โพลีฟีนอล สารต้านอนุมูลอิสระจากธรรมชาติที่ดีต่อสุขภาพ

โพลีฟีนอล (Polyphenols) คือกลุ่มของสารที่ให้สีที่พบในพืชผักผลไม้ทั่วไป มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ การรับประทานพืชผักที่มีสารโพลีฟีนอลอาจเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น บำรุงระบบย่อยอาหาร ช่วยการทำงานของสมอง และอาจช่วยป้องกันโรคหัวใจ โรคเบาหวานชนิดที่ 2 และมะเร็งบางชนิด

โพลีฟีนอลพบได้ตามธรรมชาติในผัก ผลไม้ ใบชา ไวน์ ดาร์กช็อกโกแลต เครื่องเทศต่าง ๆ และมีการนำมาสกัดเป็นอาหารเสริม บทความนี้จะชวนทุกคนมาทำความรู้จักประโยชน์ของโพลีฟีนอล แหล่งอาหารที่พบ และการรับประทานให้ปลอดภัยต่อสุขภาพไปด้วยกัน

รู้จักกับโพลีฟีนอล สารต้านอนุมูลอิสระจากธรรมชาติ

ประเภทของโพลีฟีนอลและแหล่งที่พบ

ปัจจุบันมีการค้นพบโพลีฟีนอลมากกว่า 8,000 ชนิด โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ที่พบในพืชและอาหารต่างกัน เช่น

  • ฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบของเซลล์ในร่างกาย โดยสารในกลุ่มโพลีฟีนอลมากกว่าครึ่งหนึ่งจัดอยู่ในกลุ่มฟลาโวนอยด์ สามารถแบ่งได้เป็นหลายกลุ่ม เช่น ฟลาวานอล (Flavanols) ฟลาวาน-3-ออล (Flavan-3-ols) ฟลาโวน (Flavones) ฟลาวาโนน (Flavanones) ไอโซฟลาโวน (Isoflavones) และแอนโทไซยานิน (Anthocyanins)
  • กรดฟีนอลิก (Phenolic Acids) เช่น สารสติลบีน (Stilbenes) และสารลิกแนน (Lignans) เป็นสารต้านอนุมูลอิสระเช่นเดียวกับสารอื่น ๆ ในกลุ่มโพลีฟีนอล และมีคุณสมบัติต้านการอักเสบในร่างกาย พบได้ประมาณ 30% จากสารในกลุ่มโพลีฟีนอลทั้งหมด
  • โพลีฟีนอลิก เอไมด์ (Polyphenolic Amides) เช่น แคปไซซินอยด์ (Capsaicinoids) ซึ่งเป็นสารให้รสเผ็ดร้อนที่พบในพริก และอะเวนันทราไมด์ (Avenanthramides) ที่อาจช่วยลดคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (Low-Density Lipoprotein: LDL) 
  • โพลีฟีนอลตัวอื่น ๆ เช่น กรดเอลลาจิก (Ellagic Acid) 

สารโพลีฟินอล

แหล่งอาหารที่มีโพลีฟินอล

ฟลาโวนอยด์  ผักเคล ผักกาดหอม มะเขือเทศ หอมใหญ่ ขึ้นฉ่าย มะนาว ส้ม ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ แอปเปิ้ล ถั่ว ไวน์แดง ชา ช็อกโกแลต และสารฟลาโวอยด์รูปแบบอาหารเสริม
กรดฟีนอลิก  องุ่น บลูเบอร์รี่ แครนเบอร์รี่ ไวน์แดง ถั่วลิสง ธัญพืชขัดสีน้อย เมล็ดแฟลกซ์ และงา
โพลีฟีนอลิก เอไมด์                                                                    พริก ข้าวโอ๊ต
กรดเอลลาจิก ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ และเคอร์คิวมิน (Curcumin) ซึ่งป็นสารที่พบมากในขมิ้น

ประโยชน์ของโพลีฟีนอล

โพลีฟีนอลมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ จึงช่วยป้องกันความเสียหายของเซลล์ภายในร่างกายจากการทำลายของอนุมูลอิสระ และยังมีคุณสมบัติต้านการอักเสบในร่างกาย จึงอาจเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพในด้านต่าง ๆ เช่น

ลดระดับน้ำตาลในเลือด
โพลีฟีนอลอาจช่วยยับยั้งการย่อยแป้งให้เป็นน้ำตาลเชิงเดี่ยว ซึ่งทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดไม่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วหลังการรับประทานอาหาร และกระตุ้นการหลั่งอินซูลินที่ช่วยให้ร่างกายนำน้ำตาลในเลือดไปใช้เป็นพลังงาน ทำให้น้ำตาลในเลือดลดลง จึงอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานชนิดที่ 2

ลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด
โพลีฟีนอลช่วยลดระดับความดันโลหิตและคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี ช่วยเพิ่มคอเลสเตอรอลชนิดดี (High-Density Lipoprotein: HDL) ช่วยป้องกันการเกิดลิ่มเลือด และผลการวิจัยพบว่าการรับประทานอาหารที่มีโพลีฟีนอล เช่น ชา โกโก้ และไวน์ สามารถลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดได้

เสริมการทำงานของสมอง
โพลีฟีนอลมีส่วนช่วยเสริมการทำงานของสมองและเพิ่มประสิทธิภาพด้านความจำ โดยอาจเป็นผลมาจากคุณสมบัติการต้านอนุมูลอิสระของสารโพลีฟีนอลชนิดต่าง ๆ ซึ่งอาจช่วยให้เลือดไหลเวียนไปยังสมองได้ดีขึ้น เช่น สารเคอร์คิวมินในขมิ้น สารฟลาวานอลในโกโก้ และสารโพลีฟีนอลที่พบในชาเขียวและใบแปะก๊วย

ดีต่อระบบย่อยอาหาร
โพลีฟีนอลช่วยในการทำงานของระบบย่อยอาหารและป้องกันการติดเชื้อ โดยช่วยเสริมสร้างแบคทีเรียชนิดดีและกำจัดแบคทีเรียที่เป็นโทษต่อร่างกาย เช่น การรับประทานชาเขียวอาจช่วยให้แบคทีเรียที่มีประโยชน์ในลำไส้ อย่างไบฟิโดแบคทีเรีย (Bifidobacteria) เจริญเติบโต และช่วยกำจัดเชื้ออีโคไล (E. coli) และซาโมเนลลา (Salmonella) ที่อาจทำให้ปวดท้อง ท้องเสีย และอาเจียน

ลดความเสี่ยงจากโรคมะเร็งบางชนิด
โพลีฟีนอลมีส่วนช่วยป้องกันและยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งลำไส้ มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งเต้านม

อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาเกี่ยวกับโพลีฟีนอลในปัจจุบันส่วนใหญ่ศึกษาในสัตว์หรือหลอดทดลอง จึงจำเป็นต้องรอผลการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับประโยชน์ของโพลีฟีนอลที่มีต่อสุขภาพต่อไป

ข้อควรรู้ก่อนรับประทานโพลีฟีนอล

การรับประทานอาหารที่มีโพลีฟีนอลในปริมาณมาก เช่น ผักผลไม้ที่มีใยอาหารสูง และถั่วที่มีสารเลคติน (Lectin) สูง อาจทำให้รู้สึกไม่สบายท้อง ท้องอืด และอาหารไม่ย่อยได้ จึงควรเริ่มจากรับประทานทีละน้อยแล้วค่อย ๆ เพิ่มจำนวนเมื่อร่างกายปรับตัวได้แล้ว

นอกจากนี้ สารโพลีฟีนอลบางชนิด เช่น สาร EGCG (Epigallocatechin Gallate) และเรสเวอราทรอล อาจพบในรูปสารสกัดในอาหารเสริม อย่างไรก็ตาม ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าโพลีฟีนอลในรูปอาหารเสริมจะให้ประโยชน์ต่อสุขภาพได้เทียบเท่าการรับประทานอาหารที่มีโพลีฟีนอล

ผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือใช้ยารักษาโรคอยู่  ควรปรึกษาแพทย์ก่อน เนื่องจากอาจมีปริมาณสารโพลีฟีนอลสูงกว่าการได้รับจากอาหารหลายเท่า และอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น ทำให้สารอาหารดูดซึมได้น้อยลง และทำปฏิกิริยากับยาบางชนิด 

โพลีฟีนอลเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายด้าน หากเรารับประทานอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลายก็มักได้รับโพลีฟีนอลอย่างเพียงพออยู่แล้ว แต่ผู้ที่กังวลว่าจะได้รับโพลีฟีนอลจากการรับประทานอาหารไม่เพียงพอและต้องการรับประทานอาหารเสริม ควรศึกษาข้อมูลและปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ