แผลรถล้ม วิธีดูแลแผลและสัญญาณที่ควรไปพบแพทย์

แผลรถล้ม หรือแผลที่เกิดจากการที่ผิวหนังได้รับการขูดหรือเสียดสีจากพื้นผิวใด ๆ ที่มีลักษณะแข็งอย่างรวดเร็วและรุนแรง โดยการเรียนรู้วิธีจัดการกับแผลรถล้มเบื้องต้นเอาไว้ถือเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง อย่างผู้ที่ใช้จักรยานยนต์เป็นประจำ เนื่องจากหากไม่ได้รับการดูแลที่ถูกต้อง แผลที่เกิดขึ้นอาจกลายเป็นแผลเป็นได้

นอกจากอาการเจ็บ แสบร้อน และเสี่ยงต่อการเกิดแผลเป็นแล้ว แผลรถล้มยังอาจส่งผลให้ผู้ที่เกิดแผลเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคต่าง ๆ ที่อาจนำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ ตามมา ซึ่งการดูแลแผลรถล้มที่ถูกต้องอาจช่วยป้องกันหรือลดความเสี่ยงดังกล่าวได้ ในบทความนี้จึงได้รวบรวมวิธีดูแลตัวเองจากแผลรถล้ม และสัญญาณที่ควรไปพบแพทย์มาให้ทุกคนได้ศึกษากัน

แผลรถล้ม วิธีดูแลแผลและสัญญาณที่ควรไปพบแพทย์

วิธีดูแลแผลรถล้ม

ในกรณีที่แผลรถล้มไม่รุนแรง หรือมีเพียงแผลถลอกและฟกช้ำเล็กน้อย ผู้ที่มีแผลรถล้มควรทำตามวิธีดังต่อไปนี้

  • ล้างมือให้สะอาด เพื่อกำจัดเชื้อโรคหรือสิ่งสกปรกต่าง ๆ ที่อาจปนเปื้อนมืออยู่
  • ล้างแผลให้สะอาดด้วยน้ำเปล่าที่สะอาดหรือน้ำเกลือสำเร็จรูป โดยหากพบว่าแผลรถล้มมีเศษดินหรือสิ่งสกปรกใด ๆ ติดอยู่ ให้พยายามนำออกเบา ๆ หรืออาจใช้แหนบช่วย แต่ควรหลีกเลี่ยงการขัดถูแผล เพื่อไม่ให้การบาดเจ็บยิ่งรุนแรงขึ้น
  • ทายาปฏิชีวนะ เช่น ยาโพวิโดน–ไอโอดีน (Povidone Iodine) เพื่อป้องกันแผลจากเชื้อแบคทีเรียต่าง ๆ รวมถึงทาปิโตรเลียมเจลลี่เพื่อช่วยให้แผลชุ่มชื้นและป้องกันอาการคัน
  • ใช้ผ้าก๊อซสะอาดปิดแผล เพื่อป้องกันแผลจากสิ่งสกปรกและเชื้อโรคต่าง ๆ โดยให้เปลี่ยนผ้าก๊อซอย่างน้อยวันละ 1–2 ครั้ง โดยเฉพาะเมื่อผ้าก๊อซเปียกหรือสัมผัสสิ่งสกปรกใด ๆ ทั้งนี้ หากขณะที่แกะผ้าก๊อซแล้วพบว่าเศษผ้าก๊อซติดแผล อาจใช้น้ำเกลือเทที่ผ้าก๊อซขณะแกะเพื่อลดอาการเจ็บ

นอกจากนี้ หากรู้สึกเจ็บหรือปวดแผล ผู้ที่มีแผลรถล้มสามารถรับประทานยาอะเซตามีโนเฟน (Acetaminophen) หรือไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เพื่อบรรเทาอาการได้ 

แผลรถล้ม แผลแบบไหนที่ควรไปพบแพทย์

อย่างที่ได้กล่าวไป ขั้นตอนการดูแลแผลรถล้มในข้างต้นเป็นเพียงวิธีดูแลแผลเฉพาะในกรณีที่แผลไม่รุนแรง หรือมีเพียงอาการถลอกและฟกช้ำเล็กน้อยเท่านั้น ดังนั้น ผู้ที่มีแผลรถล้มควรรีบไปพบแพทย์ทันที หากลักษณะแผลเข้าข่ายดังต่อไปนี้

  • แผลรถล้มมีขนาดใหญ่มาก เช่น เกิดแผลเกือบทั่วทั้งแขน ขา หรือมีแผลหลายส่วนของร่างกาย
  • แผลมีเลือดออกมาก
  • มีหนองหรือของเหลวไหลออกจากแผล
  • บริเวณแผลมีวัตถุขนาดใหญ่ทิ่ม เช่น เศษหิน หรือเศษแก้ว
  • แผลลึกมาก หรือแผลเปิดจนเห็นกระดูก

นอกจากนี้ แม้ในกรณีที่แผลรถล้มไม่รุนแรง หากลองทำตามวิธีที่กล่าวไปแล้วแต่แผลยังไม่ดีขึ้นใน 1–2 สัปดาห์ ผู้ที่มีแผลควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและการรักษาที่เหมาะสมทันที โดยเฉพาะเมื่อมีอาการอื่น ๆ เกิดขึ้นร่วมด้วย เช่น รู้สึกเจ็บรุนแรง แผลแดงผิดปกติ มีหนองหรือของเหลวไหลออกมาจากแผล หรือมีไข้ขึ้น