Penicillin (เพนิซิลลิน)

Penicillin (เพนิซิลลิน)

เพนิซิลลิน (Penicillin) เป็นกลุ่มยาปฏิชีวนะชนิดหนึ่งที่ใช้สำหรับรักษาการติดเชื้อจากแบคทีเรีย เช่น ฝีในฟัน การติดเชื้อในหู หนองในแท้ ปอดบวม การติดเชื้อในทางเดินหายใจ การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ การติดเชื้อที่ผิวหนัง หรือไข้รูมาติก

กลุ่มยานี้พัฒนามาจากเชื้อราเพนิซิลเลียม (Penicillium) และสามารถแบ่งออกได้อีกเป็นหลายกลุ่มยา เช่น กลุ่มอะมิโนเพนิซิลลิน (Aminopenicillins) กลุ่มแอนตี้ซูโดโมนอล เพนิซิลลิน (Antipsudo Penicillins) กลุ่มสารยับยั้งเบต้าแลคแทม (Beta–Lactamase Inhibitors) กลุ่มที่ได้จากธรรมชาติ (Natural Penicillins) และกลุ่มที่ทนการถูกทำลายของเพนนิซิลลิเนส (Penicillinase Resistant Penicillins)

Penicillin (เพนิซิลลิน)

ทั้งนี้ ยาเพนิซิลลินแต่ละชนิดไม่สามารถใช้รักษาอาการป่วยแทนกันได้ และนอกจากการใช้เพื่อรักษาการติดเชื้อจากแบคทีเรียแล้ว ในบางครั้ง แพทย์ยังอาจใช้ยาในกลุ่มเพนิซิลลินในการรักษาอาการป่วยหรือโรคอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ แต่ยากลุ่มนี้จะไม่สามารถใช้รักษาอาการเป็นไข้ โรคหวัด หรือโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสได้

คำเตือนการใช้ยา Penicillin

เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยาในกลุ่ม Penicillin ผู้ใช้ยาควรปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • ผู้ที่มีประวัติแพ้ยาใด ๆ โดยเฉพาะยาในกลุ่ม Penicillin ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา
  • ผู้ที่ใช้ยาในกลุ่ม Penicillin ควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์ เภสัชกร และฉลากยาอย่างเคร่งครัด ทั้งปริมาณและระยะเวลาการใช้ยา และไม่ควรหยุดใช้ยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน เพื่อการรักษาที่เห็นผลและความปลอดภัยต่อร่างกาย
  • ผู้ที่ให้นมบุตรในช่วงที่กำลังใช้ยานี้อาจส่งผลให้ทารกท้องร่วง ติดเชื้อจากเชื้อรา และผื่นขึ้น เนื่องจากบุตรอาจได้รับสารจากตัวยาซึ่งปนอยู่ในน้ำนมแม่ 
  • ผู้ที่กำลังป่วยเป็นโรคดังต่อไปนี้ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา ได้แก่ โรคภูมิแพ้ ภาวะผิดปกติที่เกี่ยวกับเลือด โรคหัวใจล้มเหลว ความดันโลหิตสูง ซิสติก ไฟโบรซิส (Cystic Fibrosis) โรคโมโนนิวคลิโอซิส (Mononucleosis) โรคฟีนิลคีโตนูเรีย (Phenylketonuria) และโรคที่เกี่ยวกับกระเพาะอาหารหรือลำไส้
  • ยาในกลุ่ม Penicillin อาจส่งผลให้ผลการตรวจน้ำตาลในปัสสาวะของผู้ป่วยโรคเบาหวานคลาดเคลื่อนได้ ดังนั้น ผู้ป่วยเบาหวานที่ต้องใช้ยานี้ควรแจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยาที่รับประทานเป็นประจำและควรปรึกษาแพทย์ก่อนเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารหรือปริมาณการใช้ยารักษาเบาหวาน
  • ผู้ป่วยโรคไตหรือตับสามารถใช้ยาในกลุ่ม Penicillin ได้อย่างปลอดภัย แต่จำเป็นต้องได้รับยาในปริมาณที่เหมาะสม
  • ผู้หญิงที่ใช้ยาคุมกำเนิดแบบรับประทานหรือผู้ป่วยที่ใช้ยาลดอาการอักเสบ ยาแอสไพริน (Aspirin) ยาโปรเบเนสิด (Probenecid) ควรใช้ยาในกลุ่ม Penicillin อย่างระมัดระวัง เนื่องจากยาลดอาการอักเสบและยาในกลุ่ม Penicillin อาจทำปฎิกิริยากัน จนส่งผลให้ระดับยาเพนิซิลินสูงขึ้นกว่าปกติและเป็นพิษต่อร่างกายได้ ส่วนผู้ที่รับประทานยาคุมอาจใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่นร่วมด้วย เนื่องจากยาในกลุ่ม Penicillin จะลดประสิทธิภาพของยาคุม
  • ระหว่างรับประทานยา Penicillin G ควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำส้ม น้ำองุ่น หรือน้ำผลไม้และเครื่องดื่มที่มีกรดภายใน 1 ชั่วโมงหลังจากรับประทานยาเข้าไป เนื่องจากเครื่องดื่มดังกล่าวจะลดประสิทธิภาพของยา
  • ยาในกลุ่ม Penicillin แต่ละชนิดจะปรากฏผลข้างเคียงที่แตกต่างกัน ผู้ป่วยจึงควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์หรือข้อบ่งชี้ในการใช้ยาก่อนทุกครั้ง
  • ผู้ที่รับประทานอะม็อกซี่ซิลลินแบบน้ำ สามารถผสมกับนม น้ำผลไม้ น้ำขิงแดง หรือเครื่องดื่มอื่น ๆ เพื่อดื่มได้ และควรดื่มให้หมดทันที

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Penicillin

โดยส่วนใหญ่แล้ว ยาในกลุ่ม Penicillin มักไม่ส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงใด ๆ จากการใช้ แต่ผู้ป่วยบางคนอาจเกิดได้บ้าง เช่น ปวดท้อง ปวดศีรษะ ท้องเสีย เป็นแผลในปากและลิ้น คันช่องคลอดและมีตกขาว ฝ้าขาวในปากหรือลิ้น และการรับรู้รสชาติเปลี่ยนไป ซึ่งผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบ หากพบว่าอาการไม่ดีขึ้นหรือเริ่มแย่ลง

อย่างไรก็ตาม หากผู้ใช้ยาเกิดอาการดังต่อไปนี้ ให้หยุดใช้ยาแล้วรีบไปพบแพทย์ทันที ได้แก่

  • อาการแพ้ยา เช่น มีผื่นขึ้น คันตามร่างกาย ไข้ขึ้น หายใจไม่ออก คัดจมูก คันดวงตา มีอาการบวมที่อวัยวะใด ๆ มีน้ำตาไหลมาก คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ ใจสั่น ชัก หรือรู้สึกคล้ายจะเป็นลม
  • หายใจหอบถี่
  • เจ็บปวดข้อต่อ
  • เวียนศีรษะ คล้ายจะเป็นลม
  • ใบหน้าหรือหนังตาบวม
  • ผิวแดง ลอก เป็นขุย
  • มีผื่นหรือลมพิษขึ้น ร่วมกับอาการคัน
  • ปวดท้องรุนแรง
  • ปัสสาวะน้อยลง
  • อุจจาระเหลว หรืออุจจาระปนเลือด
  • เกิดอาการซึมเศร้า
  • ในกรณีที่ได้ยาชนิดฉีดแล้วเกิดอาการปวดบริเวณที่ฉีดยา
  • เจ็บคอ ร่วมกับเป็นไข้
  • เกิดรอยช้ำ หรือมีเลือดออกผิดปกติ
  • ตาและผิวหนังมีสีออกเหลือง
  • รู้สึกวิตกกังวล สับสน
  • เกิดอาการทางจิต เช่น กลัวว่าตัวเองจะตาย หรือเพ้อประสาทหลอน

ปริมาณการใช้ยาในกลุ่ม Penicillin

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยตัวอย่างการใช้ยาในกลุ่ม Penicillin จะมีดังนี้

1. ยาอะม็อกซี่ซิลลิน (Amoxicillin)

รูปแบบยา : ยารับประทานและยาฉีด

ปริมาณการใช้ยาและข้อมูลอื่น ๆ ของยานี้สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่บทความยาอะม็อกซี่ซิลลิน 

2. ยาแอมพิซิลลิน (Ampicillin)

รูปแบบยา : ยารับประทานและยาฉีด

ปริมาณการใช้ยาและข้อมูลอื่น ๆ ของยานี้สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่บทความยาแอมพิซิลลิน 

3. ยาพิเพอราซิลลิน (Piperacillin)

รูปแบบยา : ยาฉีด

ปริมาณการใช้ยาจะแตกต่างกันตามช่วงวัยของผู้ป่วย และจุดประสงค์ในการรักษา เช่น

ในกรณีที่แพทย์ใช้สำหรับรักษาการติดเชื้อที่ไม่รุนแรง แพทย์จะฉีดยาให้ผู้ป่วยผู้ใหญ่ในปริมาณ 100–125 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยถ้าฉีดเข้ากล้ามเนื้อ แพทย์จะฉีดครั้งละ 2 กรัม ทุก 8–12 ชั่วโมง ส่วนถ้าฉีดเข้าหลอดเลือด แพทย์จะฉีดครั้งละ 2 กรัม ทุก 6–8 ชั่วโมง หรือฉีดครั้งละ 4 กรัม ทุก 12 ชั่วโมง แต่ถ้าเป็นผู้ป่วยเด็กที่อายุมากกว่า 1 เดือน แพทย์จะฉีดยาในปริมาณ 200 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งฉีดวันละ 3–4 ครั้ง

4. ยาไดคลอกซาซิลลิน (Dicloxacillin) 

รูปแบบยา : ยารับประทาน

ปริมาณการใช้ยาและข้อมูลอื่น ๆ ของยานี้สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่บทความยาไดคลอกซาซิลลิน