ผลไม้สีแดง แหล่งของสารอาหารดี ๆ และข้อควรรู้ก่อนรับประทาน

ผลไม้สีแดงถือเป็นกลุ่มผลไม้ที่พบได้บ่อยในเมนูอาหารหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นอาหารคาวหรืออาหารหวาน โดยนอกจากสีแดงที่เด่นชัดแล้ว ผลไม้ในกลุ่มนี้ยังมีจุดเด่นในด้านสารอาหารดี ๆ ที่อาจมีส่วนช่วยให้สุขภาพร่างกายโดยรวมของผู้รับประทานแข็งแรงได้อีกด้วย

สีแดงของผลไม้กลุ่มนี้ ไม่ว่าจะเป็นมะเขือเทศ สตรอว์เบอร์รี เชอรี หรือแตงโม เป็นผลมาจากสารในกลุ่มไฟโตนิวเทรียนท์ (Phytonutrients) ซึ่งเป็นสารที่พบได้เฉพาะในพืชผักผลไม้ โดยสารในกลุ่มนี้ก็จะสามารถแยกออกได้เป็นหลายชนิด และแต่ละชนิดก็จะให้สี รสชาติ กลิ่น และประโยชน์ที่แตกต่างกันไป

ผลไม้สีแดง แหล่งของสารอาหารดี ๆ และข้อควรรู้ก่อนรับประทาน

ประโยชน์ของผลไม้สีแดง

สารในกลุ่มไฟโตนิวเทรียนท์หลัก ๆ ที่มักพบได้มากในผลไม้สีแดงจะมีอยู่ 2 ชนิด ได้แก่  

1. สารไลโคปีน

สารไลโคปีน (Lycopene)จะเป็นสารที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มแคโรทีนอยด์ โดยประโยชน์เด่น ๆ ของสารชนิดนี้ก็คือ การมีส่วนช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ (Free Radical) ซึ่งเป็นสารที่อาจเพิ่มความเสี่ยงให้ร่างกายเกิดโรคหรือภาวะผิดปกติรุนแรงได้มากมาย เช่น เบาหวาน หรือโรคหัวใจ 

นอกจากนี้ สารไลโคปีนยังอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งบางชนิดได้อีกด้วย โดยเฉพาะโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก อีกทั้งยังอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตในผู้ป่วยโรคหัวใจ และอาจมีส่วนช่วยป้องกันผิวหนังจากการถูกรังสียูวีในแสงแดดทำร้ายอีกด้วย

2. สารแอนโทไซยานิน

สารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ถูกจัดอยู่ในกลุ่มฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) โดยมีประโยชน์หลัก ๆ คือการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) รวมถึงอาจมีส่วนช่วยชะลอการเสื่อมของเซลล์ อาจช่วยควบคุมความดันโลหิต อาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดการอุดตันในหลอดเลือด อาจช่วยบรรเทาการอักเสบในร่างกาย และอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเบาหวานชนิดที่ 2 

ข้อควรทราบก่อนรับประทานผลไม้สีแดง

โดยทั่วไปแล้ว ผลไม้สีแดงเป็นกลุ่มผลไม้ที่ค่อนข้างปลอดภัยและไม่ส่งผลข้างเคียงใด ๆ จากการรับประทาน แต่ในกรณีที่พบได้น้อย อย่างคนที่รับประทานผลไม้สีแดงในปริมาณมาก ๆ ก็อาจพบอาการผิวหนังมีสีออกส้มได้ชั่วคราวเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากไลโคปีนอาจส่งผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ได้ การบริโภคไลโคปีนในปริมาณมากอาจไม่เหมาะกับคนในกลุ่ม เช่น 

  • ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ 
  • ผู้ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร 
  • ผู้ที่มีภาวะความดันต่ำ 
  • ผู้ที่กำลังเข้ารับการรักษาด้วยวิธีฮอร์โมนบำบัด (Hormone Therapy) 
  • ผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหาร 
  • ผู้ที่กำลังรับประทานยารักษาโรคหัวใจ โรคมะเร็ง และโรคทางผิวหนังอยู่ 

นอกจากนี้ ผลไม้สีแดงบางชนิดก็ยังมีข้อควรทราบบางอย่างก่อนรับประทานเช่นกัน เช่น

แตงโม

แตงโม การรับประทานแตงโมในปริมาณมาก อาจส่งผลให้ให้เกิดอาการไม่สบายท้อง ท้องอืด มีแก๊สในกระเพาะอาหาร และท้องเสียได้ เนื่องจากแตงโมเป็นผลไม้ที่มีคาร์โบไฮเดรตประเภทสายโมเลกุลสั้น หรือ FODMAP ที่ร่างกายย่อยได้ค่อนข้างยากหรือดูดซึมได้ช้า 

นอกจากนี้ แตงโมยังเป็นผลไม้ที่มีค่าดัชนีน้ำตาล (Glycemic Index: GI) สูง ซึ่งอาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงได้

สตรอว์เบอร์รี

เด็กบางคนอาจมีภาวะแพ้สตรอว์เบอร์รีได้ อีกทั้งผลไม้ชนิดนี้ยังมีสารกอยโตรเจน (Goitrogens) ที่อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของต่อมไทรอยด์ในผู้ที่มีภาวะผิดปกติเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ได้

ทับทิม

สารบางชนิดในทับทิมอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของยาบางชนิดได้ โดยเฉพาะยาสำหรับรักษาภาวะความดันโลหิตสูง

มะเขือเทศ

มะเขือเทศดิบเป็นผลไม้ที่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อโรคบางชนิด โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรียตระกูลลิสเทอเรีย (Listeria) และเชื้อแบคทีเรียซาลโมเนลลา (Salmonella) นอกจากนี้ การรับประทานมะเขือเทศยังอาจส่งผลให้ผู้ป่วยบางกลุ่มมีอาการแย่ลงได้ เช่น ผู้ป่วยกรดไหลย้อน หรือผู้ป่วยไมเกรน

มาถึงตรงนี้หลายคนคงทราบแล้วว่า ผลไม้สีแดงมีประโยชน์และข้อควรรู้อะไรบ้าง แต่แม้ผลไม้ในกลุ่มนี้จะมีประโยชน์มากมาย ผู้รับประทานก็ควรรับประทานร่วมกับผลไม้สีอื่น ๆ และอาหารให้หลากหลายชนิดด้วย เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน และผู้ที่มีปัญหาสุขภาพใด ๆ อยู่ ก็ควรปรึกษาแพทย์ถึงความเหมาะสมก่อนเพื่อความปลอดภัยต่อร่างกาย