ไขมันในเลือดสูง

ความหมาย ไขมันในเลือดสูง

ไขมันในเลือดสูง (Hyperlipidemia หรือ Dyslipidemia) คือภาวะที่ระดับไขมันในเลือดสูงจนอาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย โดยไขมันชนิดหลักที่พบในเลือดมี 2 ชนิด ได้แก่ ไตรกลีเซอไรด์  (Triglycerides) และคอเลสเตอรอล (Cholesterol) ซึ่งมีความสำคัญต่อระบบการทำงานของร่างกาย แต่หากมีปริมาณสูงเกินไปอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง

ไตรกลีเซอไรด์ได้มาจากร่างกายสร้างขึ้นเองหรือได้รับจากอาหารที่รับประทานเข้าไปโดยตรง อย่างเนื้อแดงหรือผลิตภัณฑ์นมที่มีไขมัน นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ประเภทน้ำตาลทราย น้ำตาลฟรักโทส และแอลกอฮอล์ก็มีส่วนเพิ่มปริมาณไตรกลีเซอไรด์ในร่างกายได้เช่นกัน 

ไขมันในเลือดสูง

สำหรับคอเลสเตอรอลมีความจำเป็นต่อเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย โดยเป็นไขมันที่ร่างกายสามารถสังเคราะห์ขึ้นเองจากตับและสามารถพบได้ในอาหาร เช่น ไข่ สัตว์เนื้อแดง โดยเฉพาะเครื่องในสัตว์ หนังสัตว์ และชีส เป็นต้น 

ด้วยคุณสมบัติที่ไม่ละลายในน้ำของไขมัน จึงต้องรวมตัวกับโปรตีนในตับจนเกิดเป็น ไลโปโปรตีน (Lipoprotein) เพื่อให้สามารถลำเลียงในเลือดได้  ซึ่งไลโปโปรตีนในร่างกายมี 3 ชนิด ได้แก่ 

  • คอเลสเตอรรอลชนิดไม่ดี (Low-Density Lipoprotein: LDL) 
  • คอเลสเตอรรอลชนิดดี (High-Density Lipoprotein: HDL) 
  • วีแอลดีแอล (Very Low-Density Lipoprotein: VLDL) ที่ส่วนใหญ่ประกอบด้วยไตรกลีเซอไรด์ 

ไขมันในเลือดสูงเป็นที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า คอเลสเตอรรอลสูง แต่หากใช้คำว่าไขมันในเลือดสูงนั้นจะมีความหมายที่ครอบคลุมมากกว่าคอเลสเตอรรอลสูง เนื่องจากเป็นการเรียกรวมถึงไขมันทั้งคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอร์ไรด์ด้วย

อาการของไขมันในเลือดสูง

ในระยะแรก คนส่วนมากมักไม่ทราบว่าตนเองมีระดับไขมันในเลือดสูง เพราะไม่มีอาการแสดงให้เห็น แต่หากในร่างกายมีคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์มากเกินไปเป็นระยะเวลานาน ต่อมาอาจเกิดการสะสมของไขมันในหลอดเลือดแดง ทำให้หลอดเลือดตีบแคบลงและเลือดไหลเวียนได้ลำบาก ส่งผลให้ผู้ป่วยอาจมีความดันโลหิตสูงขึ้น นอกจากนี้ การสะสมของไขมันในหลอดเลือดอาจทำให้เกิดเป็นลิ่มเลือดอุดตันที่หัวใจ และอาจนำไปสู่ภาวะหัวใจขาดเลือด หรือหากเกิดขึ้นบริเวณสมองก็อาจนำไปสู่โรคหลอดเลือดสมอง

สาเหตุของไขมันในเลือดสูง

ไขมันในเลือดสูงเกิดได้จากหลายปัจจัย ดังนี้

พฤติกรรมการใช้ชีวิต

การมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพเป็นสาเหตุหลักที่เพิ่มโอกาสในการเกิดไขมันในเลือดสูง โดยเฉพาะการรับประทานอาหารที่มีคอเลสเตอรอล ไขมันอิ่มตัว ไขมันทรานส์ หรือคารโบไฮเดรตสูงเกินไป เช่น อาหารประเภทชีส ไข่แดง อาหารประเภททอดหรือผ่านกระบวนการแปรรูป ไอศกรีม ขนมอบ เนื้อแดง เป็นต้น นอกจากนี้ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอหรือเคลื่อนไหวร่างกายน้อย รวมทั้งการสูบบุหรี่หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปก็สามารถนำไปสู่ไขมันในเลือดสูงได้เช่นกัน

ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ

นอกเหนือจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต ยังพบปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดไขมันในเลือดได้มากขึ้น ได้แก่

  • อายุ โดยระดับของคอเลสเตอรอลมักเพิ่มขึ้นเมื่อมีอายุมากขึ้น
  • กรรมพันธ์ุ โรคไขมันในเลือดสูงอาจมาจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม (Familial Hypercholesterolemia) ส่งผลให้บุคคลนั้นมีความผิดปกติในการเผาผลาญไขมัน ซึ่งอาจนำไปสู่โรคหลอดเลือดแดงแข็งหรือเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจได้แม้ผู้ป่วยจะมีอายุน้อย
  • มีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคไต ภาวะขาดไทรอยด์ (Underactive Thyroid) ภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน กลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ (Polycystic Ovary Syndrome) เป็นต้น

การวินิจฉัยไขมันในเลือดสูง

เนื่องจากไขมันในเลือดสูงระยะแรกไม่มีอาการแสดงออกอย่างชัดเจน การวินิจฉัยโรคจึงใช้วิธีการตรวจหาระดับไขมันในเลือดที่เรียกว่าหรือ Lipid Profile โดยแพทย์จะทำการเก็บตัวอย่างเลือดของผู้ป่วยและส่งตรวจไปยังห้องปฏิบัติการ นอกจากนี้ แพทย์อาจสั่งให้งดอาหารและเครื่องดื่มเป็นเวลา 12 ชั่วโมงก่อนการตรวจ โดยเกณฑ์วัดระดับไขมันในเลือดจะแสดงค่าต่าง ๆ ดังนี้

ค่าคอเลสเตอรอลชนิดดี หรือเอชดีแอล  

  • ระดับต่ำ : ค่าน้อยกว่า 40 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
  • ระดับสูง : ค่ามากกว่า 60 มิลลิกรัม/เดซิลิตร 

ค่าคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี หรือแอลดีแอล 

  • ระดับปกติ : ค่าน้อยกว่า 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
  • ระดับใกล้เคียงปกติ : ค่า 100-129 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
  • ระดับสูงเล็กน้อย : ค่า 130-159 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
  • ระดับสูง : ค่า 160-189 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
  • ระดับสูงมาก : ค่ามากกว่า 190 มิลลิกรัม/เดซิลิตร

ค่าไตรกลีเซอไรด์ 

  • ระดับปกติ : ค่าน้อยกว่า 150 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
  • ระดับสูงเล็กน้อย : ค่า 150-199 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
  • ระดับสูง : ค่า 200-499 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
  • ระดับสูงมาก : ค่ามากกว่า 500 มิลลิกรัม/เดซิลิตร

ค่าคอเลสเตอรอลรวม (Total Cholesterol) 

  • ระดับปกติ : ค่าน้อยกว่า 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
  • ระดับสูงเล็กน้อย : ค่า 200-239 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
  • ระดับสูง : ค่ามากกว่า 240 มิลลิกรัม/เดซิลิตร

ทั้งนี้ ก่อนทำการวินิจฉัยและรักษาในขั้นต่อไป แพทย์จะคำนวณความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจ โดยพิจารณาจากผลตรวจวัดระดับไขมันในเลือดประกอบกันกับอายุ สุขภาพโดยรวม พฤติกรรมการสูบบุหรี่ และประวัติครอบครัวของผู้ป่วยร่วมด้วย 

การรักษาไขมันในเลือดสูง

เป้าหมายของการรักษาคือการลดระดับคอเลสเตอรอลลงอย่างมีประสิทธิภาพ โดยอาจให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตหรือดูแลเรื่องการรับประทานอาหารให้ดีขึ้น แต่บางรายอาจต้องใช้ยาควบคู่กันไปด้วย  

การรักษาโดยการปรับพฤติกรรม

การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตถือเป็นส่วนสำคัญในการรักษาโรค เนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอาการแทรกซ้อน โดยเฉพาะโรคหัวใจหรือโรคหลอดเลือดสมอง หากผู้ป่วยได้รับยาในการรักษาอยู่แล้ว การปรับพฤติกรรมจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของยาในการลดคอเลสเตอรอลได้ ซึ่งสามารถทำได้ ดังนี้

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และไฟเบอร์สูง เช่น ผักและผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี ปลา ถั่ว เป็นต้น รวมไปให้หลีกเลี่ยงการรับประทานไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์ อย่างเนื้อแดง ผลิตภัณฑ์นมที่มีไขมัน ของทอด และอาหารแปรรูปต่าง ๆ แต่ควรเลือกอาหารที่มีไขมันชนิดไม่อิ่มตัว ไขมันต่ำหรือไม่มีไขมันทดแทน 
  • ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที หรือออกกำลังที่หนักปานกลางถึงหนักมากอย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที โดยผู้ป่วยควรขอคำแนะนำจากแพทย์หรืออยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ 
  • เคลื่อนไหวร่างกายให้มากขึ้นเพื่อเพิ่มการเผาผลาญพลังงาน โดยอาจใช้การเดินขึ้น-ลงบันไดแทนการใช้ลิฟท์ เดินในระยะใกล้ ๆ แทนการนั่งรถ  
  • ลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์

การรักษาโดยการใช้ยา 

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ป่วยเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอในบางกรณี แพทย์จึงอาจสั่งจ่ายยาที่ช่วยให้ตับลดการผลิตคอเลสเตอรอลลง ได้แก่ กลุ่มยาสเตติน (Statins) ที่ช่วยลดปริมาณคอเลสเตอรอลในเลือด กรดนิโคตินิก (Nicotinic Acid) ที่ช่วยลดปริมาณคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีและไตรกลีเซอไรด์  และยาไฟเบรต (Fibrates) ที่ช่วยลดไตรกลีเซอไรด์และอาจเพิ่มปริมาณไขมันดี 

หากแพทย์สั่งจ่ายยา ผู้ป่วยมักจะต้องรับประทานอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานพอสมควร เพื่อรักษาระดับไขมันในเลือดให้อยู่ในระดับที่ปกติ และมีแนวโน้มว่าจะต้องรับประทานต่อเนื่องไปตลอด

ภาวะแทรกซ้อนของไขมันในเลือดสูง

ผู้ป่วยที่มีภาวะไขมันในเลือดสูงอาจทำให้ไขมันไปสะสมที่บริเวณผนังหลอดเลือดแดงจนเกิดโรคหลอดเลือดแดงแข็งขึ้น ซึ่งไขมันที่เกาะตัวอยู่จะทำให้เลือดไหลผ่านหลอดเลือดแดงได้น้อยลงและทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น

  • เจ็บหน้าอก หากหลอดเลือดแดงที่ทำหน้าที่ลำเลียงเลือดดีไปเลี้ยงร่างกายได้รับผลกระทบ ผู้ป่วยอาจมีอาการเจ็บหน้าอกหรือมีอาการอื่นที่บ่งบอกว่าอาจเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ
  • หัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (Heart Attack) เมื่อไขมันที่สะสมอยู่แตกออก เกิดเป็นลิ่มเลือดปิดกั้นการไหลเวียนของเลือด อาจนำไปสู่ภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันได้
  • โรคหลอดเลือดสมอง เกิดขึ้นได้จากการที่ลิ่มเลือดอุดตันการไหลเวียนของเลือดในสมอง

การป้องกันไขมันในเลือดสูง

โดยทั่วไป Hyperlipidemia สามารถป้องกันได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้ดีต่อสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงไขมันชนิดไม่อิ่มตัว ไขมันทรานส์ และไขมันที่ได้จากสัตว์ พร้อมทั้งเพิ่มการรับประทานไฟเบอร์หรือกากใยอาหารให้มากขึ้น อย่างผัก ผลไม้ และธัญพืชไม่ขัดสี ส่วนภาวะไขมันในเลือดสูงจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมจากพ่อแม่อาจป้องกันได้ยาก

นอกจากนี้ ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่สูบบุหรี่หรือเลิกสูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากเกินไป ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ รวมถึงผู้ที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจหรือมีระดับคอเลสเตอรอลสูง ควรเข้ารับการตรวจระดับคอเลสเตอรอลเป็นประจำ