ทับทิม ดีต่อสุขภาพจริงหรือ?

ทับทิม เป็นผลไม้ที่นิยมรับประทานอย่างแพร่หลาย โดยใช้ประโยชน์จากส่วนที่เป็นผลสดมากที่สุดและยังนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น น้ำทับทิม สารสกัดจากทับทิม ผลิตภัณฑ์ด้านความงาม อีกทั้งยังใช้ทำเป็นยารักษาโรคตามสูตรยาโบราณในหลายประเทศ

ทับทิม

ทัมทิมอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระและสารพฤกษเคมีหลายชนิดที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย จึงเชื่อว่าอาจเป็นประโยชน์ในการป้องกันโรคหรือบรรเทาอาการ เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังหรือบรรเทาอาการหายใจลำบากจากโรคนี้ โรคหัวใจและหลอดเลือด คอเลสเตอรอลสูง โรคในระบบทางเดินอาหาร โรคความดันโลหิตสูง โรคในช่องปากและโรคเหงือก โรคริดสีดวงทวาร โรคผิวหนัง และอื่น ๆ

ในปัจจุบันยังมีงานวิจัยที่ศึกษาการใช้ทับทิมในรูปแบบแตกต่างกันกับการรักษาโรคที่ค่อนข้างจำกัด ทำให้ยังไม่สามารถระบุประสิทธิภาพของทับทิมต่อการรักษาโรคได้แน่ชัด ซึ่งตัวอย่างการศึกษาเรื่องทับทิมกับโรคต่าง ๆ มีดังนี้

โรคหลอดเลือดแดงแข็ง ทับทิมเป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระหลายตัว เช่น สารเอลลาจิแทนนิน (Ellagitannin) สารแทนนิน (Tannin) สารแอนโทไซยานิน (Anthocyanins) สารโพลิฟีนอล (Polyphenol) ที่เชื่อว่าช่วยยับยั้งปฏิกิริยาต้านอนุมูลอิสระของไขมันไม่ดี ลดการสร้างโฟมเซลล์ และลดการแข็งตัวของหลอดเลือด จึงอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดแดงแข็ง

จากการศึกษาฤทธิ์การต่อต้านสารอนุมูลอิสระของทับทิมในผู้ที่มีน้ำหนักเกินจำนวน 22 คน จากการรับประทานอาหารเสริมที่มีสารสกัดทับทิม วันละ 1,000 มิลลิกรัม (ประกอบด้วยกรดแกลลิค 610 มิลลิกรัม) และวัดผลจากค่า TBARS ในเลือด (Thiobarbituric Acid Reactive Substances: TBARS) ซึ่งเป็นค่าการตรวจวัดฤทธิ์ในการต่อต้านสารอนุมูลอิสระ เพื่อเปรียบเทียบกับผลก่อนการทดลอง พบว่าค่าดังกล่าวลดลง จึงคาดว่าการรับประทานทับทิมอาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยอีกชิ้นให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดแดงแข็งจำนวน 15 คน รับประทานอาหารเสริมจากทับทิมเป็นระยะเวลามากกว่า 1 ปีขึ้นไปและ 3 ปีขึ้นไป เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับประทานอาหารเสริม ผลปรากฏว่า กลุ่มที่รับประทานอาหาร 3 ปีขึ้นไป มีระดับไขมันที่ลดลงประมาณ 16% เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มอื่น จึงชี้ให้เห็นว่าการรับประทานสารสกัดจากทัมทิมมากกว่า 3 ปี อาจมีส่วนช่วยในการลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดแดงแข็ง ทั้งนี้ ยังคงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในระยะยาวกับกลุ่มการทดลองขนาดใหญ่มากขึ้น ทำให้ยังไม่สามารถสรุปผลของทับทิมและการรักษาโรคหลอดเลือดแดงแข็งได้อย่างชัดเจน

โรคเหงือกอักเสบ ทับทิมเป็นผลไม้อีกชนิดที่มีคุณสมบัติช่วยต้านเชื้อแบคทีเรีย จึงถูกนำมาใช้เป็นตัวเลือกในการรักษาโรคเหงือก เนื่องจากการรักษาหลักบางวิธีที่ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการบรรเทาอาการจากโรคมากเท่าที่ควรและลดความเสี่ยงด้านสุขภาพจากการรักษาโรคนี้โดยใช้สารเคมี

จากการทดลองทางคลินิกกับผู้ป่วยโรคเหงือกอักเสบเรื้อรัง จำนวน 40 คน เพื่อดูประสิทธิภาพของเจลสารสกัดจากทับทิมเป็นระยะเวลา 21 วัน โดยในแต่ละกลุ่มจะใช้วิธีรักษาที่แตกต่างกัน ผลพบว่า กลุ่มที่ใช้เจลสารสกัดจากทับทิมควบคู่กับการรักษาโรคเหงือกอักเสบโดยวิธีการขูดหินน้ำลาย เกลารากฟัน (Mechanical Debridement) มีอาการดีขึ้นภายใน 7 วันแรก เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่เหลือในการทดลอง ซึ่งเจลสารสกัดจากทับทิมจึงอาจนำไปประยุกต์ใช้เป็นผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปากสำหรับผู้ป่วยโรคเหงือกอักเสบควบคู่กับการรักษาด้วยวิธีรักษาที่เป็นมาตรฐานในอนาคต

สอดคล้องกับการทดลองอีกชิ้นที่ศึกษาประสิทธิภาพของน้ำยาบ้วนปากที่มีสารสกัดจากทับทิมเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ใช้ยาหลอกรูปแบบเจลในการรักษาผู้ที่เป็นโรคเหงือกอักเสบจำนวน 32 คน พบว่าการใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีสารสกัดจากทับทิม วันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 4 สัปดาห์ มีสุขภาพช่องปากดีขึ้นและปัญหาโรคเหงือกอักเสบลดลงมากกว่ากลุ่มที่ใช้ยาหลอก การวิจัยนี้ชี้ให้เห็นว่าสารสกัดจากทับทิมอาจนำไปใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปาก เช่น ยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก เพื่อช่วยป้องกันและบรรเทาอาการของโรคเหงือกอักเสบ 

ป้องกันการเกิดคราบจุลินทรีย์ สารสกัดจากทับทิมมีประสิทธิภาพในการลดคราบจุลินทรีย์ตามผิวฟัน และอาจนำไปสู่โรคทางช่องปากอีกหลายชนิด ซึ่งจากการทดลองให้อาสาสมัครที่มีสุขอนามัยในช่องปากดี จำนวน 30 คน หยุดใช้น้ำยาบ้วนปากที่เคยใช้ปกติ แต่สลับมาใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีสารสกัดจากทับทิม น้ำยาบ้วนปากคลอเฮกซิดีน (Chlorhexidine) และยาหลอกในแต่ละกลุ่ม โดยใช้บ้วนปาก วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 5 วัน ผลพบว่าอาสาสมัครที่ใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีสารสกัดจากทับทิมมีอัตราการเกิดคราบจุลินทรีย์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญมากกว่ายาหลอก แต่มีประสิทธิภาพไม่ต่างจากน้ำยาบ้วนปากคลอเฮกซิดีน จึงพอจะบอกได้ว่าสารสกัดจากทับทิมอาจลดโอกาสในการเกิดคราบจุลินทรีย์ภายในช่องปาก

ขณะเดียวกัน การศึกษาอีกชิ้นก็ชี้ว่าสารสกัดทับทิมน่าจะมีส่วนช่วยในการลดการเกิดคราบจุลินทรีย์ ซึ่งในการทดลองได้เก็บคราบจุลินทรีย์จากช่องปากของอาสาสมัครที่มีสุขภาพดีและกำลังจัดฟัน อายุ 9-25 ปี จำนวน 60 คน หลังงดแปรงฟันเป็นระยะเวลา 24 ชั่วโมง เพื่อเปรียบเทียบผลก่อนและหลังการใช้น้ำยาบ้วนปากชนิดแตกต่างกันในแต่ละกลุ่ม ได้แก่ น้ำยาบ้วนปากจากสารสกัดทับทิม น้ำยาบ้วนปากคลอเฮกซิดีน และยาหลอก ปรากฏพบว่า น้ำยาบ้วนปากจากสารสกัดทับทิมมีประสิทธิภาพในการลดคราบจุลินทรีย์ลงมากที่สุดประมาณ 84% รองลงมาเป็นน้ำยาบ้วนปากคลอเฮกซิดีน 79% และยาหลอกที่ลดลงเพียง 11% จึงอาจจะบอกได้ว่าสารสกัดจากทับทิมมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียและเป็นตัวเลือกในการใช้ขจัดคราบจุลินทรีย์บนผิวฟัน ทั้งนี้ จากข้อมูลข้างต้นยังคงต้องมีการติดตามผลในระยะยาวจากการใช้สารสกัดทับทิมอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากระยะเวลาในการทดลองค่อนข้างสั้น

ภาวะคอเลสเตอรอลสูง ทับทิมมีสรรพคุณที่กล่าวกันว่าสามารถช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลได้เป็นอย่างดี จากการศึกษาผลของการดื่มน้ำทับทิมเข้มข้น 40 กรัม ในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และมีภาวะไขมันในเลือดสูงจำนวน 22 คน เป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์โดยระหว่างการทดลองจะมีการเก็บข้อมูลอาหารที่รับประทานอาหารภายใน 24 ชั่วโมง ทุก ๆ 10 วัน (รวมถึงอาหารที่มีสารฟลาโวนอยด์) หลังจบสัปดาห์ที่ 8 พบว่าผู้ป่วยมีระดับไขมันรวม ไขมันชนิดไม่ดี อัตราส่วนของไขมันไม่ดีกับไขมันดี และอัตราส่วนของไขมันรวมกับไขมันดีที่มีสะสมอยู่ในเลือดลดลง แต่ไม่พบการเปลี่ยนแปลงของระดับไตรกลีเซอไรด์และระดับความเข้มข้นของไขมันดี ซึ่งชี้ให้เห็นว่าน้ำทับทิมอาจมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจโดยลดระดับไขมันในผู้ป่วยโรคเบาหวานลง แต่ยังบอกไม่ได้ชัดเจน เนื่องจากอาหารชนิดอื่นที่รับประทานอาจมีส่วนช่วยในการลดไขมันในเลือดได้เช่นกัน และกลุ่มการทดลองมีขนาดเล็ก จึงควรขยายผลการศึกษาในกลุ่มที่ใหญ่ขึ้นเพิ่มเติม นอกจากนี้ การรักษาภาวะคอเลสเตอรอลสูงควรมีการควบคุมอาหารและการออกกำลังกายไปพร้อมกัน ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อการลดระดับไขมันในเลือดมากขึ้น

โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ทับทิมอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด โดยเฉพาะสารโพลีฟีนอลที่พบมากในทับทิม จากรายงานผลที่พบในห้องทดลองระบุว่าสารเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการบรรเทาอาการของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังและอาจชะลอไม่ให้โรคพัฒนาอย่างรวดเร็ว จึงมีการศึกษาประสิทธิภาพของสารโพลีฟีนอลในคนเพิ่มเติม โดยให้ผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง จำนวน 30 คน แบ่งเป็นกลุ่มที่ดื่มน้ำทับทิม 400 มิลลิลิตร (มีสารโพลิฟีนอล 2.66 กรัม) เปรียบเทียบกับอีกกลุ่มที่รับประทานยาหลอกติดต่อกันทุกวันเป็นระยะ 5 สัปดาห์ ผลปรากฏว่า ไม่พบสารโพลิฟีนอลทั้งในเลือดและปัสสาวะของผู้ป่วย อีกทั้งยังไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่าง 2 กลุ่ม จึงคาดว่าทับทิมไม่น่ามีส่วนช่วยในการรักษาหรือบรรเทาโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง

โดยทั่วไปสารอาหารที่เข้าสู่ร่างกายจะถูกเผาผลาญผ่านกระบวนเมตาบอลิซึมและตรวจพบได้ในเลือดหรือปัสสาวะ แต่ผลการศึกษากลับไม่พบสารโพลีฟีนอลจากการรับประทาน ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการย่อยสลายสารเหล่านี้โดยจุลินทรีย์ในระบบย่อยอาหาร จึงควรทำความเข้าใจกระบวนการดูดซึมสารอาหารที่แตกต่างกันก่อนจะกล่าวอ้างถึงประโยชน์ด้านสุขภาพจากการรับประทาน เพราะสารอาหารที่พบในอาหารที่รับประทานอาจไม่ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ในร่างกายคนเราทั้งหมด

โรคและอาการอื่น ๆ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ การหย่อนสมรรถภาพทางเพศ เจ็บกล้ามเนื้อหลังการออกกำลังกาย กลุ่มอาการอ้วนลงพุง โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก เยื่อบุช่องปากอักเสบ ผิวไหม้จากแสงแดด การติดเชื้อทริโคโมแนส (Trichomoniasis) ท้องร่วง โรคบิด เจ็บคอ โรคริดสีดวงทวาร อาการวัยทอง และอื่น ๆ ยังจำเป็นต้องทำการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเพื่อหาหลักฐานเกี่ยวกับประสิทธิภาพและความปลอดภัยของทับทิมในการรักษาโรค

ข้อมูลทางโภชนศาสตร์ของผลทับทิม 100 กรัม (โดยประมาณ)

น้ำ 77.93 กรัม

พลังงาน 83 กิโลแคลอรี่

โปรตีน 1.67 กรัม

ไขมัน 1.17 กรัม

คาร์โบไฮเดรต 18.70 กรัม

เส้นใย 4.0 กรัม

น้ำตาล 13.67 กรัม

แคลเซียม 10 มิลลิกรัม

เหล็ก 0.30 มิลลิกรัม

แมงกานีส 12 มิลลิกรัม

ฟอสฟอรัส 36 มิลลิกรัม

โพแทสเซียม 236 มิลลิกรัม

โซเดียม 3 มิลลิกรัม

สังกะสี 0.35 มิลลิกรัม

วิตามินซี 10.2 มิลลิกรัม

วิตามินบี 1 0.067 มิลลิกรัม

วิตามินบี 2 0.053 มิลลิกรัม

วิตามินบี 3 0.293 มิลลิกรัม

วิตามินบี 6 0.075 มิลลิกรัม

โฟเลต 38 ไมโครกรัม

วิตามินอี 0.60 มิลลิกรัม

วิตามินเค 16.4 ไมโครกรัม

ความปลอดภัยในการรับประทานทับทิมหรือผลิตภัณฑ์จากทับทิม

  • โดยทั่วไปการรับประทานน้ำทับทิมค่อนข้างมีความปลอดภัย แต่ในบางรายที่มีอาการแพ้ผลสดของทับทิมอาจเกิดผลข้างเคียงจากการดื่มน้ำทับทิมได้
  • รากทับทิมประกอบด้วยสารที่เป็นพิษต่อร่างกาย การรับประทานรากและลำต้นของทับทิมในปริมาณมากอาจไม่ปลอดภัย
  • สารสกัดจากทับทิมค่อนข้างปลอดภัยในการรับประทานหรือนำมาใช้กับผิวหนัง แต่อาจก่อให้เกิดอาการแพ้เล็กน้อยในบางราย เช่น อาการคัน บวม น้ำมูกไหล หรือหายใจลำบาก
  • การรับประทานน้ำทับทิมค่อนข้างมีความปลอดภัยสำหรับหญิงตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร แต่ยังไม่มีรายงานยืนยันความปลอดภัยในการรับประทานหรือใช้ทับทิมในรูปแบบอื่น เช่น สารสกัดจากทับทิม จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนการรับประทานทุกครั้ง
  • น้ำทับทิมอาจส่งผลให้ความดันเลือดลดต่ำลงเล็กน้อย ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยที่มีภาวะความดันต่ำอาการแย่ลง
  • ผู้ที่มีอาการแพ้จากพิษพืชอาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการแพ้จากการรับประทานทับทิม
  • ผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดควรหยุดรับประทานทับทิมอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เนื่องจากทับทิมส่งผลให้ความดันเลือดต่ำลง จึงอาจกระทบต่อความดันเลือดในขณะผ่าตัดหรือมีผลต่อเนื่องไปยังหลังการผ่าตัด
  • การรับประทานทับทิมควบคู่กับยาบางชนิดอาจส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาระหว่างยา เช่น ยาที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของตับโดยเอนไซม์ตับ Cytochrome ชนิด P450 2D6 หรือชนิด P450 3A4 ยาลดความดันโลหิตหรือเอซีอี อินฮิบิเตอร์ ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง ยาโรสุวาสแตติน ผู้ที่รับประทานยาเป็นประจำหรือมีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์ก่อนการรับประทานเพื่อความปลอดภัย