อาเจียนเป็นเลือด

ความหมาย อาเจียนเป็นเลือด

อาเจียนเป็นเลือด (Hematemesis) เป็นการอาเจียนที่มีเลือดหรือลิ่มเลือดปะปนออกมา ซึ่งส่วนมากเกิดมาจากความผิดปกติที่เกิดขึ้นของระบบทางเดินอาหารส่วนต้น และถือว่าเป็นอาการอันตรายที่อาจทำให้เสียชีวิตได้ ผู้ที่อาเจียนเป็นเลือดจึงจำเป็นต้องรีบพบแพทย์อย่างเร่งด่วนเพื่อทำให้เลือดหยุดไหลเป็นอันดับแรกและค้นหาสาเหตุต่อไป ซึ่งอาจเป็นผลมาจากโรคร้ายแรงได้

อาเจียนเป็นเลือด

อาการอาเจียนเป็นเลือด

นอกจากการอาเจียนเป็นเลือด ผู้ป่วยอาจจะพบอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ซึ่งจะแตกต่างกันออกไปตามสาเหตุ ความรุนแรง และปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพในแต่ละบุคคล โดยอาการที่มักพบร่วมกันได้บ่อยเมื่ออาเจียนเป็นเลือด เช่น

  • คลื่นไส้
  • รู้สึกอึดอัด แน่นท้อง ปวดท้องอย่างรุนแรง
  • อาเจียนปนอาหารหรือน้ำย่อยในกระเพาะออกมา
  • วิงเวียนศีรษะ หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม
  • มีปัญหาในการมองเห็น
  • ใจเต้นเร็ว
  • จังหวะการหายใจผิดปกติ หายใจตื้นและเร็วขึ้น
  • มือเท้าเย็น ผิวซีด
  • มีความรู้สึกสับสน
  • ปัสสาวะออกมาในปริมาณน้อย

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่มีอาการอาเจียนเป็นเลือดเพียงอย่างเดียวหรือมีอาการอื่นร่วมด้วยควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อค้นหาสาเหตุที่ซ่อนอยู่และป้องกันภาวะแทรกซ้อน รวมถึงบรรเทาอาการไม่ให้กำเริบขึ้นจนเป็นอันตรายถึงชีวิต  

สาเหตุของอาการอาเจียนเป็นเลือด

อาการอาเจียนเป็นเลือดเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

อาเจียนเป็นเลือดจากโรคทางเดินอาหาร เป็นความผิดปกติที่เกิดจากการมีเลือดออกส่วนใดส่วนหนึ่งภายในระบบทางเดินอาหารส่วนต้นอย่างหลอดอาหาร ช่องท้อง หรือลำไส้เล็กส่วนต้น ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจาก

  • แผลในกระเพาะอาหารหรือโรคกระเพาะอาหารขั้นรุนแรง (Stomach Ulcer/Severe Gastritis) เป็นภาวะที่เกิดการอักเสบอย่างรุนแรงและกลายเป็นแผลขึ้นในกระเพาะอาหาร ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobacter Pylori) การใช้ยาต้านการอักเสบมากเกินขนาด ความเครียด การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป ปัจจัยเหล่านี้ทำให้มีแผลในกระเพาะอาหารและเกิดเลือดออกจากแผลในกระเพาะอาหารได้ง่าย ผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดแสบท้องร่วมกับการอาเจียนเป็นเลือดได้บ่อย
  • การโป่งพองของหลอดเลือดในหลอดอาหาร (Oesophageal Varices) เป็นภาวะที่มีการโป่งพอง บวม และขยายใหญ่ขึ้นของหลอดเลือดบริเวณผนังในหลอดอาหารส่วนล่าง ทำให้เกิดเลือดออกอยู่ภายในแต่มักไม่ก่อให้เกิดอาการปวด ส่วนใหญ่มักพบในผู้ป่วยที่เป็นโรคตับแข็ง โดยเฉพาะตับแข็งจากแอลกอฮอล์
  • โรคกรดไหลย้อนแบบรุนแรง (Gastro-oesophageal Reflux Disease: GORD) เกิดจากกรดหรือน้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นไปในหลอดอาหาร ทำให้เกิดการระคายเคืองที่เยื่อบุหลอดอาหารจนเกิดเลือดออก
  • หลอดอาหารเกิดการฉีกขาด (Mallory-Weiss Syndrome) เป็นภาวะที่เกิดการฉีกขาดบริเวณเยื่อบุระหว่างหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร โดยอาจมีสาเหตุมาจากความดันที่เพิ่มสูงขึ้นในกระเพาะอาหารหรือหลอดอาหาร การขย้อน เช่น การอาเจียนซ้ำ ๆ การสะอึกหรือไออย่างรุนแรง
  • โรคมะเร็งหลอดอาหาร หรือโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร โดยเฉพาะในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปี ขึ้นไปและน้ำหนักตัวเยอะ
  • การกลืนเลือดเข้าไปในบางสภาวะ เช่น กลืนเลือดกำเดาหลังจากเกิดเลือดกำเดาไหลอย่างรุนแรง ซึ่งอาจทำให้พบเลือดในอุจจาระ ลักษณะอุจจาระเป็นสีดำ

อาเจียนเป็นเลือดจากสาเหตุอื่น อาการอาเจียนเป็นเลือด อาจเกิดจากความผิดปกติอื่น ๆแต่พบได้ค่อนข้างน้อย เช่น

  • การกลืนสารพิษ สารกัดกร่อน หรือสารกัมมันตรังสี
  • ความผิดปกติของเลือด เช่น ภาวะเกล็ดเลือดต่ำหรือการลดลงของเกล็ดเลือด โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia) ฮีโมฟิเลีย (Hemophilia) ซึ่งทำให้มีเลือดออกทางเดินอาหารได้ง่าย
  • ในบางรายไม่สามารถระบุสาเหตุได้ชัดเจน

การวินิจฉัยอาการอาเจียนเป็นเลือด

แพทย์จะสอบถามเกี่ยวกับอาการผิดปกติที่ผู้ป่วยพบในขั้นแรก เช่น เริ่มมีอาการเมื่อไหร่ อาเจียนเป็นเลือดมานานแค่ไหน ปริมาณเลือดที่อาเจียนออกมามากน้อยแค่ไหน สีของเลือดที่พบเป็นอย่างไร จากนั้นจะเป็นการสอบถามประวัติทางการแพทย์ เช่น การใช้ยา ชนิดและปริมาณยาที่รับประทาน โรคประจำตัว รวมไปถึงพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อช่วยประเมินความผิดปกติก่อนพิจารณาการตรวจด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติมตามความเสี่ยง เช่น   

  • การตรวจเลือด เป็นการนำตัวอย่างเลือดของผู้ป่วยมาตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น สารเคมีในเลือด ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete Blood Count: CBC) การทดสอบการแข็งตัวของเลือด (Blood Clotting Tests) การทำงานของตับ ระดับระดับออกซิเจนและเหล็กในเลือด
  • การตรวจส่องกล้องกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น (Esophagogastroduodenoscopy: EGD) เป็นการตรวจระบบทางเดินอาหารส่วนต้นตั้งแต่หลอดอาหาร ช่องท้อง และลำไส้เล็กส่วนต้น โดยใช้กล้องสอดผ่านทางช่องปากลงไปส่องดูความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น เช่น ดูการโป่งพองของหลอดเลือดในหลอดอาหาร แผลในกระเพาะอาหาร แผลในลำไส้เล็กส่วนต้น ซึ่งแพทย์อาจมีการตัดตัวอย่างชิ้นเนื้อออกมาตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการในบางราย
  • การถ่ายภาพรังสี (Imaging Tests) อาจเป็นการตรวจเอกซเรย์ (X-Ray) อัลตราซาวด์ (Ultrasound) ซีที สแกน (CT Scan) หรือเอ็มอาร์ไอ (MRI) เพื่อตรวจดูความผิดปกติภายในร่างกาย เช่น บริเวณที่เลือดออก เกิดการฉีดขาด มีการอุดตัน หรือเนื้องอกที่อาจทำให้เกิดการอาเจียนเป็นเลือด
  • การตรวจอุจจาระ (A Bowel Movement Sample) แพทย์จะนำเอาตัวอย่างอุจจาระไปตรวจว่ามีเลือดปะปนออกมาหรือไม่
  • การตรวจอื่น ๆ เช่น การการตรวจทางทวารหนัก (Rectal Examination) เวชศาสตร์นิวเคลียร์ (Nuclear Medicine)

การรักษาอาการอาเจียนเป็นเลือด

โดยทั่วไปการรักษาในเบื้องต้นจะเป็นการให้สารน้ำทางหลอดเลือด หรือให้เลือดทดแทนในผู้ป่วยมีอาการเลือดออกอย่างรุนแรง แต่หากผู้ป่วยมีเลือดออกในปริมาณน้อยและหยุดไหลได้เองก็อาจไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา จากนั้นจึงเป็นการรักษาตามสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเป็นหลัก ซึ่งจะแตกต่างกันออกไปตามแต่ละบุคคล เช่น

  • การรักษาด้วยยา แพทย์จะให้ยาช่วยลดการผลิตกรดในกระเพาะอาหารให้ลดลงในผู้ป่วยที่อาเจียนเป็นเลือดจากการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร บางรายอาจต้องให้ยาเพื่อช่วยให้เลือดไหลมายังบริเวณที่มีบาดแผลหรือเส้นเลือดโป่งพองลดลง หรือให้ยาที่ช่วยในการแข็งตัวของเลือด
  • การให้เลือด (Blood Transfusion) ผู้ที่อาเจียนจนเสียเลือดในปริมาณมากอาจได้รับการให้เลือดทดแทนเลือดที่เสียไปหรือให้ส่วนประกอบของเลือด เพื่อช่วยในการแข็งตัวของเลือดให้ดีขึ้น  
  • การเอกซเรย์หลอดเลือดด้วยการฉีดสวนสี (Angiography) แพทย์จะฉีดสารทึบรังสีเข้าไปภายในหลอดเลือดแดงและทำการเอกซเรย์ดูการไหลเวียนของเลือด เพื่อเป็นการตรวจดูและหยุดเลือดที่ไหลจากหลอดเลือดแดง
  • การผ่าตัดโดยการส่องกล้อง เป็นการผ่าตัดผ่านกล้องขนาดเล็กที่เรียกว่า เอ็นโดสโคป (Endoscopy) ในผู้ป่วยที่เกิดการฉีดขาดของอวัยวะภายในจนทำให้เกิดเลือดออก โดยใช้ความร้อนในการช่วยให้เนื้อเยื่อประสานกันดี
  • การผ่าตัด เป็นวิธีที่ใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง อาเจียนเป็นเลือดออกมามาก หรือในกรณีที่การรักษาด้วยวิธีอื่นไม่ประสบความสำเร็จ ส่วนใหญ่มักจะใช้เมื่อเยื่อบุในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เกิดการฉีดขาด มีสิ่งกีดขวางหรือเกิดก้อนเนื้องอกขึ้น

ภาวะแทรกซ้อนของอาการอาเจียนเป็นเลือด

อาการอาเจียนเป็นเลือดสามารถก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเป็นหลัก โดยทั่วไปผู้ป่วยมักจะเสี่ยงกับการสำลักเลือดได้บ่อยจนทำให้เกิดการคั่งของเลือดไว้ในปอด มีปัญหาในการหายใจ

ในบางรายอาจเสียเลือดมากจนเกิดภาวะช็อกจนนำไปสู่อาการโคม่าและเสียชีวิตได้ในที่สุดหากได้รับการรักษาไม่ทันเวลา โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นผู้สูงอายุ มีประวัติการติดสุรา เป็นโรคหลอดเลือดสมอง หรือมีปัญหาความผิดปกติที่กระทบต่อการกลืนอาหาร ซึ่งผู้ป่วยที่มีภาวะช็อกจะสามารถสังเกตอาการได้จากอาการวิงเวียนศีรษะเมื่อลุกขึ้นยืน หายใจตื้นและเร็ว ปัสสาวะออกมามีปริมาณน้อย ตัวเย็น ผิวซีด อาการซึมลง เรียกไม่รู้สึกตัว

นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงในการเป็นโรคโลหิตจางจากการสูญเสียเลือดปริมาณมาก มักจะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่อาเจียนเป็นเลือดอย่างเฉียบพลันบ่อย ๆ แต่ในบางรายที่มีสภาวะผิดปกติของร่างกายที่ทำให้เสียเลือดอย่างช้า ๆ เช่น โรคกระเพาะ การรับประทานยากลุ่มแก้ปวดหรือยาเอ็นเสด (NSAID) เป็นเวลานานก็อาจพัฒนาโรคขึ้นได้ภายในไม่กี่สัปดาห์ถัดมา ซึ่งอาจสังเกตอาการได้ยากจนกว่าปริมาณฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในเม็ดเลือดแดงจะลดต่ำลงมาก

การป้องกันอาการอาเจียนเป็นเลือด

อาการอาเจียนเป็นเลือดเกิดได้จากหลายสาเหตุ การป้องกันจะเน้นไปที่การรักษาต้นเหตุของโรคที่ทำให้เกิดอาการขึ้นเป็นหลักก่อน และเลี่ยงปัจจัยที่เอื้อให้เกิดเลือดออกในระบบทางเดินอาหารส่วนต้นที่พบได้บ่อย โดยสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้

  • หลีกเลี่ยงอาหารประเภทที่ทำให้กระเพาะเกิดการระคายเคืองได้ง่าย เช่น อาหารไขมันสูง อาหารรสจัด ซึ่งในแต่ละบุคคลมีความแตกต่างกันออกไป จึงควรหมั่นสังเกตอาการของตนเอง
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ สารอาหารครบถ้วน เน้นอาหารประเภทผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ธัญพืช
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะยิ่งไปเพิ่มความเป็นกรดในกระเพาะอาหารจนอาจทำให้เกิดการกัดเยื่อบุกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้นเป็นแผลได้ และแอลกอฮอล์ยังทำให้เกิดตับแข็ง ซึ่งทำให้มีหลอดเลือดในหลอดอาหารโป่งพองและเลือดออกง่ายขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานยาในกลุ่มแก้ปวดหรือยาเอ็นเสด (เช่น ยาแอสไพริน ยาไอบูโพรเฟน) ขณะท้องว่าง เพราะจะสร้างความระคายเคืองกับเยื่อบุภายในช่องท้อง
  • พยายามไม่เครียดหรือควบคุมความเครียดด้วยการทำกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลาย
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • ผู้ที่เป็นโรคในทางเดินอาหาร เช่น โรคกระเพาะอาหารอักเสบ โรคกรดไหลย้อน แผลในกระเพาะอาหาร ควรมีการรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อป้องกันไม่ให้อาการกำเริบจนอาจเป็นสาเหตุให้เกิดเลือดออกได้ง่าย