การคลอดก่อนกำหนด สัญญาณเตือนและปัจจัยเสี่ยงที่คุณแม่ควรรู้

การคลอดก่อนกำหนด (Preterm Labor) คือการคลอดก่อนช่วงสัปดาห์ที่ 37 ของการตั้งครรภ์ ที่โดยปกติควรจะเป็นช่วงสัปดาห์ที่ 37–40 โดยภาวะนี้เป็นภาวะที่อาจส่งผลให้ทั้งแม่และเด็กในครรภ์เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้

โดยภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้ในในทารกที่คลอดก่อนกำหนดก็เช่น ปัญหาเกี่ยวกับกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ดูดและกลืน เลือดออกในสมอง กระบวนการทำงานของไตมีปัญหา มีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ เสี่ยงเกิดภาวะตัวเย็นเกิน (Hypothermia) ไปจนถึงมีความเสี่ยงต่อการเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบและมีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายขึ้น 

การคลอดก่อนกำหนด

สัญญาณของการคลอดก่อนกำหนดที่คุณแม่ควรสังเกต

การคลอดก่อนกำหนดอาจเกิดขึ้นโดยร่างกายจะส่งสัญญาณเตือนบางอย่างให้ทราบก่อน เช่น

  • มีอาการปวดหลังช่วงล่างหรือบริเวณเอว ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนอิริยาบถแล้วก็ตาม โดยอาการอาจเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาหรืออาจเป็นแล้วหาย ขึ้นอยู่กับแต่ละคน 
  • มีอาการหดตัวของมดลูก โดยอาจเกิดขึ้นเป็นระยะทุก ๆ 10 นาทีหรือถี่กว่านั้น ซึ่งอาจรู้สึกเจ็บหรือไม่เจ็บก็ได้
  • มีอาการปวดหรือเป็นตะคริวที่บริเวณท้องช่วงล่าง อาจรู้สึกคล้ายตอนปวดประจำเดือน 
  • มีของเหลวไหลออกมาจากช่องคลอดหรือมีน้ำคร่ำแตก (Premature Rupture of Membranes: PROM)
  • มีความรู้สึกเหมือนจะเป็นไข้ คลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเสีย 
  • รู้สึกได้ถึงความดันเพิ่มขึ้นบริเวณเชิงกรานหรือช่องคลอด
  • มีเลือดออกบริเวณช่องคลอด 

นอกจากนี้ คุณแม่ที่อาจมีการคลอดก่อนกำหนดยังอาจพบว่ามดลูกมีการหดตัว ซึ่งเป็นสัญญาณที่ร่างกายแสดงออกถึงความพร้อมของการคลอด โดยคุณแม่สามารถตรวจสอบการหดตัวของมดลูกได้ด้วยการใช้นิ้ววางที่บริเวณหน้าท้องเพื่อสังเกตความรู้สึกถึงการหดและคลายตัวของมดลูก 

หากคุณแม่พบว่ามดลูกมีการหดตัวเป็นระยะทุก ๆ 10 นาทีหรือถี่กว่านั้น ให้คุณแม่รีบไปพบแพทย์ทันที เนื่องจากการคลอดก่อนกำหนดเป็นภาวะอันตรายต่อทั้งคุณแม่และเด็กในครรภ์

ปัจจัยเสี่ยงของการคลอดก่อนกำหนด

ในปัจจุบัน ทางการแพทย์ยังหาสาเหตุของการคลอดก่อนกำหนดที่แน่ชัดไม่พบ แต่มีความเป็นไปได้ว่าอาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • มีประวัติการคลอดก่อนกำหนดมาก่อน
  • มีประวัติการแท้งลูก
  • ตั้งครรภ์แฝด หรือมีจำนวนบุตรในครรภ์มากกว่า 1 คน
  • ตั้งครรภ์ตอนอายุต่ำกว่า 18 ปีหรือมากกว่า 40 ปี ขึ้นไป
  • มีปัญหาเกี่ยวกับมดลูก เช่น มดลูกหรือปากมดลูกมีรูปร่างผิดปกติ หรือเคยตรวจพบชิ้นเนื้อที่ปากมดลูก
  • มีความผิดปกติในน้ำคร่ำ เช่น มีน้ำคร่ำมากเกินไป
  • มีภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ เช่น ครรภ์เป็นพิษ 
  • มีเลือดออกที่ช่องคลอดระหว่างตั้งครรภ์
  • มีความพิการเกิดขึ้นกับทารกในครรภ์
  • ได้รับการดูแลในช่วงก่อนการคลอดน้อยเกินไปหรือไม่เคยฝากครรภ์ 
  • ระยะการตั้งครรภ์ห่างจากบุตรคนที่ผ่านมาน้อยกว่า 6 เดือน
  • มีการติดเชื้อ เช่น การติดเชื้อมะเร็งปากมดลูก การติดเชื้อสเตรปโตคอคคัสกรุ๊ปบี (Group B Streptococci) การติดเชื้อทริโคโมแนส เชื้อพยาธิ หนองในแท้ หนองในเทียม และซิฟิลิส 
  • มีประวัติของโรคโลหิตจาง โรคเบาหวาน โรคความดันเลือดสูง หรือโรคเหงือก
  • มีการใช้ยาคุมกำเนิดที่มีส่วนประกอบของ Diethylstilbestrol ระหว่างตั้งครรภ์
  • น้ำหนักตัวมากหรือน้อยเกินไปในช่วงก่อนหรือในช่วงการตั้งครรภ์
  • เกิดการตั้งครรภ์ในระหว่างที่ใช้ห่วงอนามัย 
  • มีการสูบบุหรี่หรือใช้ยาเสพติด
  • ความเครียด ยกของหนัก หรือได้รับบาดเจ็บในระหว่างตั้งครรภ์

การวินิจฉัยการคลอดก่อนกำหนด

ในการวินิจฉัยการคลอดก่อนกำหนดเบื้องต้น แพทย์จะนำเครื่องมือมาติดที่บริเวณหน้าท้องเพื่อวัดอัตราการเต้นหัวใจของทารก รวมถึงบันทึกอัตราการหดและคลายตัวของมดลูก 

นอกจากนี้ แพทย์อาจทำการทดสอบบางชนิดร่วมด้วย เช่น

การตรวจภายใน

การตรวจภายในเป็นวิธีที่แพทย์จะทำการตรวจความกว้างและระยะห่างของปากมดลูก ขนาดตัวและตำแหน่งของทารกในครรภ์

การอัลตราซาวด์

แพทย์จะอัลตราซาวด์เพื่อทำการวัดความยาวของปากมดลูก รวมไปถึงขนาดตัว น้ำหนัก อายุและตำแหน่งของทารก โดยอาจต้องเว้นระยะในการตรวจเพื่อให้เห็นการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาการของทารกในครรภ์

การเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งไปตรวจ

แพทย์จะเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งไปเพื่อตรวจหา Fetal Fibronectin ซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่ทารกสร้างขึ้น เพื่อเป็นการประเมินความเสี่ยงของการคลอดก่อนกำหนด ถ้าตรวจพบแสดงว่าจะมีการคลอดเกิดขึ้นในเวลาอันใกล้

การเจาะตรวจน้ำคร่ำ (Amniocentesis)

แพทย์จะเก็บตัวอย่างน้ำคร่ำ เพื่อนำไปตรวจสอบความสมบูรณ์ของปอดทารก และตรวจหาการติดเชื้อต่าง ๆ

การยับยั้งการคลอดก่อนกำหนด

เนื่องจากการคลอดก่อนกำหนดมักส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อทั้งมารดาและทารกในครรภ์ แพทย์ส่วนใหญ่จึงแนะนำให้ทำการคลอดใกล้กำหนดให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

หากเกิดภาวะเสี่ยงที่จะมีการคลอดก่อนกำหนดขึ้น แพทย์จะทำการยับยั้งเบื้องต้นโดยการให้สารน้ำ โดยอาจเป็นการดื่มหรือทางน้ำเกลือ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของคุณแม่แต่ละราย รวมถึงแพทย์จะให้คุณแม่นอนพักและผ่อนคลายกล้ามเนื้อ และอาจมีการใช้ยาร่วมด้วย เช่น ยาเทอร์บูทาลีน (Terbutaline) ยาอินโดเมธาซิน (Indomethacin) หรือยาอื่น ๆ ดังต่อไปนี้

  • ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) แพทย์จะแนะนำให้ฉีดเมื่อคลอดก่อนกำหนดในช่วงสัปดาห์ที่ 24–34 ของการตั้งครรภ์ เป็นเวลาอย่างน้อย 48–72 ชั่วโมง เพื่อเร่งการพัฒนาปอดของทารก
  • ยาโทโคไลติด (Tocolytics) ยาจะออกฤทธิ์เพื่อช่วยระงับการหดตัวของมดลูก
  • แคลเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์ (Calcium–channel Blockers) เช่น ไนเฟดิปีน (Nifedipine) นิคาร์ดิปีน (Nicardipine)
  • ยาปฏิชีวนะ เพื่อป้องกันการติดเชื้อสเตรปโตคอคคัสกรุ๊ปบี

หากพบว่าผู้ที่ตั้งครรภ์มีการหดตัวของมดลูกที่ลดลงแล้ว แพทย์จะให้กลับบ้านและแนะนำให้นอนพักมาก ๆ ลดการทำกิจกรรมต่างๆ จนกว่าจะถึงกำหนดคลอด 

อย่างไรก็ตาม แพทย์อาจให้ทำการคลอดก่อนกำหนด ในกรณีที่ผู้ตั้งครรภ์มีการติดเชื้อในน้ำคร่ำ มีความดันโลหิตสูง ครรภ์เป็นพิษ หรือในกรณีที่รกเกาะต่ำ รกฉีกขาดหรือมีเลือดออกมาก รวมถึงในกรณีที่เกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขั้นจากการคลอดก่อนกำหนด

ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยในเด็กที่คลอดก่อนกำหนดก็คือ ภาวะตัวเย็นเกิน (Hypothermia) ส่วนภาวะแทรกซ้อนอื่นที่อาจเกิดขึ้นได้ก็เช่น

ปัญหาเกี่ยวกับตาและการมองเห็น

ในช่วง 3 เดือนสุดท้ายหรือช่วงสัปดาห์ที่ 28–40 ของการตั้งครรภ์จะเป็นช่วงดวงตาของทารกในครรภ์มีการพัฒนามากที่สุด โดยปัญหาในกลุ่มนี้ก็เช่น

  • จอประสาทตาผิดปกติในทารกคลอดก่อนกำหนด (Retinopathy of Prematurity: ROP) พบมากในทารกที่คลอดก่อนกำหนดในช่วงสัปดาห์ที่ 31 หรือก่อนหน้านั้น
  • สูญเสียการมองเห็น ในทารกบางรายอาจเกิดมาโดยมีอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการมองเห็นที่ไม่สมบูรณ์ เช่น ลูกตา หรือม่านตา จึงทำให้สูญเสียการมองเห็น แต่พบได้ค่อนข้างน้อย

ปัญหาเกี่ยวกับหูและการได้ยิน

ในทารกบางรายอาจพบทั้งปัญหาที่เกี่ยวกับตาหรือหูอย่างใดอย่างหนึ่ง บางรายอาจพบปัญหาทั้ง 2 ประการร่วมกัน โดยปัญหาทางหูที่อาจพบได้ เช่น การสูญเสียการได้ยินแต่กำเนิด กายภาพของหูมีความผิดปกติ

ปัญหาเกี่ยวกับสมอง

เด็กที่คลอดก่อนกำหนดอาจเสี่ยงเกิดปัญหาเกี่ยวกับสมองได้ เช่น ภาวะเลือดออกในโพรงสมอง (Intraventricular Hemorrhage) ภาวะสมองพิการ 

ปัญหาเกี่ยวกับไต

การคลอดก่อนกำหนดอาจส่งผลให้เด็กมีปัญหาเกี่ยวกับไตได้ เช่น มีปัญหาในการกรองของเสียออกจากเลือด ปัญหาในการผลิตปัสสาวะ 

ปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ

ทารกที่คลอดก่อนกำหนดจะมีระบบทางเดินหายใจที่ยังพัฒนาไม่เต็มที่ เช่น การขาดสารลดแรงตึงผิวในปอด จนทำให้ปอดไม่สามารถขยายและหดตัวได้ตามปกติ ซึ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจต่อไป

ปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ

ปัญหาเกี่ยวกับหัวใจที่อาจพบได้ก็เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจเกิน (Patent Ductus Arteriosus: PDA) เกิดจากการเปิดของเส้นเลือดหลัก 2 เส้นที่หัวใจ ซึ่งควรจะปิดลงหลังทารกคลอด ทำให้มีเลือดสูบฉีดผ่านปอดเป็นจำนวนมาก และอาจส่งผลให้เกิดภาวะน้ำท่วมปอดและหัวใจล้มเหลวได้ในอนาคต

ปัญหาการติดเชื้อ

ทารกที่คลอดก่อนกำหนดจะสามารถติดเชื้อได้ง่าย เนื่องจากทารกมีระบบภูมิคุ้มกันที่ยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ และได้รับสารภูมิต้านทานหรือแอนติบอดี้ (Antibody) จากมารดามาปริมาณเล็กน้อย 

นอกจากภาวะแทรกซ้อนที่ได้ยกตัวอย่างไปแล้ว เด็กที่คลอดก่อนกำหนดยังอาจเสี่ยงเกิดปัญหาอื่น ๆ ได้อีก เช่น ความบกพร่องทางปัญญา พัฒนาการช้า ปัญหาด้านพฤติกรรม สมาธิสั้น ฟันขึ้นช้าหรือขึ้นผิดตำแหน่ง ตัวเล็กศีรษะโต มีขนปกคลุมที่ร่างกายมากกว่าปกติ อุณหภูมิในร่างกายต่ำ มีความยากลำบากในการดูดและกลืนอาหาร

แนวทางการลดความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด

เนื่องจากทางการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดการคลอดก่อนกำหนด การป้องกันการคลอดก่อนกำหนดจึงอาจทำได้ยาก อย่างไรก็ตาม คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ยังสามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดการคลอดก่อนกำหนดได้ด้วยการปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • ทำหัตถการการเย็บผูกปากมดลูก (Cervical Cerclage) แพทย์จะแนะนำวิธีนี้สำหรับผู้หญิงที่มีอายุครรภ์น้อยกว่า 24 สัปดาห์ ผู้ที่มีประวัติการคลอดก่อนกำหนดหรือแท้งติดต่อกันตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไป และผู้ที่ทำการอัลตราซาวด์และพบว่าปากมดลูกสั้นกว่า 2.5 เซนติเมตร 
  • การฝากครรภ์ โดยแพทย์และพยาบาลที่เกี่ยวข้องจะให้คำแนะนำเพื่อสุขภาพที่ดีของคุณแม่และทารกในครรภ์ โดยเฉพาะในผู้ที่เคยมีประวัติการคลอดก่อนกำหนด
  • รับประทานอาหารและวิตามินที่เป็นประโยชน์ต่อการตั้งครรภ์ เช่น กรดโฟลิค ธาตุเหล็ก ไอโอดีน แคลเซียม วิตามินดี วิตามินซี วิตามินอี วิตามินบี 12 วิตามินบี 3 สังกะสี ทั้งนี้คุณแม่ควรปรึกษาแพทย์เรื่องขนาดและปริมาณของวิตามินและแร่ธาตุที่เหมาะสม
  • งดการสูบบุหรี่และงดการดื่มแอลกอฮอล์ในระหว่างตั้งครรภ์ รวมถึงการอยู่ในสถานที่ที่มีควันบุหรี่ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติกับบุตรในครรภ์
  • ควรเว้นระยะห่างจากการตั้งครรภ์ครั้งล่าสุดอย่างน้อย 6 เดือน

เพิ่มความระมัดระวังการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การออกกำลังกาย การยกของหนัก การทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรงมาก รวมถึงการกระแทก เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด