ความหมาย อาหารไม่ย่อย
อาหารไม่ย่อย (Indigestion หรือ Dyspepsia) เป็นอาการปวดท้องช่วงบน ท้องอืด จุกเสียดแน่นท้อง จุกลิ้นปี่ รู้สึกอึดอัด ไม่สบายตัว หรือมีอาการแสบร้อนกลางทรวงอกหลังรับประทานอาหาร เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน โดยอาการจะดีขึ้นและหายไปเองเมื่อเวลาผ่านไป หรืออาจเป็นสัญญาณของโรคและการเจ็บป่วยในระบบย่อยอาหาร ซึ่งสามารถรักษาให้หายได้ด้วยยา หรือการปรับพฤติกรรมบางอย่างในการใช้ชีวิต ทั้งนี้ การรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุหรืออาการป่วยที่เป็นปัจจัยทำให้อาหารไม่ย่อยด้วยเช่นกัน
อาการของอาหารไม่ย่อย
เมื่ออาหารไม่ย่อย จะทำให้เกิดกลุ่มอาการที่เกี่ยวข้องกับอวัยวะในระบบย่อยอาหารอย่างกระเพาะอาหาร หลอดอาหาร และลำไส้เล็ก และผู้ที่มีภาวะอาหารไม่ย่อย จะเผชิญกับอาการดังต่อไปนี้
- ปวดท้องช่วงบน จุกเสียดแน่นท้อง จุกลิ้นปี่ รู้สึกอึดอัด ไม่สบายตัว ท้องอืด ท้องเฟ้อ หลังการรับประทานอาหาร
- รู้สึกอิ่มเร็วหลังรับประทานอาหารเข้าไปได้ไม่นาน ทั้ง ๆ ที่ยังรับประทานอาหารไม่เสร็จ หรือไม่ได้รับประทานอาหารปริมาณมากแต่อย่างใด
- รู้สึกแสบร้อนกลางทรวงอกช่วงบริเวณระหว่างกระดูกหน้าอกกับสะดือ
- รู้สึกคลื่นไส้
- เรอ หรืออาเจียน
โดยส่วนใหญ่ อาการเหล่านี้จะดีขึ้นและหายไปเมื่อเวลาผ่านไป แต่ในบางครั้ง อาการเหล่านี้ก็เกิดขึ้นบ่อยจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน หรืออาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับระบบย่อยอาหารได้เช่นกัน
ดังนั้น ผู้ป่วยควรสังเกตอาการที่เกิดขึ้น หรือไปพบแพทย์หากมีอาการอาหารไม่ย่อยเกิดขึ้นบ่อย ๆ อย่างต่อเนื่องกว่า 2 สัปดาห์ โดยอาจมีอาการรุนแแรงมากขึ้น หรือมีอาการสำคัญอื่น ๆ เกิดขึ้นร่วมด้วย เช่น
- น้ำหนักตัวลดลงหรือไม่อยากอาหาร
- อาเจียนบ่อยหรืออาเจียนมีเลือดปน
- ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำหรืออุจจาระมีเลือดปน
- กลืนอาหารลำบากและมีอาการแย่ลงเรื่อย ๆ
- เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของภาวะโลหิตจาง
ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์อย่างเร่งด่วนหากพบอาการร่วมดังต่อไปนี้
- หายใจไม่อิ่ม หายใจถี่ และมีเหงื่อออกมาก
- เจ็บหน้าอกในขณะออกกำลังหรือใช้แรง
- รู้สึกเจ็บหน้าอก และลามไปยังบริเวณกราม ลำคอ หรือแขน
สาเหตุของอาหารไม่ย่อย
โดยปกติ เมื่อรับประทานอาหาร อาหารจะถูกส่งไปตามหลอดอาหารเข้าสู่กระเพาะอาหาร และกรดในกระเพาะอาหารจะช่วยย่อยอาหารเหล่านั้น แล้วส่งต่อไปยังลำไส้เล็กโดยมีสารที่เรียกว่าเอนไซม์ช่วยย่อยอาหารภายในลำไส้เล็ก เพื่อดูดซึมสารอาหารที่ได้ไปใช้ประโยชน์ต่อไป
ส่วนอาการอาหารไม่ย่อยนั้น อาจเกิดจากหลายสาเหตุที่ทำให้กระบวนการย่อยอาหารไม่เป็นไปตามปกติ ได้แก่
อาหารไม่ย่อยโดยไม่ทราบสาเหตุ (Functional หรือ Nonulcer Dyspepsia)
เป็นสาเหตุส่วนใหญ่ของผู้ที่มีอาการอาหารไม่ย่อยเกิดขึ้นซ้ำ ๆ โดยที่ไม่พบความผิดปกติใด ๆ ภายในอวัยวะในระบบย่อยอาหาร
พฤติกรรมการกิน
- กินอาหารเร็วเกินไปหรือกินอาหารในปริมาณมากเกินไป
- กินอาหารไม่ตรงเวลา
- กินอาหารมันหรือกินอาหารที่มีรสเผ็ด
- ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน แอลกอฮอล์ หรือน้ำอัดลมมากเกินไป
ปัจจัยในการใช้ชีวิต
- สูบบุหรี่
- มีภาวะวิตกกังวล
- มีภาวะเครียด
- มีภาวะอ้วน หรือน้ำหนักเกิน เนื่องจากมีแรงดันในช่องท้องเพิ่มมากขึ้น
- การตั้งครรภ์ เพราะมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน และมีการขยายขนาดของมดลูก ซึ่งเพิ่มแรงกดในช่องท้องด้วยเช่นกัน
การใช้ยา
ยาบางชนิดอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อระบบย่อยอาหาร จนนำไปสู่อาการอาหารไม่ย่อยได้ เช่น การใช้ยาปฏิชีวนะเป็นประจำ ยาแก้ปวด ยาสเตียรอยด์ อาหารเสริมธาตุเหล็ก และยาต้านการอักเสบ อย่างแอสไพริน ไอบูโพรเฟน ไดโคลฟีแนค เป็นต้น
การเจ็บป่วยและปัญหาสุขภาพต่าง ๆ
- เกิดแผลในกระเพาะอาหารหรือภายในลำไส้เล็กจากการติดเชื้อแบคทีเรียเอชไพโลไร (H.pylori) ที่บริเวณเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก ซึ่งอาจทำให้เกิดแผลในบริเวณนั้น จนนำไปสู่อาการอาหารไม่ย่อยได้ในที่สุด
- เกิดแผลในกระเพาะอาหารหรือภายในลำไส้เล็กจากสาเหตุอื่น ๆ
- ท้องผูก ทำให้มีอาหารสะสมอยู่ในระบบย่อยอาหารจำนวนมาก
- เกิดการอักเสบภายในอวัยวะในระบบย่อยอาหาร เช่น กระเพาะอาหาร หลอดอาหาร ลำไส้เล็กหรือตับอ่อนซึ่งมีหน้าที่ผลิตเอนไซม์ย่อยอาหาร
- เกิดภาวะกรดไหลย้อนหรือเป็นโรคกรดไหลย้อน
- มีนิ่วในถุงน้ำดี
- โรคแพ้กลูเตน (Celiac Disease) หากรับประทานกลูเตนแล้วจะทำให้ลำไส้เสียหาย จึงไม่สามารถดูดซึมสารอาหารประเภทไขมัน วิตามิน เกลือแร่ และสารอาหารอื่น ๆ ที่จำเป็นในปริมาณที่ร่างกายต้องการได้
- ลำไส้อุดตัน
- ภาวะลำไส้ขาดเลือด ทำให้ไม่เกิดการย่อยอาหาร
- ไส้เลื่อนกระบังลม ซึ่งเกิดจากกระเพาะอาหารส่วนต้นบางส่วนเคลื่อนตัวเข้าไปอยู่บริเวณช่องกระบังลม
- มะเร็งกระเพาะอาหารหรือมะเร็งหลอดอาหาร ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้น้อยมาก
การวินิจฉัยอาหารไม่ย่อย
ในเบื้องต้น แพทย์จะสอบถามอาการที่เกิดขึ้น ซักประวัติสุขภาพของผู้ป่วย และอาจตรวจร่างกายในบริเวณต่าง ๆ หรืออาจส่งตรวจเพิ่มเติม ขึ้นอยู่กับลักษณะ ความรุนแรงของอาการ และดุลยพินิจของแพทย์ว่าอาการอาหารไม่ย่อยของผู้ป่วยน่าจะเกิดจากสาเหตุใดโดยการตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการอาหารไม่ย่อย ได้แก่
- ตรวจเลือด แพทย์อาจนำตัวอย่างเลือดที่ได้ไปตรวจในห้องปฏิบัติการ ซึ่งเป็นการตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อเชื้อแบคทีเรียเอชไพโลไร
- ตรวจลมหายใจ เป็นการตรวจหาการติดเชื้อแบคทีเรียเอชไพโลไรเช่นกัน ผู้ป่วยต้องดื่มเครื่องดื่มเฉพาะที่แพทย์เตรียมไว้ แล้วพ่นลมหายใจเข้าไปในเครื่องทดสอบลมหายใจ
- ตรวจอุจจาระ แพทย์จะให้ผู้ป่วยเก็บตัวอย่างอุจจาระเพื่อนำไปตรวจหาการติดเชื้อในกรณีที่สงสัยว่าผู้ป่วยอาจมีอาการอาหารไม่ย่อยจากการติดเชื้อแบคทีเรียเอชไพโลไร
- การฉายภาพอวัยวะภายใน อาจใช้การเอกซเรย์ธรรมดา (X-ray) หรือ การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) เพื่อตรวจหาการอุดตันภายในลำไส้ หรือใช้การอัลตราซาวด์ (Ultrasound) เพื่อตรวจหาความผิดปกติที่อวัยวะต่าง ๆ ภายในช่องท้อง
- ส่องกล้องตรวจทางเดินอาหาร แพทย์จะใช้เครื่องมือพิเศษที่มีกล้อง (Endoscope) ติดอยู่ตรงส่วนปลายท่อ สอดเข้าไปทางปากหรือทางทวารหนักของผู้ป่วย แล้วตรวจดูอวัยวะภายในเพื่อหาความผิดปกติผ่านภาพจากกล้อง
- ตรวจตัวอย่างชิ้นเนื้อ เป็นขั้นตอนต่อเนื่องจากการส่องกล้องสอดเข้าไปในร่างกายของผู้ป่วย แล้วใช้เครื่องมือพิเศษตัดตัวอย่างชิ้นเนื้อในบริเวณที่ต้องการตรวจแล้วนำออกมาส่งตรวจหาเชื้อหรือความผิดปกติต่าง ๆ ในห้องปฏิบัติการต่อไป
นอกจากนี้ อาจต้องใช้วิธีการอื่น ๆ ในการตรวจวินิจฉัยอาการอาหารไม่ย่อย หากแพทย์มีข้อสงสัยใด ๆ เพิ่มเติม ซึ่งแพทย์จะพิจารณาไปตามกรณี
การรักษาอาหารไม่ย่อย
เมื่ออาหารไม่ย่อย ผู้ป่วยต้องรักษาที่ปัจจัยต้นเหตุ หรืออาการเจ็บป่วยที่เป็นสาเหตุ รวมถึงปรับพฤติกรรมการกิน และหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ซึ่งเป็นทั้งการรักษาบรรเทาอาการและการป้องกันการเกิดอาหารไม่ย่อยโดยวิธีการรักษาอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับโรคหรืออาการป่วยเหล่านั้นด้วย เช่น
การรับประทานยาลดกรด ผู้ป่วยสามารถหาซื้อยาได้เองตามร้านขายยา โดยต้องใช้ยาอย่างถูกวิธีจากการศึกษาฉลากยาและปรึกษาเภสัชกรก่อนเสมอ เช่น
- ยาโปรตอน ปั๊ม อินฮิบิเตอร์ (Proton Pump Inhibitors: PPIs) จะช่วยลดกรดในกระเพาะ และบรรเทาอาการอาหารไม่ย่อยที่มีอาการแสบร้อนกลางอกร่วมด้วย
- ยาเอช 2 แอนตาโกนิสต์ (H-2-Receptor Antagonists: H2RAs) ช่วยลดกรดในกระเพาะ
- ยาโพรไคเนติก (Prokinetics) ช่วยบรรเทาอาการอาหารย่อยช้า
การใช้ยาปฏิชีวนะ ใช้รักษาผู้ที่มีอาการอาหารไม่ย่อยจากการติดเชื้อแบคทีเรีย H. pylori ในการใช้ยาปฏิชีวนะ ผู้ป่วยต้องปฏิบัติตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัดเสมอ โดยตัวอย่างยาที่แพทย์อาจนำมาใช้รักษา ได้แก่ อะม็อกซี่ซิลิน (Amoxicillin) เมโทรนิดาโซล (Metronidazole) หรือคลินดามัยซิน (Clindamycin) เป็นต้น
การปรับยารักษา หากผู้ป่วยอาหารไม่ย่อยจากผลข้างเคียงในการใช้ยาบางชนิด ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์เพื่อปรับการใช้ยา เลิกใช้ยา หรือใช้ยาตัวอื่นทดแทนยาที่กำลังรับประทานอยู่ เพื่อไม่ให้เกิดอาการอาหารไม่ย่อยขึ้นอีก
การรักษาสภาวะทางจิต อารมณ์ ความวิตกกังวล และความเครียด สามารถก่อให้เกิดอาการอาหารไม่ย่อยได้เช่นกัน ซึ่งแพทย์อาจจะรักษาปัญหาเหล่านี้ด้วยการให้ผู้ป่วยรับประทานยาต้านเศร้า (Antidepressants) และยาระงับอาการวิตกกังวล (Anti-anxiety) หรือแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยเข้ารับการบำบัดทางจิตวิทยา เพื่อปลดปล่อยระบายความเครียด และหาทางออกของปัญหาภายใต้คำแนะนำและการดูแลของผู้เชี่ยวชาญ
ส่วนอาการอาหารไม่ย่อยที่เกิดจากปัญหาสุขภาพอื่น ๆ แพทย์จะพิจารณารักษาตามอาการและความรุนแรงของโรค เช่น การผ่าตัดในกรณีที่มีความผิดปกติของอวัยวะภายในระบบย่อยอาหารและไม่สามารถรักษาด้วยวิธีการอื่นได้ การทำเคมีบำบัดและรังสีบำบัดในผู้ป่วยมะเร็ง เป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อนของอาหารไม่ย่อย
อาการอาหารไม่ย่อยอาจกระทบรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย เช่น รู้สึกอึดอัดไม่สบายตัว ประสิทธิภาพในการเรียนหรือการทำงานลดลง รับประทานได้น้อยลง แต่โดยทั่วไป อาการอาหารไม่ย่อยมักไม่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย
อย่างไรก็ตาม หากอาการอาหารไม่ย่อยเกิดจากสาเหตุที่เป็นปัญหาสุขภาพรุนแรง อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้ เช่น
- ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร เนื่องจากอาการอาหารไม่ย่อยอาจเกิดจากการมีกรดในกระเพาะมากเกินไปจนสร้างแผลและความเสียหายแก่อวัยวะภายในระบบทางเดินอาหาร จึงอาจนำไปสู่ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารในอวัยวะต่าง ๆ เช่น หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก เป็นต้น
- ภาวะหลอดอาหารตีบ หากเยื่อบุหลอดอาหารได้รับความเสียหายจากกรดไหลย้อนเพราะอาหารไม่ย่อยเป็นเวลานาน ๆ อาจทำให้เกิดรอยแผลเป็นได้ จนทำให้หลอดอาหารตีบแคบลง โดยอาการที่อาจเกิดขึ้นหลังหลอดอาหารตีบ คือ กลืนลำบาก มีอาหารติดอยู่ในลำคอ หรือเจ็บหน้าอก ซึ่งอาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดขยายทางเดินอาหาร
- ภาวะกระเพาะอาหารส่วนปลายตีบ เมื่อได้รับความเสียหายจากการทำปฏิกิริยาของกรดในกระเพาะเป็นเวลานาน กระเพาะอาหารส่วนปลายบริเวณที่เชื่อมไปยังลำไส้เล็กจะเกิดแผลเป็นจนทำให้อวัยวะส่วนดังกล่าวตีบแคบลง ซึ่งอาจทำให้อาหารไม่ถูกย่อยอย่างเหมาะสมตามที่ควรจะเป็น และเป็นเหตุทำให้เกิดการอาเจียนได้ อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดแก้ไขกระเพาะส่วนนั้นให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสม
- ภาวะหลอดอาหารอักเสบเรื้อรังบาร์เร็ต (Barrett's Oesophagus) เมื่อมีอาการกรดไหลย้อนซ้ำ ๆ อาจทำให้เซลล์บริเวณหลอดอาหารส่วนปลายเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ แต่มักไม่มีอาการแสดงที่ปรากฏชัดเจน เพราะอาการที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นอาการของภาวะกรดไหลย้อน ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงของเซลล์ที่เกิดขึ้นนับเป็นการเปลี่ยนแปลงในระยะก่อนมะเร็ง ซึ่งมีความเสี่ยงเล็กน้อยที่จะพัฒนาโรคไปสู่การเป็นมะเร็งหลอดอาหาร โดยอาการป่วยนี้มักพบในผู้ป่วยสูงวัยเป็นส่วนใหญ่
- กระเพาะอาหารทะลุ เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้น้อย แต่รุนแรงและเป็นอันตราย เนื่องจากหลังเนื้อเยื่อที่ผนังกระเพาะอาหารฉีกขาดจนทะลุ อาจทำให้แบคทีเรียในกระเพาะอาหารแพร่กระจายไปยังเนื้อเยื่อส่วนอื่น ๆ ภายในช่องท้อง และอาจเกิดการติดเชื้อลุกลามนำไปสู่ภาวะเยื่อบุช่องท้องอักเสบได้
การป้องกันการเกิดอาหารไม่ย่อย
ผู้ป่วยสามารถปรับพฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิต เพื่อช่วยป้องกันการเกิดอาการอาหารไม่ย่อยได้ด้วยตนเอง เช่น
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง มีรสเผ็ด หรือพวกอาหารสำเร็จรูป
- รับประทานอาหารให้ตรงเวลาเสมอ
- ไม่รับประทานอาหารในปริมาณที่มากเกินไป หรืออาจแบ่งปริมาณอาหารออกเป็นมื้อเล็ก ๆ หลายมื้อ แทนการรับประทานอาหารปริมาณมากในคราวเดียว
- ค่อย ๆ รับประทานอาหาร ไม่รับประทานอาหารเร็วเกินไป
- ควรเข้านอนตอนท้องว่าง ไม่รับประทานอาหารอย่างน้อย 3 ชั่วโมงก่อนเข้านอน
- ลดหรืองดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คาเฟอีน น้ำอัดลม หรือเครื่องดื่มอื่น ๆ ที่มีส่วนผสมของโซดา
- ไม่สูบบุหรี่หรือเลิกสูบบุหรี่
- ควบคุมให้มีน้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมอยู่เสมอ ควรลดน้ำหนักหากกำลังอยู่ในภาวะน้ำหนักเกินหรือภาวะอ้วน
- ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมสม่ำเสมอเพื่อกระตุ้นระบบต่าง ๆ ภายในร่างกาย รวมทั้งช่วยกระตุ้นอวัยวะภายในระบบย่อยอาหารให้มีสุขภาพดีและสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ปวดกลุ่มแอสไพรินหรือไอบูโพรเฟน ยานาพรอกเซน และยาที่อาจมีผลต่อระบบย่อยอาหารอื่น ๆ ในระยะยาว หรือปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการใช้ยาและการปรับยา
- เรียนรู้วิธีบริหารจัดการรับมือกับความเครียด หาวิธีผ่อนคลาย เช่น นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เดินทางท่องเที่ยว ดูหนังฟังเพลงเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ หรือการทำสมาธิ เป็นต้น