ซิฟิลิส (Syphilis)

ความหมาย ซิฟิลิส (Syphilis)

ซิฟิลิส (Syphilis) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่งที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือในบางกรณีก็อาจติดต่อผ่านแม่สู่ลูกขณะตั้งครรภ์หรือขณะทำคลอด โดยอาการส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นจะเกี่ยวข้องกับด้านผิวหนัง เช่น เกิดแผล หรือเกิดผื่น รวมถึงมักส่งผลให้เกิดแผลบริเวณรอบ ๆ อวัยวะเพศร่วมด้วย

ซิฟิลิสเป็นโรคที่สามารถพบได้ทั้งในเพศชายและเพศหญิง โดยผู้ที่ป่วย ไม่ว่าจะเป็นในทารกหรือผู้ใหญ่ หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมโดยแพทย์ เชื้อแบคทีเรียก็อาจแพร่กระจายไปยังอวัยวะบริเวณอื่นของร่างกาย จนส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงตามมา หรืออาจเสียชีวิตได้

ซิฟิลิส (Syphilis)

อาการของซิฟิลิส

โรคซิฟิลิสแบ่งอาการออกได้เป็น 3 ระยะ ซึ่งจะมีลักษณะอาการที่แตกต่างกันไป ดังนี้

ระยะที่ 1 (Early/Primary Syphilis)

ในระยะแรก ผู้ป่วยจะเริ่มเกิดแผลขนาดเล็กบริเวณที่ได้รับเชื้อประมาณ 3 สัปดาห์ หรือไม่เกิน 10–90 วัน โดยเฉพาะตามอวัยวะเพศและริมฝีปาก โดยไม่มีอาการเจ็บหรือปวดร่วมด้วย 

ทั้งนี้ บริเวณขอบแผลจะมีลักษณะเรียบและแข็ง หรือเรียกว่า แผลริมแข็ง (Chancre) ซึ่งอาการจะมักหายไปได้เองภายในระยะเวลาประมาณ 6 สัปดาห์แม้ไม่ได้รับการรักษา

ระยะที่ 2 (Secondary Stage)

ในระยะนี้ ผู้ป่วยจะเริ่มเกิดผื่นที่มีลักษณะตุ่มนูนคล้ายหูดขึ้นตามบริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้า อวัยวะเพศ หรือส่วนอื่นของร่างกาย เช่น ขาหนีบ ทวารหนัก ภายในช่องปาก แต่ไม่มีอาการคันตามผิวหนัง หรือบางรายอาจมีอาการเจ็บคอ มีปื้นแผ่นสีขาวในปาก เป็นไข้ ต่อมน้ำเหลืองบวม เหนื่อยง่าย น้ำหนักลด ผมร่วง แต่อาการเหล่านี้มักจะหายไปแม้ไม่ได้รับการรักษาเช่นกัน

ระยะสงบ หรือ Latent Syphilis

เป็นช่วงที่ไม่ค่อยมีอาการของโรคแสดงออกมาให้เห็น แต่ผู้ป่วยยังคงมีเชื้ออยู่ในร่างกายและตรวจเลือดพบได้ โดยระยะนี้สามารถเกิดได้นานเป็นปีก่อนจะพัฒนาไปยังระยะสุดท้าย

ระยะที่ 3 (Tertiary Syphilis)

ในระยะนี้เชื้อจะเริ่มก่อให้เกิดความผิดปกติและภาวะแทรกซ้อนที่หัวใจ สมอง เส้นประสาท หรืออวัยวะหลายส่วนของร่างกาย ขึ้นอยู่กับว่าเชื้อแพร่กระจายไปที่บริเวณใด ซึ่งจะนำไปสู่โรคต่าง ๆ เช่น อัมพาต ตาบอด ภาวะสมองเสื่อม หูหนวก ไร้สมรรถภาพทางเพศ โรคหัวใจ เสียสติ และมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้

ทั้งนี้ แม้ว่าอาการของโรคในระยะแรกมักเกิดขึ้นแล้วหายไป และอาการในระยะท้ายมักไม่ค่อยแสดงอาการ แต่เชื้อยังคงอยู่ในร่างกาย ผู้ที่มีสัญญาณของโรคนี้จึงจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีที่ถูกต้องก่อนโรคจะพัฒนามากขึ้นจนรุนแรงต่อระบบอื่นในร่างกาย

สาเหตุของซิฟิลิส

โรคซิฟิลิสเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า ทริปโปนีมา พัลลิดุม (Treponema Pallidum) จากการสัมผัสถูกเชื้อโดยตรงจากแผลของผู้ป่วย โดยเฉพาะในระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ หรือในบางกรณีก็อาจมาจากการที่หญิงตั้งครรภ์ที่มีเชื้อส่งผ่านเชื้อไปยังทารกในครรภ์หรือขณะคลอด การใช้เข็มฉีดยารวมกับผู้อื่น ไปจนถึงการรับเลือดจากผู้อื่น

ในช่วงระยะที่ 1–2 ของการติดเชื้อจะเป็นช่วงที่สามารถแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ง่ายมากที่สุด ทั้งนี้ การใช้สิ่งของร่วมกันที่ปนเปื้อนเชื้ออาจไม่ได้ส่งผลให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อเสมอไป เช่น การใช้ห้องน้ำ การสวมเสื้อผ้า หรือใช้ช้อนส้อมร่วมกัน แต่หากผิวหนังที่สัมผัสกับเชื้อมีแผลอยู่ก็อาจเกิดการติดเชื้อได้

การวินิจฉัยซิฟิลิส

ในการวินิจฉัยซิฟิลิส แพทย์จะสอบถามข้อมูลทั่วไป เช่น อาการที่เกิดขึ้น ประวัติการเจ็บป่วย พฤติกรรมด้านเพศสัมพันธ์ รวมไปถึงการตรวจร่างกายในเบื้องต้น ซึ่งแพทย์หรือพยาบาลจะตรวจดูบริเวณอวัยวะเพศหรือส่วนอื่นของร่างกายว่าพบแผลหรือความผิดปกติใด ๆ ที่อาจเกิดจากโรคซิฟิลิสหรือไม่

จากนั้น หากแพทย์เห็นว่าผู้เข้ารับการตรวจมีความเป็นไปได้ว่าที่จะเป็นโรคซิฟิลิส แพทย์จะสั่งตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่นเพิ่มเติม ซึ่งการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่มักใช้ในการวินิจฉัย ได้แก่

  • การตรวจเลือด ซึ่งอาจเป็นการตรวจแบบ VDRL เพื่อวัดระดับแอนติบอดี้ หรืออาจเป็นการตรวจเพื่อหาเชื้อซิฟิลิสโดยตรง ทั้งนี้ ในบางรายที่ผลการตรวจออกมาว่ามีการติดเชื้อ อาจต้องมีการตรวจซ้ำอีกครั้งเพื่อช่วยยืนยันการติดเชื้อ
  • การเก็บตัวอย่างเชื้อไปตรวจ (Swab Test) ในกรณีที่ผู้ป่วยเกิดแผลหรือผื่นตามร่างกาย แพทย์อาจมีการเก็บตัวอย่างเชื้อบนผิวหนังหรือน้ำเหลืองจากแผลไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ หาเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคซิฟิลิสหรือไม่

ทั้งนี้ เนื่องจากในบางระยะอาจไม่มีอาการแสดงออกมาให้เห็นจนโรคเข้าสู่ระยะสุดท้าย การวินิจฉัยจึงต้องดูระยะของโรคร่วมด้วย โดยแพทย์อาจส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการตามระยะโรคที่ผู้ป่วยเป็น เช่น แพทย์อาจทำการเจาะน้ำไขสันหลัง (Spinal Tap/Lumbar Puncture) ในกรณีที่คนไข้มีอาการทางระบบประสาท แต่ไม่พบอาการอื่น ๆ ของโรค

การรักษาซิฟิลิส

โรคซิฟิลิสสามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะในกลุ่มเพนิซิลลิน (Penicillin) เป็นหลัก โดยในช่วงระหว่างการรักษา ผู้ป่วยควรงดการมีเพศสัมพันธ์ เพื่อช่วยป้องกันการแพร่กระจายของโรคหรือป้องกันไม่ให้โรคเกิดการกำเริบมากขึ้นหากได้รับเชื้อจากผู้อื่นอีกครั้ง รวมถึงควรแนะนำให้คู่นอนมาตรวจด้วยเช่นกัน

สำหรับประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นการรักษาด้วยยากลุ่มเพนิซิลลิน จี (Penicillin G) ที่แบ่งย่อยได้อีกหลายชนิด เช่น ยาเบนซาธีน เพนิซิลลิน จี (Benzathine Penicillin G) ยาเอเควียส เพนิซิลลิน จี (Aqueous Penicillin G) ซึ่งแพทย์จะฉีดให้ผู้ป่วยโดยดูจากระยะเวลาในการป่วยว่าเป็นมานานเท่าใด

  • ผู้ป่วยระยะที่ 1–2 จะฉีดเบนซาธีน เพนิซิลลิน จี ขนาด 2.4 ล้านยูนิต เข้ากล้ามเนื้อให้ผู้ป่วย 1 ครั้ง   
  • ผู้ป่วยระยะแฝงหรือระยะที่ 3 จะฉีดเบนซาธีน เพนิซิลลิน จี ขนาด 2.4 ล้านยูนิต เข้ากล้ามเนื้อให้ผู้ป่วยสัปดาห์ละ 1 ครั้งติดต่อกัน 3 สัปดาห์
  • หากโรคซิฟิลิสขึ้นไปที่สมอง (Neurosyphilis) แพทย์จะฉีดเบนซาธีน เพนิซิลลิน จี เข้ากล้ามเนื้อ 18–24 ล้านยูนิตต่อวัน โดยแบ่งการให้ยาเป็น 3–4 ล้านยูนิตทุก 4 ชั่วโมง ติดต่อกันนาน 10–14 วัน หรือฉีดโปรเคน เพนิซิลลิน (Procaine Penicillin) ขนาด 2.4 ล้านยูนิต เข้ากล้ามเนื้อให้ผู้ป่วยวันละ 1 ครั้ง ร่วมกับรับประทานยาโพรเบเนซิด (Probenecid) ขนาด 500 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลานาน 10–14 วัน
  • สำหรับผู้ป่วยที่แพ้ยาเพนิซิลลินยังไม่มีตัวยาที่ใช้ทดแทนอย่างแน่นอน อาจจะให้รับประทานยาด็อกซีไซคลิน (Doxycycline) ขนาด 100 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้งต่อวัน ร่วมกับยาเตตราไซคลีน(Tetracycline) ขนาด 500 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง นานติดต่อกันเป็นเวลา 14 วัน หรือฉีดยาเซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone) ขนาด 1–2 กรัมเข้ากล้ามเนื้อเป็นเวลา 10–14 วัน

ผู้ป่วยที่มีประวัติการแพ้ยาควรแจ้งให้แพทย์ทราบ เพื่อประเมินและปรับตัวยาที่ใช้ในการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางโรคติดเชื้อต่อไป

ทั้งนี้ การรักษาด้วยยาอาจส่งผลข้างเคียงในผู้ป่วยบางราย เช่น ไข้ขึ้น เวียนศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อหรือปวดตามข้อ แต่อาการเหล่านี้จะค่อย ๆ ทุเลาลงในเวลาไม่นาน โดยบางครั้งแพทย์อาจจ่ายยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ช่วยบรรเทาอาการ 

ภาวะแทรกซ้อนของซิฟิลิส

หากผู้ป่วยไม่เข้ารับการรักษาโรคอย่างต่อเนื่องให้หายขาด อาการของโรคที่เข้าสู่ระยะสุดท้ายอาจพัฒนารุนแรงขึ้นได้เมื่อเชื้อไปอยู่ในระบบต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น อัมพาต โรคหัวใจ ตาบอด ภาวะสมองเสื่อม ไร้สมรรถภาพทางเพศ เสียสติ หูหนวก และมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้

ในสตรีมีครรภ์อาจมีความเสี่ยงต่อการแท้งบุตรหรือทารกเสียชีวิตขณะแรกคลอด รวมไปถึงทารกอาจมีภาวะของโรคซิฟิลิสแต่กำเนิดหากเชื้อมีการส่งผ่านจากแม่ไปยังทารก ส่งผลให้เกิดปัญหาความผิดปกติในอวัยวะหลายส่วนหลังจากคลอดภายในไม่กี่สัปดาห์ เช่น กระดูก ดวงตา ฟัน สมอง การได้ยิน

นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อเอชไอวี (HIV) ได้ง่ายมากขึ้นผ่านทางแผลตามร่างกายเมื่อเทียบกับคนปกติที่ไม่เป็นโรคซิฟิลิส

การป้องกันซิฟิลิส

แนวทางในการป้องกันโรคซิฟิลิสที่ดีที่สุดคือการลดความเสี่ยงจากการได้รับเชื้อ โดยเฉพาะการได้รับเชื้อผ่านทางเพศสัมพันธ์ ด้วยการหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นโรคนี้ และไม่ควรมีคู่นอนหลายคน

นอกจากนั้น ควรป้องกันด้วยการสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อเพศสัมพันธ์ ซึ่งรวมถึงการมีเพศสัมพันธ์ทางปาด้วย ในบางกรณี เชื้อสามารถส่งผ่านทางการใช้เข็มฉีดยา จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์เหล่านี้ร่วมกันผู้อื่น

หญิงมีครรภ์ควรได้รับการตรวจเลือดคัดกรองโรคในช่วงระหว่างสัปดาห์ที่ 8–12 ของการตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันการส่งผ่านเชื้อไปยังทารก และหากพบการติดเชื้อจะวางแผนการรักษาโรคได้ดียิ่งขึ้น