อัมพาต (Paralysis)

ความหมาย อัมพาต (Paralysis)

อัมพาต (Paralysis) คืออาการที่กล้ามเนื้อของอวัยวะส่วนต่าง ๆ ภายในร่างกายไม่สามารถขยับหรือเคลื่อนไหวได้ เนื่องจากภาวะเจ็บป่วยบางประการที่ทำให้ระบบสั่งการของสมองที่ควบคุมการเคลื่อนไหวเกิดความผิดปกติ เมื่อเส้นทางการส่งกระแสประสาทระหว่างสมองและกล้ามเนื้อขาดช่วง จึงส่งผลให้เกิดอาการอัมพาตเป็นบางจุด เช่น บริเวณใบหน้า แขน ขา อาการอัมพาตครึ่งซีก หรืออาการอัมพาตทั้งร่างกาย

อัมพาตสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง การประสบอุบัติเหตุหรืออาการเจ็บป่วยที่กระทบกระเทือนสมอง ไขสันหลัง กระดูกคอ และเส้นประสาทต่าง ๆ ที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย ผู้ป่วยอัมพาตอาจจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาหลายประการ แต่หากได้รับการดูแลรักษาและฟื้นฟูร่างกายอย่างเหมาะสม ก็มีโอกาสหายจากโรคหรือมีอาการดีขึ้นได้

อัมพาต

อาการอัมพาต

อาการอัมพาตมีทั้งอาการอัมพาตแบบเฉพาะที่ ซึ่งจะส่งผลให้อวัยวะบางส่วนไม่สามารถขยับเขยื้อนได้ เช่น ใบหน้า มือ และอัมพาตแบบทั่วร่างกาย ซึ่งจะส่งผลให้อวัยวะหลายส่วนไม่สามารถขยับเขยื้อนได้เป็นวงกว้าง 

อาการอัมพาตแบบทั่วร่างกาย สามารถแบ่งออกได้เป็นอีกหลายประเภท ดังนี้

  • โมโนพลีเจีย (Monoplegia) เป็นอาการอัมพาตที่แขนหรือขาข้างใดข้างหนึ่งขยับเคลื่อนไหวไม่ได้
  • เฮมิพลีเจีย (Hemiplegia) เป็นอาการอัมพาตที่แขนและขาข้างใดข้างหนึ่งขยับเคลื่อนไหวไม่ได้ หรือที่เรียกว่าอัมพาตครึ่งซีก
  • พาราพลีเจีย (Paraplegia) เป็นอาการอัมพาตที่ขาทั้งสองข้างหรือตั้งแต่บริเวณอุ้งเชิงกรานและช่วงล่างของลำตัวลงไปขยับเคลื่อนไหวไม่ได้
  • เตตร้าพลีเจีย (Tetraplegia) หรือควอดริพลีเจีย (Quadriplegia) เป็นอาการอัมพาตที่แขนและขาทั้งสองข้างขยับเคลื่อนไหวไม่ได้

หากผู้ป่วยเป็นอัมพาตแค่บางส่วน อาจควบคุมกล้ามเนื้อในบริเวณที่เป็นอัมพาตให้ขยับเคลื่อนไหวได้บ้าง แต่หากเป็นอัมพาตทั่วร่างกาย จะไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อในบริเวณนั้นให้ขยับหรือเคลื่อนไหวได้เลย ทั้งนี้ อัมพาตยังแบ่งออกเป็นอีก 2 ประเภทตามลักษณะกล้ามเนื้อในบริเวณที่เป็นอัมพาตด้วย ได้แก่

  • อัมพาตแบบกล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียก (Flaccid Paralysis) โดยกล้ามเนื้อจะหดตัวและอ่อนแรง
  • อัมพาตแบบกล้ามเนื้อเกร็ง (Spastic Paralysis) โดยกล้ามเนื้อจะตึงและแข็ง ซึ่งอาจทำให้กล้ามเนื้อกระตุกหรือเกิดตะคริวได้

อัมพาตอาจเกิดขึ้นแค่เพียงชั่วคราว เช่น โรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก (Bell's Palsy) ที่เกิดจากการอักเสบที่ประสาทสมองเส้นที่ 7 ทำให้กล้ามเนื้อบนใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีก และส่งผลให้ผู้ป่วยมีใบหน้าบิดเบี้ยว แต่หากได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสมก็สามารถฟื้นตัวและหายจากอาการอัมพาตบางส่วน หรือหายดีเป็นปกติได้

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยอัมพาตบางรายอาจไม่สามารถหายดีเป็นปกติหรืออาจเป็นอัมพาตไปตลอดชีวิต ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกาย การรักษา และการเจ็บป่วยที่เป็นสาเหตุให้เกิดอาการอัมพาต

สาเหตุของอัมพาต

อัมพาตสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยมีสาเหตุหลักดังนี้

โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)

โรคหลอดเลือดสมองมักเป็นสาเหตุหลักของการเกิดอาการอัมพาต โดยอาจเกิดได้จากการที่หลอดเลือดมีลิ่มเลือดอุดตัน หลอดเลือดตีบแคบลงจากการมีไขมันเกาะอยู่ตามผนังหลอดเลือด รวมถึงเส้นเลือดในสมองแตก ฉีกขาด และได้รับความเสียหาย ส่งผลให้เลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายไม่ได้ จนนำไปสู่การเกิดภาวะสมองขาดเลือด และเกิดอาการอัมพาตตามมา

การได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะ

เมื่อศีรษะได้รับบาดเจ็บหรือการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง อาจทำให้เนื้อเยื่อสมองฉีกขาดหรือฟกช้ำจากการกระแทกระหว่างสมองกับกะโหลกศีรษะ จนสร้างความเสียหายแก่เส้นเลือดและเส้นประสาทในสมองได้ ซึ่งหากเกิดความเสียหายต่อสมองซีกซ้าย จะส่งผลต่อให้เกิดอาการอัมพาตในร่างกายซีกขวา หากเกิดความเสียหายต่อสมองซีกขวา จะส่งผลต่อให้เกิดอาการอัมพาตในร่างกายซีกซ้าย

การได้รับบาดเจ็บบริเวณไขสันหลัง

ไขสันหลังเป็นเส้นประสาทที่อยู่ภายในกระดูกสันหลังที่เชื่อมไปถึงกระดูกคอ มีหน้าที่ควบคุมระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้สมองสามารถสั่งการควบคุมการแสดงออก ปฏิกิริยา และการเคลื่อนไหวต่าง ๆ ของร่างกายได้ หากเกิดการบาดเจ็บบริเวณกระดูกคอหรือกระดูกสันหลัง อาจทำให้ไขสันหลังได้รับความเสียหายจนไม่สามารถส่งสัญญาณจากสมองไปยังกล้ามเนื้อเพื่อควบคุมการเคลื่อนไหวได้

อุบัติเหตุรุนแรงที่อาจทำให้ไขสันหลังบาดเจ็บ ได้แก่ อุบัติเหตุทางรถยนต์ อุบัติเหตุจากการทำงาน อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นระหว่างเล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ หรือการตกจากที่สูง ทั้งนี้ ลักษณะอาการอัมพาตขึ้นอยู่กับบริเวณไขสันหลังที่ได้รับบาดเจ็บด้วย เช่น การบาดเจ็บบริเวณกระดูกสันหลังส่วนกลางอาจทำให้เป็นอัมพาตชนิดพาราพลีเจีย คืออาการอัมพาตบริเวณร่างกายส่วนล่าง

โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis)

โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งเกิดจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายซึ่งทำหน้าที่ป้องกันและกำจัดการติดเชื้อทำงานผิดปกติ ส่งผลให้สารมัยอีลิน (Myelin) ที่หุ้มอยู่รอบใยประสาทบริเวณไขสันหลังถูกทำลาย เมื่อปลอกประสาทนี้ถูกทำลาย จึงส่งผลรบกวนต่อการนำสัญญาณสื่อประสาทระหว่างสมองกับร่างกาย ทำให้เกิดอาการอัมพาตได้

นอกจากนี้ อาการอัมพาตยังสามารถเกิดขึ้นได้จากสาเหตอื่น ๆ ได้แก่

  • โรคทางระบบประสาท เช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอแอลเอส (Amyotrophic Lateral Sclerosis)หรือโรคเซลล์ประสาทสั่งการเสื่อม (Motor Neuron Disease) โดยเกิดจากการที่เซลล์ประสาทที่ควบคุมการเคลื่อนไหวเสื่อมหรือตายก่อนถึงอายุขัย
  • โรคที่ภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง เช่น กลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร (Guillan Barre Syndrome) โดยเกิดจากการที่ระบบประสาทส่วนปลายเกิดการอักเสบติดเชื้อฉับพลัน
  • โรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก หรือโรคใบหน้าอัมพาตครึ่งซีก (Bell's Palsy) โดยเกิดจากการที่เส้นประสาทบริเวณใบหน้าซึ่งควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อบนใบหน้าเกิดการอักเสบ
  • โรคสมองพิการ (Cerebral Palsy) โดยเกิดจากความผิดปกติทางสมอง ทำให้ร่างกายขยับหรือเคลื่อนไหวลำบากหรือผิดปกติ
  • กลุ่มอาการหลังจากโรคโปลิโอ (Post-Polio Syndrome)
  • อาการเนื้องอกที่เส้นประสาท (Neurofibromatosis)
  • โรคมะเร็งสมอง หรือโรคมะเร็งไขสันหลัง ซึ่งมักทำให้เกิดอาการอัมพาตครึ่งซีก
  • โรคไลม์ (Lyme disease) ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย จนเส้นประสาทได้รับความเสียหาย และทำให้เกิดอาการอัมพาตชั่วคราวบริเวณใบหน้า
  • อาการพิการแต่กำเนิด เช่น โรคสไปนา ไบฟิดา (Spina Bifida) เป็นอาการพิการแต่กำเนิดบริเวณกระดูกสันหลังและระบบประสาท ทำให้ร่างกายอัมพาตบางส่วนหรืออัมพาตอย่างถาวร

การวินิจฉัยอัมพาต

หากแพทย์ตรวจร่างกายและทดสอบสมรรถภาพร่างกายในเบื้องต้นแล้วพบว่าผู้ป่วยสูญเสียความสามารถในการควบคุมกล้ามเนื้อหรือการเคลื่อนไหว แพทย์จะวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นอัมพาต แต่หากแพทย์ต้องการวินิจฉัยสาเหตุของการเกิดอาการอัมพาต หรือต้องการตรวจหาบริเวณที่เกิดอาการอัมพาตให้แน่ชัดมากยิ่งขึ้น แพทย์อาจทำการตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีการดังนี้

  • การตรวจเอกซเรย์ (X-Ray) เพื่อตรวจหาความเสียหายบริเวณกระดูกสันหลังหรือกระดูกคอ
  • การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) มักใช้เพื่อตรวจหาความเสียหายที่เกิดขึ้นบริเวณศีรษะและไขสันหลังจากการได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรง
  • การสร้างภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อช่วยให้แพทย์เห็นภาพความผิดปกติของเนื้อเยื่อและอวัยวะต่าง ๆ ประกอบการวินิจฉัยได้ชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะความเสียหายที่เกิดขึ้นบริเวณสมองและไขสันหลัง
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (Electromyography) มักใช้เพื่อตรวจวินิจฉัยในผู้ป่วยที่สงสัยว่าเป็นโรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก (Bell's Palsy)

การรักษาอัมพาต

แพทย์จะวินิจฉัยและรักษาอาการอัมพาตตามสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ เพื่อให้อาการดีขึ้นและอาจกลับมาเป็นปกติได้ ส่วนในกรณีของผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตแบบถาวรนั้นอาจไม่สามารถรักษาได้ แต่แพทย์จะเน้นการดูแลให้ผู้ป่วยสามารถปรับตัวและใช้ชีวิตร่วมกับอาการอัมพาตต่อไปได้

ตัวอย่างการรักษาและดูแลผู้ป่วยที่มีอาการอัมพาต มีดังนี้

1. การใช้ยารักษาอาการปวดเส้นประสาท

ผู้ป่วยอัมพาตอาจมีอาการปวดเส้นประสาทในระยะยาว ซึ่งอาการปวดที่เกิดขึ้นมักไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาแก้ปวดทั่วไปอย่างยาพาราเซตามอลหรือยาไอบูโพรเฟน แพทย์จึงต้องทำการรักษาด้วยยาอะมิทริปไทลีน (Amitriptyline) หรือยาพรีกาบาลิน (Pregabalin) แทน

2. การใช้ยารักษาภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง

ผู้ป่วยอัมพาตมักมีปัญหากล้ามเนื้อชา เป็นตะคริว และหดเกร็งร่วมด้วย ซึ่งสามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาเหล่านี้

  • กลุ่มยาคลายกล้ามเนื้อ เช่น ยาบาโคลเฟน (Baclofen) ยาทิซานิดีน (Tizanidine) หรือยาแดนโทรลีน (Dantrolene)
  • การฉีดโบทอกซ์ ใช้เมื่อรักษาด้วยยาคลายกล้ามเนื้อแล้วไม่ได้ผล โดยอาจฉีดเฉพาะบริเวณที่กล้ามเนื้อชา ซึ่งยาจะช่วยคลายกล้ามเนื้อส่วนที่เกิดอาการชาหรือหดเกร็งตัว และจะเกิดประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อใช้ร่วมกับการทำกายภาพบำบัดและการฝึกยืดหยุ่นกล้ามเนื้อ
  • การให้ยาทางไขสันหลัง (Intrathecal Baclofen Therapy) แพทย์จะทำการผ่าตัดบริเวณด้านหลังของผู้ป่วย โดยเจาะที่ตำแหน่งโพรงไขสันหลังและใส่ท่อที่มียาคลายกล้ามเนื้อบาโคลเฟนจากเครื่องปั๊มยา เพื่อช่วยลดการหดเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ

3. การทำกายภาพบำบัด

การทำกายภาพบำบัดเป็นการฝึกการเคลื่อนไหวส่วนต่าง ๆ ของร่างกายด้วยวิธีการและแบบแผนที่ถูกต้องภายใต้การดูแลของนักกายภาพบำบัด เพื่อช่วยฟื้นฟูเส้นประสาทและกล้ามเนื้อให้สามารถกลับมาทำงานได้ตามปกติ และช่วยป้องกันการเจ็บป่วยที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต จากการที่ร่างกายขาดการเคลื่อนไหว 

4. การทำกิจกรรมบำบัด

การทำกิจกรรมบำบัดเป็นการฝึกให้ผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตนเองได้ ด้วยการฝึกทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น การแต่งกาย การไปซื้อของ และอาจปรับเปลี่ยนวิธีการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันให้ง่ายขึ้น หรือจัดเตรียมอุปกรณ์ช่วยเหลือ เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของผู้ป่วย

5. การผ่าตัดหรือการตัดอวัยวะ

แพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดเพื่อช่วยรักษาอาการที่เป็นสาเหตุของการเกิดอัมพาต หรือในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการบาดเจ็บรุนแรงและส่งผลให้เกิดอาการอัมพาต แพทย์อาจจำเป็นต้องตัดอวัยวะบางส่วนออก

6. การใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือในการเคลื่อนไหว

การใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือในการเคลื่อนไหว เช่น กายอุปกรณ์เสริมสำหรับมือและข้อมือ เพื่อช่วยในการหยิบจับสิ่งของ กายอุปกรณ์เสริมสำหรับเท้า ข้อเท้า และข้อเข่า เพื่อช่วยในการเดินหรือการเคลื่อนไหวร่างกาย รวมถึงรถเข็นวีลแชร์เพื่อช่วยในการเคลื่อนที่ จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น

7. การช่วยขับถ่ายของเสียออกจากร่างกาย

ผู้ป่วยอัมพาตที่เกิดจากการถูกกระทบกระเทือนบริเวณไขสันหลัง มักจะส่งผลต่อการทำงานของระบบขับถ่ายอุจจาระและปัสสาวะด้วย เนื่องจากเส้นประสาทที่ควบคุมการทำงานของลำไส้และกระเพาะปัสสาวะจะอยู่บริเวณปลายของไขสันหลัง ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถขับถ่ายของเสียออกจากร่างกายได้ตามปกติ จึงต้องใช้วิธีช่วยระบายของเสียออกจากร่างกาย ดังนี้

  • ฝึกควบคุมการขับถ่าย เป็นการช่วยขับของเสียออกจากลำไส้ด้วยการฝึกถ่ายอุจจาระให้เป็นเวลา
  • การสวนอุจจาระ เป็นการใช้ยาสวนเข้าไปทางทวารหนัก เพื่อช่วยในการขับถ่ายอุจจาระ
  • การต่อสายท่อปัสสาวะ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยระบายปัสสาวะที่ไม่สามารถควบคุมได้
  • การใส่ถุงอุจจาระ (Colostomy) เพื่อกำจัดอุจจาระออกจากร่างกายของผู้ป่วย โดยแพทย์จะผ่าตัดบริเวณลำไส้แล้วต่อกับถุงอุจจาระโดยตรง ซึ่งถุงจะอยู่ติดกับผนังหน้าท้องด้านนอกของผู้ป่วย 

8. การรักษาอาการไอลำบาก

ผู้ป่วยอัมพาตอาจมีอาการไอลำบากจากการที่กล้ามเนื้อไม่สามารถขยับได้อย่างเหมาะสม ซึ่งการไอจะช่วยกำจัดเสมหะเหนียวข้นที่ติดค้างอยู่ภายในระบบทางเดินหายใจ ทำให้หายใจได้สะดวกมากขึ้น แต่หากผู้ป่วยไม่สามารถไอได้ตามปกติ ก็จะเสี่ยงต่อการสะสมของเสมหะภายในปอด และนำไปสู่การติดเชื้อในปอดได้

แนวทางปฏิบัติที่จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถไอได้มากขึ้น เช่น

  • ขยับตัวลุกนั่งทุกวัน
  • พลิกตัวไปมาในขณะนอน
  • ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อช่วยให้เสมหะที่ข้นเหนียวเจือจางลง
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และการอยู่ใกล้ผู้ที่สูบบุหรี่
  • ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมค็อกคัส เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการป่วยที่อาจทำให้เกิดเสมหะสะสมในระบบทางเดินหายใจ

9. การใช้เครื่องช่วยหายใจ

ในผู้ป่วยบางรายที่กล้ามเนื้อบริเวณกะบังลมเป็นอัมพาต จะส่งผลให้หายใจเข้าออกลำบาก ทำให้ผู้ป่วยต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ เพื่อช่วยควบคุมอากาศและแรงดันภายในปอด ซึ่งเครื่องช่วยหายใจมี 2 ชนิด คือ

  • Negative Pressure Ventilator เป็นเครื่องที่จะสร้างภาวะสุญญากาศในปอด ทำให้ช่วงอกขยายออก เพื่อให้อากาศไหลเข้าสู่ปอดเอง
  • Positive Pressure Ventilator เป็นเครื่องที่จะส่งออกซิเจนเข้าไปยังปอดโดยตรงผ่านท่อช่วยหายใจ เพื่อช่วยในการหายใจ

แม้อาการอัมพาตในผู้ป่วยบางรายจะรักษาให้หายเป็นปกติได้ยาก แต่ผู้ป่วยสามารถอยู่ร่วมกับอาการอัมพาตได้ด้วยการใช้เครื่องมือหรือวิธีการต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น เพื่อดูแลประคับประคองและอำนวยความสะดวกให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ

ภาวะแทรกซ้อนของอัมพาต

ภาวะแทรกซ้อนที่สามารถเกิดขึ้นได้ในผู้ป่วยอัมพาต ได้แก่

ภาวะรีเฟล็กซ์ประสาทอัตโนมัติผิดปกติ (Autonomic Dysreflexia)

ภาวะนี้มักเกิดกับผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตบริเวณแขนขาทั้งสองข้าง เกิดจากการที่มีสิ่งเร้าไปรบกวนการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติซึ่งทำหน้าที่ควบคุมส่วนต่าง ๆ ภายในร่างกาย เช่น ความดันโลหิต การย่อยอาหาร และการหายใจ แต่ร่างกายไม่สามารถส่งสัญญาณไปยังสมองของผู้ป่วยอัมพาตได้ ทำให้มีการตอบสนองต่อสิ่งเร้าอย่างผิดปกติ เช่น ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจเต้นช้าลง

อาการที่เป็นสัญญาณของภาวะรีเฟล็กซ์ประสาทอัตโนมัติผิดปกติ เช่น ปวดศีรษะรุนแรง รู้สึกวิตกกังวล กระสับกระส่าย เหงื่อออกมาก ปัสสาวะลำบาก แน่นหน้าอก ขนลุก ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นช้าลงน้อยกว่า 60 ครั้ง/นาที ซึ่งอาจนำไปสู่การชักและมีเลือดออกในสมองจนถึงแก่ชีวิตได้

ปัญหาเพศสัมพันธ์และการเจริญพันธุ์

การเป็นอัมพาตอาจส่งผลกระทบต่อการมีเพศสัมพันธ์ได้ โดยผู้ป่วยเพศชายอาจมีปัญหาอวัยวะเพศไม่แข็งตัว ไม่สามารถหลั่งอสุจิได้ หรือมีภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ส่วนผู้ป่วยเพศหญิงอาจมีความต้องการทางเพศลดลง จึงอาจส่งผลกระทบต่อการมีเพศสัมพันธ์และการเจริญพันธุ์ได้ ผู้ป่วยจึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว

ภาวะซึมเศร้า

ภาวะซึมเศร้ามักเกิดขึ้นตามมาหลังจากที่ผู้ป่วยประสบเหตุที่ทำให้เกิดอาการอัมพาตอย่างกะทันหัน เนื่องจากผู้ป่วยอาจทำใจยอมรับสภาพร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปไม่ได้ ญาติหรือบุคคลใกล้ชิดจึงควรสังเกตอาการของผู้ป่วย หากพบว่าผู้ป่วยอยู่ในภาวะซึมเศร้า ควรช่วยดูแลประคับประคองทั้งทางร่างกายและจิตใจ เพื่อให้ผู้ป่วยมีกำลังใจและสามารถปรับตัวให้เข้ากับอาการของโรคได้

การป้องกันการเกิดอัมพาต

อาการอัมพาตอาจไม่มีแนวทางที่สามารถป้องกันได้อย่างแน่นอน เพราะเกิดจากสาเหตุที่แตกต่างกันออกไปในผู้ป่วยแต่ละคน อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยอัมพาตควรศึกษาและปฏิบัติตามแนวทางดังนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่อไปในอนาคต

การดูแลป้องกันการเกิดแผลกดทับ 

ผู้ป่วยอัมพาตมีความเสี่ยงในการเกิดแผลกดทับ เพราะการนั่งหรือนอนในท่าเดิมเป็นเวลานานจะทำให้เลือดนำออกซิเจนและสารอาหารไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ได้ไม่สะดวก จนเนื้อเยื่อได้รับความเสียหาย ผู้ป่วยจึงควรเปลี่ยนท่านั่งหรือท่านอนอยู่เสมอ โดยผู้ป่วยที่นั่งรถเข็นควรขยับตัวเปลี่ยนตำแหน่งทุก 15–30 นาที ส่วนผู้ป่วยที่นอนอยู่บนเตียงนาน ๆ ควรเปลี่ยนท่านอนทุก 2 ชั่วโมง

หากผู้ป่วยช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ผู้ดูแลหรือบุคคลใกล้ชิดควรช่วยผู้ป่วยในการพลิกตัวเปลี่ยนท่า และควรหมั่นสังเกตบริเวณผิวหนังของผู้ป่วย หากผิวหนังเกิดรอยแตกหรือมีแผลเปิดซึ่งเป็นสัญญาณของแผลกดทับเกิดขึ้น ควรไปปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับวิธีการดูแลแผลกดทับ

การออกกำลังกาย

การออกกำลังกายจะช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ช่วยฟื้นฟูการทำงานของอวัยวะและระบบต่าง ๆ ภายในร่างกาย และช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ โดยผู้ป่วยอัมพาตควรออกกำลังกายตามคำแนะนำของแพทย์หรือนักกายภาพบำบัด เพื่อให้สามารถฟื้นฟูกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม

นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจใช้อุปกรณ์กายภาพบำบัด (Functional Electrical Stimulation: FES) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยส่งกระแสไฟฟ้ากระตุ้นประสาทกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ เพื่อให้สามารถขยับเคลื่อนไหวได้บ้างเล็กน้อย