มะเขือเทศ กับหลากสรรพคุณต้านโรค

มะเขือเทศ (Tomato) เป็นผลไม้นานาประโยชน์ที่นิยมรับประทานกันทั่วไป นอกจากเป็นสุดยอดสารอาหารของผิวที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ด้านความงาม ยังมีคุณสมบัติต้านโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคมะเร็ง เพราะอุดมไปด้วยสารอาหารและสารต้านอนุมูลอิสระมากมาย สำหรับสารสำคัญที่พบมากในมะเขือเทศมากจะเป็นสารกลุ่มแคโรทีนอยด์ (Carotenoids) ได้แก่ ไลโคปีน (Lycopene) แอลฟา-แคโรทีน (Alpha-Carotene) เบตา-แคโรทีน (ฺBeta-Carotene) และลูทีน (Lutein) ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นส่วนสำคัญในการป้องกันโรค แล้วการศึกษาคุณสมบัติและความปลอดภัยของมะเขือเทศในทางวิทยาศาสตร์กล่าวถึงอย่างไรบ้าง

มะเขือเทศ

ฐานข้อมูลเกี่ยวกับการแพทย์ทางธรรมชาติ (Natural Medicines Comprehensive Database) ได้แบ่งระดับความน่าเชื่อถือของการใช้การรักษาทางเลือกจากธรรมชาติเป็น 7 ระดับ ได้แก่ ได้ผล (Effective) น่าจะได้ผล (Likely Effective) อาจได้ผล (Possibly Effective) อาจไม่ได้ผล (Possibly Ineffective) น่าจะไม่ได้ผล (Likely Ineffective) ไม่ได้ผล (Ineffective) และยังมีหลักฐานไม่เพียงพอต่อการบ่งบอกประสิทธิภาพ (Insufficient Evidence to Rate) สำหรับข้อมูลที่ระบุประสิทธิภาพของมะเขือเทศต่อการรักษาโรคต่าง ๆ ตามหลักฐานการศึกษางานวิจัยที่พบในปัจจุบันส่วนใหญ่ยังมีหลักฐานไม่เพียงพอต่อการบ่งบอกประสิทธิภาพอย่างชัดเจน

ตัวอย่างงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับมะเขือเทศและการรักษาโรค

โรคมะเร็ง ไลโคปีนเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพและพบมากในมะเขือเทศ โดยเฉพาะมะเขือเทศที่ผ่านการแปรรูปหรือผ่านความร้อน เช่น น้ำมะเขือเทศ ซอสมะเขือเทศสำหรับพาสต้า ผลิตภัณฑ์มะเขือเทศเข้มข้น เป็นต้น จากการศึกษาของสถาบันวิจัยมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา (American Institute for Cancer Research) คาดว่าไลโคปีนอาจช่วยขัดขวางและหยุดการเติบโตของเซลล์มะเร็งบางประเภท และกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน เพื่อป้องกันเซลล์ได้รับความเสียหายจนกลายเป็นเซลล์มะเร็ง ด้วยเหตุนี้การวิจัยหลายชิ้นจึงให้ความสนใจบทบาทของไลโคปีนต่อการป้องกันโรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ เช่น

โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง จากการศึกษาอัตราการตายจากโรคมะเร็งย้อนหลังเป็นะระยะเวลา 10 ปี ของคนในเขตพื้นที่ชนบท ประเทศญี่ปุ่น อายุ 39-79 ปี จำนวน 3,182 คน ซึ่งทั้งหมดผ่านการตรวจสุขภาพและวัดระดับแคโรทีนอยด์ ทำให้ทราบว่าผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง 21 คน จากจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งชนิดอื่นทั้งหมด 134 คน โดยในการศึกษานี้ระบุว่า การรับประทานผักผลไม้ที่อุดมไปด้วยสารแคโรทีนอยด์ในปริมาณสูงอาจช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง แต่ไม่ได้กล่าวถึงมะเขือเทศไว้โดยตรงต่อการรักษาตัวโรค

ทั้งนี้ ยังพบงานวิจัยและการศึกษาขนาดใหญ่อีก 11 ชิ้น เกี่ยวกับสารกลุ่มแคโรทีนอยด์ในอาหารกับความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงที่ให้ความเห็นตรงกันข้าม ซึ่งประกอบด้วยกรณีศึกษาทั้งหมด 7,885 เหตุการณ์ และมีกลุ่มตัวอย่าง 702,647 คน ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ 6-20 ปี โดยเปรียบเทียบการรับประทานแคโรทีนอยด์ในปริมาณสูงสุดและต่ำสุด ผลการวิเคราะห์แสดงให้เห็นว่า สารแคโรทีนอยด์ไม่ได้เป็นส่วนสำคัญต่อการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงอย่างมีนัยสำคัญ จึงอาจเป็นไปได้ว่าการรับประทานมะเขือเทศก็อาจไม่ช่วยในการรักษาโรคมะเร็งชนิดนี้

อย่างไรก็ตาม การติดตามผลในส่วนนี้เป็นการศึกษาเฉพาะสารแคโรทีนอยด์กับตัวโรค ซึ่งอาจพบได้จากอาหารอื่น ๆ นอกจากมะเขือเทศเช่นกัน จึงยังไม่มีหลักฐานเพียงพอเพื่อยืนยันผลของการรับประทานมะเขือเทศต่อการรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงที่แน่นอน จึงอาจต้องรอข้อมูลสนับสนุนจากงานวิจัยที่ใช้มะเขือเทศโดยตรง

โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร ด้วยสรรพคุณของสารต้านอนุมูลอิสระและวิตามินต่าง ๆ ในมะเขือเทศที่เชื่อกันว่ามีฤทธิ์ต้านมะเร็ง จึงมีการศึกษาระดับแคโรทีนอยด์และวิตามินต่อการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร จากการวิจัยเชิงสังเกตและติดตามผลชายชาวจีนวัยกลางคนและวัยชรา จำนวน 18,244 คน ในระยะเวลา 12 ปี โดยเปรียบเทียบกลุ่มคนที่มีระดับความเข้มข้นของแคโรทีนอยด์และวิตามินหลายตัวในเลือดสูงกับกลุ่มทดลอง ปรากฏว่าแคโรทีนอยด์อย่างแคโรทีน ไลโคปีน และวิตามิน ซี อาจเป็นสารต้านมะเร็งที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งการรับประทานแคโรทีนอยด์ในปริมาณสูงก็อาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคกระเพาะอาหารให้น้อยลง แต่ก็คล้ายคลึงกับการวิจัยโรคมะเร็งชนิดอื่นในด้านที่เป็นการศึกษาเฉพาะสารแคโรทีนอยด์และวิตามินทั่วไป ซึ่งร่างกายอาจได้รับจากการรับประทานอาหารประเภทอื่น ไม่ใช่เฉพาะแค่เพียงมะเขือเทศ จึงต้องมีการค้นคว้าเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรับประทานมะเขือเทศโดยตรง

โรคมะเร็งปอด จากงานวิจัยขนาดใหญ่ จำนวน 2 ชิ้น ที่ศึกษาความสัมพันธ์ของสารกลุ่มแคโรทีนอยด์กับความเสี่ยงของโรคมะเร็งปอดในช่วงระยะเวลา 10-12 ปี โดยใช้แบบสอบถามในการประเมินสารแคโรทีนอยด์ที่ร่างกายได้รับจากผักและผลไม้ที่รับประทานเข้าไป ซึ่งการติดตามผลชี้ให้เห็นว่า สารแคโรทีนอยด์หลายตัวอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่อิทธิพลของตัวแปรภายนอกบางตัวอาจมีส่วนทำให้ผลงานวิจัยคลาดเคลื่อน เช่น เกณฑ์การวัดผลที่ใช้การตอบคำถามอาจทำให้ตีความได้ว่าการบริโภคผักและผลไม้มากขึ้นอาจหมายถึงร่างกายจะได้รับแคโรทีนอยด์มาก หรือพฤติกรรมการสูบบุหรี่ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ไม่ได้นำมาพิจารณา

แม้ว่าแคโรทีนอยด์เป็นสารต้านมะเร็งที่สำคัญ แต่ก็ยังพบงานวิจัยที่ได้ผลการศึกษาที่แตกต่างกัน เช่น การศึกษาความสัมพันธ์ของแคโรทีนอยด์ในอาหารและความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งปอดในผู้หญิงชาวแคนาดา จำนวน 56,837 คน โดยเปรียบเทียบกลุ่มที่รับประทานอาหารที่มีสารแคโรทีนอยด์ในปริมาณสูงกับต่ำ ซึ่งพบว่าสารแคโรทีนอยด์ในการศึกษานี้ไม่มีความเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคมะเร็งปอด สอดคล้องกับการทบทวนเอกสารงานวิจัยเกี่ยวกับการรับประทานอาหารเสริมบีตา-แคโรทีนเปรียบเทียบกับยาหลอก ผลปรากฏว่าอัตราความเสี่ยงของโรคมะเร็งปอดลดลงอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ จึงมีความเป็นไปได้ว่าสารแคโรทีนอยด์ที่พบในพืช ผัก หรือผลไม้หลายชนิด รวมถึงมะเขือเทศอาจไม่ช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งปอดแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ยังไม่อาจบอกได้ชัดเจนว่ามะเขือเทศมีส่วนสำคัญต่อการป้องกันโรคมะเร็งปอดหรือไม่ เนื่องจากสารกลุ่มแคโรทีนอยด์ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะการรับประทานมะเขือเทศเพียงชนิดเดียวเท่านั้น อีกทั้งการศึกษายังไม่ครอบคลุมปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปอดอย่างการสูบบุหรี่

โรคมะเร็งรังไข่ การศึกษาเกี่ยวกับแคโรทีนอยด์และโรคมะเร็งรังไข่ยังมีอยู่จำกัด จากการศึกษาบทบาทของแคโรทีนอยด์ในการต่อต้านมะเร็งของผู้ป่วยโรคมะเร็งรังไข่ จำนวน 254 คน เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม จำนวน 652 คน พบว่าการรับประทานแคโรทีนอยด์มากขึ้นอาจลดโอกาสการเกิดโรคมะเร็งรังไข่ลง เช่นเดียวกับงานวิจัยอีกหลายชิ้นที่แสดงให้เห็นว่าการบริโภคอาหารที่มีไลโคปีนและสารแคโรทีนเพิ่มขึ้นอาจมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งรังไข่ในผู้หญิงที่ยังไม่หมดประจำเดือนลง โดยเฉพาะจากซอสมะเขือเทศสำหรับพาสต้าที่ให้ผลการศึกษาที่ชัดเจน

ในขณะที่ งานวิจัยอีกชิ้นเกี่ยวกับการศึกษาแคโรทีนอยด์ วิตามิน เอ และวิตามิน อี ต่อโรคมะเร็งรังไข่ในผู้ป่วยโรคมะเร็งรังไข่เปรียบเทียบกลุ่มทดลอง ผลพบว่าแคโรทีนอยด์เฉพาะบางตัวอาจมีส่วนช่วยในการลดความเสี่ยงโรคมะเร็งรังไข่ลง ยกเว้นไลโคปีนที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงของโรค

จากข้อมูลข้างต้นเป็นงานวิจัยสารแคโรทีนอยด์กับวิตามินชนิดต่าง ๆ ซึ่งพบมากในพืชผักหลายชนิด จึงยังไม่อาจระบุประสิทธิภาพของมะเขือเทศต่อการรักษาโรคมะเร็งรังไข่ อีกทั้ง ผลจากการศึกษายังได้ผลที่ไม่แน่นอน

โรคมะเร็งตับอ่อน แม้ว่าผักและผลไม้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสาเหตุของโรคมะเร็งตับอ่อน แต่บทบาทของสารพฤกษเคมีในกลุ่มอาหารเหล่านี้ยังได้รับความสนใจอยู่น้อย จากการศึกษาความสัมพันธ์ของแคโรทีนอยด์ในอาหารกับความเสี่ยงโรคมะเร็งตับอ่อนในผู้ป่วยโรคมะเร็งตับอ่อน จำนวน 462 คน เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม ซึ่งเป็นประชากรชาวแคนาดา จำนวน 4,721 คนจาก 8 รัฐ ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าการบริโภคอาหารที่มีมะเขือเทศเป็นส่วนประกอบมากหรือรับประทานผลิตภัณฑ์จากมะเขือเทศที่มีปริมาณไลโคปีนสูงอาจช่วยให้ความเสี่ยงของโรคมะเร็งตับอ่อนลดลง แต่อย่างไรก็ตามยังคงต้องรอการค้นคว้าต่อในอนาคตเพื่อการยืนยันผลที่แน่ชัด

โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเขือเทศอุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระประสิทธิภาพสูงที่เรียกว่าไลโคปีน ซึ่งอาจช่วยป้องกันมะเร็งต่อมลูกหมากและลดการเติบโตของเนื้องอกในผู้ชายที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก มีงานวิจัยผลของการบริโภคไลโคปีนจากซอสมะเขือเทศในพาสต้าในผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก โดยให้รับประทานพาสต้าที่มีปริมาณไลโคปีน 30 กรัมต่อวัน เป็นระยะเวลา 3 สัปดาห์ พบว่าความเสียหายของดีเอ็นเอในเนื้อเยื่อต่อมลูกหมากน้อยลงและสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมากในเลือดลดลง ซึ่งชี้ให้เห็นว่า การบริโภคผลิตภัณฑ์จากมะเขือเทศที่มีปริมาณไลโคปีนสูงอาจจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากลดลง นอกจากนี้ ยังมีการทบทวนงานวิจัยอย่างเป็นระบบ จำนวน 26 ชิ้น พบว่าปริมาณไลโคปีนที่สูงขึ้นก็ยังมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงของโรคมะเร็งต่อมลูกหมากที่ลดลง เท่าที่ทราบกันดีว่าไลโคปีนจะเป็นสารที่พบอยู่ในมะเขือเทศเป็นปริมาณสูง แต่ก็อาจพบได้จากหลายอาหารหลายประเภท จึงยังไม่อาจสรุปได้ในทันทีว่ามะเขือเทศมีฤทธิ์ในการป้องกันโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก

ทั้งนี้ ผลการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของอาหารกับความเสี่ยงโรคมะเร็งต่อมลูกหมากที่จัดทำโดยกองทุนวิจัยโรคมะเร็งโลก (World Cancer Research Fund: WCRF) ร่วมกับสมาคมการวิจัยเพื่อการป้องกันโรคมะเร็ง (American Institute for Cancer Research: AICR) ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งศึกษากับผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมาก 1,806 คน และกลุ่มคนปกติ 12,005 คน ผลการวิเคราะห์พบว่าการรับประทานมะเขือเทศ ผลิตภัณฑ์จากมะเขือเทศ หรือผักชนิดอื่นก็อาจช่วยป้องกันมะเร็งต่อมลูกหมากได้ ตรงกันข้ามกับการวิจัยอีกชิ้นที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างแคโรทีนอยด์ในเลือดกับความเสี่ยงของมะเร็งต่อมลูกหมากในการตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก จำนวน 692 ราย ในช่วง 1-8 ปี ผลการศึกษาพบว่ามีเฉพาะบีตา-แคโรทีนในปริมาณสูงที่มีผลต่อความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก แต่ไคโลปีนและแคโรทีนอยด์ตัวอื่นไม่พบความเกี่ยวข้องกันกับโรค งานวิจัยนี้ชี้ว่าไลโคปีนหรือการรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของมะเขือเทศก็อาจไม่สามารถระบุผลในการป้องกันมะเร็งต่อมลูกหมากได้ ในปัจจุบันจึงยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนเกี่ยวกับมะเขือเทศกับการป้องกันมะเร็งต่อมลูกหมาก

โรคหัวใจและหลอดเลือด การศึกษาปริมาณไลโคปีน แอลฟา-แคโรทีน บีตา-แคโรทีน แอลฟา-โทโคฟีรอล (α-Tocopherol) เรตินอยด์ (Retinoid) กับความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดสมองในผู้ชายชาวฟินแลนด์ อายุ 46-65 ปี จำนวน 1,031 คน โดยติดตามผลในช่วงประมาณ 12 ปี ผลพบว่าไลโคปีนในปริมาณสูงจากการรับประทานผลิตภัณฑ์จากมะเขือเทศอาจช่วยลดความความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองและสมองขาดเลือดลง ซึ่งระดับไลโคปีนที่ตรวจพบจากการเจาะเลือดอาจเป็นผลมาจากการรับประทานมะเขือเทศ

แต่อีกงานวิจัยที่วิเคราะห์อาหารประเภทมะเขือเทศหรือไลโคปีนต่อความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้หญิงวัยกลางคนและสูงอายุ จำนวน 39,876 คน ในช่วงระยะเวลา 7 ปี กลับพบว่าไลโคปีนในอาหารไม่มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด แต่การรับประทานไลโคปีนหรือสารพฤกษเคมี (Phytochemicals) อื่น ๆ ที่มีน้ำมันเป็นองค์ประกอบอาจส่งผลดีในการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด

อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ของมะเขือเทศในการป้องกันหรือรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดยังระบุไม่ได้ชัดเจน การป้องกันโรคหรือรักษาโรคยังต้องอาศัยหลายองค์ประกอบ เช่น การควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย หรือปัจจัยด้านสุขภาพอื่น

โรคความดันโลหิตสูง การศึกษาเกี่ยวกับสารต้านอนุมูลอิสระจากสารสกัดจากมะเขือเทศในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงระดับที่ 1 (ความดันโลหิตอยู่ในช่วง 140-159 / 90-99 มม.ปรอท) โดยให้รับประทานสารสกัดจากมะเขือเทศ 250 กรัม เปรียบเทียบกับยาหลอก ผลพบว่าการรักษาด้วยสารสกัดจากมะเขือเทศระยะสั้น ซึ่งอุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระสามารถลดความดันโลหิตในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงลง แต่งานวิจัยนี้มีข้อจำกัดตรงที่เป็นการศึกษาในคนจำนวนน้อย ยังคงต้องมีการศึกษาผลต่อเนื่องในการรักษาและการใช้ในระยะยาวต่อปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด จึงยังไม่สามารถบอกผลได้อย่างแน่ชัด

โรคหอบหืด สารต้านอนุมูลอิสระอาจจะช่วยกระตุ้นให้เม็ดเลือดขาวทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยเฉพาะการป้องกันและขจัดการอักเสบในระบบทางเดินหายใจ แต่การศึกษาความสัมพันธ์กับการเกิดโรคหอบหืดยังมีอยู่จำกัด มีงานวิจัยผู้ป่วยโรคหอบหืดและการอักเสบของทางเดินลมหายใจ โดยให้ลองรับประทานอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระต่ำเป็นเวลา 10 วัน จากนั้นให้รับประทานยาหลอก 7 วัน ตามด้วยสารสกัดจากมะเขือเทศที่มีปริมาณไลโคปีน 45 มิลลิกรัมต่อวันอีก 7 วัน และต่อด้วยน้ำมะเขือเทศที่มีปริมาณไลโคปีน 45 มิลลิกรัมต่อวันอีก 7 วัน ผลพบว่า การบริโภคไลโคปีนอาจช่วยลดการอักเสบของปอดในโรคหืด ทั้งนี้ ไลโคปีนในรูปแบบอาหารเสริมควรได้รับการศึกษาเพิ่มเติม และระยะเวลาในการศึกษาค่อนข้างสั้น การระบุประสิทธิภาพของมะเขือเทศต่อการบรรเทาอาการโรคหอบหืดยังคงต้องมีการค้นคว้าเพิ่มขึ้น

ความปลอดภัยในการบริโภคมะเขือเทศ

ปริมาณมะเขือเทศที่รับประทานจากอาหารในชีวิตประจำวันมักไม่เป็นอันตรายต่อทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ผู้ที่ต้องการรับประทานมะเขือเทศ เพื่อวัตถุประสงค์ในการรักษาโรคควรรับประทานในปริมาณและระยะเวลาที่เหมาะสม รวมถึงระมัดระวังในกรณีต่อไปนี้

  • การรับประทานมะเขือเทศที่เป็นส่วนประกอบในอาหารหรือรับประทานสดค่อนข้างมีความปลอดภัย สำหรับมะเขือเทศในรูปสารสกัดไม่ควรรับประทานติดต่อกันนานเกิน 8 สัปดาห์ โดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์
  • การรับประทานใบมะเขือเทศในปริมาณมากอาจเป็นพิษ ทำให้ผู้ที่รับประทานเกิดผลข้างเคียง เช่น ระคายเคืองลำคอและช่องปากอย่างรุนแรง อาเจียน เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ กล้ามเนื้อหดเกร็ง หรือเป็นอันตรายถึงเสียชีวิตในบางราย
  • สตรีมีครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตรไม่ควรรับประทานมะเขือเทศในรูปสารสกัดในปริมาณมากโดยไม่ปรึกษาแพทย์ เนื่องจากยังไม่มีการศึกษาที่ยืนยันความปลอดภัยเพียงพอ