ประโยชน์ของมะนาวต่อการรักษาโรค ได้ผลชัวร์หรือไม่?

มะนาว (Lime) หนึ่งในผลไม้ตระกูลส้มใกล้ตัวที่นอกจากจะนำมาปรุงอาหารเพิ่มรสเปรี้ยวแล้ว ยังมีการใช้ผล เปลือก น้ำ และน้ำมันจากมะนาวเพื่อประโยชน์ในการรักษาโรคนานาชนิด เช่น บรรเทาอาการคลื่นไส้ รักษาสิว ป้องกันนิ่วในไต โรคหวัด และอีกมากมาย ประโยชน์ของมะนาวที่กล่าวกันนั้นเชื่อถือได้มากน้อยเพียงใด และงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันที่ศึกษาถึงประสิทธิภาพการรักษาโรคด้วยมะนาวแนะนำว่าอย่างไรบ้าง

ประโยชน์ของมะนาว

ประโยชน์ทางโภชนาการของมะนาว

ภาวะขาดธาตุเหล็ก การรักษาผู้ป่วยที่ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กไม่ดีจนเกิดภาวะขาดธาตุเหล็ก แพทย์อาจแนะนำให้รับประทานยาเสริมธาตุเหล็กควบคู่ไปกับวิตามินซี ซึ่งจะช่วยเพิ่มการดูดซึมธาตุเหล็กของร่างกาย จึงเกิดความคิดที่ว่าการรับประทานอาหารที่อุดมด้วยวิตามินซีอย่างน้ำส้มหรือน้ำมะนาวอาจจะสามารถช่วยป้องกันหรือรักษาภาวะขาดธาตุเหล็ก โดยส่งผลให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กจากอาหารต่าง ๆ ที่รับประทานเข้าไปได้ดีด้วย

อย่างไรก็ตาม จากผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ งานวิจัยหนึ่งทดลองแบ่งกลุ่มหญิงที่มีภาวะขาดธาตุเหล็ก กลุ่มละ 18 คน โดยกลุ่มหนึ่งรับประทานน้ำมะนาวที่ประกอบด้วยวิตามินซี 25 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง สัปดาห์ละ 6 วัน เป็นเวลานาน 8 เดือน ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งรับประทานยาหลอก ผลลัพธ์พบว่าการรับประทานน้ำมะนาวไม่ได้ช่วยเพิ่มระดับธาตุเหล็กในร่างกายของหญิงที่มีภาวะนี้แต่อย่างใด

แก้อาการคลื่นไส้ มะนาวผ่าซีก โรยเกลือลงไปเล็กน้อยและบีบน้ำมะนาวใส่ปากเป็นหนึ่งในเคล็ดลับบรรเทาอาการคลื่นไส้ที่ได้รับความนิยม แต่จะได้ผลจริงหรือไม่นั้นยังไม่มีศึกษาเกี่ยวกับสรรพคุณด้านนี้ของมะนาวออกมารับรอง อย่างไรก็ดี วิธีนี้นับเป็นวิธีง่าย ๆ ที่สามารถลองใช้ได้อย่างไม่น่าจะเป็นอันตราย หากเป็นอาการคลื่นไส้ทั่ว ๆ ไปที่ไม่ร้ายแรง แต่หากทดลองแล้วยังไม่หายหรือมีอาการผิดปกติก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูอาการจะดีที่สุด เช่นเดียวกันกับอีกหลาย ๆ โรค

โรคนิ่วในไต บางครั้งมีการแนะนำให้ผู้ป่วยโรคนิ่วในไตรับประทานอาหารที่มีกรดซิตริกสูงอย่างน้ำมะนาวเพื่อเพิ่มระดับไซเตรท (Citrate) ในปัสสาวะ เนื่องจากคาดว่าการมีสารไซเตรทในปัสสาวะไม่เพียงพออาจเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคนิ่วในไตขึ้นได้ โดยงานวิจัยหนึ่งชี้ว่าการดื่มน้ำมะนาวเหลืองวันละประมาณ 120 ซีซีสามารถเพิ่มระดับไซเตรทในปัสสาวะได้อย่างมีนัยสำคัญและอาจป้องกันการเกิดนิ่วในไตได้ สอดคล้องกับอีกงานวิจัยหนึ่งที่ทำการทดลองกับอาสาสมัครเพศชายที่ไม่เคยมีประวัติเป็นโรคนิ่วในไตมาก่อน ผลลัพธ์พบว่าการดื่มน้ำมะนาวเหลืองมีประสิทธิช่วยเพิ่มระดับไซเตรทในปัสสาวะเช่นเดียวกัน ทั้งนี้งานวิจัยทั้ง 2 ชิ้นเป็นการศึกษาโดยใช้มะนาวเหลือง ซึ่งเป็นพันธุ์ที่พบได้มากในต่างประเทศ

โรคหวัด เช่นเดียวกับผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวทั้งหลาย คุณสมบัติที่คุ้นเคยกันดีของมะนาวก็คืออุดมด้วยวิตามินซี ซึ่งเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายหลายชนิดจำเป็นต้องใช้วิตามินซีช่วยในการทำงาน เป็นที่มาของความเชื่อที่ว่าการรับประทานผักผลไม้ที่มีวิตามินซี รวมถึงมะนาว จะสามารถช่วยป้องกันหรือบรรเทาโรคหวัดให้หายเร็วขึ้นได้ ทว่าการศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของการใช้มะนาวหรือวิตามินซีกับโรคหวัดนั้นยังเป็นที่โต้แย้งกันอยู่

จากการรวบรวมและสรุปผลการศึกษาในด้านนี้ชี้ว่าวิตามินซีอาจทำให้หายจากโรคหวัดได้เร็วขึ้นในผู้ที่มีสุขภาพดี แต่ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อหรือลดความรุนแรงของอาการจากโรคได้ นอกจากนี้การรับประทานวิตามินซีในรูปแบบอาหารเสริมจะได้ผลดีที่สุดในกรณีที่ร่างกายได้รับวิตามินซีไม่เพียงพอ แต่ไม่ได้มีการกล่าวถึงการใช้มะนาวกับโรคหวัดโดยตรง

แก้ไอ เจ็บคอ การดื่มน้ำมะนาวเป็นวิธีที่กล่าวกันอย่างแพร่หลายว่าสามารถช่วยบรรเทาอาการไอ และทำให้อาการเจ็บคอดีขึ้นได้ แต่ประโยชน์ของมะนาวในด้านนี้ก็ยังไม่มีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือพอจะช่วยยืนยันได้ ทั้งนี้ผู้ที่มีอาการเจ็บคออาจลองใช้เคล็ดลับการดื่มน้ำมะนาวนี้ได้อย่างปลอดภัย

โรคลักปิดลักเปิด โรคที่เกิดจากการได้รับวิตามินซีในอาหารไม่เพียงพอ ซึ่งอาจส่งผลให้มีอาการของโรคเกิดขึ้นภายใน 8-12 สัปดาห์ ผู้ป่วยมักมีอาการคล้ายไม่สบาย อ่อนเพลีย ง่วงซึม โลหิตจาง ปวดกล้ามเนื้อ เจ็บกระดูก มีแผลฟกช้ำหรือบวมง่าย มีจุดเลือดออกแดง ๆ ตามผิวหนัง เกิดโรคทางปริทันต์ เป็นแผลแล้วหายยาก อารมณ์แปรปรวน หรือมีภาวะซึมเศร้า สำหรับคุณประโยชน์ของน้ำมะนาวต่อโรคนี้ มีงานวิจัยเมื่อนานมาแล้วที่ให้ผู้ป่วยโรคนี้รับประทานส้มกับมะนาวเหลือง พบว่าผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้อย่างสมบูรณ์และรวดเร็ว เมื่อเทียบกับผู้ป่วยอีกกลุ่มที่รับประทานอาหารชนิดอื่น จึงเป็นไปได้ว่าการได้รับวิตามินซีจากอาหารธรรมชาติที่รับประทานเป็นประจำอย่างส้มหรือมะนาวอาจมีส่วนช่วยป้องกันโรคนี้ได้ ทว่าการศึกษาในปัจจุบันก็ยังไม่สามารถยืนยันสรรพคุณข้อนี้ได้

มะเร็ง มีการแชร์กันในโลกอินเทอร์เน็ตอย่างกว้างขวางถึงการดื่มน้ำมะนาวผสมโซดาเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง ซึ่งก็ไม่ทราบว่ามีที่มาอย่างไร เพราะปัจจุบันยังไม่มีผลการวิจัยที่รับรองเกี่ยวกับการใช้มะนาวกับโซดาเพื่อกำจัดเซลล์มะเร็ง ความเชื่อนี้จึงอาจเกิดจากความเข้าใจผิดและไม่มีการแนะนำจากทางการแพทย์ให้นำมาใช้แต่อย่างใด

โรคเก๊าท์ การดื่มน้ำมะนาวเป็นวิธีทางเลือกธรรมชาติที่มีผู้ป่วยโรคเก๊าท์บางส่วนเลือกใช้ แต่ทว่าในขณะนี้ยังไม่พบการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์หรือยืนยันเกี่ยวกับประโยชน์ของมะนาวในด้านนี้ได้

โรคมาลาเรีย งานวิจัยชิ้นหนึ่งศึกษากับเด็กที่ป่วยด้วยโรคมาลาเรียชนิดไม่มีภาวะแทรกซ้อนอย่างเฉียบพลันจำนวน 120 คน โดยแบ่งให้กลุ่มหนึ่งรักษาโดยใช้ยารักษาโรคมาลาเรียเพียงอย่างเดียว ในขณะที่อีกกลุ่มใช้ยารักษาโรคมาลาเรียควบคู่ไปกับการดื่มน้ำมะนาว เผยว่า การให้ผู้ป่วยดื่มน้ำมะนาวควบคู่กับการใช้ยารักษาโรคมาลาเรียอย่างเหมาะสมอาจเพิ่มความรวดเร็วในการกำจัดเชื้อปรสิตที่เป็นสาเหตุของโรคได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยมาลาเรียที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน ซึ่งถือเป็นแนวทางการศึกษาขั้นต้นที่จะช่วยปูทางไปสู่การศึกษาในอนาคตที่อาจช่วยยืนยันประสิทธิภาพของมะนาวต่อโรคมาลาเรียได้ชัดเจนกว่านี้

เบาหวาน ปัจจุบันยังไม่มีการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาคุณประโยชน์ของมะนาวต่อการรักษาเบาหวานโดยตรง มีเพียงงานวิจัยที่เกี่ยวข้องชิ้นหนึ่ง ศึกษาถึงประสิทธิภาพของการใช้สูตรอาหารแคลอรีต่ำที่มีมะนาวเหลืองเป็นส่วนผสมในผู้ป่วยหญิงวัยก่อนหมดประจำเดือน 84 คน โดยให้รับประทานอาหารชนิดนี้ใน 7 วันแรก ตามด้วยการค่อย ๆ เปลี่ยนชนิดอาหารที่รับประทานใน 4 วันถัดมา ปรากฏว่าสูตรอาหารแคลอรีต่ำที่ผสมด้วยมะนาวเหลืองนี้สามารถลดไขมันในร่างกายผู้ป่วยและภาวะดื้ออินซูลินได้ แต่เป็นการทดลองเพียงระยะสั้นเท่านั้น ยังไม่อาจสรุปได้ว่าการผสมมะนาวกับอาหารสูตรแคลอรีต่ำมีประสิทธิภาพลดปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจในผู้ป่วยโรคเบาหวานได้

ลดน้ำหนัก ประโยชน์ด้านการลดน้ำหนักของมะนาวนั้นไม่พบการศึกษาโดยตรง แต่จากการศึกษาที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นการทดสอบกับอาสาสมัครสุขภาพดี 50 ราย โดยให้รับประทานน้ำผึ้งผสมมะนาว 300 มิลลิลิตรก่อนรับประทานอาหารอื่นในตอนเช้า วันละ 4 ครั้งนาน 4 วัน ผลลัพธ์ปรากฏว่าน้ำผึ้งมะนาวอาจมีส่วนช่วยในการลดน้ำหนัก ลดค่าดัชนีมวลกาย มวลไขมัน มวลร่างกายส่วนที่ไม่มีไขมัน และระดับไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ให้ลดน้อยลงได้ และยังอาจเป็นประโยชน์ต่อการป้องกันโรคอ้วนและภาวะไตรกลีเซอร์รอลในเลือดสูง อย่างไรก็ตามเป็นเพียงการศึกษาระยะสั้น ผลลัพธ์ที่ได้ไม่แน่ชัดว่าเป็นเพราะคุณสมบัติของมะนาวหรือน้ำผึ้งหรืออาจมาจากปัจจัยอื่น คงต้องรอให้มีการศึกษากับมะนาวอย่างเฉพาะเจาะจงต่อไป

อาการท้องผูก ผู้ที่มีอาการท้องผูกควรรับประทานอาหารที่มีเส้นใยอาหารสูงอย่างผักผลไม้ และน้ำให้เพียงพอ นอกจากนี้ยังมักมีการแนะนำว่าเส้นใยอาหารที่พบในผลไม้ตระกูลส้มอาจสามารถช่วยกระตุ้นการเติบโตของจุลินทรีย์ในลำไส้ที่จะช่วยเพิ่มการขับถ่ายและจำนวนแบคทีเรียในอุจจาระได้ แต่ผลไม้ตระกูลส้มที่ว่านั้นน่าจะหมายถึงส้มทั้งหลายที่เรามักรับประทานผลมากกว่ามะนาวที่มักรับประทานน้ำและไม่ได้ให้เส้นใยอาหาร อีกทั้งในปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาเกี่ยวกับการใช้มะนาวบรรเทาอาการท้องผูก ประโยชน์ข้อนี้จึงยังคงเป็นเพียงความเชื่อที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้

ประโยชน์ของมะนาวต่อผิวพรรรณ

รักษาสิว เนื่องจากผลไม้ตระกูลส้มประกอบด้วยกรดอัลฟาไฮดรอกซี (Alpha Hydroxy Acid) ที่เมื่อทาลงบนผิวหนังจะช่วยขจัดเซลล์ผิวหนังที่ตายและลดการอุดตันของรูขุมขน รวมทั้งอาจทำให้แผลเป็นที่เกิดจากสิวดูดีขึ้น การนำน้ำมะนาวมาใช้ทาหน้าจึงกลายเป็นเคล็ดลับรักษาสิวที่ง่ายและใช้กันอย่างแพร่หลาย ซึ่งก็มีผลการวิจัยหนึ่งชี้ว่าการทาน้ำมะนาวเหลืองที่มีความเข้มข้น 20 เปอร์เซ็นต์ 40 เปอร์เซ็นต์ 60 เปอร์เซ็นต์ 80 เปอร์เซ็นต์ และ100 เปอร์เซ็นต์ มีประสิทธิภาพในการฆ่าแบคทีเรียพี แอคเน่ (Propionibacterium Acnes) ตัวการหลักของการเกิดสิวได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ งานวิจัยใกล้เคียงที่ศึกษาพบคุณสมบัติในการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระและลดการอักเสบของผลไม้ตระกูลส้ม ซึ่งอาจช่วยต่อต้านโรคที่เกี่ยวกับการอักเสบทั้งหลาย รวมถึงการอักเสบของสิวไปด้วย อย่างไรก็ดีการศึกษาทั้งหมดที่มียังถือว่าน้อยมาก ไม่อาจยืนยันได้ถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัย ผู้ที่สนใจลองเคล็ดลับนี้ควรทำตามอย่างระมัดระวัง เพราะการทามะนาวลงบนผิวอาจกระตุ้นให้ผิวไวต่อแสงแดดได้

ผิวขาวใส จากการที่มะนาวมีฤทธิ์เป็นกรดจึงมีการนำมาใช้ขัดผิวเพื่อให้ผิวขาวใสขึ้น ทั้งนี้ประโยชน์ของมะนาวในด้านนี้ก็ไม่มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่แนะนำเช่นกัน จะได้ผลหรือไม่ก็อาจสามารถทดลองด้วยตนเอง แต่ต้องแน่ใจว่าทำอย่างเหมาะสมและคำนึงถึงความปลอดภัยด้วย

ประโยชน์ของมะนาวต่อสุขภาพปากและฟัน

ฟอกฟันขาว เคล็ดลับช่วยให้ฟันขาวที่นิยมกันมากวิธีหนึ่งก็คือการใช้มะนาวขัดฟัน แต่รู้หรือไม่ว่านอกจากจะยังไม่มีการรับรองว่าได้ผลจริงจากผู้เชี่ยวชาญแล้ว กรมอนามัยแห่งกระทรวงสาธารณสุขแห่งประเทศไทยยังออกมาเตือนว่าน้ำมะนาวที่มีความเป็นกรดสูงนี้อาจไปละลายแคลเซียมที่ผิวฟัน ส่งผลให้ฟันกร่อน ซึ่งเคลือบฟันที่กร่อนหรือถูกทำลายนี้จะก่อให้เกิดอาการเสียวฟัน เพิ่มโอกาสเสี่ยงฟันผุ นอกจากนี้ น้ำมะนาวอาจทำให้เกิดการระคายเคืองและอักเสบของเหงือกได้อีกด้วย

รักษาปากดำ ด้วยคุณสมบัติที่เป็นกรด มีฤทธิ์กัดกร่อน ทำให้เชื่อกันว่าการใช้มะนาวถูที่ริมฝีปากจะสามารถช่วยลดปากดำ ทำให้ปากแดงชมพูขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ แต่ก็เช่นเดียวกับอีกหลาย ๆ คุณประโยชน์ที่ยังไม่มีการศึกษาวิจัยช่วยยืนยันประสิทธิภาพได้อย่างแน่ใจ สรรพคุณข้อนี้จึงยังคงเป็นเพียงความเชื่อเท่านั้น

ลดกลิ่นปาก การฝานมะนาวเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วนำมาเคี้ยวเป็นอีกวิธีขจัดกลิ่นปากที่แนะนำกัน โดยคาดว่ากรดซิตริกที่มีอยู่ในมะนาวหรือส้มนั้นจะช่วยกระตุ้นต่อมน้ำลาย กำจัดกลิ่นปาก และทำให้ลมหายใจสดชื่นขึ้นได้ ทว่าหากต้องการลองเคล็ดลับนี้ดูก็อย่าลืมล้างเปลือกมะนาวให้สะอาดก่อนนำมาเคี้ยว ทั้งนี้ทางวิทยาศาสตร์ยังไม่มีการนำมะนาวมาศึกษาเกี่ยวกับคุณประโยชน์ข้อนี้อย่างจริงจัง

ประโยชน์ของมะนาวต่อหนังศีรษะและเส้นผม

ขจัดรังแค หนึ่งในเคล็ดลับที่สืบทอดมาแต่โบราณคือการนำมะนาวหรือมะกรูดมาคั้นน้ำแล้วหมักผมทิ้งไว้ เพื่อรับมือกับรังแคบนหนังศีรษะ ทั้งนี้ไม่มีข้อมูลใดที่น่าเชื่อถือพอจะระบุได้ว่ามะนาวมีคุณสมบัติช่วยขจัดรังแคออกไปจากหนังศีรษะได้ สรรพคุณด้านนี้ของมะนาวจึงยังเป็นที่น่าสงสัยว่าได้ผลจริงหรือไม่

สุดท้ายนี้ไม่ว่าการศึกษาเกี่ยวกับการใช้มะนาวรักษาโรคใด ๆ ในปัจจุบันล้วนยังไม่เพียงพอต่อการระบุประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการใช้ ผู้ที่ต้องการใช้มะนาวโดยคาดหวังสรรพคุณในการรักษาโรคหรือเพื่อความสวยความงามจึงควรระมัดระวังและปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ หรืออาจรอให้มีงานวิจัยเพิ่มเติมในอนาคตที่ช่วยยืนยันให้แน่ใจได้มากกว่านี้

ใช้มะนาวอย่างไรจึงจะปลอดภัย

โดยทั่วไปปริมาณของมะนาวที่ได้รับเข้าสู่ร่างกายจากอาหารที่รับประทานในชีวิตประจำวันมักไม่เป็นอันตรายต่อทั้งเด็กและผู้ใหญ่ นอกจากนี้ การรับประทานเปลือกมะนาวในปริมาณแต่พอดี โดยมีจุดประสงค์เพื่อการรักษาทางการแพทย์เองก็อาจไม่เป็นอันตรายเช่นกัน แต่ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ หากอยู่ในกรณีต่อไปนี้

  • การรับประทานมะนาวในหญิงตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตรนั้นยังไม่มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือเพียงพอต่อการรับรองความปลอดภัย ทางที่ดีควรหลีกเลี่ยงการใช้ที่มากกว่าปริมาณปกติที่พบในอาหารต่าง ๆ
  • การทาน้ำมันมะนาวลงบนผิวหนังโดยตรงอาจไม่ปลอดภัยในคนที่มีผิวหนังแพ้ง่าย ซึ่งสามารถส่งผลให้ผิวหนังไวต่อแสงแดดอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ที่มีผิวค่อนข้างขาว หลังจากการใช้น้ำมันมะนาวทาลงผิวหนังจึงควรทาครีมกันแดดและสวมใส่เสื้อผ้ามิดชิดเพื่อป้องกันก่อนออกไปเผชิญกับแสงแดด
  • ควรใช้ยาต่อไปนี้อย่างระมัดระวัง เมื่อใช้ร่วมกับมะนาว
    • ยาบางชนิดอาจเพิ่มความไวต่อแสงแดดของผิวหนัง และเมื่อมีการทาน้ำมันมะนาวอาจเพิ่มความไวต่อแสงแดดได้เช่นกัน ก็ยิ่งเป็นการเพิ่มโอกาสเสี่ยงผิวไหม้ เป็นผื่น หรือพุพองบริเวณผิวหนังที่ถูกแสงแดด โดยยาที่อาจทำให้แพ้แสงแดด ได้แก่ ยาอะมิทริปไทลีน (Amitriptyline) ซิโปรฟลอกซาซิน (Ciprofloxacin) นอร์ฟลอกซาซิน (Norfloxacin) ลี ออฟลอกซาซิน (Ofloxacin) ลีโวฟลอกซาซิน (Levofloxacin) มอกซิฟลอกซาซิน (Moxifloxacin) ไตรเมโทรพริม (Trimethoprim/Sulfamethoxazole) เตตราไซคลีน (Tetracycline) และเมทอกซาเลน (Methoxsalen) เป็นต้น
    • ยาที่จะถูกเปลี่ยนภายในตับ โดยมะนาวอาจส่งให้ระยะเวลาในการเปลี่ยนรูปของยาเหล่านี้ลดลง การดื่มน้ำมะนาวขณะรับประทานยาบางชนิดที่เปลี่ยนรูปในตับจึงอาจทำให้มีผลข้างเคียงมากขึ้น เช่น ยาคีโตโคนาโซล (Ketoconazole) ไอทราโคนาโซล (Itraconazole) เฟกโซเฟนาดีน (Fexofenadine) ไตรอาโซแลม (Triazolam) ดังนั้น ก่อนรับประทานมะนาวควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับยาที่ใช้อยู่ด้วย
  • ปริมาณในการใช้หรือรับประทานมะนาวที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับหลาย ๆ ปัจจัย เช่น อายุและสุขภาพของผู้ใช้ ซึ่งตอนนี้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับปริมาณที่เหมาะสมในการใช้ยังมีไม่มากพอที่จะระบุได้ ผู้ใช้ก็ควรคำนึงถึงความปลอดภัยและปริมาณการใช้ที่ไม่มากเกินไป หากเป็นรูปแบบอาหารเสริมควรปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากอย่างเคร่งครัดและไม่ลืมปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อนใช้ อย่าแน่ใจเพียงเพราะเห็นว่าเป็นวัสดุจากธรรมชาติ