การตรวจเลือด (Blood Tests) เป็นการนำตัวอย่างเลือดไปตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการที่มีประโยชน์ทางการแพทย์หลายด้าน การตรวจเลือดแบ่งได้หลายประเภทตามวัตถุประสงค์ที่แพทย์สั่งตรวจ
การตรวจเลือดที่นิยมทำกันทั่วไป ได้แก่
- การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete Blood Count: CBC) เป็นวิธีที่ใช้นำมาใช้ตรวจเลือดบ่อยและเป็นส่วนหนึ่งในการตรวจเช็คสุขภาพทั่วไป ซึ่งจะช่วยค้นหาโรคหรือความผิดปกติในเบื้องต้นได้ เช่น การติดเชื้อ โรคโลหิตจาง มะเร็งเม็ดเลือด หรือความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกัน การตรวจด้วยวิธีนี้จะตรวจดูความผิดปกติของเลือด ทั้งเซลล์เม็ดเลือดแดง เซลล์เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด ฮีมาโทคริต ฮีโมโกลบิน
- การตรวจสารเคมีในเลือด (Blood Chemistry Tests/The Basic Metabolic Panel: BMP) เป็นการทดสอบสารเคมีในเลือดที่ตรวจได้จากพลาสม่า ซึ่งจะช่วยให้แพทย์ทราบข้อมูลการทำงานของกล้ามเนื้อ กระดูก และอวัยวะอื่น ๆ รวมถึงค่าเกลือแร่ต่าง ๆ ในร่างกาย ซึ่งการทดสอบสารเคมีในเลือดบางชนิดจำเป็นต้องอดอาหารก่อนการตรวจ เช่น การตรวจระดับน้ำตาลในเลือด
- การตรวจเอนไซม์ในเลือด (Blood Enzyme Tests) เป็นการตรวจดูการทำงานของเอนไซม์ในเลือดที่ควบคุมปฏิกิริยาทางเคมีในร่างกาย แต่การตรวจวิธีนี้มักจะเน้นตรวจหาอาการหัวใจวายและผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บหน้าอกจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โดยดูการทำงานของเอนไซม์ในเลือด โดยเฉพาะโทรโปนิน (Troponin) ครีเอทีน (Creatine) ไคเนส (CK)
- การตรวจประเมินความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ (Blood Tests to Assess Heart Disease Risk) เป็นการตรวจไลโปโปรตีน (Lipoprotein) ที่มีหน้าที่เป็นตัวนำคลอเรสเตอรอลหลายตัวในเลือด เช่น คลอเรสเตอรอลรวม คลอเรสเตอรอลชนิดเลวหรือ LDL (Low Density Lipoprotein) คลอเรสเตอรอลชนิดดีหรือระดับ HDL (High Density Lipoprotein) หรือไตรกลีเซอไรด์ (Triglycerides) จึงทำให้ทราบได้ถึงความเสี่ยงของโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ (Coronary Heart Disease: CHD) มากน้อยเท่าใด
- การตรวจหาลิ่มเลือด (Blood Clotting Tests/Coagulation) เป็นการตรวจดูโปรตีนในเลือดที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด ผลการตรวจที่ผิดปกติอาจบ่งบอกได้ถึงความเสี่ยงในการตกเลือด ภาวะเลือดออกง่ายหยุดยาก และตรวจหาภาวะที่มีการเกิดลิ่มเลือดง่ายกว่าปกติ ซึ่งการตรวจชนิดนี้มักใช้ในการติดตามผลการใช้ยาที่ช่วยลดความเสี่ยงของภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดด้วย
- การตรวจทางภูมิคุ้มกันวิทยา (Serology) เป็นการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการหาสารภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดี (Antibody) ที่สร้างขึ้นในเลือดเมื่อได้รับเชื้อหรือสิ่งแปลกปลอมภายนอกร่างกายที่ทำให้เกิดอาการป่วย เพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรคต่าง ๆ
- การตรวจและควบคุมระดับยาในเลือด (Therapeutic Drug Levels) เป็นการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อดูระดับและปริมาณยาที่ใช้รักษาโรคที่พบในเลือดว่าเพียงพอหรือไม่ ซึ่งจะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพของการใช้ยาในการรักษาได้ดีขึ้น
- การตรวจหมู่เลือด (Blood Type Tests) เป็นการทดสอบความเข้ากันได้และความเหมาะสมของเลือดก่อนการให้เลือดแก่ผู้อื่น (Blood Transfusion) โดยดูจากแอนติบอดีที่ปรากฏบนผิวเม็ดเลือดแดง ซึ่งมีลักษณะจำเพาะในแต่ละหมู่เลือดและสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ การตรวจหาหมู่เลือดที่สำคัญ ได้แก่ หมู่เลือดระบบเอบีโอ (ABO) และหมู่เลือดระบบอาร์เอช (Rh)
- การตรวจการทำงานของฮอร์โมน (Hormone Testing) เป็นการตรวจวัดระดับปริมาณฮอร์โมนในกระแสเลือดที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น ฮอร์โมนสืบพันธุ์ ฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์ ฮอร์โมนที่หลั่งจากต่อมหมวกไต ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง
วัตถุประสงค์ในการตรวจเลือด
การตรวจเลือดเป็นการตรวจทางการแพทย์ที่ใช้บ่อย และมีวัตถุประสงค์ในการตรวจที่หลากหลายกรณีตามดุลยพินิจของแพทย์
การตรวจเลือดอาจเป็นส่วนหนึ่งในการตรวจสุขภาพทั่วไป เพื่อดูการทำงานของอวัยะต่าง ๆ ภายในร่างกาย หรือเป็นการตรวจตามปัจจัยเสี่ยงของสุขภาพแต่ละบุคคล ซึ่งจะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคหรือสภาวะบางอย่างของร่างกาย เช่น โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน คัดกรองโรคทางพันธุกรรมบางโรค ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือโรคเอดส์ ความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ การติดเชื้อ
นอกจากนี้ แพทย์ยังใช้การตรวจเลือดอีกหลายวัตถุประสงค์ เช่น ใช้ติดตามผลของตัวยาที่ใช้ในการรักษาโรคหรือดูสภาวะความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกายว่าดีขึ้นหรือไม่ ใช้ตรวจสอบหมู่เลือดก่อนการให้เลือด หรือแม้แต่ตรวจดูการแข็งตัวของเลือด ดังนั้น วัตถุประสงค์ของการตรวจเลือดจึงมีแตกต่างกันออกไป
ขั้นตอนในการตรวจเลือด
ในการเข้ารับบริการตรวจเลือด แพทย์จะมีการสอบถามและพูดคุยกับผู้เข้ารับการตรวจในเบื้องต้นเกี่ยวกับประวัติทางการแพทย์ก่อนการสั่งตรวจ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการช่วยประเมินผลหลังจากได้ผลตรวจเลือด
การตรวจเลือดในขั้นแรก ผู้เข้ารับการตรวจจะนั่งบนเก้าอี้หรือนอนบนเตียง เจ้าหน้าที่จะใช้สายรัดเหนือหลอดเลือดตรงบริเวณที่จะเจาะ เพื่อช่วยให้เห็นเส้นเลือดได้ชัดเจนขึ้น โดยส่วนมากจะเจาะที่บริเวณข้อพับแขน เพราะเป็นส่วนที่เจาะได้สะดวกและเห็นเส้นเลือดได้ค่อนข้างชัดเจน อย่างไรก็ตามสามารถเจาะบริเวณอื่นได้เช่นกัน สำหรับผู้เข้ารับการตรวจที่เป็นเด็กอาจเจาะบริเวณหลังมือ
จากนั้นจึงใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์เช็ดฆ่าเชื้อบริเวณที่ต้องการเจาะ รอสักพักจนแห้ง แล้วนำไซริงค์เจาะเพื่อดูดเอาตัวอย่างเลือดตามปริมาณต้องการ ผู้เข้ารับการตรวจอาจรู้สึกคัน เจ็บจี๊ดเล็กน้อยบริเวณที่เจาะ
เมื่อได้ปริมาณตัวอย่างเลือดตามต้องการจึงนำเข็มออก ปลดสายรัด ติดสำลีและพลาสเตอร์ยาบริเวณรอยเข็ม เพื่อป้องกันสิ่งสกปรกจากภายนอก ในบางรายอาจมีการขอให้ผู้เข้ารับการตรวจกดบริเวณที่ติดพลาสเตอร์ยาไว้ชั่วครู่ เพื่อให้เลือดหยุดไหลเร็วขึ้น ทั้งนี้ ปริมาณของตัวอย่างเลือดที่ใช้และรายละเอียดของการตรวจเลือดบางประเภทอาจมีความแตกต่างกันออกไป
การเตรียมตัวก่อนการตรวจเลือด
การตรวจเลือดโดยทั่วไปมักจะทำในช่วงเช้า และไม่ต้องมีการเตรียมตัวเป็นพิเศษล่วงหน้า เพราะแพทย์ต้องการตรวจสอบว่าตัวอย่างเลือดมีความปกติหรือไม่ แต่การตรวจเลือดบางประเภทอาจต้องมีการงดน้ำและอาหารตั้งแต่หลังเที่ยงคืนของวันที่มีการนัดตรวจเลือดหรืออย่างน้อย 6-12 ชั่วโมงก่อนการตรวจ รวมไปถึงหยุดการใช้ยาบางประเภท ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้แจ้งให้ทราบล่วงหน้าหากต้องมีการงดอาหาร หยุดการใช้ยา หรือมีคำแนะนำอื่น ๆ เพิ่มเติม
ทั้งนี้ ผู้เข้ารับการตรวจควรปฏิบัติตามสิ่งสำคัญที่แพทย์แนะนำ เพราะปัจจัยเหล่านี้อาจทำให้ผลการตรวจมีความคาดเคลื่อน ทำให้ต้องมีการตรวจใหม่ และหากพบความผิดปกติจริงก็หมายถึงการรักษาที่ล่าช้ามากขึ้น
การดูแลและติดตามผลหลังการตรวจเลือด
ผู้เข้ารับการตรวจสามารถกลับบ้านหรือทำกิจกรรมอื่น ๆ ได้ตามปกติหลังการเจาะเลือด โดยตัวอย่างเลือดจะถูกส่งไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจวิเคราะห์โดยผู้เชี่ยวชาญ ก่อนที่จะถูกส่งกลับมายังแพทย์ผู้สั่งตรวจ โดยระยะเวลาการรอผลตรวจอาจเริ่มตั้งแต่หนึ่งวันไปจนถึงเป็นสัปดาห์ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขแต่ละโรงพยาบาลและการตรวจเลือดแต่ละประเภท จากนั้นแพทย์จึงมีการนัดฟังผลการตรวจเลือดอีกครั้ง
ผลการตรวจเลือดจะแสดงถึงสารที่พบในเลือดว่าอยู่ในระดับปกติหรือไม่ หรือมีสิ่งแปลกปลอมปะปนอยู่ด้วย หากพบว่าตัวอย่างเลือดเกิดความผิดปกติ แพทย์จะมีการพูดคุยกับผู้เข้ารับการตรวจเกี่ยวกับผลตรวจเลือดที่ได้ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของโรคหรือความผิดปกติในร่างกายอื่น ๆ
อย่างไรก็ตาม ผลการตรวจเลือดเพียงอย่างเดียวไม่สามารถยืนยันความผิดปกติที่พบหรือโรคบางโรคได้ เพราะมีหลายปัจจัยที่ทำให้ผลตรวจออกมาไม่อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ เช่น อาหารที่รับประทาน อยู่ในช่วงมีประจำเดือน การออกกำลังกาย ปริมาณแอลกอฮอล์ที่ดื่ม การใช้ยาบางชนิด จึงจำเป็นต้องมีการตรวจในขั้นตอนต่อไปเพิ่มขึ้นตามดุลยพินิจของแพทย์ หรือตรวจซ้ำอีกครั้ง
ผลข้างเคียงของการตรวจเลือด
การตรวจเลือดค่อนข้างมีความปลอดภัย และเกิดผลข้างเคียงได้น้อยมาก ส่วนมากอาการที่พบจะเป็นอาการฟกช้ำหรือปวดบริเวณที่มีการเจาะเลือด เนื่องจากแรงกดที่มากและนานหลายนาที แต่อาการจะดีขึ้นและมักหายได้เองหลังจากนั้น
ในบางกรณีก็อาจเกิดบาดแผลหรือการติดเชื้อขึ้นได้เช่นกัน แต่ควรรีบไปพบแพทย์หากบาดแผลเกิดอาการบวมแดงและอักเสบ เพราะอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกของการติดเชื้อขึ้น
นอกจากนี้ผู้เข้ารับการตรวจเลือดบางรายอาจเป็นลมในระหว่างการตรวจเลือดได้ แต่พบได้น้อยราย หากในระหว่างการตรวจรู้สึกวิงเวียน หน้ามืด ควรแจ้งเจ้าหน้าให้ทราบ ซึ่งอาจแก้ไขได้โดยให้มีการเจาะเลือดในท่านอนแทนการนั่ง เพื่อป้องกันการเป็นลม