วิตามิน ซี (Vitamin C)
วิตามิน ซี (Vitamin C) หรือกรดแอสคอร์บิก (Ascorbic Acid) คือ วิตามินที่ร่างกายต้องการเพื่อนำไปสร้างคอลลาเจน ซึ่งเป็นสารที่ช่วยในการซ่อมแซมส่วนต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น กระดูก ฟัน และผิวหนัง นอกจากนี้ วิตามินซียังมีส่วนช่วยในการสมานแผล รักษาสุขภาพของเนื้อเยื่อต่าง ๆ รวมถึงเป็นตัวช่วยในการปกป้องเซลล์ในร่างกายอีกด้วย
นอกจากวิตามินซีจะพบมากในผักและผลไม้แล้ว ยังมีวิตามินซีในรูปผลิตภัณฑ์อาหารเสริมด้วยเช่นกัน โดยจุดประสงค์หลัก ๆ ของการรับประทานวิตามินซีเป็นอาหารเสริมคือ การป้องกันและรักษาการขาดวิตามินซี หรือรักษาระดับของวิตามินซีในร่างกาย เนื่องจากหากร่างกายขาดวิตามินซี ร่างกายจะเริ่มเกิดอาการผิดปกติต่าง ๆ ตามมา เช่น เลือดออกตามไรฟัน
เกี่ยวกับวิตามิน ซี
กลุ่มยา | วิตามิน |
ประเภทยา | ยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่หาซื้อได้เอง |
สรรพคุณ | ป้องกันการขาดและรักษาระดับวิตามินซีในร่างกาย |
กลุ่มผู้ป่วย | เด็กและผู้ใหญ่ |
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร | Category C จากการศึกษาในสัตว์พบว่า ทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์ หรือไม่มีข้อมูลเพียงพอในการศึกษาทดลองในมนุษย์และสัตว์ ควรใช้ยาเมื่อพิจารณาแล้วว่า มีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อทารกในครรภ์ |
รูปแบบของยา | ยารับประทานชนิดเม็ด |
คำเตือนในการใช้วิตามิน ซี
เพื่อความปลอดภัยในการรับประทานวิตามิน ซี ผู้รับประทานควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้
- ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ก่อน
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว มีปัญหาทางด้านสุขภาพ หรือต้องเข้ารับการตรวจต่าง ๆ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อน
- ในกรณีที่เกิดอาการแพ้หรือรับประทานในปริมาณที่มากเกินไป ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
ปริมาณการใช้วิตามิน ซี
ปริมาณในการรับประทานวิตามิน ซี จะแตกต่างกันไปในแต่ละคน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงในการขาดวิตามิน ซี และดุลยพินิจของแพทย์ โดยปกติแล้ว ผู้รับประทานวิตามิน ซี ควรบริโภคไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม/วัน หรือ 1,000 มิลลิกรัม/วัน สำหรับผู้ที่เสี่ยงเป็นโรคไต เพื่อป้องกันการเกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์
การใช้วิตามิน ซี
ผู้ที่รับประทานวิตามิน ซี ควรบริโภคตามรายละเอียดบนฉลากและตามคำแนะนำของแพทย์ โดยไม่รับประทานเกินกว่าปริมาณที่กำหนดเพื่อป้องกันผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น โดยปกติจะรับประทานในช่วงหลังมื้ออาหาร วันละประมาณ 1–4 ครั้ง ขึ้นกับข้อบ่งใช้
สำหรับผู้ที่ลืมรับประทานในมื้อนั้น ๆ หากนึกขึ้นได้ให้รีบรับประทานในทันที แต่หากเห็นว่าห่างมานานแล้วให้ข้ามไปรับประทานในมื้อถัดไปได้เลย โดยไม่ต้องเพิ่มปริมาณการรับประทานในมื้อถัดไปเพื่อทดแทนมื้อที่ลืมรับประทาน
ปฏิกิริยาระหว่างวิตามิน ซีกับยาอื่น
ผู้ที่รับประทานยาในกลุ่มดังต่อไปนี้ ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบก่อน
- ยาที่มีส่วนผสมของธาตุเหล็ก
- ยาที่มีส่วนผสมของสารอะลูมิเนียม เช่น ยาลดกรด
- ยาแอสไพริน (Aspirin)
- ยาที่มีส่วนผสมของฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) เช่น ยาคุมกำเนิดบางชนิด
- ยาชนิดอื่น ๆ เช่น ยารักษาโรคมะเร็งบางชนิด ยาฟลูเฟนนาซีน (Fluphenazine) ยาวาฟาริน (Warfarin) ยาอินดินาเวียร์ (Indinavir) ยาเลโวไทรอกซิน (Levothyroxine) และไนอะซิน (Niacin)
นอกจากยาที่ได้กล่าวไป ยังอาจมียาชนิดอื่นที่อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของทั้งตัวยาและวิตามิน ซีได้เช่นกัน ผู้ที่กำลังใช้ยาชนิดใด ๆ อยู่ รวมถึงผลิตภัณฑ์สมุนไพรและผลิตภัณฑ์อาหารเสริมต่าง ๆ ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบก่อน
ผลข้างเคียงของวิตามิน ซี
หากรับประทานในปริมาณที่แนะนำ วิตามิน ซี มักไม่ส่งผลให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย แต่การบริโภควิตามิน ซี ในปริมาณมากติดต่อกันยาวนานจะทำให้เพิ่มโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดนิ่วในไตได้ และยังสามารถเกิดอาการต่าง ๆ ได้ดังต่อไปนี้
- มีอาการแสบร้อนกลางอก
- คลื่นไส้อาเจียน
- ท้องร่วง ท้องเสีย ปวดท้อง
เพื่อป้องกันอันตรายและผลข้างเคียงจากการบริโภควิตามิน ซี ในปริมาณที่มากเกินไป ควรรับประทานวิตามินซีในปริมาณที่แพทย์หรือเภสัชกรแนะนำ
นอกจากนั้น ควรตรวจสอบและกะปริมาณอาหารที่รับประทานในแต่ละวันร่วมด้วย เพื่อหลีกเลี่ยงการบริโภคที่มากเกินไป เนื่องจากอาหารหลายชนิดก็ถือเป็นแหล่งของวิตามิน ซี เช่น ส้ม มะเขือเทศ สตรอว์เบอร์รี สับปะรด มะละกอ ฝรั่ง บร็อคโคลี่ และดอกกะหล่ำ โดยผู้ที่มีสุขภาพปกติ ปริมาณที่เหมาะสมจะอยู่ที่ประมาณ 80 มิลลิกรัม/วัน สำหรับผู้ชาย และ 70 มิลลิกรัม/วัน สำหรับผู้หญิง