เด็กอาเจียน สาเหตุและวิธีดูแลที่พ่อแม่ควรรู้

เด็กอาเจียนเป็นอาการป่วยที่พบได้บ่อยและมักเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน สาเหตุที่พบบ่อยคืออาการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร อาหารเป็นพิษ การแพ้อาหาร การติดเชื้อในร่างกาย ส่วนในเด็กเล็กอาจเกิดจากการดื่มนมมากเกินไป ซึ่งทำให้เด็กมีอาการไม่สบายท้อง ปวดท้อง อาเจียนนมหรืออาหารที่รับประทานเข้าไปออกมา บางคนอาจมีไข้และท้องเสียร่วมด้วย

เด็กอาเจียนมักไม่รุนแรงและหายได้ในเวลาไม่นาน ทั้งนี้ พ่อแม่ควรระมัดระวังภาวะขาดน้ำที่อาจเป็นอันตรายต่อเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่อาเจียนต่อเนื่องกันหลายรอบ ควรให้เด็กพักผ่อนมาก ๆ และดื่มน้ำอย่างเพียงพอ เพื่อชดเชยการสูญเสียน้ำและแร่ธาตุในร่างกายจากการอาเจียน หากอาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ 

เด็กอาเจียน

สาเหตุของเด็กอาเจียนที่พบบ่อย

เด็กอาเจียนพบได้ทั้งในทารก เด็กเล็ก และเด็กโต ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น 

โรคกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กอักเสบ (Gastroenteritis)

โรคกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ เกิดจากการติดเชื้อในระบบย่อยอาหาร มักเกิดจากการติดเชื้อไวรัส เช่น โนโรไวรัส (Norovirus) และโรต้าไวรัส (Rotavirus) แต่บางครั้งอาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรียได้เช่นกัน

ทารกและเด็กเล็กมีโอกาสที่จะติดเชื้อโรคนี้ได้ง่ายจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ การสัมผัสสิ่งของที่มีเชื้อ และการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคนี้โดยตรง ทำให้เด็กอาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลว เบื่ออาหาร และมีไข้ กรณีที่ติดเชื้อไวรัสเด็กมักอาการดีขึ้นภายในเวลาไม่นาน พ่อแม่ควรดูแลเด็กไม่ให้ขาดน้ำ แต่หากติดเชื้อแบคทีเรียอาจต้องไปพบแพทย์เพื่อรับยาฆ่าเชื้อ

อาหารเป็นพิษ

อาหารเป็นพิษเกิดจากการรับประทานอาหารที่หมดอายุหรือเน่าเสียจากการจัดเก็บไม่เหมาะสม ทำให้เชื้อโรค เช่น ไวรัส แบคทีเรีย ปรสิต เข้าสู่ร่างกาย เด็กจะมีอาการคล้ายโรคกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กอักเสบ แต่อาการมักรุนแรงกว่า เช่น ปวดท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร และเสี่ยงต่อการเกิดภาวะขาดน้ำ โดยเฉพาะทารกและเด็กเล็ก

การสำรอกในทารก (Regurgitation)

การสำรอกนมและอาหารขณะรับประทานเป็นภาวะที่พบได้ในทารก ซึ่งอาจเกิดจากการที่ระบบย่อยอาหารยังพัฒนาไม่เต็มที่ หรืออาจพบในเด็กที่แม่ป้อนนมให้ดื่มมากเกินไป หรือรูจุกขวดนมใหญ่เกินไป ทำให้น้ำนมไหลออกมาในปริมาณมากจนเกิดการสำลัก และทำให้เด็กอาเจียนได้ 

โดยทั่วไป การสำรอกอาหารและนมจากสาเหตุเหล่านี้มักดีขึ้นเมื่อเด็กโตขึ้น หรือให้เด็กดื่มนมในปริมาณที่เหมาะสม แต่กรณีที่เด็กอาเจียนมาก หรือไม่สามารถรับประทานนมหรืออาหารใด ๆ ได้ ควรปรึกษาแพทย์

ภาวะย่อยน้ำตาลแล็กโทสบกพร่อง (Lactose Intolerance)

ภาวะย่อยน้ำตาลแล็กโทสบกพร่องเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กอาเจียน เกิดจากการที่ระบบย่อยอาหารของเด็กไม่สามารถย่อยน้ำตาลแล็กโทสที่พบในนมและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมได้ เมื่อดื่มนมจะทำให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องอืด ท้องเสีย คลื่นไส้ และอาเจียน

แพ้อาหาร (Food Allergies)

แพ้อาหารเป็นอาการที่พบบ่อยในเด็ก ซึ่งเป็นภาวะที่ระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองผิดปกติต่ออาหารบางชนิดที่รับประทานเข้าไป เช่น นม ถั่ว ไข่ ข้าวสาลี และอาหารทะเล ทำให้เด็กอาเจียน คลื่นไส้ ท้องเสีย ตาและปากบวม มีผื่นลมพิษขึ้น และหายใจลำบาก ซึ่งอาการอาจแตกต่างกันไปในแต่ละคน หากมีอาการแพ้รุนแรง (Anaphylaxis) อาจทำให้เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

การติดเชื้อ

การติดเชื้อในร่างกายจากไวรัส แบคทีเรีย หรือเชื้อโรคอื่น ๆ อาจทำให้เด็กอาเจียนได้ เช่น ไข้ไทฟอยด์ ไข้เลือดออก การติดเชื้อในหู การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ (Urinary Tract Infection) ปอดบวม และเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis) ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการอื่น ๆ ที่รุนแรงตามมา

ไส้ติ่งอักเสบ (Appendicitis)

การอุดตันของอุจจาระในไส้ติ่ง หรือการติดเชื้อในร่างกายอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะไส้ติ่งอักเสบ ซึ่งทำให้เด็กปวดท้องอย่างเฉียบพลันบริเวณรอบสะดือ เมื่อเกิดการอักเสบมากขึ้นอาจทำให้ปวดท้องด้านล่างขวา หากปวดมากอาจทำให้นั่งหรือยืนตรงไม่ไหว รวมทั้งทำให้เด็กอาเจียน คลื่นไส้ และเบื่ออาหาร 

หากเด็กมีอาการเหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะหากปล่อยไว้อาจทำให้ไส้ติ่งแตกและเป็นอันตรายถึงชีวิต 

การกลืนสารพิษ

การกลืนสารพิษเป็นอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะเด็กเล็กมักหยิบสิ่งของใกล้มือเข้าปาก สารพิษที่เด็กกลืนเข้าสู่ร่างกายอาจเป็นยา เครื่องสำอาง หรือสารเคมีที่ใช้ในบ้าน เช่น น้ำยาล้างห้องน้ำ น้ำยาล้างจาน ยาฆ่าแมลง และผลิตภัณฑ์ซักผ้า ซึ่งทำให้เด็กอาเจียน ง่วงซึม ชัก และหายใจลำบาก ถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่ควรพาเด็กไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด 

สาเหตุอื่น ๆ

เด็กอาเจียนอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น ความเครียด กรดไหลย้อน อาการเมารถขณะเดินทาง ลำไส้อุดตัน และภาวะอาเจียนเรื้อรัง (Cyclic Vomiting Syndrome) ซึ่งทำให้เด็กอาเจียนอย่างรุนแรงในระยะหนึ่งแล้วหายไป จากนั้นไม่นานอาจกลับมาอาเจียนใหม่เป็นวงจรซ้ำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ

การดูแลเมื่อเด็กอาเจียน

โดยทั่วไป เด็กอาเจียนมักเกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งอาการมักไม่รุนแรงและจะดีขึ้นหลังจากได้รับการดูแลเบื้องต้น พ่อแม่ควรดูแลเด็กที่มีอาการอาเจียน ดังนี้

ป้องกันภาวะขาดน้ำ

สิ่งสำคัญที่สุดในการดูแลเด็กอาเจียนคือระวังไม่ให้เด็กขาดน้ำ ควรให้เด็กจิบน้ำบ่อย ๆ ชดเชยปริมาณน้ำและเกลือแร่ในร่างกายที่สูญเสียไป โดยเฉพาะเด็กที่มีไข้และท้องเสียร่วมด้วย โดยวิธีการดูแลจะแบ่งตามช่วงอายุ ได้แก่

  • ทารกอายุมากกว่า 6 เดือนที่ดื่มนมแม่ ให้ดื่มนมแม่ต่อไป แต่ให้ดื่มบ่อยขึ้น หรืออาจให้เด็กดื่มน้ำผสมผงเกลือแร่ (Oral Rehydration Salts: ORS) ได้ภายใน 12 ชั่วโมงแรกหลังจากอาเจียน
  • ทารกที่ดื่มนมผง งดให้เด็กดื่มนมผง และให้ดื่มน้ำผสมผงเกลือแร่ หรือน้ำมะพร้าว ซึ่งมีน้ำตาลและแร่ธาตุที่ดีสำหรับร่างกายในช่วง 12 ชั่วโมงแรกหลังจากอาเจียน โดยให้จิบบ่อย ๆ ทุกครั้งหลังจากอาเจียน จากนั้นจึงให้ดื่มนมผงตามปกติ โดยค่อย ๆ ให้ดื่มทีละน้อยแต่บ่อยครั้ง 
  • เด็กโตให้จิบน้ำ น้ำมะพร้าว หรือน้ำผสมผงเกลือแร่บ่อย ๆ ทุก 15 นาทีโดยประมาณ

หากเด็กอาเจียนหลายครั้งต่อเนื่องกัน ควรรอให้หยุดอาเจียนก่อน 20–30 นาที แล้วค่อยให้ดื่มนมหรือน้ำผสมผงเกลือแร่ เมื่อเด็กอาการดีขึ้นและไม่อาเจียนแล้ว ให้ค่อย ๆ เพิ่มปริมาณนมหรือน้ำทุก 3–4 ชั่วโมง นอกจากนี้ ไม่ควรให้เด็กดื่มน้ำผลไม้ น้ำหวาน และน้ำอัดลม เนื่องจากมีน้ำตาลสูง ซึ่งอาจทำให้เด็กท้องเสียมากขึ้น

ปรับการรับประทานอาหาร

หากเด็กอาเจียนต่อเนื่อง ควรงดให้นมหรืออาหารใด ๆ จนกว่าอาการจะดีขึ้น เด็กอาจเริ่มรับประทานอาหารได้หลังจากที่ดื่มน้ำ นม หรือน้ำผสมผงเกลือแร่แล้วไม่อาเจียนอย่างน้อย 6–8 ชั่วโมง แต่โดยทั่วไปควรงดอาหารปกติที่รับประทานอย่างน้อย 24 ชั่วโมงหลังจากเด็กอาเจียน

สำหรับเด็กเล็กที่รับประทานอาหารได้ตามวัยแล้วควรให้รับประทานอาหารอ่อน เช่น กล้วยบด ข้าวบด และข้าวต้ม เด็กโตอาจให้รับประทานอาหารรสอ่อนที่ย่อยง่าย เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ซุป มันบด 

ให้เด็กพักผ่อน

เด็กอาเจียนมักเกิดอาการอ่อนเพลีย ควรให้เด็กพักผ่อนมาก ๆ งดให้เด็กออกกำลังกายหรือออกไปวิ่งเล่นกลางแจ้งเป็นเวลานาน โดยอาจให้เด็กเล่นของเล่นหรือเดินเล่นบริเวณรอบ ๆ บ้านได้ หากเด็กอาเจียนจากการติดเชื้อโรคกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กอักเสบ ควรงดให้เด็กออกจากบ้านและไปโรงเรียนในช่วง 48 ชั่วโมงแรกหลังจากมีอาการ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น

ระมัดระวังการให้ยา

หากเด็กมีอาการปวดหรือมีไข้ อาจให้รับประทานยาแก้ปวดที่หาซื้อได้เอง เช่น พาราเซตามอล โดยปรึกษาเภสัชกรเกี่ยวกับขนาดและปริมาณยาที่เหมาะสมสำหรับเด็ก ห้ามให้ยาแอสไพริน (Aspirin) กับเด็ก เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงอันตรายได้

นอกจากนี้ ไม่ควรให้ยาแก้ท้องเสียและยาแก้อาเจียน (Antiemesis) กับเด็กเองโดยที่แพทย์ไม่ได้สั่งจ่าย เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ร้ายแรงต่อสุขภาพ

อาการเด็กอาเจียนที่ควรไปพบแพทย์

พ่อแม่ควรสังเกตอาการเด็กอาเจียน หากมีอาการดังต่อไปนี้ ควรพาไปพบแพทย์

  • เด็กอาเจียนต่อเนื่องจนไม่สามารถป้อนนมหรือดื่มน้ำได้ และมีอาการขาดน้ำ เช่น กระสับกระส่าย เซื่องซึม ปากแห้ง น้ำตาไหลน้อยลง ปัสสาวะน้อยลง และกระหม่อมบุ๋มในเด็กทารก
  • เด็กอาเจียนและมีไข้ที่ที่อายุน้อยกว่า 3 เดือน
  • เด็กอาเจียนพุ่งแรง (Projectile Vomiting) อาเจียนไม่หยุด อาเจียนเป็นสีเหลืองปนเขียว และอาเจียนปนเลือด
  • มีอาการอื่นร่วมกับการอาเจียน เช่น ปวดท้องอย่างรุนแรง ปวดหัว คอแข็ง ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำหรือถ่ายเป็นเลือด
  • เด็กอาเจียนจากการกลืนสารพิษ ควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด โดยถ่ายรูปฉลากหรือนำบรรจุภัณฑ์ไปด้วย เพื่อช่วยในการวินิจฉัยและรักษาของแพทย์ 

การป้องกันเด็กอาเจียนทำได้โดยให้เด็กล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังกลับบ้าน หลังเข้าห้องน้ำ และก่อนหยิบจับอาหาร หลีกเลี่ยงการใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่นขณะที่มีอาการอาเจียน และงดให้เด็กไปเล่นหรือสัมผัสคลุกคลีกับเพื่อนหรือคนใกล้ชิดที่มีอาการป่วย เพื่อป้องกันการติดเชื้อ