Hyperemesis Gravidarum (อาการแพ้ท้องอย่างรุนแรง)

ความหมาย Hyperemesis Gravidarum (อาการแพ้ท้องอย่างรุนแรง)

Hyperemesis Gravidarum หรืออาการแพ้ท้องอย่างรุนแรง เป็นภาวะที่ผู้ตั้งครรภ์มีอาการคลื่นไส้อาเจียนอย่างหนักและอาการคงอยู่นานกว่าอาการแพ้ท้องปกติ ทำให้ร่างกายของผู้ตั้งครรภ์ขาดน้ำ เสียสมดุลของเกลือแร่ น้ำหนักลดลง เวียนศีรษะ มึนงง และอาการอื่น ๆ  

ภาวะ Hyperemesis Gravidarum สามารถส่งผลกระทบต่อทั้งร่างกายผู้ตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ และอาการที่เกิดขึ้นอาจมีความรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ จึงควรนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด โดยในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แพทย์จึงจะรักษาภาวะ Hyperemesis Gravidarum ตามอาการที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยแต่ละราย

Hyperemesis Gravidarum (อาการแพ้ท้องอย่างรุนแรง)

อาการของ Hyperemesis Gravidarum

Hyperemesis Gravidarum พบได้บ่อยในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ โดยมักจะพบอาการต่อไปนี้

  • อาเจียนมากกว่า 3–4 ครั้งต่อวัน 
  • คลื่นไส้และอาเจียนอย่างรุนแรง
  • ปวดศีรษะ มึนงง 
  • อ่อนเพลียอย่างรุนแรง เป็นลม
  • กลัวการรับประทานอาหาร
  • มีน้ำลายมากผิดปกติ    
  • น้ำหนักลดต่ำกว่าช่วงก่อนตั้งครรภ์อย่างน้อย 5 เปอร์เซ็นต์
  • มีภาวะขาดน้ำ 
  • ปัสสาวะได้น้อย ท้องผูก
  • มีภาวะดีซ่าน
  • ความดันโลหิตต่ำ
  • ภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
  • ผิวหนังขาดความยืดหยุ่น
  • วิตกกังวลหรือซึมเศร้ารุนแรงกว่าปกติ

หากพบว่าตนเองหรือผู้ที่ตั้งครรภ์มีอาการดังต่อไปนี้ ควรนำส่งโรงพยาบาลทันที 

สาเหตุของ Hyperemesis Gravidarum

ในปัจจุบันแพทย์ยังไม่สามารถระบุสาเหตุของอาการแพ้ท้องอย่างรุนแรงได้อย่างชัดเจน แต่อาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยต่าง ๆ เช่น 

  • การเพิ่มขึ้นของระดับฮอร์โมนในร่างกาย เช่น ฮอร์โมนเอชซีจี (Human Chorionic Gonadotropin: HCG) ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) หรือฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) เป็นต้น
  • ระดับฮอร์โมนไทรอกซิน (Thyroxine) ในเลือดเพิ่มสูงขึ้น
  • การตั้งครรภ์แฝดหรือมีภาวะครรภ์ไข่ปลาอุก
  • ลำไส้เล็กส่วนต้นรั่วกลับเข้าไปยังช่องท้อง
  • มีความผิดปกติของตับหรือการบีบตัวของทางเดินอาหาร
  • ไขมันในเลือดสูง
  • หูชั้นในมีปัญหา
  • การติดเชื้อเอชไพโลไร (Helicobacter Pylori)
  • ร่างกายขาดวิตามินบี 6 และสังกะสี

การวินิจฉัย Hyperemesis Gravidarum

แพทย์จะสอบถามประวัติทางการแพทย์ ประวัติการใช้ยา อาการที่เกิดขึ้น ร่วมกับการตรวจร่างกายและสังเกตความผิดปกติที่พบได้บ่อยในผู้มีภาวะ Hyperemesis Gravidarum อย่างความดันในเลือดต่ำหรือชีพจรเต้นเร็ว 

นอกจากนี้ แพทย์อาจตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือดและปัสสาวะเพื่อหาสัญญาณของภาวะขาดน้ำ ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ตรวจแร่ธาตุและสารละลายในร่างกาย ตรวจหาสารคีโตนในปัสสาวะ และน้ำหนักตัวที่ลดลง ตรวจดูการทำงานของตับและระบบทางเดินอาหาร หรือตรวจอัลตราซาวด์เพื่อตรวจดูการตั้งครรภ์แฝดหรือภาวะครรภ์ไข่ปลาอุก เป็นต้น

การรักษา Hyperemesis Gravidarum 

แพทย์จะรักษา Hyperemesis Gravidarum ตามอาการของผู้ป่วยเป็นหลัก ได้แก่ 

การให้น้ำเกลือ

การให้น้ำเกลือจะช่วยรักษาภาวะขาดน้ำ คืนสารอิเล็กโทรไลต์ (Electrolyte) วิตามินและสารอาหารเข้าสู่ร่างกาย โดยจะใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการอาเจียนตลอดการตั้งครรภ์ ในบางรายที่มีภาวะ Hyperemesis Gravidarum ความรุนแรงมาก ผู้ป่วยจะต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลเพื่อรับน้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ

การให้อาหารทางสายยาง

ผู้ป่วยอาจต้องได้รับอาหารผ่านสายยางตลอดการตั้งครรภ์เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับสารอาหารอย่างสมดุล โดยอาจเป็นการใส่ท่อผ่านทางจมูกลงไปยังกระเพาะอาหาร หรือการใส่สายอาหารทางหน้าท้องไปยังกระเพาะอาหารหากผู้ป่วยจะต้องเข้ารับการผ่าตัด 

การใช้ยา 

แพทย์จะจ่ายยาหลายชนิดตามอาการของผู้ป่วย เช่น ยาบำบัดอาการคลื่นไส้อาเจียน ยาต้านฮิสทามีน (Antihistamines) ยาลดอาการกรดไหลย้อน (Antireflux Medications) เป็นต้น หากผู้ป่วยไม่สามารถรับประทานยาได้ แพทย์อาจให้ยาทางหลอดเลือดดำหรือใช้ยาเหน็บ ทั้งนี้ การใช้ยาจะต้องปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินความเสี่ยงและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นกับร่างกายของผู้ป่วยหรือการพัฒนาการของทารกในครรภ์

นอกจากนี้ แพทย์อาจรักษาภาวะ Hyperemesis Gravidarum ด้วยการกดจุด การบำบัดแบบโฮมิโอพาธีย์ (Homeopathy) การสะกดจิต การสนับสนุนทางอารมณ์หรือให้นอนพักผ่อน เพื่อให้ร่างกายของผู้ป่วยผ่อนคลาย 

ภาวะแทรกซ้อนของ Hyperemesis Gravidarum 

ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยจาก Hyperemesis Gravidarum คือ ภาวะขาดน้ำและภาวะไม่สมดุลของเกลือแร่ในร่างกาย ผู้ป่วยบางรายอาจมีภาวะแทรกซ้อนขั้นรุนแรง เช่น ปอดแฟบ ตาบอด ภาวะสมองบวมเนื่องจากขาดสารอาหาร ชัก ภาวะโคม่า หรืออาจถึงขั้นเสียชีวิต 

นอกจากนี้ หากปล่อยให้เกิดภาวะ Hyperemesis Gravidarum เป็นเวลานานโดยไม่ทำการรักษา ผู้ป่วยอาจมีความเสี่ยงต่อการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด (Preterm Labor) และมีภาวะครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อตัวผู้ป่วยเองและทารกในครรภ์ 

การป้องกัน Hyperemesis Gravidarum 

ภาวะ Hyperemesis Gravidarum ไม่สามารถป้องกันได้ หากมีอาการคล้ายอาการแพ้ท้องอย่างรุนแรง ผู้ป่วยห้ามรับประทานยาเพื่อรักษาอาการด้วยตนเอง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อความปลอดภัยต่อทั้งตัวมารดาและทารกในครรภ์ และอาจบรรเทาอาการไม่ให้แพ้ท้องรุนแรงตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • นอนพักเพื่อให้ร่างกายสบาย แต่ควรระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อและน้ำหนัก ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการนอนที่มากเกินไป
  • แบ่งมื้ออาหารออกเป็นหลายมื้อ โดยแต่ละมื้อให้รับประทานอาหารในปริมาณน้อย
  • เลือกรับประทานอาหารรสจืดหรืออาหารที่มีความแห้ง อย่างขนมปังแครกเกอร์
  • ควรรับประทานธาตุเหล็กเสริมหลังจากอาการคลื่นไส้ดีขึ้นแล้ว
  • รับประทานวิตามินบี 6 ขิงหรือสะระแหน่ โดยต้องรับประทานภายใต้การควบคุมโดยแพทย์