กลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน (ARDS)

ความหมาย กลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน (ARDS)

ARDS (Acute Respiratory Distress Syndrome) หรือกลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน เป็นความผิดปกติของระบบการหายใจที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ทำให้ผู้ป่วยหายใจลำบาก หายใจเร็วผิดปกติ และมีอาการหอบเหนื่อย โดยมีสาเหตุมาจากของเหลวในหลอดเลือดปอดรั่วไหลเข้าไปในถุงลมปอดแทนที่อากาศ ปอดจึงทำงานแลกเปลี่ยนออกซิเจนกับอากาศได้น้อยลงหรือไม่ได้เลย ส่งผลให้ร่างกายและอวัยวะต่าง ๆ เกิดภาวะขาดออกซิเจน

แม้ ARDS เป็นภาวะทางปอดที่รุนแรง ซึ่งอาการอาจทรุดลงได้อย่างรวดเร็ว และบางครั้งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต แต่หากได้รับการวินิจฉัยและการรักษาอย่างทันท่วงที ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะสามารถฟื้นฟูและรักษาให้หายขาดได้

1692 ARDS rs

อาการของกลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน

อาการของโรคขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรง โดยมีอาการที่พบได้บ่อย เช่น

  • หายใจลำบาก หายใจเร็ว หอบเหนื่อย
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง ร่างกายอ่อนแรง
  • ผิวหนังหรือเล็บเปลี่ยนเป็นสีม่วงหรือสีเขียว เนื่องจากภาวะขาดออกซิเจน
  • ไอแห้ง ๆ
  • มีไข้ ปวดศีรษะ
  • ความดันโลหิตต่ำ
  • ชีพจรเต้นเร็ว
  • สับสน รู้สึกเหนื่อยล้าอย่างรุนแรง

สาเหตุของกลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน

ARDS เป็นภาวะที่เกิดจากของเหลวภายในหลอดเลือดขนาดเล็กในปอดไหลเข้าไปในถุงลมปอด ซึ่งโดยปกติแล้วหลอดเลือดนี้จะปล่อยให้เพียงอากาศซึมผ่านเข้าไปในถุงลมปอดได้เท่านั้น แต่ในกรณีที่เกิดการอักเสบอย่างรุนแรงก็อาจทำให้ผนังหลอดเลือดปล่อยให้ของเหลวภายในหลอดเลือดซึมออกมาจากหลอดเลือดและเข้าไปอยู่ในถุงลมปอดได้ ทำให้ปอดและถุงลมสูญเสียการทำงานเฉียบพลัน ร่างกายและอวัยวะต่าง ๆ จึงขาดออกซิเจน โดยสาเหตุที่ทำให้ของเหลวเกิดการรั่วไหลอาจเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น

  • ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ (Sepsis) เป็นภาวะการติดเชื้อในกระแสเลือดที่รุนแรง และเป็นสาเหตุที่พบว่าทำให้เกิด ARDS บ่อยที่สุด
  • ปอดบวมอย่างรุนแรง ในรายที่มีอาการปอดบวมรุนแรงมาก มักส่งผลกระทบต่อกลีบปอดทั้ง 5 กลีบ และเป็นสาเหตุทำให้เกิด ARDS ได้
  • การสูดดมสารพิษที่เป็นอันตราย การสูดหายใจเอาควันหรือสารเคมีที่มีความเข้มข้นสูงเข้าไปอาจทำให้เกิดภาวะ ARDS ได้
  • อุบัติเหตุกระทบกระเทือน อาจส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บอย่างรุนแรงบริเวณศีรษะและหน้าอก โดยสามารถสร้างความเสียหายกับปอดโดยตรง หรืออาจส่งผลกระทบต่อสมองส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุมการหายใจ
  • สาเหตุอื่น ๆ เช่น ตับอ่อนอักเสบ ถ่ายเลือดในปริมาณมาก มีประวัติติดสุราเรื้อรัง ใช้ยาเสพติดในปริมาณมาก อยู่ในภาวะใกล้จมน้ำเสียชีวิต หรือไฟไหม้ เป็นต้น

การวินิจฉัย ARDS

แพทย์ต้องวินิจฉัยแยกโรคและหาสาเหตุที่ชัดเจน เพราะอาการของผู้ป่วยอาจมีความคล้ายคลึงกับโรคอื่น ๆ โดยในเบื้องต้นแพทย์จะตรวจร่างกายและอาจทดสอบด้านอื่น ๆ เพิ่มเติม ดังนี้

  • การเอกซเรย์ทรวงอก เป็นการตรวจสอบว่าของเหลวในปอดส่วนต่าง ๆ มีปริมาณเพียงใด และหัวใจมีขนาดใหญ่ขึ้นหรือไม่ รวมถึงอาจใช้การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือซีทีสแกน (CT Scan) ด้วย
  • การตรวจทางห้องปฏิบัติการ แพทย์จะนำตัวอย่างเลือดของผู้ป่วยไปตรวจระดับออกซิเจน หรืออาจตรวจสอบการติดเชื้อและตรวจหาภาวะโลหิตจาง หากแพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยเกิดการติดเชื้อที่ปอด อาจตรวจสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจเพิ่มเติม เพื่อดูสาเหตุของการติดเชื้อนั้น
  • การตรวจหัวใจ อาการของ ARDS จะคล้ายกับอาการของโรคหัวใจบางชนิด แพทย์จึงจำเป็นต้องตรวจการทำงานของหัวใจเพื่อหาสาเหตุที่ชัดเจน เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง เป็นต้น

การรักษากลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน

ภาวะ ARDS ไม่มีวิธีการรักษาอย่างเฉพาะเจาะจง แต่แพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาจากอาการและสาเหตุของโรค โดยในเบื้องต้นจะเน้นไปที่การเพิ่มระดับออกซิเจนในเลือดให้กลับไปสู่ภาวะปกติ และรักษาแบบประคับประคองตามอาการ ซึ่งแพทย์อาจเริ่มจากให้ผู้ป่วยใช้หน้ากากออกซิเจน จากนั้นอาจให้ใช้ท่อหายใจและเครื่องช่วยหายใจ

นอกจากนี้ อาจมีการฟื้นฟูสมรรถภาพปอดหรือการรักษาด้วยยาเพิ่มเติม เช่น ให้ยาและสารอาหารผ่านทางหลอดเลือดดำ ให้ยาป้องกันภาวะมีเลือดออกและการเกิดลิ่มเลือด หรือให้ยาที่ช่วยให้ผู้ป่วยสงบและสบายขึ้น เป็นต้น โดยการรักษาผู้ป่วย ARDS จะเป็นการรักษาในโรงพยาบาล และอาจต้องรักษาในหอผู้ป่วยหนักหรือห้องไอซียู เพราะเป็นกลุ่มอาการที่รุนแรง หากผู้ป่วยตอบสนองต่อการรักษาได้ดีก็อาจกลับสู่สภาวะปกติได้ในเวลาไม่นาน

อย่างไรก็ตาม หลังการรักษาผู้ป่วยควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างควบคู่ไปด้วย เพื่อช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวได้เร็วขึ้น เช่น เลิกสูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ทำกายภาพบำบัด ฉีควัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดหรือปอดอักเสบตามคำแนะนำของแพทย์ เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อนของกลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน

ARDS เป็นภาวะทางปอดที่รุนแรง อาการของผู้ป่วยอาจทรุดลงได้อย่างรวดเร็ว และอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต รวมถึงอาจเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้ เช่น

  • ภาวะโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศ (Pneumothorax) โดยทั่วไป ผู้ป่วย ARDS จะต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ เพื่อเพิ่มระดับออกซิเจนในร่างกายและช่วยขับของเหลวออกจากปอด แต่แรงดันและอากาศจากเครื่องช่วยหายใจอาจทำให้อากาศไหลออกจากรูในปอดและทำให้ปอดแตกได้
  • ลิ่มเลือด การนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลและใช้เครื่องช่วยหายใจอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดลิ่มเลือด โดยเฉพาะลิ่มเลือดบริเวณขา ซึ่งลิ่มเลือดบางส่วนอาจแตกตัวออกและเคลื่อนไปยังปอดได้
  • การติดเชื้อ ผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจโดยการสอดท่อเข้าไปทางหลอดลมโดยตรงนั้น อาจทำให้มีเชื้อโรคเข้าสู่ปอดได้ง่ายขึ้นและอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บได้
  • โรคพังผืดในปอด (Pulmonary Fibrosis) เนื้อเยื่อปอดอาจถูกทำลายและเกิดรอยแผลเป็น ซึ่งทำให้ปอดไม่สามารถทำงานได้ตามปกติจนอาจทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาในการหายใจ
  • เกิดปัญหาในการหายใจ ผู้ป่วยหลายรายอาจใช้เวลาในการรักษานานหลายเดือนไปจนถึง 2 ปี กว่าการทำงานของปอดจะฟื้นฟูเป็นปกติ แต่บางรายอาจมีการหายใจผิดปกติไปตลอดชีวิต
  • มีปัญหาเกี่ยวกับความทรงจำและการคิด ยาระงับประสาทที่ใช้ในการรักษาระดับออกซิเจนในเลือดต่ำอาจทำให้สูญเสียความทรงจำและทำให้กระบวนการคิดผิดปกติ ซึ่งบางรายอาจมีอาการเพียงชั่วคราว แต่บางรายก็อาจเป็นอย่างถาวร

การป้องกันกลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน

แม้ว่าภาวะ ARDS ไม่สามารถป้องกันได้ แต่อาจลดความเสี่ยงได้ ดังนี้

  • หากเกิดบาดแผล มีการติดเชื้อ หรือมีอาการเจ็บป่วยใด ๆ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างทันท่วงที
  • ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ เพราะการติดแอลกอฮอล์ทำให้การทำงานของปอดแย่ลง และอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และควรอยู่ให้ห่างจากผู้ที่กำลังสูบบุหรี่
  • เข้ารับการฉีควัคซีนป้องกันไข้หวัดและปอดบวมอย่างสม่ำเสมอหรือตามที่แพทย์แนะนำ เพราะอาจช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อในปอด