ภาวะน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด (Pleural Effusion)

ความหมาย ภาวะน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด (Pleural Effusion)

Pleural Effusion หรือ ภาวะน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด คือภาวะที่มีของเหลวปริมาณมากเกินปกติในพื้นที่ระหว่างเยื่อหุ้มปอดและเยื่อหุ้มช่องอก โดยปริมาณน้ำที่มากขึ้นจะไปกดทับปอด ส่งผลให้ปอดขยายตัวได้ไม่เต็มที่ ผู้ป่วยภาวะนี้มีอาการโดยทั่วไปคือ ไอ เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก หรือรู้สึกเจ็บขณะหายใจ

Pleural Effusion

โดยปกติภายในช่องว่างระหว่างเยื่อหุ้มปอดและเยื่อหุ้มช่องอกจะมีของเหลวอยู่ในปริมาณเล็กน้อย เพื่อป้องกันไม่ให้ปอดเสียดสีกับช่องอกขณะเกิดการขยายตัวในกระบวนการหายใจ แต่หากของเหลวนี้มีปริมาณมากเกินปกติจะทำให้เกิด Pleural Effusion ซึ่งภาวะนี้สามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิดหลัก ๆ ตามสาเหตุที่ของเหลวเพิ่มปริมาณขึ้น ได้แก่

  • ของเหลวแบบใส (Transudate) เกิดจากแรงดันภายในหลอดเลือดที่มากขึ้นหรือโปรตีนในเลือดมีค่าต่ำ ทำให้ของเหลวรั่วไหลเข้ามาในช่องเยื่อหุ้มปอด ซึ่งมักพบในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว
  • ของเหลวแบบขุ่น (Exudate) ส่วนใหญ่เกิดจากการอักเสบ มะเร็ง หลอดเลือดหรือท่อน้ำเหลืองอุดตัน มักมีอาการที่รุนแรงและรักษาได้ยากกว่าภาวะ Pleural Effusion ชนิดของเหลวแบบใส

อาการของภาวะน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด

อาการทั่วไปของภาวะน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด ได้แก่

  • หอบ หายใจถี่ หายใจลำบากเมื่อนอนราบ หรือหายใจเข้าลึก ๆ ลำบาก เนื่องจากของเหลวในช่องเยื่อหุ้มปอดไปกดทับปอด ทำให้ปอดขยายตัวได้ไม่เต็มที่
  • ไอแห้งและมีไข้ เนื่องจากปอดติดเชื้อ
  • สะอึกอย่างต่อเนื่อง
  • เจ็บหน้าอก

ทั้งนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจไม่แสดงอาการบ่งชี้ถึงความผิดปกติ แต่พบว่ามีภาวะน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอดจากการตรวจเอกซเรย์หรือตรวจร่างกายได้

สาเหตุของภาวะน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด

Pleural Effusion ทั้ง 2 ชนิดมักเกิดจากสาเหตุที่ต่างกัน ดังนี้

สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดของเหลวแบบใส

  • ภาวะหัวใจล้มเหลว เป็นภาวะที่ส่งผลให้เกิดความดันต้านกลับในหลอดเลือดดำ มักทำให้เกิดอาการบวมจากของเหลวบริเวณขาและอาจมีภาวะน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอดร่วมด้วย
  • โรคตับแข็ง โรคที่เนื้อเยื่อตับปกติค่อย ๆ ถูกแทนที่ด้วยพังผืดแผลเป็น (Scar Tissue) จากการอักเสบ โดยพังผืดนี้จะไปขัดขวางการทำงานของตับในการกรองของเสียหรือขับสารพิษ รวมถึงการผลิตสารอาหาร ฮอร์โมน และโปรตีนในเลือด ซึ่งระดับโปรตีนในเลือดที่ต่ำนั้นจะส่งผลให้มีของเหลวซึมออกมานอกหลอดเลือดและอาจทำให้เกิดภาวะ Pleural Effusion ตามมา
  • โรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด เกิดขึ้นเมื่อลิ่มเลือดจากอวัยวะต่าง ๆ (ส่วนใหญ่มักมาจากบริเวณขา) ไหลมาอุดกั้นหลอดเลือดแดงที่นำเลือดเข้าสู่ปอด (Pulmonary Artery) ทำให้รู้สึกเจ็บหน้าอก ไอ หายใจถี่ บางครั้งมีภาวะ Pleural Effusion และอาจรุนแรงถึงชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ซึ่งนอกจากภาวะนี้จะก่อให้เกิดของเหลวแบบใสแล้ว ยังก่อให้เกิดของเหลวแบบขุ่นได้เช่นกัน
  • หลังการผ่าตัดหัวใจแบบเปิด หลังการเปิดช่องอกเพื่อผ่าตัดกล้ามเนื้อหัวใจ ลิ้นหัวใจ หรือหลอดเลือดแดงภายในหัวใจ ผู้เข้ารับการผ่าตัดอาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะหัวใจตายเฉียบพลัน หัวใจเต้นผิดจังหวะ ระบบทางเดินหายใจหรือไตล้มเหลว เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก มีภาวะ Pleural Effusion เป็นต้น

สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดของเหลวแบบขุ่น

  • โรคปอดบวมหรือโรคมะเร็ง อาจส่งผลให้ปอดและเยื่อหุ้มปอดอักเสบ จนเกิดของเหลวภายในช่องเยื่อหุ้มปอดตามมา
  • ไตวาย เกิดจากหน่วยไตได้รับความเสียหาย ทำให้ไม่สามารถกรองเลือดและขับน้ำปัสสาวะได้ตามปกติ ซึ่งอาจเป็นภาวะไตวายเฉียบพลันจากการบาดเจ็บ ได้รับสารพิษ หรือภาวะไตวายเรื้อรังจากโรคความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวาน ผู้ป่วยไตวายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนโดยมีอาการเจ็บหน้าอก มีภาวะ Pleural Effusion กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือไตถูกทำลายอย่างถาวรได้
  • อาการอักเสบ อาจเป็นการอักเสบที่ปอดตั้งแต่แรกหรือการอักเสบจากอวัยวะอื่นแล้วส่งผลให้ปอดอักเสบ จนเกิดของเหลวในช่องเยื่อหุ้มปอดตามมา เช่น การอักเสบจากโรคข้ออักเสบ โรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE) เป็นต้น
  • สาเหตุอื่น ๆ โรคหรือภาวะที่นอกเหนือจากข้างต้นอาจก่อให้เกิด Pleural Effusion ได้เช่นกัน แต่พบไม่มากนัก เช่น วัณโรค โรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง เลือดคั่งในทรวงอก ภาวะน้ำเหลืองคั่งในช่องปอด (Chylothorax) รวมถึงผู้ที่ต้องสูดดมแร่ใยหินเป็นประจำ

การวินิจฉัยภาวะน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด

การวินิจฉัยภาวะนี้ทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการสอบถามประวัติทางการแพทย์ การตรวจร่างกาย การเอกซเรย์ หรือการตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติม มีรายละเอียดดังนี้

  • การสอบถามประวัติทางการแพทย์และการตรวจร่างกาย ผู้ที่เคยมีภาวะหัวใจล้มเหลว หรือเคยเป็นโรคตับแข็ง ร่วมกับมีอาการบ่งชี้ เช่น เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก ไอแห้ง หรือตรวจร่างกายแล้วพบความผิดปกติที่ระบบหายใจ อาจคาดการณ์ได้ว่ามีภาวะ Pleural Effusion
  • การเอกซเรย์ เป็นวิธีวินิจฉัยที่ให้ผลการตรวจชัดเจน เนื่องจากจะช่วยให้เห็นลักษณะปอด รวมถึงของเหลวภายในช่องเยื่อหุ้มปอดได้
  • เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computerized Tomography: CT Scan) อาจนำมาใช้ตรวจเพื่อหาสาเหตุของภาวะน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอดที่เป็นไปได้เพิ่มเติม
  • อัลตราซาวด์ (Ultrasound) เป็นการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงแสดงภาพอวัยวะภายในร่างกาย ซึ่งจะแสดงภาพส่วนของเนื้อเยื่ออ่อน (Soft Tissue) ทารกที่อยู่ในครรภ์ ภาวะเส้นเลือดอุดตัน การอัลตราซาวด์อกจึงเป็นอีกหนึ่งวิธีวินิจฉัยภาวะน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด
  • การวิเคราะห์ของเหลวภายในช่องเยื่อหุ้มปอด (Pleural Fluid Analysis) สามารถทำได้หลายวิธี แต่ส่วนใหญ่แพทย์มักใช้การเจาะโพรงเยื่อหุ้มปอดหรือสอดท่อขนาดเล็กเข้าไปในปอดเพื่อระบายของเหลวออกมา แล้วนำของเหลวดังกล่าวไปตรวจสอบ

การรักษาภาวะน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด

วิธีการรักษาภาวะนี้ขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของอาการ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะได้รับการรักษาด้วยการระบายของเหลวออกจากช่องเยื่อหุ้มปอดเป็นอันดับแรก

  • การระบายของเหลวออกจากช่องเยื่อหุ้มปอด แพทย์จะเปิดรอยแผลขนาดเล็กและสอดท่อเข้าไปในช่องเยื่อหุ้มปอด เพื่อระบายของเหลวออกภายนอกร่างกาย ทั้งนี้ ผู้ป่วยอาจต้องรับการรักษาซ้ำ หากพบว่ามีปริมาณของเหลวเพิ่มขึ้นอีก
  • Pleurodesis คือวิธีการรักษาโดยใช้สารบางชนิดเชื่อมเยื่อหุ้มปอดและเยื่อหุ้มช่องอกให้ติดกัน ซึ่งจะทำหลังจากระบายของเหลวออกนอกร่างกายเรียบร้อยแล้ว เพื่อลดช่องว่างและป้องกันการสะสมของของเหลวภายในปอด ส่วนใหญ่วิธีนี้มักนำมาใช้กับผู้ป่วยมะเร็งที่มีภาวะ Pleural Effusion ร่วมด้วย
  • การผ่าตัด วิธีนี้มักใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง โดยแพทย์จะสอดท่อเข้าไปในช่องอกเพื่อบังคับทิศทางให้ของเหลวไหลจากบริเวณปอดออกสู่ช่องท้อง ซึ่งเป็นจุดที่ร่างกายระบายของเหลวได้ง่ายกว่า หรือในกรณีที่มีอาการรุนแรง แพทย์อาจตัดเยื่อหุ้มปอดบางส่วนทิ้ง วิธีนี้เรียกว่า Pleurectomy

ภาวะแทรกซ้อนของภาวะน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด

ผู้ป่วยเกิดภาวะ Pleural Effusion หากปล่อยไว้และไม่รีบรักษา อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ ดังนี้

  • แผลเป็นที่ปอด (Lung Scarring) อาการบาดเจ็บที่เยื่อหุ้มปอดอาจทำให้เยื่อหุ้มปอดเกิดแผลเป็นและมีรูปร่างหนาขึ้น ซึ่งหากเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อยจะไม่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย อย่างไรก็ตาม แผลเป็นที่มีขนาดใหญ่จนทำให้ร่างกายเกิดความผิดปกตินั้นจำเป็นต้องรักษา และหากมีอาการรุนแรงมาก แพทย์อาจแนะนำให้ผ่าตัดเปลี่ยนปอด
  • ภาวะหนองในช่องเยื่อหุ้มปอด (Empyema) เป็นภาวะที่มีหนองขึ้นภายในช่องว่างระหว่างเยื่อหุ้มปอดและเยื่อหุ้มช่องอก
  • ภาวะลมในช่องเยื่อหุ้มปอด (Pneumothorax) ภาวะที่อากาศรั่วเข้าไปในช่องว่างระหว่างเยื่อหุ้มปอดและเยื่อหุ้มช่องอก อาจเกิดขึ้นภายหลังจากการทำหัตถการระบายของเหลวออกจากช่องเยื่อหุ้มปอด ซึ่งจะส่งผลให้ปอดขยายตัวได้ไม่เต็มที่
  • ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (Blood Infection) ผู้ป่วยที่เกิดการติดเชื้อที่ปอด เชื้อแบคทีเรียจากปอดอาจซึมเข้าสู่กระแสเลือดและแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ ภายในร่างกาย ซึ่งภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดนี้อาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที  

การป้องกันภาวะน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด

ภาวะ Pleural Effusion ป้องกันได้ด้วยการรีบรักษาโรคหรือความผิดปกติที่อาจเป็นสาเหตุของการเกิดของเหลวในช่องเยื่อหุ้มอก หรือเข้ารับการเชื่อมเยื่อหุ้มปอดเพื่อลดช่องว่างระหว่างเยื่อหุ้มปอดและเยื่อหุ้มช่องอก นอกจากนี้ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางประการ เช่น งดสูบบุหรี่ ยังช่วยลดปัจจัยเสี่ยงต่อโรคมะเร็งและโรคหัวใจ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่อาจทำให้เกิดภาวะ Pleural Effusion ตามมา