ครรภ์เป็นพิษ

ความหมาย ครรภ์เป็นพิษ

ครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia) เป็นภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์ที่เป็นอันตราย เพราะทำให้ผู้ป่วยมีความดันโลหิตสูงมากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท ร่วมกับมีภาวะโปรตีนหรือไข่ขาวปะปนอยู่ในปัสสาวะ ไตทำงานผิดปกติ หรือมีอาการอื่น ๆ โดยภาวะนี้มักเกิดขึ้นในช่วงอายุครรภ์มากกว่า 20 สัปดาห์ หรือบางกรณีอาจเกิดกับอายุครรภ์ที่น้อยกว่านั้น แต่หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องทันเวลา อาจทำให้เกิดอาการชักขณะตั้งครรภ์หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงอื่น ๆ ตามมาได้

ครรภ์เป็นพิษ

ภาวะครรภ์เป็นพิษเป็น 1 ในภาวะความดันโลหิตสูงที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ ส่วนภาวะความดันโลหิตสูงชนิดอื่นแบ่งออกได้ตามอาการที่พบ ดังนี้  

  • ภาวะความดันโลหิตสูงเรื้อรัง ผู้ป่วยมักมีความดันโลหิตสูงอย่างเรื้อรังก่อนตั้งครรภ์หรือก่อนอายุครรภ์ 20 สัปดาห์
  • ภาวะความดันโลหิตสูงในขณะตั้งครรภ์ ผู้ป่วยมีความดันโลหิตสูง แต่ไม่พบโปรตีนส่วนเกินในปัสสาวะหรืออาการอื่น ๆ ที่บ่งบอกว่าอวัยวะภายในได้รับความเสียหาย แต่ภาวะนี้อาจนำไปสู่การเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษได้
  • ภาวะความดันโลหิตสูงอย่างรุนแรงในขณะตั้งครรภ์ ผู้ป่วยมีภาวะความดันโลหิตสูงเรื้อรังมาก่อนและทวีความรุนแรงขึ้นในระหว่างการตั้งครรภ์ โดยอาจตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะหรืออาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ

โดยทั่วไป อาการความดันโลหิตสูงควรดีขึ้นภายใน 12 สัปดาห์หลังคลอด แต่หากผู้ป่วยยังเผชิญปัญหานี้ ควรรับการรักษาจากแพทย์อย่างเหมาะสมต่อไป

อาการของครรภ์เป็นพิษ

ผู้ป่วยแต่ละรายจะมีอาการแตกต่างกันออกไป ซึ่งมักไม่ค่อยพบอาการแสดงอย่างชัดเจน หรืออาจมีอาการเล็กน้อย โดยอาการที่พบได้บ่อยของภาวะครรภ์เป็นพิษ มีดังนี้

  • ความดันโลหิตสูงตั้งแต่ 140/90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป โดยตรวจพบระดับความดันนี้ 2 ครั้งในระยะห่างอย่างน้อย 4 ชั่วโมง
  • ตรวจพบโปรตีนหรือไข่ขาวส่วนเกินในปัสสาวะ หรือพบอาการอื่น ๆ ที่บ่งบอกว่าไตมีปัญหา
  • ปวดศีรษะอย่างรุนแรงแล้วยังไม่ดีขึ้นแม้รับประทานยาแก้ปวด โดยเฉพาะบริเวณท้ายทอยและหน้าผาก หากอาการรุนแรงอาจชักกระตุกทั้งตัว หรือมีเลือดออกในสมองได้
  • มีปัญหาทางสายตา สูญเสียการมองเห็นชั่วคราว สายตาพร่ามัว หรือตาไวต่อแสงผิดปกติ
  • หายใจไม่อิ่มหรือหายใจลำบาก เนื่องจากมีน้ำหรือของเหลวในปอด
  • ปวดท้องส่วนบน โดยมักปวดบริเวณใต้ลิ้นปี่
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • มีปริมาณปัสสาวะน้อยผิดปกติ
  • เกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
  • การทำงานของตับบกพร่อง
  • น้ำหนักขึ้นอย่างรวดเร็ว ร่างกายบวมน้ำ เช่น มีอาการบวมตามใบหน้า มือ ข้อเท้า เท้า เป็นต้น

สาเหตุของครรภ์เป็นพิษ

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของภาวะครรภ์เป็นพิษ แต่อาจเกิดได้จากหลายปัจจัยร่วมกัน โดยผู้เชี่ยวชาญสันนิษฐานว่าอาจเกิดจากหลอดเลือดทั่วร่างกายหดตัว จึงนำไปสู่ภาวะความดันโลหิตสูงและมีปริมาณเลือดที่ไหลเวียนไปยังอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกายน้อยลง รวมทั้งเลือดที่ไหลเวียนไปยังรกด้วย จนทำให้เกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ

โดยสาเหตุหรือปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ ได้แก่

  • มดลูกได้รับเลือดไม่เพียงพอ
  • ระบบภูมิคุ้มกันเกิดความผิดปกติ
  • หลอดเลือดได้รับความเสียหาย
  • กรรมพันธุ์
  • การรับประทานอาหารบางชนิด
  • ผู้ป่วยหรือบุคคลในครอบครัวเคยมีประวัติครรภ์เป็นพิษ
  • มีโรคประจำตัวเรื้อรังก่อนการตั้งครรภ์ เช่น ภาวะความดันโลหิตสูงเรื้อรัง อ้วนหรือมีน้ำหนักเกินมาตรฐาน ไมเกรน โรคเบาหวาน โรคไต โรคเอสแอลอี มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคลูปัส หรือเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน
  • ตั้งครรภ์ในขณะอายุน้อย หรืออายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป
  • ตั้งครรภ์ครั้งแรก
  • ตั้งครรภ์กับคู่สมรสใหม่
  • ตั้งครรภ์ลูกแฝดหรือมากกว่า 2 คน
  • ระยะห่างระหว่างการตั้งครรภ์แต่ละครั้งน้อยกว่า 2 ปี หรือมากกว่า 10 ปีขึ้นไป
  • การตั้งครรภ์ที่เกิดจากการปฏิสนธินอกร่างกาย
  • มีประวัติครรภ์เป็นพิษในการตั้งครรภ์ครั้งก่อน

การวินิจฉัยครรภ์เป็นพิษ   

การวินิจฉัยภาวะครรภ์เป็นพิษ แพทย์ต้องตรวจพบภาวะความดันโลหิตสูงควบคู่กับอาการผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่งหลังจากอายุครรภ์ 20 สัปดาห์เป็นต้นไป ด้วยวิธีการตรวจต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • ตรวจสุขภาพทั่วไป เป็นการซักประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วยและครอบครัว ตรวจดูอาการผิดปกติเบื้องต้น เช่น มีปัญหาทางด้านสายตา ปวดศีรษะอย่างต่อเนื่อง มีอาการบ่งบอกว่าไตทำงานผิดปกติ โดยภาวะครรภ์เป็นพิษมักตรวจพบในขณะไปพบแพทย์ตามนัดฝากครรภ์ปกติ
  • ตรวจวัดระดับความดันโลหิต การตรวจวัดความดันโลหิตจะทำให้ทราบว่าผู้ป่วยเข้าข่ายภาวะครรภ์เป็นพิษหรือไม่ โดยแพทย์อาจต้องตรวจวัดหลายครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งจะต้องทิ้งระยะห่างกันอย่างน้อย 4 ชั่วโมง หากวัดระดับความดันโลหิตได้ตั้งแต่ 140/90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป ก็อาจมีความเป็นไปได้สูงว่าผู้ป่วยอาจเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ
  • ตรวจเลือด จะช่วยให้แพทย์ทราบถึงการทำงานของตับ ไต และปริมาณของเกล็ดเลือด
  • ตรวจปัสสาวะ เป็นการตรวจหาโปรตีนหรือไข่ขาวในปัสสาวะ โดยใช้แถบตรวจปัสสาวะสำเร็จรูปจุ่มลงไปในปัสสาวะและเทียบสี หากตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะ แพทย์จะส่งตัวอย่างปัสสาวะไปตรวจในห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันผลอีกครั้ง อาจเป็นการเก็บตัวอย่างปัสสาวะแบบครั้งเดียวหรือเก็บตัวอย่างปัสสาวะในช่วง 24 ชั่วโมง เพื่อตรวจดูปริมาณโปรตีนที่รั่วออกมาโดยเทียบจากสัดส่วนของโปรตีนและสารครีอะตินินในปัสสาวะ
  • ตรวจสุขภาพของทารก ตรวจสุขภาพของทารกในครรภ์โดยดูอัตราการเต้นของหัวใจเมื่อทารกมีการเคลื่อนไหวหรือดิ้นตัว บางกรณีอาจประเมินความสมบูรณ์ของทารกด้วยการอัลตราซาวด์ดูปริมาณน้ำคร่ำร่วมกับการหายใจ การขยับกล้ามเนื้อ หรือการเคลื่อนไหวของทารก

การรักษาครรภ์เป็นพิษ

ภาวะครรภ์เป็นพิษรักษาให้หายได้ด้วยการคลอดท่านั้น โดยอาการป่วยต่าง ๆ จะค่อย ๆ หายไปเองหลังการคลอด อย่างไรก็ตาม แพทย์จะต้องพิจารณาหลายปัจจัยก่อนทำคลอดด้วย เช่น ระยะเวลาของการตั้งครรภ์ สุขภาพของผู้ป่วย หรือความรุนแรงของอาการ หากผู้ป่วยมีอายุครรภ์น้อย แพทย์อาจยังไม่สามารถทำคลอดได้ทันที จึงต้องดูแลอย่างใกล้ชิดและประคับประคองอาการจนกว่าใกล้ถึงระยะเวลาที่พร้อมคลอดได้อย่างปลอดภัย แต่หากมีอายุครรภ์ตั้งแต่ 37 สัปดาห์ขึ้นไป แพทย์จะแนะนำให้เร่งคลอดหรือผ่าคลอด เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยมีอาการแย่ลงและลดความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่เป็นอันตรายต่อทั้งมารดาและทารกในครรภ์

โดยทั่วไป หากแพทย์ตรวจพบภาวะครรภ์เป็นพิษ อาจมีวิธีการรักษาประคองอาการจนกว่าผู้ป่วยจะคลอด ดังนี้

  • การรักษาภาวะครรภ์เป็นพิษชนิดไม่รุนแรง ผู้ป่วยภาวะนี้กลับบ้านได้หลังการตรวจ แต่ต้องไปพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเฝ้าระวังอาการด้วยการตรวจครรภ์และตรวจร่างกายเป็นประจำ เช่น ตรวจอัลตราซาวด์ ตรวจวัดอัตราการเต้นของหัวใจ ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เป็นต้น โดยแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยนอนพักผ่อนให้มาก ๆ ลดการรับประทานอาหารที่มีรสเค็ม ดื่มน้ำให้เพียงพอ และบางรายอาจต้องรับประทานยาลดความดันโลหิตด้วย
  • การรักษาภาวะครรภ์เป็นพิษชนิดรุนแรง สำหรับรายที่ป่วยรุนแรงจำเป็นต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเพื่อเฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิด โดยผู้ป่วยอาจได้รับยาลดความดันโลหิต ยาในกลุ่มสเตียรอยด์ ยาป้องกันอาการชัก หรือยาชนิดอื่น ๆ ตามปัจจัยเสี่ยงรายบุคคล รวมทั้งต้องตรวจร่างกายและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์เหมือนผู้ป่วยที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษชนิดไม่รุนแรง

ภาวะแทรกซ้อนของครรภ์เป็นพิษ

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้จากภาวะครรภ์เป็นพิษ ได้แก่

  • ทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้า ภาวะครรภ์เป็นพิษส่งผลกระทบต่อหลอดเลือดที่เชื่อมไปยังรก ทำให้รกได้รับเลือด ออกซิเจน และสารอาหารน้อยลง จึงส่งผลต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ หรือทำให้ทารกคลอดออกมามีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ได้
  • คลอดก่อนกำหนด ผู้ป่วยที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษรุนแรงอาจต้องคลอดก่อนกำหนดเพื่อความปลอดภัยของแม่และเด็ก ซึ่งการคลอดก่อนกำหนดอาจทำให้ทารกมีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจและสุขภาพด้านอื่น ๆ ได้ด้วย
  • รกลอกตัวก่อนกำหนด เป็นภาวะที่รกหลุดหรือลอกออกจากโพรงมดลูกก่อนทารกจะคลอด ซึ่งมีความเสี่ยงให้ผู้เป็นแม่เกิดเลือดออกอย่างรุนแรง และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตทั้งแม่และทารกในครรภ์
  • กลุ่มอาการ HELLP เป็นภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ทั้งแม่และทารก เพราะจะทำให้เม็ดเลือดแดงในหลอดเลือดแดงแตก ค่าตับอักเสบสูงขึ้น และมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ซึ่งเป็นสัญญาณของความเสียหายในอวัยวะหลายระบบ โดยผู้ป่วยจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ปวดท้องด้านขวาบน และอาการอื่น ๆ ในบางครั้งอาการอาจเกิดตอนความดันโลหิตสูงขึ้นหรือกำเริบกะทันหันโดยไม่มีสัญญาณเตือนใด ๆ
  • ชัก ผู้ป่วยบางรายที่มีอาการป่วยรุนแรงจนไม่สามารถควบคุมได้อาจเสี่ยงเกิดอาการชัก ซึ่งแพทย์ไม่อาจระบุได้แน่ชัดว่าจะเกิดภาวะนี้เมื่อใด เพราะส่วนใหญ่จะไม่พบสัญญาณเตือนล่วงหน้า และเป็นอันตรายต่อแม่กับทารกในครรภ์ ซึ่งทำให้แพทย์ต้องยุติการตั้งครรภ์ทันที
  • อวัยวะได้รับความเสียหาย ครรภ์เป็นพิษอาจส่งผลให้อวัยวะในหลายระบบได้รับความเสียหาย เช่น ดวงตา ตับ ไต ปอด หรือหัวใจ บางกรณีอาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองหรือกระทบกระเทือนต่อสมอง ซึ่งความเสียหายของอวัยวะต่าง ๆ จะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของภาวะครรภ์เป็นพิษ    
  • โรคหัวใจและหลอดเลือด ครรภ์เป็นพิษจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษมากกว่า 1 ครั้ง หรือมีประวัติคลอดทารกก่อนกำหนด  

การป้องกันครรภ์เป็นพิษ

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีใดป้องกันการเกิดครรภ์เป็นพิษได้ แต่อาจลดความเสี่ยงได้ด้วยวิธีการ ดังนี้

  • ไปฝากครรภ์และพบแพทย์ตามนัดหมายอย่างสม่ำเสมอ เพราะจะช่วยให้ตรวจวินิจฉัยพบความผิดปกติได้เร็วและรักษาได้ทันท่วงที
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็มหรือมีโซเดียมมาก อาหารไขมันสูง ของทอด รวมทั้งเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีน
  • ดื่มน้ำให้มาก ๆ ประมาณ 6-8 แก้ว/วัน
  • ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมสม่ำเสมอ โดยอาจขอคำปรึกษาจากแพทย์ถึงวิธีการออกกำลังกายที่ถูกต้อง
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  • ยกขาให้สูงในระหว่างวันบ่อย ๆ
  • รับประทานยาหรืออาหารเสริมตามที่แพทย์สั่ง รวมทั้งปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ผู้ดูแลอย่างเคร่งครัด โดยแพทย์อาจให้อาหารเสริมแคลเซียมกับผู้ที่ได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอจากการรับประทานอาหาร หรืออาจให้รับประทานยาแอสไพรินปริมาณต่ำในช่วงต้นไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ตั้งครรภ์ไม่ควรซื้อยาหรืออาหารเสริมใด ๆ มารับประทานเองโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์