อนุมูลอิสระ อันตรายอย่างไร? รู้จักและเรียนรู้วิธีป้องกัน

อนุมูลอิสระ (Free Radical) เป็นอะตอมหรือโมเลกุลที่สามารถทำปฏิกิริยากับอะตอมอื่น ๆ ในร่างกายหรือเซลล์ได้อย่างรวดเร็ว โดยอนุมูลอิสระนี้จะถูกสร้างขึ้นในร่างกายโดยธรรมชาติและยังมีหน้าที่สำคัญในหลาย ๆ กระบวนการที่เกิดขึ้นภายในเซลล์ ทว่าหากสารอนุมูลอิสระนี้มีความเข้มข้นสูงขึ้นก็อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายและสร้างความเสียหายต่อส่วนประกอบของเซลล์ ดีเอ็นเอ โปรตีน รวมถึงเยื่อหุ้มเซลล์ โดยอาจพัฒนาให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมา เช่น มะเร็ง โรคหลอดเลือดหัวใจ อัลไซเมอร์ พาร์กินสัน เบาหวาน ต้อกระจก และจอประสาทตาเสื่อม เป็นต้น

อนุมูลอิสระ

อนุมูลอิสระเกิดจากอะไร ?

อนุมูลอิสระในร่างกายอาจเกิดขึ้นจากกระบวนการต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น การเผาผลาญน้ำตาลเพื่อใช้เป็นพลังงาน การปล่อยเอนไซม์ออกมาย่อยอาหาร หรือการออกกำลังกาย เป็นต้น นอกจากนี้ ปัจจัยจากภายนอกก็เป็นอีกสาเหตุ ร่างกายอาจได้รับสารที่ประกอบด้วยอนุมูลอิสระจำนวนมากหรือสารดังกล่าวอาจไปกระตุ้นให้เซลล์ของร่างกายผลิตอนุมูลอิสระมากขึ้นก็ได้ เช่น

  • การเผชิญรังสีต่าง ๆ เช่น รังสียูวี รังสีเอกซเรย์ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าพลังงานสูง
  • การสูดดมควันบุหรี่
  • มลพิษจากสิ่งแวดล้อม เช่น โลหะหนัก
  • การรับประทานอาหารที่ปิ้งหรือย่างจนไหม้เกรียม
  • สารเคมีจากอุตสาหกรรม
  • ก๊าซโอโซนที่ถูกนำมาใช้ทางอุตสาหกรรมและเครื่องใช้ในบ้าน
  • ยารักษาโรคบางชนิด
  • ยาฆ่าแมลง

นอกจากนี้ผู้เชี่ยวชาญบางคนยังเชื่อว่าอายุที่เพิ่มมากขึ้นอาจเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เซลล์ในร่างกายได้รับความเสียหายจากอนุมูลอิสระมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้เกิดปัญหาในการทำงาน และเป็นปัจจัยหนึ่งของปัญหาสุขภาพที่มักเกิดขึ้นเมื่ออายุมาก

การป้องกันสารอนุมูลอิสระ

สามารถลดปริมาณสารอนุมูลอิสระในร่างกายได้ด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยต่าง ๆ จากภายนอกดังต่อไปนี้

  • หลีกเลี่ยงการเผชิญแสงแดด ตลอดจนมลพิษทางสิ่งแวดล้อมทั้งหลาย เช่น ฝุ่น ควัน สารเคมี ยาฆ่าแมลง
  • ไม่สูบบุหรี่และเลี่ยงการสูดดมควันบุหรี่จากผู้อื่น
  • เลี่ยงอาหารที่ปรุงโดยวิธีปิ้ง ย่าง หรือเผาจนไหม้เกรียม
  • เลือกรับประทานอาหารที่อุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ

สารต้านอนุมูลอิสระช่วยได้อย่างไร ?

สารต้านอนุมูลอิสระคือสารที่จะมาทำปฏิกิริยากับอนุมูลอิสระ ช่วยปกป้องหรือยับยั้งความเสียหายของเซลล์ที่เกิดขึ้นจากสารอนุมูลอิสระ ซึ่งร่างกายของคนเราสามารถผลิตสารต้านอนุมูลอิสระขึ้นมาได้จำนวนหนึ่งอยู่แล้ว แต่ทั้งนี้ก็ต้องอาศัยสารต้านอนุมูลอิสระจากนอกร่างกายอย่างการรับประทานอาหารด้วยจึงจะเพียงพอ

แหล่งสารต้านอนุมูลอิสระ

สารต้านอนุมูลอิสระมีทั้งชนิดที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติและมนุษย์สังเคราะห์ขึ้น อนุมูลอิสระตามธรรมชาตินั้นพบได้ในอาหารทั้งหลายที่เรารับประทานกันอยู่ทุกวัน โดยเฉพาะผักและผลไม้ที่อุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระในปริมาณสูง ส่วนสารต้านอนุมูลอิสระที่มนุษย์สังเคราะห์ขึ้นจะอยู่ในรูปแบบอาหารเสริมหรือเป็นส่วนประกอบที่ใส่ลงไปในผลิตภัณฑ์อาหารต่าง ๆ นั่นเอง ซึ่งสารอาหารที่เป็นแหล่งสารต้านอนุมูลอิสระสูง มีดังนี้

  • เบตาแคโรทีน (Beta-carotene) และวิตามินเอ พบมากในผัก ผลไม้ที่มีสีเหลือง สีส้ม เช่น แครอท ฟักทอง มะละกอ มะม่วงสุก มะเขือเทศ ผักคะน้า ผักตำลึ
  • ลูทีน (Lutein) และซีแซนทิน (Zeaxanthin) อาหารที่พบได้ เช่น ผักคะน้า ผักปวยเล้ง บร็อคโคลี่ ข้าวโพด ถั่วลันเตา
  • ไลโคปีน (Lycopene) พบในผักผลไม้ที่มีสีแดง เช่น มะเขือเทศ แตงโม แอปริคอต
  • ซีลีเนียม (Selenium) พบได้ในอาหาร เช่น เนื้อแดง ทูน่า ตับ ไข่ ผักโขม
  • วิตามินซี พบมากในผลไม้จำพวกฝรั่ง และส้ม 
  • วิตามินอี พบได้ในอาหารหลากหลายชนิด เช่น ถั่ว เมล็ดพันธุ์ ผักใบเขียว ผลไม้ เนื้อสัตว์ ไข่ จมูกข้าวสาลี ขนมปังโฮลวีต ซีเรียลชนิดโฮลเกรน

สารต้านอนุมูลอิสระปลอดภัยหรือไม่ ?

ผักและผลไม้ทั้งหลายเป็นแหล่งสารต้านอนุมูลอิสระปริมาณสูงและมีประโยชน์ต่อร่างกาย โดยมีหลักฐานยืนยันว่าการรับประทานผักและผลไม้มาก ๆ เป็นผลดีต่อสุขภาพและยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคบางชนิด อย่างไรก็ตาม ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นเพราะสารต้านอนุมูลอิสระหรือสารชนิดอื่นที่มีอยู่ในอาหารเหล่านี้ และไม่แน่ว่าอาจมีปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยก็ได้

ส่วนประโยชน์ของสารต้านอนุมูลอิสระชนิดอาหารเสริมนั้น ผลจากการวิจัยส่วนใหญ่พบว่าอาจไม่มีส่วนช่วยป้องกันหรือลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรัง เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ มะเร็ง และต้อกระจกแต่อย่างใด โดยสาเหตุที่เป็นเช่นนี้มีการคาดเดาถึงความเป็นไปได้ที่หลากหลาย เช่น ประโยชน์ที่ได้รับจากผักผลไม้หรืออาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงนั้นอาจมีที่มาจากสารชนิดอื่น ๆ เช่น ไฟเบอร์ หรือเป็นไปได้ที่การได้รับสารต้านอนุมูลอิสระปริมาณมากจากอาหารเสริมจะให้ผลแตกต่างจากการได้รับจากอาหารธรรมชาติทั่วไปในปริมาณน้อย ๆ รวมถึงระยะเวลาในการรับประทานสารต้านอนุมูลอิสระชนิดอาหารเสริมที่อาจไม่ยาวนานพอจนเห็นผล

นอกจากนี้การรับประทานอาหารเสริมที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงยังต้องควรระมัดระวัง รับประทานไม่เกินปริมาณทีกำหนด ควรอยุ่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกร เนื่องจากอาจสัมพันธ์กับการเพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพได้ในบางกรณี เช่น มีการวิจัยหนึ่งได้ศึกษาแล้วพบว่า การได้รับเบตาแคโรทีนในปริมาณสูงติดต่อกันเป็นเวลานานหลายปีอาจเพิ่มโอกาสการเกิดโรคมะเร็งปอดในผู้มีพฤติกรรมสูบบุหรี่ ส่วนการได้รับวิตามินอีในปริมาณสูงก็อาจเสี่ยงเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากและโรคหลอดเลือดในสมองแตก ไม่เพียงเท่านี้ สารต้านอนุมูลอิสระยังอาจทำปฏิกิริยากับยาบางชนิด ผู้ที่รับประทานจึงควรแจ้งให้แพทย์ที่จ่ายยาทราบหากกำลังใช้อาหารเสริมชนิดใดอยู่ก็ตาม