ยาแก้อาเจียน (Antiemesis)

ยาแก้อาเจียน (Antiemesis)

ยาแก้อาเจียน เป็นกลุ่มยาที่ใช้รักษาอาการคลื่นไส้และอาเจียน มีกลไกการออกฤทธิ์ปรับเปลี่ยนสารสื่อประสาทซึ่งเป็นสารเคมีในสมองชนิดหนึ่ง ส่งผลให้อาการคลื่นไส้อาเจียนลดลง ยาแก้อาเจียนมีหลายชนิดสำหรับใช้รักษาอาการคลื่นไส้อาเจียนที่มีสาเหตุต่างกัน มีทั้งรูปแบบยาเม็ดรับประทาน ยาฉีด และแผ่นแปะ บางชนิดสามารถหาซื้อได้เองจากร้านขายยาและบางชนิดต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น

ยาแก้อาเจียนที่สามารถหาซื้อได้เองมักใช้รักษาอาการคลื่นไส้อาเจียนที่ไม่รุนแรง ได้แก่ ยาบิสมัทซับซาลิไซเลต (Bismuth Subsalicylate) ใช้รักษาอาการคลื่นไส้อาเจียนที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสในทางเดินอาหาร และยากลุ่มยาต้านฮิสตามีน เช่น ยาไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) ยาไดเมนไฮดริเนต (Dimenhydrinate) ใช้รักษาอาการคลื่นไส้อาเจียนจากการเมารถ หรืออาการคลื่นไส้อาเจียนจากการแพ้ท้อง

ยาแก้อาเจียน (Antiemesis)

ส่วนยาแก้อาเจียนที่ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้นมักใช้รักษาอาการคลื่นไส้อาเจียนจากการทำเคมีบำบัด หรืออาการคลื่นไส้อาเจียนจากการใช้ยาสลบในระหว่างการผ่าตัด สามารถแบ่งได้เป็น 5 กลุ่มดังนี้

  • กลุ่มที่ออกฤทธิ์ต้านเซโรโทนิน เช่น ยาออนดาเซทรอน (Ondansetron) ยาโดลาซีทรอน (Dolasetron) 
  • กลุ่มที่ออกฤทธิ์ต้านโดปามีน เช่น ยาโปรคลอเปอราซีน (Prochlorperazine) ยาเมโทโคลพราไมด์ (Metoclopramide)
  • กลุ่มที่ออกฤทธิ์ต้าน Neurokinin เช่น ยาโรลาพิแทนท์ (Rolapitant)
  • กลุ่มเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepines) เช่น ยาลอราซีแพม (Lorazepam) ยาอัลปราโซแลม (Alprazolam)
  • กลุ่มแคนนาบินอยด์ (Cannabinoids) เช่น ยาโดรนาบินอล (Dronabinol) ยานาบิโลน Nabilone

คำเตือนในการใช้ยาแก้อาเจียน

ยาแก้อาเจียนแต่ละชนิดมีข้อบ่งชี้ ข้อควรระวังในการใช้ยา และส่วนประกอบของยาที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้น ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบถึงอาการป่วยในปัจจุบัน ประวัติทางการแพทย์ และประวัติการแพ้ยาต่าง ๆ รวมทั้งศึกษาวิธีการใช้ยาและคำเตือนบนฉลากให้ดีก่อนใช้ยาเสมอ เพื่อป้องกันการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาผิดวิธี

ตัวอย่างข้อควรระวังในการใช้ยาแก้อาเจียน ได้แก่

  • ยาแก้อาเจียนบางชนิดไม่สามารถใช้ในเด็กได้ เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ร้ายแรงต่อสุขภาพ จึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยา และควรใช้ยาตามคำแนะนำบนฉลากอย่างเคร่งครัด 
  • ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ไม่สามารถใช้ยาแก้อาเจียนกลุ่มแคนนาบินอยด์ได้ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อน้ำหนักแรกเกิด สมอง และพฤติกรรมของทารก หากมีอาการแพ้ท้องรุนแรงและจำเป็นต้องใช้ยา ควรใช้ยาชนิดอื่น เช่น ยาไดเมนไฮดริเนต 
  • ผู้ที่มีประวัติแพ้ยากลุ่มซาลิไซเลต เช่น ยาแอสไพริน (Aspirin) ไม่ควรใช้ยาบิสมัทซับซาลิไซเลต เพราะอาจทำให้เกิดอาการแพ้เช่นเดียวกัน
  • การใช้ยากลุ่มยาต้านฮิสตามีนอาจทำให้เกิดอาการง่วงซึม หากใช้ยาชนิดนี้ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ การใช้เครื่องจักร และการทำกิจกรรมที่เสี่ยงอันตราย
  • ไม่ควรใช้ยากลุ่มยาต้านฮิสตามีนร่วมกับยานอนหลับ ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาแก้ปวดกลุ่มโอปิออยด์ และแอลกอฮอล์ เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงอย่างอาการง่วงซึมได้สูง
  • ไม่ควรใช้ยาแก้อาเจียนมากกว่า 1 ชนิดในครั้งเดียวกัน เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาเกินขนาด หากจำเป็นต้องใช้ควรปรึกษาแพทย์ก่อน

ปฏิกิริยาระหว่างยาแก้อาเจียนกับยาอื่น

ยาแก้อาเจียนอาจทำปฏิกิริยากับยา วิตามิน หรือสมุนไพรบางชนิด ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรือทำให้ยามีประสิทธิภาพลดลง หากกำลังใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์ใด ๆ อยู่ ควรแจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบก่อนเสมอ โดยเฉพาะยาแก้ไข้หวัด ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยารักษาโรคเบาหวาน โรคข้ออักเสบ และโรคเก๊าท์ เนื่องจากเป็นยาที่มีผลข้างเคียงคล้ายคลึงกัน จึงอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์มากขึ้นได้

ผลข้างเคียงจากการใช้ยาแก้อาเจียน

เนื่องจากยาแก้อาเจียนแต่ละชนิดมีส่วนประกอบที่แตกต่างกัน จึงอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาที่แตกต่างกันออกไปด้วย ตัวอย่างผลข้างเคียงที่สามารถเกิดขึ้นได้จากการใช้ยาแก้อาเจียนมีดังนี้

  • ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบิสมัทซับซาลิไซเลต เช่น ลิ้นเปลี่ยนเป็นสีเข้ม อุจจาระเปลี่ยนเป็นสีดำ
  • ผลข้างเคียงจากการใช้ยากลุ่มยาต้านฮิสตามีน เช่น ปากแห้ง โพรงจมูกแห้ง ง่วงนอน
  • ผลข้างเคียงจากการใช้ยากลุ่มที่ออกฤทธิ์ต้านเซโรโทนิน เช่น ปากแห้ง อ่อนเพลีย ท้องผูก
  • ผลข้างเคียงจากการใช้ยากลุ่มที่ออกฤทธิ์ต้านโดปามีน เช่น ปากแห้ง อ่อนเพลีย ท้องผูก หูอื้อ กระสับกระส่าย กล้ามเนื้อหดเกร็ง
  • ผลข้างเคียงจากการใช้ยากลุ่มที่ออกฤทธิ์ต้าน Neurokinin เช่น ปากแห้ง จุกเสียดแน่นท้อง ปริมาณปัสสาวะลดลง
  • ผลข้างเคียงจากการใช้ยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีน เช่น ปากแห้ง อ่อนเพลีย ท้องผูก วิงเวียนศีรษะ
  • ผลข้างเคียงจากการใช้ยากลุ่มแคนนาบินอยด์ เช่น วิงเวียนศีรษะ การรับรู้เปลี่ยนแปลงไป

แต่หากหลังจากการใช้ยามีอาการผิดปกติที่รุนแรงเกิดขึ้น เช่น อาการคลื่นไส้อาเจียนแย่ลง ท้องผูกอย่างรุนแรง ง่วงนอนอย่างรุนแรง กล้ามเนื้ออ่อนแรง ชัก สูญเสียการได้ยิน หัวใจเต้นเร็ว พูดไม่ชัด เกิดอาการสับสน และเห็นภาพหลอน ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา