รู้จักกับแอนโทไซยานิน (Anthocyanins) สารพฤกษเคมีในผักผลไม้

แอนโทไซยานิน (Anthocyanins) เป็นสารที่ให้สีแดง น้ำเงิน และม่วงในพืช จัดอยู่ในกลุ่มฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) ที่มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) ซึ่งจะช่วยป้องกันเซลล์ในร่างกายจากการทำลายของอนุมูลอิสระที่อาจนำไปสู่โรคเรื้อรังต่างๆ  

นอกจากนี้ แอนโทไซยานินอาจช่วยลดการอักเสบในร่างกาย ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ มะเร็ง เบาหวานชนิดที่ 2 และโรคอื่น ๆ ซึ่งบทความนี้ได้รวบรวมประโยชน์ของแอนโทไซยานินที่มีต่อสุขภาพ และแหล่งอาหารที่พบเอาไว้แล้ว

ประโยชน์ของแอนโทไซยานิน สารพฤกษเคมีในผักผลไม้

แอนโทไซยานินมีประโยชน์อย่างไร

การศึกษาประโยชน์ของแอนโทไซยานินในปัจจุบัน พบว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพในด้านต่าง ๆ ดังนี้

ต้านอนุมูลอิสระ

อนุมูลอิสระ (Free Radicals) เกิดจากกระบวนการย่อยสลายอาหารในร่างกายให้เป็นพลังงาน และอาจเกิดจากการได้รับปัจจัยภายนอก เช่น รังสียูวี ควันบุหรี่ มลภาวะ การรักษาด้วยการฉายแสง (Medical Radiation) และเชื้อไวรัสบางชนิด 

เมื่อร่างกายมีปริมาณอนุมูลอิสระสูงก็อาจนำไปสู่โรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง ด้วยเหตุนี้ การรับประทานอาหารที่มีแอนโทไซยานินที่มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ อาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเหล่านี้ได้

ลดการอักเสบในร่างกาย

การรับประทานอาหารหรืออาหารเสริมที่มีแอนโทไซยานินอาจช่วยลดการอักเสบในร่างกายในผู้ที่มีโรคบางโรค งานวิจัยบางส่วนระบุว่าการได้รับแอนโทไซยานินอาจช่วยต้านการอักเสบที่เกิดจากภาวะไขมันในเลือดสูง (Dyslipidemia) น้ำหนักเกินและโรคอ้วน โดยให้รับประทานอาหารเสริมแอนโทไซยานิน 320 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ในช่วงระหว่าง 1–3 เดือน แล้วพบว่าค่าที่บ่งบอกถึงระดับการอักเสบในเลือดลดลง

ผลการวิจัยอีกชิ้นหนึ่งระบุว่าสารในกลุ่มโพลีฟีนอล (Polyphenols) อย่างแอนโทไซยานินที่พบมากในผลไม้ตระกูลเบอร์รี่และทับทิมอาจช่วยลดอาการปวดและอักเสบในผู้ที่เป็นข้ออักเสบได้

ช่วยการทำงานของหัวใจ

แอนโทไซยานินมีส่วนช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis) ที่เกิดจากไขมันสะสมที่ผนังหลอดเลือดแดง ซึ่งอาจทำให้ความดันโลหิตสูง เกิดโรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง งานวิจัยบางส่วนพบว่าการดื่มน้ำผลไม้ที่มีแอนโทไซยานิน เช่น เชอร์รี่และลูกไหน (Plum) เป็นประจำทุกวันมีส่วนช่วยลดระดับความดันโลหิต โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ

นอกจากนี้ บางงานวิจัยพบว่าแอนโทไซยานินอาจมีส่วนช่วยลดไตรกลีเซอร์ไรด์ (Triglyceride) และคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (Low-Density Lipoproteins: LDL) ซึ่งเป็นปัจจัยที่นำไปสู่โรคหัวใจ การรับประทานผลไม้ที่มีสารแอนโทไซยานินสูงอาจช่วยเพิ่มค่าการขยายตัวของหลอดเลือดในผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดี เช่น แครนเบอร์รี่ บลูเบอร์รี่ และองุ่น

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยเหล่านี้ศึกษาในกลุ่มตัวอย่างจำนวนไม่มาก จึงจำเป็นต้องรอผลการศึกษาจากงานวิจัยอื่น ๆ ในอนาคต

ลดระดับน้ำตาลในเลือด

สารแอนโทไซยานินอาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดที่นำไปสู่โรคเบาหวาน โดยงานวิจัยระบุว่าการรับประทานอาหารที่มีแอนโทไซยานิน เช่น ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ กะหล่ำปลีม่วง และเชอร์รี่เป็นประจำทุกวันอาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2

ลดความเสี่ยงของโรคมะเร็ง

งานวิจัยบางส่วนพบว่าสารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ อย่างแอนโทไซยานินอาจช่วยยับยั้งการก่อตัวและป้องกันการลุกลามของเซลล์มะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งผิวหนังเมลาโนมา (Melanoma) มะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia) และมะเร็งรังไข่ 

การเสริมด้วยสารแอนโทไซยานินร่วมกับการใช้ยาเคมีบำบัดจึงมีแนวโน้มให้ผลดีในการรักษามะเร็ง และไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรงเท่ากับยารักษามะเร็งชนิดอื่น ๆ 

แอนโทไซยานินอาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคตา เช่น เบาหวานขึ้นตา (Diabetic Retinopathy) และต้อหิน รวมถึงช่วยให้ระบบลำไส้ทำงานได้ดี เสริมความจำ ช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์ พาร์กินสัน และโรคที่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น ไข้หวัดใหญ่ และการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ 

อย่างไรก็ตาม การศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์เหล่านี้ยังมีจำนวนไม่มาก ทำการทดลองในระยะสั้น และทดลองในสัตว์หรือหลอดทดลอง จึงควรรอผลการศึกษาเพิ่มเติมต่อไปในอนาคต

แหล่งอาหารเพิ่มแอนโทไซยานิน

แอนโทไซยานินเป็นสารที่พบเฉพาะในพืช โดยมักพบในผักผลไม้ที่มีสีแดง น้ำเงิน และม่วง รวมทั้งธัญพืชและถั่วที่มีสีเข้ม ปริมาณแอนโทไซยานินในพืชแต่ละชนิดอาจแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับพื้นที่และสภาพอากาศในการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว

ตัวอย่างพืชที่มีแอนโทไซยานิน

  • ผัก เช่น กะหล่ำปลีม่วง กะหล่ำดอกสีม่วง ข้าวโพดสีม่วง หอมแดง มะเขือเทศ และเปลือกของมะเขือยาว
  • ผลไม้ เช่น บลูเบอร์รี่ แครนเบอร์รี่ อาซาอิเบอร์รี่ (Acai Berries) เชอร์รี่ องุ่น เรดเคอร์แรนท์ (Red Currant) ทับทิม 
  • ธัญพืช เช่น ข้าวหอมนิล (Black Rice) ถั่วดำ และถั่วเหลืองผิวดำ (Black Soybean) 

นอกจากนี้ แอนโทไซยานินได้รับความนิยมมาสกัดเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหลายประเภท โดยมักสกัดจากบลูเบอร์รี่ เอลเดอร์เบอร์รี่ (Elderberry) และทาร์ตเชอร์รี่ (Tart Cherry) ซึ่งเป็นตัวช่วยเสริมปริมาณแอนโทไซยานินนอกเหนือจากการรับประทานอาหารทั่วไป

อย่างไรก็ตาม แอนโทไซยานินไม่จัดเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย จึงไม่มีการกำหนดปริมาณที่ควรได้รับต่อวัน การรับประทานอาหารเสริมแอนโทไซยานินมากเกินอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง โดยงานวิจัยในสัตว์ทดลองพบว่าอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อไต ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ ส่งผลต่อประสิทธิภาพของยารักษาโรคที่ใช้อยู่ และอาจขัดขวางการดูดซึมสารอาหารในร่างกาย

ทั้งนี้ ควรเลือกรับประทานผักผลไม้สดและธัญพืชที่มีสีแดง น้ำเงิน และม่วงที่มีสารแอนโทไซยานินเป็นหลัก ควบคู่กับการรับประทานอาหารอื่น ๆ ที่มีประโยชน์เพื่อให้ได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน หากต้องการรับประทานอาหารเสริม ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ โดยเฉพาะผู้มีโรคประจำตัวหรือใช้ยารักษาโรคประจำตัวอยู่ และไม่ควรใช้อาหารเสริมแทนการรักษาตามคำแนะนำของแพทย์