การดูแลแผลกดทับ ต้องทำอย่างไรบ้าง

แผลกดทับเป็นแผลที่เกิดขึ้นบนผิวหนังและเนื้อเยื่อจากการที่ผิวหนังได้รับแรงกดทับเป็นระยะเวลานาน โดยการดูแลแผลกดทับถือเป็นสิ่งสำคัญที่มีผลต่อสุขภาพผู้ป่วย เนื่องจากแผลกดทับถือเป็นอาการที่อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นภาวะพิษเหตุติดเชื้อ (Sepsis) เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ (Cellulitis) และมะเร็งบางชนิด

แผลกดทับมักพบได้ในผู้ป่วยที่ต้องนั่งวีลแชร์เป็นระยะเวลานาน หรือผู้ป่วยติดเตียง เช่น ผู้ป่วยอัมพาต หรือผู้ที่เกิดการบาดเจ็บบริเวณไขสันหลัง เนื่องจากผู้ป่วยต้องอยู่ท่าเดิมเป็นระยะเวลานาน ทำให้ผิวหนังได้รับแรงกดทับจนเลือดอาจไหลเวียนไปเลี้ยงได้น้อยลง ซึ่งอาจส่งผลให้ผิวหนังตายและเกิดแผลกดทับตามมา 

การดูแลแผลกดทับ ต้องทำอย่างไรบ้าง

โดยบริเวณที่พบแผลกดทับได้บ่อยจะเป็นผิวหนังบริเวณที่หุ้มปุ่มกระดูกต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ข้อเท้า ส้นเท้า สะโพก และก้นกบ

ลักษณะอาการของแผลกดทับ ข้อควรรู้ก่อนเริ่มการดูแลแผลกดทับ

ก่อนจะเริ่มการดูแลแผลกดทับ ควรเข้าใจก่อนว่าแผลกดทับสามารถแบ่งอย่างคร่าว ๆ ได้เป็น 4 ระดับ ขึ้นอยู่กับความรุนแรง ดังนี้

  • ระดับที่ 1 เกิดรอยแดงซึ่งจะส่งผลให้รู้สึกเจ็บเมื่อถูกกด โดยรอยแดงนี้จะไม่จางหายไปเมื่อใช้นิ้วมือกด
  • ระดับที่ 2 พบตุ่มใสหรือรอยแผลบนผิวหนัง โดยมักมีอาการเจ็บ ระคายเคือง และแดงร่วมด้วย
  • ระดับที่ 3 พบรอยแผลที่เริ่มลึกจนอาจเห็นชั้นไขมันใต้ผิวหนัง
  • ระดับที่ 4 แผลจะลึกขึ้นจนอาจเห็นชั้นกล้ามเนื้อ กระดูก และเส้นเอ็น

โดยผู้ป่วยที่มีแผลกดทับในระดับที่ 1 และ 2 อาจมีอาการดีขึ้นและหายได้หากได้รับการดูแลแผลกดทับที่เหมาะสม แต่ผู้ป่วยที่มีแผลกดทับในระดับที่ 3 และ 4 ควรได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง

หลักในการดูแลแผลกดทับ 

สิ่งหลัก ๆ ที่ควรทำในการดูแลแผลกดทับคือ การลดแรงกดทับและการดูแลความสะอาดของแผล แต่ด้วยความที่แผลกดทับมักพบได้ในผู้ป่วยติดเตียงหรือผู้ที่ต้องนั่งวีลแชร์เป็นระยะเวลานาน ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยดูแลตัวเองได้ยาก การดูแลแผลกดทับจึงจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากบุคคลใกล้ชิดร่วมด้วย โดยมีวิธีการปฏิบัติดังต่อไปนี้

การลดแรงกดทับ

สำหรับผู้ที่ต้องนั่งวีลแชร์เป็นระยะเวลานาน ควรปรับอิริยาบถบ่อย ๆ หรือประมาณทุก 15 นาทีหากเป็นไปได้ โดยให้เอียงตัวไปทางซ้าย ทางขวา โน้มตัวไปข้างหน้า และอาจพยายามใช้แขนยันที่วางแขนเพื่อยกตัวเองขึ้นจากเบาะ สลับกันไปให้ได้ท่าละประมาณ 10–20 วินาที

ส่วนผู้ที่ต้องนอนติดเตียงเป็นระยะเวลานาน ผู้ที่ดูแลควรช่วยผู้ป่วยเปลี่ยนท่าทางอย่างน้อยทุก 2 ชั่วโมง และให้ปรับยกหัวเตียง หรืออาจจะใช้หมอนหนุนหลัง เพื่อยกบริเวณศีรษะผู้ป่วยให้ได้ประมาณไม่เกิน 30 องศา รวมถึงให้สอดหมอนไว้ใต้เข่าผู้ป่วยขณะนอนหงาย เพื่อป้องกันผิวหนังบริเวณส้นเท้าได้รับแรงกดทับ

นอกจากนี้ ควรให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงท่านอนที่ทำให้สะโพกรับน้ำหนักโดยตรง โดยอาจจะจัดท่านอนให้เป็นท่านอนตะแคงกึ่งหงาย และสอดหมอนไว้ระหว่างหัวเข่า เพื่อป้องกันผิวหนังบริเวณเข่าจากการได้รับแรงกด

ใช้อุปกรณ์ช่วยรองรับน้ำหนัก

การใช้อุปกรณ์หรือเบาะเสริมเพื่อช่วยรองรับน้ำหนักขณะนั่งหรือนอนก็ถือเป็นวิธีที่สามารถใช้ได้ แต่ควรให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงการใช้เบาะที่มีรูปร่างเป็นวงคล้ายโดนัท เนื่องจากเบาะในลักษณะนี้จะส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงร่างกายบริเวณที่ใช้หมอนรองได้น้อยลงจนอาจนำไปสู่การเกิดแผลกดทับได้

ดังนั้น ผู้ป่วยแผลกดทับที่ต้องการใช้อุปกรณ์หรือเบาะเสริมควรปรึกษาแพทย์ก่อน เพื่อให้แพทย์ช่วยประเมินและเลือกอุปกรณ์ที่เหมาะสมและปลอดภัยต่อผู้ป่วย

การดูแลความสะอาดแผลกดทับ

ในขั้นตอนแรกของการดูแลความสะอาดแผลกดทับ ให้สังเกตความรุนแรงของแผลดูก่อนว่าลักษณะแผลเป็นอย่างไร หากพบว่าแผลกดทับของผู้ป่วยมีเพียงอาการรอยแดง กดเจ็บ และยังไม่มีแผลเปิด ให้รักษาความสะอาดโดยการใช้สบู่และน้ำสะอาดทำความสะอาดทุกวัน และเช็ดแผลให้แห้งสนิทเสมอ

ส่วนกรณีที่แผลกดทับเริ่มเปิด ให้ทำความสะอาดโดยการใช้น้ำเกลือล้างแผล หรือใช้ผลิตภัณฑ์ตามคำแนะนำของแพทย์ และเช็ดบริเวณแผลให้แห้ง จากนั้นใช้อุปกรณ์ปกปิดแผลเพื่อรักษาความชุ่มชื้นและป้องกันการติดเชื้อ โดยให้ทำความสะอาดทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนอุปกรณ์ปกปิดแผล 

ทั้งนี้ อุปกรณ์ปกปิดแผลจะมีอยู่หลายชนิด เช่น แบบเจล แบบแผ่นใส หรือผ้าพันแผล โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาชนิดของอุปกรณ์ปกปิดแผลที่เหมาะสมต่อผู้ป่วยแต่ละคน ซึ่งผู้ป่วยควรปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยต่อร่างกาย

ควรระวังไม่ให้ผู้ที่มีแผลกดทับใช้ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่มีไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (Hydrogen Peroxide) และไอโอดีนเป็นส่วนผสม เนื่องจากสารเหล่านี้อาจส่งผลให้แผลกดทับของผู้ป่วยยิ่งมีอาการแย่ลงได้

นอกจากการดูแลแผลกดทับในข้างต้นแล้ว ผู้ป่วยแผลกดทับควรได้รับการดูแลด้วยวิธีอื่นควบคู่ไปด้วย เช่น นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการนวดหรือการกดทับผิวหนังบริเวณที่เกิดแผล รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารที่มีโปรตีนและวิตามินซี เนื่องจากอาหารในกลุ่มนี้อาจมีส่วนช่วยให้แผลสมานตัวได้ไวขึ้น

ผู้ที่ดูแลผู้ป่วยควรช่วยสังเกตผิวหนังของผู้ป่วยทุกวัน และแจ้งให้แพทย์ทราบหากพบรอยแผลกดทับใหม่ หากแผลไม่ดีขึ้นใน 1–2 วัน หรือมีอาการบางอย่าง เช่น มีไข้ สีแผลเปลี่ยนไป รู้สึกร้อนที่แผล แผลมีกลิ่นเหม็น หรือแผลบวมและเจ็บ ควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบเนื่องจากแผลกดทับอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้