ปวดท้อง

ความหมาย ปวดท้อง

ปวดท้อง เป็นอาการปวดที่เกิดขึ้นบริเวณลำตัวตั้งแต่ใต้กระดูกซี่โครงลงมาจนถึงเหนือกระดูกสะโพก ซึ่งสาเหตุของการปวดอาจมาจากอวัยวะภายในช่องท้องหรืออวัยวะที่อยู่ใกล้เคียงกับช่องท้อง อย่างไรก็ตาม อาการนี้สามารถเป็นกันได้ทุกคนและแม้จะปวดอย่างรุนแรงก็อาจไม่ได้บ่งบอกถึงโรคร้ายแรงเสมอไป

ปวดท้อง

อาการปวดท้อง

อาการปวดท้องส่วนใหญ่มักเกิดในช่วงเวลาช่วงสั้น ๆ และไม่ได้มีสาเหตุที่ร้ายแรงอะไร ซึ่งสาเหตุของอาการปวดท้องที่พบได้บ่อยก็คือ ท้องอืด ท้องผูก อาหารไม่ย่อย แต่หากพบว่ามีอาการผิดปกติใด ๆ ต่อไปนี้ร่วมด้วยก็ควรปรึกษาแพทย์

  • อาการปวดท้องที่รุนแรงยิ่งขึ้นภายในระยะเวลาสั้น ๆ
  • อาการปวดท้องไม่หายไปหรือกลับมาเป็นซ้ำ
  • มีตกขาวผิดปกติ
  • มีเลือดออกทางทวารหนัก
  • รู้สึกไม่สบายในช่องท้องเป็นเวลา 1 สัปดาห์หรือนานกว่านั้น
  • อาการปวดไม่ดีขึ้นภายใน 24-48 ชั่วโมง อาการรุนแรงกว่าเดิมหรือเกิดขึ้นพร้อมกับการคลื่นไส้และอาเจียนบ่อย ๆ
  • ท้องอืดเป็นเวลานานกว่า 2 วัน
  • ท้องเสียติดต่อกันเกินกว่า 5 วัน
  • รู้สึกแสบเมื่อปัสสาวะหรือปัสสาวะบ่อย
  • รู้สึกไม่อยากอาหารเป็นเวลานาน
  • น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
ทั้งนี้ อาการปวดท้องที่รุนแรง กลับมาเป็นซ้ำ หรือเกิดขึ้นพร้อมกับอาการใดต่อไปนี้ ควรไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด
  • ปวดท้องอย่างเฉียบพลันและรุนแรง
  • อาเจียนเป็นเลือด
  • รับประทานอาหารแล้วอาเจียนออกมาติดต่อกันนานกว่า 2 วัน
  • รู้สึกเจ็บหรือฟกช้ำเมื่อสัมผัสบริเวณท้อง
  • อุจจาระปนเลือด มีสีดำ หรือลักษณะคล้ายยางมะตอย
  • อุจจาระไม่ออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่มีการอาเจียนร่วมด้วย
  • ปัสสาวะแล้วเจ็บหรือปัสสาวะบ่อยผิดปกติ
  • ปัสสาวะไม่ออก
  • เป็นลมหมดสติหรือหายใจลำบาก
  • ป่วยเป็นโรคเบาหวานและมีอาการอาเจียนร่วมกับปวดท้อง
  • อาการปวดท้องระหว่างรับการรักษาโรคมะเร็ง
  • อาการปวดท้องที่เกิดขึ้นขณะกำลังตั้งครรภ์
  • มีอาการบ่งบอกถึงภาวะร่างกายขาดน้ำ เช่น กระหายน้ำมากขึ้น ปากแห้งและลิ้นบวม อ่อนเพลีย
  • อาการเจ็บเนื่องจากการได้รับบาดเจ็บที่บริเวณท้อง
  • อาการเจ็บที่หน้าอก ลำคอ หรือไหล่
  • อาการปวดร้าวไปถึงกระดูกสะบักพร้อมกับอาการคลื่นไส้
  • อาการปวดคงอยู่นานเกินกว่า 2-3 ชั่วโมง
  • มีไข้
สาเหตุของอาการปวดท้อง

ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดท้องไม่รุนแรง ปวดท้องหนักรุนแรง ปวดบีบในท้อง หรืออาการปวดท้องลักษณะอื่นใดก็ตามล้วนแต่เกิดขึ้นได้จากสาเหตุที่หลากหลาย โดยสาเหตุของอาการปวดท้องต่อไปนี้ถือว่าไม่รุนแรงนัก

สาเหตุอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้เช่นกัน ได้แก่
  • ไส้ติ่งอักเสบ
  • ลำไส้อุดตัน
  • โรคหลอดเลือดแดงเอออร์ตาโป่งพองในช่องท้อง
  • แสบร้อนกลางอก กรดไหลย้อน
  • ลำไส้อักเสบเรื้อรัง หรือโรคโครห์น
  • นิ่วในถุงน้ำดี
  • ถุงน้ำดีอักเสบ ซึ่งอาจเกิดจากนิ่วในถุงน้ำดีหรือสาเหตุอื่นก็ได้
  • โรคถุงผนังลำไส้ใหญ่
  • ตับอ่อนอักเสบ
  • โรคกระเพาะอาหาร 
  • มีเลือดไปหล่อเลี้ยงลำไส้ลดลง หรือเรียกว่าโรคลำไส้ขาดเลือด
  • มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้ใหญ่ และอวัยวะอื่น ๆ
บางครั้งอาการปวดท้องยังอาจเกิดขึ้นได้โดยมีสาเหตุจากความผิดปกติที่บริเวณอื่น ๆ ในร่างกาย เช่น บริเวณหน้าอกหรืออวัยวะในเชิงกราน โดยโรคหรือภาวะที่อาจเป็นสาเหตุ ได้แก่
  • ปวดท้องประจำเดือนอย่างรุนแรง
  • ภาวะอักเสบในอุ้งเชิงกราน
  • ท้องนอกมดลูก
  • เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
  • กล้ามเนื้อฉีก
  • โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ
การวินิจฉัยอาการปวดท้อง

เนื่องจากอาการปวดท้องนั้นอาจเกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ ในการประเมินขั้นต้น แพทย์จะสอบถามเกี่ยวกับอาการที่ผู้ป่วยเผชิญ เช่น ตำแหน่งที่ปวด ความรุนแรงของอาการปวด ลักษณะอาการปวด ปวดทั่วบริเวณท้องหรือปวดเพียงเฉพาะส่วน และระยะเวลาที่เกิดอาการปวด เป็นต้น

หลังจากนั้นคือการตรวจร่างกายเบื้องต้นเพื่อประเมินสาเหตุที่น่าจะเป็นไปได้ของอาการปวดท้อง โดยแพทย์อาจตรวจฟังเสียงของลำไส้ที่จะเกิดขึ้นในกรณีที่มีการอุดตัน หรืออาการที่แสดงถึงการอักเสบใด ๆ บริเวณที่เกิดการฟกช้ำ ตรวจดูก้อนเนื้อภายในช่องท้องซึ่งอาจบ่งบอกถึงการมีเนื้องอก ฝี หรืออวัยวะที่โตขึ้น รวมทั้งสอบถามผู้ป่วยว่ามีเลือดปนในอุจจาระหรือไม่ ซึ่งข้อนี้อาจเป็นสัญญาณของโรคระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคกระเพาะอาหาร โรคลำไส้ใหญ่ ลำไส้ใหญ่อักเสบ เป็นต้น

จากประวัติการเจ็บป่วยและการตรวจร่างกายเบื้องต้น จะช่วยให้แพทย์สามารถคาดการณ์ถึงสาเหตุของอาการปวดท้องที่เป็นไปได้ และอาจใช้การตรวจเพิ่มเติมชนิดอื่น ๆ เพื่อยืนยันข้อสันนิษฐาน ดังนี้

การตรวจทางห้องปฏิบัติการ การตรวจที่แพทย์นิยมนำมาใช้เพื่อหาที่มาของอาการปวดท้อง มีดังนี้

  • การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด เช่น การตรวจจำนวนเม็ดเลือดขาวที่จะช่วยบ่งบอกถึงการอักเสบหรือติดเชื้อที่เกิดขึ้น หรือจำนวนเม็ดเลือดแดงที่ต่ำอาจแสดงถึงการมีเลือดออกในลำไส้ และหากมีอาการท้องเสียหรือมีเม็ดเลือดขาวในอุจจาระก็เป็นไปได้ว่าจะเกิดการอักเสบหรือติดเชื้อในลำไส้ขึ้น
  • การตรวจเอนไซม์ตับ ค่าเอนไซม์ตับอาจเพิ่มสูงขึ้นหากเกิดนิ่วในถุงน้ำดีหรือโรคไวรัสตับอักเสบ
  • การตรวจเอนไซม์ตับอ่อน ผู้ป่วยโรคตับอ่อนอักเสบมักจะตรวจพบว่ามีเอนไซม์อะไมเลส (Amylase) และเอนไซม์ไลเปส (Lipase) เพิ่มสูงขึ้น
  • การตรวจปัสสาวะ การมีเลือดในปัสสาวะนั้นอาจบ่งบอกถึงการเกิดนิ่วในไตได้
  • การตรวจการตั้งครรภ์ ผลการตรวจครรภ์ที่เป็นบวกอาจบ่งชี้ว่ามีการตั้งครรภ์นอกมดลูก ซึ่งก็คือการตั้งครรภ์ที่เกิดขึ้นในท่อนำไข่แทนที่จะเกิดขึ้นในมดลูก อีกสาเหตุหนึ่งที่เป็นไปได้ของอาการปวดท้อง
การตรวจเอกซเรย์ช่องท้อง หรืออาจเรียกว่าการตรวจระบบทางเดินปัสสาวะ (KUB) เนื่องจากการเอกซเรย์ชนิดนี้จะรวมถึงการเอกซเรย์ไต ท่อไต และกระเพาะปัสสาวะ อาการปวดท้องที่มีสาเหตุมาจากลำไส้อุดตันจะแสดงให้เห็นภาพภายในลำไส้ที่เต็มไปด้วยของเหลวและอากาศ หรือหากผู้ป่วยเป็นโรคกระเพาะอาหารทะลุก็จะเห็นได้ว่ามีอากาศออกจากกระเพาะไปสู่ช่องท้อง นอกจากนี้ การตรวจชนิดนี้ยังช่วยให้เห็นก้อนหินปูนที่เกาะบริเวณตับอ่อน สาเหตุของโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง และก้อนนิ่วในไตที่ผ่านเข้าไปยังท่อไต ซึ่งจะนำไปสู่อาการปวดท้องในที่สุด

การตรวจด้วยรังสี

  • การตรวจอัลตราซาวด์ ใช้ในการวินิจฉัยอาการปวดท้องที่น่าจะมีสาเหตุมาจากนิ่วในถุงน้ำดี ถุงน้ำดีอักเสบ ไส้ติ่งอักเสบ หรือซีสต์รังไข่ที่เกิดแตกออก
  • การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือซีทีสแกนช่องท้อง (CT Scan) เป็นการตรวจที่ช่วยวินิจฉัยโรคตับอ่อนอักเสบ มะเร็งตับอ่อน ไส้ติ่งอักเสบ โรคถุงผนังลำไส้ใหญ่ และฝีในช่องท้อง นอกจากนี้ยังมีการตรวจซีทีชนิดพิเศษของหลอดเลือดในช่องท้องที่สามารถตรวจหาโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดแดงที่ไปปิดกั้นการไหลของเลือดไปยังอวัยวะภายในช่องท้อง
  • การตรวจเอมอาร์ไอสแกน (MRI Scan) สามารถนำมาใช้วินิจฉัยหลาย ๆ โรคที่วินิจฉัยโดยการตรวจซีทีสแกนได้เช่นเดียวกัน
  • การเอกซเรย์ด้วยแป้งแบเรียม (Barium X-rays) เป็นการเอกซเรย์กระเพาะอาหารและลำไส้ เพื่อวินิจฉัยโรคกระเพาะอาหาร รวมถึงการอักเสบในบริเวณนี้ และการอุดตันของลำไส้
  • การตรวจลำไส้เล็กด้วยการกลืนแคปซูล (Capsule Enteroscopy) โดยจะให้ผู้ป่วยกลืนกล้องขนาดเล็กเท่าแคปซูลยาเข้าไป กล้องนี้จะช่วยถ่ายภาพลำไส้เล็กทั้งหมดแล้วส่งมายังตัวรับภาพ สามารถเปิดดูได้ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะมีประโยชน์ในการวินิจฉัยโรคโครห์น เนื้องอกในลำไส้เล็ก และแผลมีเลือดออกที่ไม่สามารถมองเห็นได้จากการตรวจเอกซเรย์หรือซีทีสแกน แต่เป็นวิธีที่มีราคาสูงมาก
กระบวนการส่องกล้อง
  • การส่องกล้องกระเพาะอาหาร จะนำมาใช้ในการตรวจโรคกระเพาะอาหาร โรคกระเพาะอาหารอักเสบ มะเร็งกระเพาะอาหาร
  • การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ช่วยในการวินิจฉัยโรคลำไส้ใหญ่อักเสบติดเชื้อ ลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผล และโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
  • การส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร วิธีการตรวจหามะเร็งตับอ่อนหรือนิ่วในถุงน้ำดี ในกรณีที่ใช้การอัลตราซาวด์ การทำซีทีสแกน หรือเอมอาร์ไอสแกนตรวจไม่สำเร็จ
  • การส่องกล้องบอลลูน วิธีการวินิจฉัยล่าสุดที่จะช่วยให้กล้องเอนโดสโคปผ่านเข้าไปทางปากหรือทวารหนัก และเคลื่อนไปสู่ลำไส้เล็ก เพื่อตรวจดูอาการปวดหรือการมีเลือดออกที่เกิดขึ้นภายในลำไส้เล็ก ซึ่งนอกจากจะใช้ในการตรวจวินิจฉัยและการเจาะชิ้นเนื้อออกมาตรวจเพิ่มเติมแล้วก็ยังเป็นวิธีที่สามารถนำมาใช้ในการรักษาได้ด้วยเช่นกัน
การผ่าตัด บางครั้งการวินิจฉัยก็จำเป็นต้องทำโดยการผ่าตัดเพื่อตรวจดูช่องท้อง ซึ่งอาจเป็นการผ่าตัดผ่านกล้องหรือการผ่าตัดทางศัลยกรรมโดยทั่วไปก็ได้

การรักษาอาการปวดท้อง

การรักษาเมื่อมีอาการปวดท้องนั้นขึ้นอยู่กับสาเหตุของการเกิด โดยมีวิธีตั้งแต่การใช้ยารักษา เช่น กรณีที่ปวดท้องจากอาการอักเสบทั้งหลาย โรคกรดไหลย้อน หรือโรคกระเพาะอาหาร การใช้ยาปฏิชีวนะหากเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเพื่อหลีกเลี่ยงอาการปวดท้องที่เกิดจากอาหารหรือเครื่องดื่มบางชนิด และในบางสาเหตุก็อาจจำเป็นต้องใช้การผ่าตัด เช่น อาการปวดท้องที่เกิดจากไส้ติ่งอักเสบหรือไส้เลื่อน

อย่างไรก็ตาม การบรรเทาอาการปวดท้องที่ไม่รุนแรงด้วยตนเองเบื้องต้น สามารถทำได้ดังต่อไปนี้

  • หมั่นจิบน้ำหรือของเหลว อาจดื่มเกลือแร่เล็กน้อย ทั้งนี้ผู้ป่วยโรคเบาหวานต้องตรวจวัดน้ำตาลในเลือดบ่อย ๆ และปรับการใช้ยาเมื่อจำเป็น
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารแข็ง ๆ ในช่วง 2-3 ชั่วโมงแรกที่ปวดท้อง
  • หากอาเจียนให้รอเป็นเวลาอย่างน้อย 6 ชั่วโมง ก่อนจะเริ่มรับประทานอาหารชนิดอ่อน ๆ ในปริมาณแต่น้อย เช่น ข้าว ขนมปังกรอบ และเลี่ยงอาหารที่ทำจากนมทั้งหลาย
  • เมื่อมีอาการปวดท้องมากยิ่งขึ้นและเกิดขึ้นหลังจากการรับประทานอาหาร อาจรับประทานยาลดกรดเพื่อช่วยให้อาการดีขึ้น โดยเฉพาะเมื่อรู้สึกแสบร้อนกลางอกหรืออาหารไม่ย่อย และควรหลีกเลี่ยงผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากมะเขือเทศ อาหารไขมันสูง อาหารมันหรืออาหารทอด คาเฟอีน แอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มประเภทน้ำอัดลมทั้งหลาย
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพริน ไอบูโพรเฟน หรือยาต้านอักเสบชนิดอื่น ๆ รวมถึงยาแก้ปวดชนิดเสพติดโดยไม่ได้รับคำแนะนำให้ใช้จากแพทย์ แต่หากแน่ใจว่าอาการปวดท้องดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของตับก็อาจลองใช้ยาพาราเซตามอลช่วยบรรเทาอาการปวดได้
การป้องกันอาการปวดท้อง

การทำตามคำแนะนำต่อไปนี้อาจช่วยป้องกันอาการปวดท้องบางชนิดได้

  • ดื่มน้ำให้มากพอในแต่ละวัน
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • รับประทานอาหารมื้อละน้อย ๆ แต่รับประทานบ่อยขึ้น
  • ลดอาหารที่จะทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะ
  • รับประทานอาหารให้ได้สารอาหารครบสัดส่วนและอุดมด้วยเส้นใยอาหารในแต่ละมื้อ โดยเลือกรับประทานผักและผลไม้ที่หลากหลายอย่างน้อยวันละ 5 ส่วน เพื่อให้ลำไส้มีสุขภาพดี และยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดท้องผูก โรคถุงผนังลำไส้ใหญ่ รวมถึงโรคมะเร็งลำไส้ได้ดี