่างไรก็ตาม ทั้งสามโรคนี้ หากผู้ป่วยมีอาการเพียงเล็กน้อย อาจแทบไม่สังเกตเห็นอาการใด ๆ

โรคทางเดินหายใจ

การรักษาโรคโควิด-19 โรคไข้หวัด และโรคภูมิแพ้

เนื่องจากความรุนแรง ภาวะแทรกซ้อน และสาเหตุที่แตกต่างกัน ทำให้ทั้งสามโรคนี้มีการรักษาที่แตกต่างกัน ดังนี้

โรคโควิด-19

การรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ในผู้ป่วยที่ไม่มีอาการรุนแรง แพทย์อาจรักษาตามอาการ อย่างการให้ยาลดไข้ ยาลดน้ำมูก และยาแก้ไอตามอาการที่พบ ร่วมกับเสริมความแข็งแรงของร่างกายเพื่อให้ภูมิคุ้มกันค่อย ๆ กำจัดเชื้อไวรัสออกไปเอง ซึ่งอาจใช้เวลารักษาราว 14 วัน

สำหรับผู้ที่มีอาการหายใจลำบากหรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย อย่างผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหอบ หรือโรคปอดและโรคเรื้อรังชนิดอื่น แพทย์อาจให้ยาต้านไวรัสเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน เช่น ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ยาคลอโรควิน (Chloroquine) หรือยาไฮดรอกซีคลอโรควิน (Hydroxychloroquine) และยาอื่น ๆ ร่วมกับการสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด

โรคไข้หวัด

โรคไข้หวัดส่วนใหญ่มักหายได้เองภายใน 7-10 วัน แต่อาการอาจอยู่นานกว่านั้นหากผู้ป่วยสูบบุหรี่ โดยในเบื้องต้นอาจรักษาตามอาการได้ด้วยตนเอง อย่างการใช้ยาแก้ปวดลดไข้ ยาลดน้ำมูก และยาแก้ไอ หากอาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจ

โรคภูมิแพ้

โรคภูมิแพ้เป็นโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยอาจใช้ยาแก้แพ้หรือแอนติฮิสตามีน (Antihistamines) เพื่อบรรเทาอาการในเบื้องต้นได้ โดยยาแก้แพ้นั้นแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

  • ยาแก้แพ้กลุ่มทำให้ง่วง อย่างยาคลอเฟนิรามีน (Chlorpheniramine) และยาไฮดรอกไซซีน (Hydroxyzine) เป็นยาแก้แพ้แบบเก่า มักทำให้เกิดผลข้างเคียงอย่างอาการง่วงซึม อ่อนเพลีย ส่งผลต่อการทำกิจกรรมระหว่างวัน และเพิ่มความเสี่ยงของอุบัติเหตุจากการขับขี่ได้
  • ยาแก้แพ้กลุ่มไม่ทำให้ง่วง (Non-drowsy Antihistamines) อย่างกลุ่มยาลอราทาดีน (Loratadine) ที่ช่วยบรรเทาอาการภูมิแพ้ อย่างคัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ จาม ไปจนถึงแพ้ทางผิวหนัง อย่างผื่นแดงและลมพิษได้ไม่ต่างจากยาแก้แพ้แบบเก่าโดยไม่ทำให้ง่วงซึม แต่ผู้ใช้ยาบางรายอาจยังพบมีอาการง่วงซึมได้

อย่างไรก็ตาม ยาแก้แพ้มักไม่สามารถบรรเทาอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ และคันคอที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสได้อย่างเต็มที่ นอกจากการใช้ยาแล้ว ผู้ที่มีอาการภูมิแพ้ควรหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ รักษาสุขภาพด้วยการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารมีประโยชน์ และออกกำลังกายอย่างเหมาะสมเพื่อให้ร่างกายและภูมิคุ้มกันทำงานได้ปกติมากยิ่งขึ้น

หากมีอาการป่วยและสับสนเกี่ยวกับอาการของโรคเหล่านี้ อย่าเพิ่งตื่นตระหนก แต่ควรเริ่มต้นเช็กอาการของตนเองกับอาการของโรคและพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ อย่างการเดินทางไปและกลับจากต่างประเทศ การพูดคุยหรืออยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการป่วยในช่วงที่ผ่านมา หากเข้าข่ายดังกล่าวควรไปพบแพทย์ สำหรับผู้ที่ไม่มีประวัติเสี่ยง หากอาการไม่ดีขึ้นหรือหนักขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ควรสวมหน้ากากอนามัยและไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจ

สุดท้ายนี้ สำหรับผู้ที่ยังแข็งแรงดีก็ควรหมั่นล้างมือให้สะอาดเป็นประจำ หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีผู้คนพลุกพล่าน สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อต้องออกจากบ้าน งดการสัมผัสบริเวณใบหน้าหรือหน้ากากหากไม่จำเป็น และรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ