ครรภ์ไข่ปลาอุก

ความหมาย ครรภ์ไข่ปลาอุก

ครรภ์ไข่ปลาอุก (Molar Pregnancy/Hydatidiform Mole) คือ ภาวะการตั้งครรภ์ที่ไม่สมบูรณ์ โดยตัวอ่อนของทารกและรกไม่เจริญขึ้นมาตามปกติ เนื้อเยื่อของตัวอ่อนกลายเป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงในมดลูกแทน โดยทั่วไป รกจะช่วยลำเลียงสารอาหารไปเลี้ยงทารกในครรภ์ รวมทั้งกำจัดของเสียออกไป หากเซลล์ที่สร้างรกทำงานผิดปกติหลังจากที่ไข่ปฏิสนธิกับอสุจิแล้ว จะทำให้เกิดถุงน้ำรังไข่หรือซีสต์ ซึ่งมีลักษณะคล้ายพวงองุ่นสีขาวหรือไข่ปลา เซลล์ดังกล่าวจะเจริญภายในมดลูกอย่างรวดเร็วแทนการเจริญเป็นทารกโดยมีชื่อเรียกว่าครรภ์ไข่ปลาอุก แม้ครรภ์ไข่ปลาอุกจะเป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรง แต่ถือเป็นภาวะก่อนเป็นมะเร็งของโรคมะเร็งไข่ปลาอุกหรือมะเร็งเนื้อรก (Gestational Trophoblastic Disease)

ครรภ์ไข่ปลาอุก

ทั้งนี้ ครรภ์ไข่ปลาอุกยังมีลักษณะที่แตกต่างกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับความสมดุลของโครโมโซมในไข่ โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

  • ครรภ์ไข่ปลาอุกอย่างเดียว (Complete Molar Pregnancy) คือภาวะเซลล์ที่ผิดปกติเจริญขึ้นมาทั้งหมด ไม่มีการเติบโตของตัวอ่อน
  • ครรภ์ไข่ปลาอุกร่วมกับการมีทารก (Partial Molar Pregnancy) คือภาวะเซลล์ที่ผิดปกติเจริญขึ้นมาพร้อมกับตัวอ่อนทารกซึ่งมีความผิดปกติ ส่งผลให้ตัวอ่อนไม่สามารถเติบโตได้ นอกจากนี้ ผู้ตั้งครรภ์ฝาแฝดก็อาจเกิดครรภ์ไข่ปลาอุกแต่พบได้ไม่บ่อยนัก โดยตัวอ่อนตัวหนึ่งจะเจริญขึ้นมาตามปกติ และตัวอ่อนอีกตัวกลายเป็นเนื้องอก เนื้องอกที่เจริญขึ้นมานั้นจะทำลายตัวอ่อนที่กำลังเติบโตเป็นทารกอย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม ครรภ์ไข่ปลาอุกถือเป็นภาวะที่พบได้ไม่บ่อยนัก โดยจะพบในผู้ตั้งครรภ์ประมาณ 1-3 คน จากผู้ตั้งครรภ์จำนวน 1,000 คน ผู้ที่ประสบภาวะดังกล่าวจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาอย่างเร่งด่วน เนื่องจากครรภ์ไข่ปลาอุกจะก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

อาการครรภ์ไข่ปลาอุก

ครรภ์ไข่ปลาอุกจะปรากฏอาการคล้ายอาการเริ่มตั้งครรภ์ทั่วไป เช่น ประจำเดือนขาด หรือแพ้ท้อง ทั้งนี้ยังมีลักษณะอาการเหมือนภาวะแท้ง ผู้ตั้งครรภ์ส่วนมากมักเข้าใจผิดว่าอาการครรภ์ไข่ปลาอุกที่เกิดขึ้นเป็นอาการแท้ง โดยผู้ที่ประสบภาวะครรภ์ไข่ปลาอุกจะเกิดอาการ ดังนี้

  • เลือดออกจากช่องคลอดในช่วงเริ่มตั้งครรภ์ ซึ่งมักเริ่มเมื่ออายุครรภ์ได้ 4 สัปดาห์ หรือช้าสุดเมื่ออายุครรภ์ 12 สัปดาห์ โดยเลือดจะมีสีน้ำตาลเข้มไปจนถึงแดงอ่อน บางครั้งอาจมีเนื้อเยื่อคล้ายองุ่นออกมาด้วย
  • ปวดท้องกะทันหัน และมดลูกขยายใหญ่มากกว่าปกติ ส่งผลให้ปวดบีบหรือถูกกดที่อุ้งเชิงกราน รวมทั้งมีอาการท้องบวม
  • คลื่นไส้และอาเจียนอย่างรุนแรง
  • อ่อนเพลีย เนื่องจากเลือดออกจากช่องคลอดมาก
  • ปรากฏอาการของโรคไทรอยด์เป็นพิษ เช่น กังวลหรือเหนื่อยมาก หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ หรือเหงื่อออกมากเกินไป
  • เกิดอาการครรภ์เป็นพิษ ซึ่งทำให้ความดันโลหิตสูง และมีโปรตีนอยู่ในน้ำปัสสาวะ
  • ผู้ตั้งครรภ์ที่ประสบภาวะมะเร็งไข่ปลาอุกอาจเกิดอาการอื่นร่วมด้วย เช่น หายใจไม่สุด หรือไอเป็นเลือด เนื่องจากภาวะมะเร็งไข่ปลาอุกลุกลามไปที่ปอดก่อนได้รับการวินิจฉัยโรค
ทั้งนี้ ผู้ตั้งครรภ์ที่มีเลือดออกจากช่องคลอด ควรรีบพบแพทย์ เนื่องจากอาการดังกล่าวยังเกี่ยวข้องกับภาวะอันตรายอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพครรภ์ ผู้ตั้งครรภ์ควรเข้ารับการอัลตราซาวด์และตรวจเลือด เพื่อวินิจฉัยสาเหตุของอาการดังกล่าว

สาเหตุครรภ์ไข่ปลาอุก

ครรภ์ไข่ปลาอุกเกิดจากความผิดปกติของโครโมโซมภายในไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิ ส่งผลให้ไข่เจริญขึ้นมาโดยไม่มีตัวอ่อนของทารก หรือตัวอ่อนของทารกมีความผิดปกติ โดยทั่วไปแล้ว ไข่ที่ได้ปฏิสนธิกับอสุจิจะมีโครโมโซมจำนวน 23 โครโมโซมที่ได้รับมาจากพ่อและแม่เท่ากัน ทำให้เกิดการตั้งครรภ์และเจริญเป็นทารกได้ตามปกติ ส่วนผู้ตั้งครรภ์ที่ประสบภาวะครรภ์ไข่ปลาอุกจะเกิดความผิดปกติของโครโมโซม ซึ่งแบ่งตามประเภทของครรภ์ปลาอุก ดังนี้

  • ครรภ์ไข่ปลาอุกอย่างเดียว ไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิมีโครโมโซมที่มาจากพ่อทั้งหมด ส่งผลให้ไม่มีตัวอ่อน ถุงน้ำคร่ำ หรือเนื้อรกเจริญขึ้นภายในไข่ แต่เกิดถุงน้ำรังไข่จำนวนมากคล้ายพวงองุ่นเจริญขึ้นมาแทน
  • ครรภ์ไข่ปลาอุกร่วมกับมีทารก ไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิมีโครโมโซมที่มาจากแม่จำนวน 23 โครโมโซม และมีโครโมโซมจากพ่อเป็นสองเท่า คือ 46 โครโมโซม ส่งผลให้มีโครโมโซมทั้งหมด 69 โครโมโซม ภาวะนี้เกิดจากการเพิ่มโครโมโซมซ้ำ (Duplication) ของโครโมโซมฝ่ายพ่อ หรือมีอสุจิสองตัวปฏิสนธิภายในไข่ใบเดียวกัน ทั้งนี้ ทารกที่เจริญขึ้นมาส่วนใหญ่มักเกิดความผิดปกติหรือไม่สามารถอยู่รอดได้
นอกจากนี้ ผู้ตั้งครรภ์สามารถเสี่ยงเกิดครรภ์ไข่ปลาอุกได้ในกรณีที่มีปัจจัยเสี่ยง ดังนี้
  • อายุมากกว่า 35 ปี โดยจะเสี่ยงเป็นครรภ์ไข่ปลาอุกอย่างเดียวได้สูง อย่างไรก็ตาม อายุไม่ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดครรภ์ไข่ปลาอุกชนิดที่มีทารกร่วม
  • มีประวัติเคยประสบภาวะครรภ์ไข่ปลาอุก โดยเฉพาะผู้ที่เคยเกิดภาวะดังกล่าวแล้วมาหลายครั้ง จะเสี่ยงเป็นซ้ำได้มากขึ้น
  • มีประวัติเคยประสบภาวะแท้งบุตร
  • รับประทานอาหารที่มีกรดโฟลิกหรือแคโรทีนน้อย ทำให้ได้รับวิตามินไม่เพียงพอ จึงส่งผลให้เกิดครรภ์ไข่ปลาอุกชนิดครรภ์ไข่ปลาอุกอย่างเดียวได้สูง
การวินิจฉัยครรภ์ไข่ปลาอุก

แพทย์จะวินิจฉัยครรภ์ไข่ปลาอุก โดยพิจารณาจากอาการที่เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ ขนาดของมดลูก และระดับฮอร์โมนเอชซีจี ซึ่งเป็นฮอร์โมนเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ การตรวจครรภ์ไข่ปลาอุกมี ดังนี้

  • ตรวจเลือด แพทย์จะเจาะเลือดผู้ตั้งครรภ์ เพื่อนำมาตรวจระดับฮอร์โมนเอชซีจี ซึ่งเป็นฮอร์โมนการตั้งครรภ์ โดยผู้ตั้งครรภ์ที่มีระดับฮอร์โมนนี้สูงจะไม่เกิดภาวะครรภ์ไข่ปลาอุก อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีครรภ์ไข่อุกบางรายก็อาจมีระดับฮอร์โมนเอชซีจีสูงเหมือนผู้ตั้งครรภ์ปกติ
  • อัลตราซาวด์ แพทย์จะอัลตราซาวด์ดูเนื้อเยื่อภายในท้องและบริเวณอุ้งเชิงกรานของผู้ตั้งครรภ์ โดยการทำอัลตราซาวด์ครรภ์ไข่ปลาอุกแต่ละประเภทจะแสดงผลอัลตราซาวด์ที่แตกต่างกัน ดังนี้
    • ครรภ์ไข่ปลาอุกอย่างเดียว ผู้ที่ประสบภาวะครรภ์ไข่ปปลาอุกชนิดนี้จะไม่ปรากฏตัวอ่อนหรือถุงน้ำคร่ำ แต่จะมีเนื้อรกที่ผิดปกติอยู่ใกล้มดลูก รวมทั้งเกิดถุงน้ำรังไข่
    • ครรภ์ไข่ปลาอุกร่วมกับมีทารก เมื่อได้รับการอัลตราซาวด์แล้ว ผู้ที่เกิดครรภ์ไข่ปลาอุกชนิดนี้จะมีตัวอ่อนทารกเจริญติดมาด้วย รวมทั้งมีเนื้อรกที่ผิดปกติและปริมาณน้ำคร่ำต่ำ ทั้งนี้ แพทย์มักตรวจพบครรภ์ไข่ปลาอุกชนิดนี้เมื่อรักษาผู้ตั้งครรภ์ที่ประสบภาวะแท้งไม่สมบูรณ์
  • ตรวจอุ้งเชิงกราน แพทย์จะตรวจอวัยวะภายในอุ้งเชิงกรานทั้งหมด เพื่อดูขนาดและตำแหน่งของช่องคลอด ปากมดลูก มดลูก และรังไข่
  • ตรวจด้วยภาพสแกน ผู้ประสบภาวะครรภ์ไข่ปลาอุกจะได้รับการตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อวินิจฉัยประเภทของครรภ์ไข่ปลาอุกและแนวโน้มที่จะเกิดครรภ์ไข่ปลาอุกนอกมดลูก ซึ่งแพทย์จะให้ผู้ตั้งครรภ์เอกซเรย์ ทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือซีทีสแกน (Computerized Tomography scan: CT Scan) หรือทำเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือเอ็มอาร์ไอ (Magnetic Resonance Imaging: MRI) บริเวณหน้าอก ท้อง อุ้งเชิงกราน และสมอง
นอกจากนี้ แพทย์จะตรวจปัญหาสุขภาพครรภ์อื่น ๆ ร่วมด้วย ได้แก่ ภาวะครรภ์เป็นพิษ ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (Hyperthyroidism) ภาวะโลหิตจาง รวมทั้งเอกซเรย์หน้าอกผู้ป่วย เพื่อดูว่าเซลล์ที่ทำงานผิดปกติจากครรภ์ไขปลาอุกแพร่เชื้อไปที่ปอดหรือไม่ อย่างไรก็ตาม กรณีที่เซลล์ดังกล่าวแพร่เชื้อไปส่วนต่าง ๆ ของร่างกายพบได้ไม่บ่อยนัก หากเกิดการแพร่เเชื้อในลักษณะนี้ เซลล์มักลามไปที่ปอดได้มากที่สุด

การรักษาครรภ์ไข่ปลาอุก

ผู้ตั้งครรภ์ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าประสบภาวะครรภ์ไข่ปลาอุก จะตั้งครรภ์ต่อไปไม่ได้ ควรเข้ารับการรักษาเพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้

  • ขูดมดลูก แพทย์จะขูดมดลูกเพื่อนำเนื้องอกออกไป โดยแพทย์จะฉีดยาชาเฉพาะที่หรือยาระงับความรู้สึกให้แก่ผู้ตั้งครรภ์ และให้ขึ้นขาหยั่งเพื่อเตรียมขูดมดลูก จากนั้นจะสอดอุปกรณ์คล้ายปากเป็ดเข้าไปในช่องคลอดและขูดมดลูก รวมทั้งดูดเนื้อเยื่อมดลูกออกมา วิธีนี้จะใช้เวลาประมาณ 15-30 นาที
  • ผ่าตัดมดลูก วิธีนี้มักไม่ค่อยใช้รักษามากนัก อย่างไรก็ตาม แพทย์จะผ่าตัดมดลูกออกไปในกรณีที่ผู้ตั้งครรภ์มีเนื้องอกของครรภ์ไข่ปลาอุกเป็นจำนวนมากและเสี่ยงเป็นมะเร็ง รวมทั้งไม่ต้องการมีบุตรในอนาคต
  • ทำเคมีบำบัด แพทย์จะทำเคมีบำบัดให้แก่ผู้เกิดเนื้องอกครรภ์ไข่ปลาอุกที่เสี่ยงเป็นมะเร็ง หรือผู้ที่ได้รับการผ่าตัดนำเนื้องอกออกไปแล้ว แต่พบว่าปริมาณฮอร์โมนเอชซีจียังไม่ลดลงเป็นปกติ โดยผู้ตั้งครรภ์ที่มีแนวโน้มอาการอยู่ในเกณฑ์ดีจะได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัดและตัวยาตัวเดียว ส่วนผู้ตั้งครรภ์ที่เกิดเนื้องอกลุกลามและมีแนวโน้มอาการอยู่ในเกณฑ์อันตราย จะได้รับการทำเคมีบำบัดรักษาร่วมกับตัวยาอื่น ๆ
  • ฉายรังสี ผู้ตั้งครรภ์ที่เกิดเนื้องอกกระจายไปยังสมอง จะได้รับการฉายรังสี โดยแพทย์จะฉายรังสีเอกซเรย์กำลังแรงสูง เพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง
  • ติดตามระดับฮอร์โมน แพทย์จะวัดระดับฮอร์โมเอชซีจีอีกครั้งหลังจากนำเนื้องอกครรภ์ไข่ปลาอุกออกไปแล้ว โดยจะติดตามวัดระดับฮอร์โมนสัปดาห์ละครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าระดับฮอร์โมนลดลงและไม่มีเนื้องอกของครรภ์ไข่ปลาอุกหลงเหลืออยู่ เนื่องจากผู้ป่วยครรภ์ไข่ปลาอุกเสี่ยงเกิดมะเร็งไข่ปลาอุกได้ถึงร้อยละ 10  เมื่อฮอร์โมนเอชซีจีลดลงแล้ว ผู้ป่วยยังต้องเข้ารับการตรวจทุกเดือนหรือทุกสองเดือนในปีถัดไปจนกว่าผู้ป่วยจะหายเป็นปกติดี หากยังพบฮอร์โมนเอชซีจีในเลือด แพทย์จะรักษาด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติม
  • คุมกำเนิด ผู้ป่วยต้องคุมกำเนิดระหว่างเข้ารับการติดตามระดับฮอร์โมน เนื่องจากต้องรอประมาณ 1 ปี เพื่อให้ระดับฮอร์โมนเอชซีจีหายไป หากตั้งครรภ์ก่อนครบกำหนดดังกล่าว ระดับฮอร์โมนเอชซีจีจะเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ยากต่อการวินิจฉัยได้ว่าเนื้องอกครรภ์ไข่ปลาอุกจะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ ทั้งนี้ แพทย์อาจตรวจภายใน อัลตราซาวด์ หรือตรวจด้วยการฉายรังสีให้แก่ผู้ป่วยตามความเหมาะสม  อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เกิดครรภ์ไข่ปลาอุกนั้น จะไม่ประสบปัญหาการมีบุตรยากหรือปัญหาสุขภาพครรภ์ อีกทั้งยังไม่เสี่ยงเกิดทารกตายในครรภ์ ทารกพิการแต่กำเนิด คลอดก่อนกำหนด หรือภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ส่วนการเกิดครรภ์ไข่ปลาอุกเมื่อตั้งครรภ์ครั้งต่อไปก็มีโอกาสเพียงร้อยละ 1-2
นอกจากนี้ ผู้ตั้งครรภ์ที่ประสบภาวะครรภ์ไข่ปลาอุกควรได้รับการดูแลสุขภาพจิตใจด้วย เนื่องจากผู้ตั้งครรภ์จะรู้สึกไม่ดีที่ต้องสูญเสียทารก อีกทั้งรู้สึกเครียดจากการต้องเสี่ยงเกิดเนื้อร้ายเจริญขึ้นมา ผู้ตั้งครรภ์ควรพูดคุยกับคู่รัก หรือปรึกษาแพทย์ นักให้คำปรึกษา หรือบุคคลรอบข้างที่รู้สึกไว้ใจ เพื่อระบายความรู้สึกให้ผ่อนคลายขึ้น รวมทั้งควรพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง เพื่อติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง

ภาวะแทรกซ้อนจากครรภ์ไข่ปลาอุก

ครรภ์ไข่ปลาอุกจะทำให้มีเลือดออกจากช่องคลอด ซึ่งควรได้รับการรักษาทันที อย่างไรก็ตาม หลังจากเข้ารับการรักษานำเนื้องอกออกไปแล้ว อาจมีเนื้องอกหลงเหลืออยู่และเจริญขึ้นมาได้อีก ซึ่งภาวะดังกล่าวจะกลายเป็นมะเร็งไข่ปลาอุก ผู้ที่เกิดครรภ์ไข่ปลาอุกชนิดครรภ์ไข่ปลาอุกอย่างเดียวมักเกิดมะเร็งไข่ปลาอุกได้มากกว่าผู้ที่เกิดครรภ์ไข่ปลาอุกชนิดที่มีทารกร่วมด้วย ผู้ที่เกิดมะเร็งไข่ปลาอุกจะมีระดับฮอร์โมนเอชซีจีสูงหลังนำเนื้องอกครรภ์ไข่ปลาอุกออกไปแล้ว บางรายอาจเกิดเนื้องอกลุกลามเข้าไปที่เยื่อบุมดลูกชั้นกลาง ซึ่งทำให้เลือดออกจากช่องคลอด การรักษามะเร็งไข่ปลาอุกมักใช้วิธีเคมีบำบัดหรือผ่าตัดมดลูก เนื่องจากเนื้องอกอาจแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นของร่างกาย ผู้ป่วยจะได้รับการทำเคมีบำบัด ซึ่งจะได้รับแอคติโนมัยซิน ดี (Actinomycin D) เป็นเวลา 5 วัน หรือ ยาเมโธเทรกเซท ร่วมกับกรดโฟลินิก (Folinic Acid) โดยแพทย์จะฉีดยาเมโธเทรกเซท และให้รับประทานกรดโฟลินิกชนิดเม็ด แบบวันเว้นวันเป็นเวลา 8 วัน และเว้นช่วงพัก 6 วัน ก่อนจะกลับมาเริ่มให้ยาอีกครั้ง โดยจะทำเช่นนี้จนกว่าฮอร์โมนเอชซีจีจะกลับมาเป็นปกติ โดยแพทย์จะตรวจทุกสัปดาห์อย่างน้อย 3 ครั้ง จนกว่าอาการจะเป็นปกติ จากนั้นจะตรวจเดือนละครั้งจนครบ 6 เดือน และตรวจทุก 1-3 เดือน จนครบ 1 ปี ทั้งนี้ ผู้ป่วยอาจได้รับการฉายรังสี ซึ่งแพทย์จะพิจารณาตามความเหมาะสม

การป้องกันครรภ์ไข่ปลาอุก

ผู้ตั้งครรภ์ที่อายุน้อยกว่า 20 ปี หรืออายุมากกว่า 40 ปี เสี่ยงประสบปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพครรภ์ได้สูงซึ่งรวมถึงภาวะครรภ์ไข่ปลาอุก อย่างไรก็ตาม วิธีป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากมะเร็งไข่ปลาอุกที่ดีที่สุด คือเข้ารับการตรวจครรภ์ตามนัดหมายการฝากครรภ์อย่างเคร่งครัด ส่วนผู้ตั้งครรภ์ที่เคยประสบภาวะครรภ์ไข่ปลาอุกควรพบแพทย์ เพื่อรับคำแนะนำในการดูแลการตั้งครรภ์ครั้งต่อไปไม่ให้เกิดภาวะดังกล่าวอีก โดยแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยรอประมาณ 6 เดือน - 1 ปี ก่อนจะเริ่มตั้งครรภ์ใหม่ ทั้งนี้ แพทย์จะอัลตราซาวด์ให้เร็วขึ้น เพื่อติดตามการรักษา รวมทั้งตรวจดูสุขภาพครรภ์โดยรวมว่าไม่เกิดความผิดปกติใด ๆ