อ้วกเป็นสีเหลือง สาเหตุและสัญญาณที่ควรไปพบแพทย์

อ้วกหรืออาเจียนเป็นสีเหลือง คืออาเจียนที่มีสีออกเหลืองเนื่องจากมีน้ำดีปะปนอยู่ โดยน้ำดีเป็นของเหลวสีเหลืองหรือเขียวซึ่งผลิตขึ้นที่ตับเพื่อช่วยย่อยสารอาหารในลำไส้ อาเจียนเป็นสีเหลืองเกิดจากน้ำดีที่ไหลย้อนเข้ามาในกระเพาะอาหารและอาจไหลเข้าหลอดอาหารและอาเจียนออกมา เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น อาเจียนขณะท้องว่าง ยา อาการของโรค

การอาเจียนเป็นหนึ่งในกลไกการทำงานของร่างกายเพื่อกำจัดสิ่งแปลกปลอมที่เป็นอันตรายออกจากกระเพาะอาหาร โดยปกติมักมีอาการเพียง 1–2 วันเท่านั้น หากมีอาการอาเจียน เป็นสีเหลืองปนกับน้ำดีนานกว่านั้นหรืออาการอื่น ๆ เพิ่มเติมควรปรึกษาแพทย์ทันที

อ้วกเป็นสีเหลือง

สาเหตุของอ้วกเป็นสีเหลือง

การอ้วกหรืออาเจียนเป็นสีเหลืองเกิดจากการที่มีน้ำดีปนมากับอาเจียน โดยมีหลากหลายสาเหตุที่อาจส่งผลให้เกิดการอาเจียนเป็นสีเหลือง เช่น

1. น้ำดีไหลย้อน (Bile reflux)

น้ำดีไหลย้อนเป็นอาการที่น้ำดีจากตับไหลย้อนเข้ากระเพาะอาหารแทนการไหลไปลำไส้เล็ก ซึ่งอาจเกิดขึ้นในบางกรณี เช่น เมื่อหูรูดกระเพาะส่วนปลายปิดไม่สนิท น้ำดีจึงอาจไหลย้อนเข้าทางหลอดอาหารและเป็นสาเหตุให้เกิดอ้วกเป็นสีเหลืองที่มีน้ำดีปนอยู่ โดยน้ำดีไหลย้อนมีอาการคล้ายกับกรดไหลย้อน แต่กรดไหลย้อนนั้นเกิดจากการที่กรดหรือน้ำย่อยในกระเพาะไหลย้อนกลับมาในหลอดอาหาร

2. อาเจียนขณะท้องว่าง

การอาเจียนเป็นสีเหลืองอาจเกิดจากการอาเจียนตอนท้องว่างเนื่องจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น โรคกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กอักเสบ หรืออาหารเป็นพิษ เมื่อเกิดการอาเจียนหลายครั้งในขณะที่ไม่มีอาหารอยู่ในกระเพาะอาหาร อาจทำให้อาเจียนนั้นมีเมือก กรดในกระเพาะอาหารและน้ำดีปะปนอยู่ ทำให้เวลาอ้วกเกิดการแสบร้อนหน้าอก เจ็บคอ และมีรสชาติขมติดปาก

3. การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก

การดื่มแอลกอฮอล์ ในปริมาณมากจะส่งต่อการทำงานของถุงน้ำดีเพิ่มขึ้นและทำให้กล้ามเนื้อที่ดันอาหารภายในลำไส้เคลื่อนที่ช้าลง จึงเกิดการสะสมของอาหารและน้ำดี ซึ่งจะถูกผลักดันออกจากทางเดินอาหารในที่สุด อาการเหล่านี้ที่เกิดขึ้นสามารถนำไปสู่การอาเจียนเป็นสีเหลือง เนื่องจากน้ำดีไหลย้อนกลับเข้ามาในกระเพาะอาหาร และอาจไหลเข้าสู่หลอดอาหาร ทำให้อ้วกเป็นสีเหลืองเมื่อมีอาการเมา

4. แพ้ท้องรุนแรง (Hyperemesis gravidarum)

แพ้ท้องเป็นอาการปกติที่พบในผู้ตั้งครรภ์ในช่วง 12 สัปดาห์แรก ในบางรายอาจเกิดอาการแพ้ท้องรุนแรง ซึ่งจะทำให้เกิดการอาเจียนอย่างรุนแรงและร่างกายขาดน้ำ เมื่ออาเจียนในช่วงที่ท้องว่าง น้ำดี กรดในกระเพาะอาหารหรือของเหลวต่าง ๆ สามารถปะปนออกมาได้ ส่งผลให้อาเจียนมีสีเหลือง

5. ลำไส้อุดตัน (Intestinal blockage)

ลำไส้อุดตัน เกิดขึ้นเมื่อมีบางอย่างเข้าไปอุดตันหรือรบกวนการทำงานของลำไส้ ทำให้น้ำดีที่ถูกส่งมาจากตับไม่สามารถผ่านเข้าสู่ลำไส้เล็กได้ น้ำดีจะเกิดการสะสมและไหลย้อนเข้าสู่กระเพาะ ทำให้เกิดการอ้วกเป็นสีเหลืองปนกับน้ำดี โดยมักมีอาการปวดเกร็งที่ท้องอย่างรุนแรง แน่นท้อง ท้องอืด ท้องผูก ผายลมไม่ออกและมีเสียงดังออกมาจากช่องท้อง 

โดยการอุดตันของลำไส้อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น พังผืดในลำไส้ มะเร็งลำไส้ใหญ่ โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง โรคถุงผนังลำไส้อักเสบ และภาวะลำไส้บิดหมุน

6. ไส้เลื่อนกะบังลม (Hiatal hernia)

ไส้เลื่อนกะบังลม อาจเป็นสาเหตุของอ้วกสีเหลือง โดยภาวะนี้เกิดจากกระเพาะอาหารส่วนบนเคลื่อนที่ขึ้นไปบริเวณช่วงอกผ่านช่องในกะบังลม ซึ่งการบีบตัวของกระเพาะอาหารจะส่งผลถึงกล้ามเนื้อหูรูดของกระเพาะอาหารทั้งหมด รวมไปถึงกล้ามเนื้อหูรูดไพโลรัส (Pylorus sphincter) ทำให้เกิดการไหลย้อนของน้ำดีและอาจเกิดอ้วกเป็นสีเหลืองได้ อาการอื่นที่พบได้ เช่น แสบร้อนกลางอก ปวดท้อง ระคายคอและเรอเปรี้ยว

7. การใช้ยา

ยาบางชนิดอาจส่งผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อหูรูดไพโลรัส (Pylorus sphincter) ซึ่งเชื่อมระหว่างกระเพาะอาหารส่วนปลายและลำไส้เล็กตอนต้น ทำให้น้ำดีสามารถไหลย้อนมากระเพาะอาหารและเกิดอาเจียนเป็นสีเหลืองได้ ตัวอย่างของยา มีดังนี้

  • ยาแก้แพ้ยาหรือต้านฮิสตามิน (Antihistamines)
  • ยาต้านแคลเซียม (Calcium channel blockers) ที่ใช้ในการรักษาความดันโลหิตสูง
  • ยากลุ่มไนเตรท (Nitrates) ที่ใช้รักษาหรือป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด
  • กลุ่มยาเบต้าทูอะโกนิส (Beta-2 Agonists) ที่ใช้รักษาโรคหืด และโรคถุงลมโป่งพอง
  • ยาแซนทีน (Xanthines) ที่ใช้รักษาโรคเก๊าท์
  • กลุ่มยาต้านเศร้า (Antidepressants)
  • กลุ่มยาเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepines) หรือกลุ่มยานอนหลับและคลายความวิตกกังวล

สัญญาณที่ควรไปพบแพทย์

หากเป็นสาเหตุที่ไม่อันตราย อ้วกหรืออาเจียนสีเหลืองอาจดีขึ้นเรื่อย ๆ แต่หากมีอาการที่รุนแรงขึ้นหรือมีอาการอื่นแทรกซ้อนต่อไปนี้ ควรไปพบแพทย์ทันที  

  • มีไข้สูง
  • หายใจลำบาก 
  • อุจจาระมีสีอ่อนหรือสีขาวซีด
  • มีอาการคลื่นไส้ หรืออาเจียนเกิดขึ้นหลายครั้ง
  • อาเจียนเป็นสีเหลืองเกิน 24 ชั่วโมง และเกิน 12 ชั่วโมงสำหรับเด็กทารก
  • อาเจียนเป็นสีแดงหรือสีดำคล้ายกากกาแฟ

หากได้รับการวินิจฉัยว่าอาเจียนเป็นสีเหลืองเนื่องจากมีน้ำดีปนอยู่ การรักษาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุของอาการ อย่างไรก็ตาม ควรเปลี่ยนนิสัยในการใช้ชีวิตบางอย่างเพื่อป้องกันการเกิดอ้วกเป็นสีเหลืองในอนาคต เช่น หลีกเลี่ยงการนอนทันทีหลังรับประทานอาหาร ทานอาหาร ที่มีประโยชน์และดื่มน้ำเยอะ ๆ เพื่อป้องกันร่างกายขาดน้ำ หากอาการยังคงไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป