เผือก พืชสารพัดประโยชน์และเคล็ดลับในการรับประทานอย่างปลอดภัย

เผือกเป็นพืชหัวชนิดหนึ่งที่มีรสชาติหวานอ่อน ๆ และมีรสสัมผัสมันเล็กน้อยคล้ายกับแป้งหรือหัวมันฝรั่ง คนไทยนิยมนำเผือกมาเป็นส่วนประกอบในเมนูต่าง ๆ เช่น เผือกทอด เผือกแกงบวด ซึ่งนอกจากรสชาติที่อร่อยถูกใจหลาย ๆ คนแล้ว เผือกก็ยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพอีกหลายประการเลยทีเดียว

เผือกเป็นแหล่งของคาร์โบไฮเดรตและใยอาหาร โดยเผือก 1 ถ้วยหรือประมาณ 100 กรัมจะให้พลังงานประมาณ 187 แคลอรี่ ให้คาร์โบไฮเดรตประมาณ 39 กรัม และให้ใยอาหารอีก 7 กรัม นอกจากนี้ เผือกยังอุดมไปด้วยแร่ธาตุและวิตามินที่มีความจำเป็นต่อร่างกายในปริมาณมาก ไม่ว่าจะเป็นวิตามินซี วิตามินบี 6 วิตามินอี รวมถึงแมงกานีสและโพแทสเซียมด้วย

เผือก พืชสารพัดประโยชน์และเคล็ดลับในการรับประทานอย่างปลอดภัย

5 คุณประโยชน์ของเผือกที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน

เผือกมีประโยชน์ในการช่วยบำรุงสุขภาพหลากหลายประการ ดังนี้

อุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย

เผือกมีปริมาณคาร์โบไฮเดรตมากจึงเป็นแหล่งของพลังงานชั้นดี และยังมีใยอาหารสูง ซึ่งจำเป็นต่อระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่ายด้วย อีกทั้งเผือกยังอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีสรรพคุณในการช่วยบำรุงสุขภาพอีกหลายชนิด โดยเผือกปรุงสุก 132 กรัม อาจให้แมงกานีสมากถึง 30% ให้วิตามินบี 6 มากถึง 22% และให้วิตามินอีมากถึง 19% ของปริมาณที่ร่างกายควรได้รับต่อวันเลยทีเดียว

ช่วยในกระบวนการย่อยอาหาร

เผือกมีปริมาณใยอาหารสูง ซึ่งจะช่วยทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งคาร์โบไฮเดรตในเผือกยังเป็นคาร์โบไฮเดรตชนิดที่ทนทานต่อการย่อยด้วยเอนไซม์ จึงดีต่อสุขภาพลำไส้ และอาจช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบย่อยอาหารได้อีกทางหนึ่งด้วย นอกจากนี้ การรับประทานเผือกอาจช่วยบรรเทาอาการท้องผูกได้ด้วย

ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

เผือกถือเป็นพืชที่เป็นมิตรต่อผู้ที่ต้องการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เนื่องจากคาร์โบไฮเดรตที่ได้จากเผือกเป็นคาร์โบไฮเดรตชนิดที่ดี และส่งผลกระทบต่อระดับน้ำตาลในเลือดได้น้อยกว่าคาร์โบไฮเดรตที่ได้จากแหล่งอื่นอย่างข้าวขาวหรือแป้งขนมปัง 

นอกจากนี้ ใยอาหารที่มีมากในเผือกยังสามารถช่วยชะลอกระบวนการย่อยอาหารและกระบวนการดูดซึมคาร์โบไฮเดรตในร่างกาย จึงอาจช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดไม่เพิ่มสูงขึ้นอย่างกะทันหันหลังจากมื้ออาหาร

ช่วยบำรุงสุขภาพหัวใจ 

เผือกมีโพแทสเซียมในปริมาณมาก โดยโพแทสเซียมเป็นแร่ธาตุที่สามารถช่วยควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ หากความดันโลหิตอยู่ในเกณฑ์ปกติก็จะช่วยให้หัวใจไม่ทำงานหนัก และอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจได้ นอกจากนี้ งานวิจัยยังพบอีกว่าการรับประทานอาหารที่มีใยอาหารสูงอาจสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจได้เช่นกัน 

อาจมีคุณสมบัติต้านโรคมะเร็ง 

ในเผือกมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ชื่อว่าเควอเซทิน (Quercetin) ซึ่งสารนี้จะมีคุณสมบัติในการช่วยปกป้องเซลล์จากอนุมูลอิสระที่เป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้เซลล์เกิดการอักเสบเสียหาย และเชื่อว่ามีส่วนทำให้เกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ ตามมาโดยเฉพาะโรคมะเร็ง การรับประทานเผือกจึงอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งได้อีกทางหนึ่ง

รับประทานเผือกอย่างไรให้ปลอดภัยต่อสุขภาพ

โดยทั่วไปเผือกสามารถรับประทานได้อย่างปลอดภัยและไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อสุขภาพ แต่มีข้อควรระวังบางประการที่ควรรู้เพื่อให้สามารถรับประทานได้อย่างปลอดภัยและเกิดประโยชน์ต่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น ดังนี้

  • การรับประทานเผือกจำเป็นต้องปรุงสุกก่อนเสมอ เพื่อให้ได้รับคุณค่าทางโภชนาการอย่างเต็มที่ 
  • การรับประทานเผือกดิบอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น คัน แสบร้อน หรือระคายเคืองในช่องปากได้
  • เนื่องจากงานวิจัยเกี่ยวกับประโยชน์ของเผือกบางส่วนอาจจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม การรับประทานเผือกในปริมาณที่มากเกินไปเพื่อหวังผลประโยชน์ในการบำรุงสุขภาพอาจทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกายได้ จึงควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม 

นอกจากนั้น ผู้ที่รับประทานเผือก ควรเลือกรับประทานอาหารอย่างหลากหลายด้วย เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน