โรคเซลิแอค (Celiac Disease)

ความหมาย โรคเซลิแอค (Celiac Disease)

Celiac Disease (โรคเซลิแอค) คือ โรคที่ระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองต่อกลูเตน ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่มีอยู่ในพืชจำพวกข้าวบารเลย์ ข้าวสาลี และข้าวไรย์ เมื่อรับประทานโปรตีนชนิดนี้จะกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยทำลายผนังลำไส้จนทำให้ลำไส้ไม่สามารถดูดซึมสารอาหารต่าง ๆ ได้ จึงส่งผลให้ผู้ป่วยมีปัญหาในระบบขับถ่าย เช่น ปวดท้อง ท้องร่วง ท้องอืด เป็นต้น หากเกิดในเด็กก็อาจมีผลต่อพัฒนาการของเด็กด้วย

อาการของ Celiac Disease

Celiac Disease จะแสดงอาการเมื่อได้รับกลูเตนเข้าสู่ร่างกาย โดยอาการจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ซึ่งผู้ป่วยบางรายอาจไม่แสดงอาการใด ๆ ในขณะที่บางรายอาจมีอาการต่าง ๆ ดังนี้

  • อ่อนเพลีย ปวดหัว
  • ปวดท้อง ท้องผูก หรือท้องร่วง
  • ท้องอืด มีแก๊สในลำไส้ อาหารไม่ย่อย
  • อาเจียน น้ำหนักลด
  • มีผื่นคันตามผิวหนัง
  • แสบร้อนกลางอก

ยิ่งไปกว่านั้น ระบบภูมิคุ้มกันที่สร้างความเสียหายต่อลำไส้เล็กอาจทำให้ระบบดูดซึมสารอาหารเสียหายไปด้วย ร่างกายจึงไม่ได้รับสารอาหารที่จำเป็น เช่น โปรตีน วิตามิน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน เป็นต้น ซึ่งอาจทำให้เกิดความผิดปกติในร่างกายตามมาได้ เช่น

  • มวลกระดูกน้อย
  • ปวดกระดูกและข้อ
  • เคลือบฟันกร่อนหรือเสียหาย
  • มีแผลในปาก
  • โลหิตจาง
  • การทำงานของม้ามแย่ลง
  • ระบบประสาทเสียหาย
  • มีปัญหาเกี่ยวกับการตั้งครรภ์

นอกจากนี้ หากโรคนี้เกิดขึ้นในเด็ก อาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็กและส่งผลให้มีอาการอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น ท้องร่วงเรื้อรัง อารมณ์ไม่ดี หงุดหงิดง่าย กล้ามเนื้อลีบ มีพัฒนาการช้า เป็นต้น

1836 Celiac Disease rs

สาเหตุของ Celiac Disease

Celiac Disease เกิดจากโปรตีนกลูเตนไปกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันก่อความเสียหายต่อลำไส้เล็ก ทำให้ไม่สามารถดูดซึมสารอาหารต่าง ๆ ได้ เช่น โปรตีน วิตามิน หรือแร่ธาตุ เป็นต้น จึงส่งผลกระทบต่ออวัยวะหลายส่วนภายในร่างกาย อาการของโรคนี้จึงเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ

อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกตินั้นยังไม่สามารถบอกได้อย่างแน่ชัด แต่ปัจจัยสำคัญที่มีผล คือ พันธุกรรม ดังนั้น หากมีคนในครอบครัวเคยเป็นโรคนี้มาก่อน จะทำให้มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคนี้มากขึ้น นอกจากนี้ โรคหรือภาวะความเจ็บป่วยบางอย่างก็อาจทำให้เกิดโรคนี้ได้ ดังนี้

การวินิจฉัย Celiac Disease

ผู้ป่วยส่วนมากมักไม่รู้ว่าตนเองป่วยเป็น Celiac Disease เพราะอาการของโรคนี้คล้ายกับโรคทางเดินอาหารอื่น ๆ อีกทั้งยังมีอาการในหลากหลายรูปแบบ จึงทำให้การตรวจหาทำได้ยาก โดยเบื้องต้นแพทย์จะวินิจฉัยโดยสอบถามอาการป่วยอย่างละเอียด ประวัติการเจ็บป่วยของทั้งตัวผู้ป่วยและบุคคลในครอบครัว รวมทั้งตรวจร่างกายทั่วไป หากยังไม่สามารถหาสาเหตุได้ แพทย์อาจวินิจฉัยด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม ดังต่อไปนี้

ตรวจเลือด

  • ตรวจหาภูมิคุ้มกันที่ต่อต้านกลูเตนที่อยู่ในกระแสเลือด หากมีภูมิคุ้มกันดังกล่าวอยู่ แสดงว่าผู้ป่วยมีโอกาสเป็น Celiac Disease แต่ผู้ป่วยไม่ควรงดอาหารที่มีกลูเตนก่อนตรวจเลือด เพราะอาจทำให้ผลตรวจคลาดเคลื่อน
  • ตรวจความผิดปกติในพันธุกรรม โดยตรวจดูโปรตีน HLA แต่การตรวจนี้ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นโรคนี้หรือไม่ เพราะบางคนที่มียีนผิดปกติก็อาจไม่ได้เป็นโรคนี้แต่อย่างใด จึงต้องใช้การตรวจอื่น ๆ เพื่อประกอบการวินิจฉัยด้วย

ตรวจชิ้นเนื้อ
เมื่อตรวจเลือดแล้วผลออกมาว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็น Celiac Disease แพทย์จะตัดชิ้นเนื้อบริเวณลำไส้เล็กมาตรวจดูว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นผลจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันหรือไม่

การรักษา Celiac Disease

ในปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีการรักษา Celiac Disease แต่ทำได้เพียงรักษาตามอาการที่เกิดขึ้น เมื่อผู้ป่วยมีอาการของโรค แพทย์อาจสั่งให้งดอาหารที่มีกลูเตนและกำหนดตารางอาหารในแต่ละมื้อให้ โดยอาการจะดีขึ้นภายใน 2-3 วัน การอักเสบของลำไส้เล็กก็จะลดลงภายใน 3-4 สัปดาห์ รวมทั้งผู้ป่วยจะหายจากการอักเสบและผนังลำไส้จะกลับมาเป็นปกติภายในเวลา 2-3 ปี

ในรายที่มีอาการรุนแรง แพทย์อาจใช้สเตียรอยด์เพื่อช่วยลดอาการอักเสบของลำไส้เล็ก หรือให้วิตามินและอาหารเสริมเพิ่มเติมในกรณีที่มีอาการขาดสารอาหารอย่างรุนแรง

นอกจากนี้ แพทย์อาจนัดติดตามอาการหลังการรักษาเพื่อตรวจว่าอาการดีขึ้นหรือไม่ ลำไส้เล็กฟื้นตัวได้เพียงใด และต้องได้รับการรักษาเพิ่มเติมหรือไม่ เพื่อป้องกันอาการกำเริบหรือการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรง

ผู้ป่วยสามารถลดความเสี่ยงการเกิดอาการได้ โดยหลีกเลี่ยงอาหารที่มีกลูเตนผสมอยู่ เช่น

  • อาหารที่ทำจากขนมปัง เช่น เค้ก โดนัท พิซซ่า เป็นต้น
  • สปาเกตตี้
  • ข้าวสาลี และมอลต์
  • ซอสปรุงรสบางชนิด

ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรเลือกรับประทานอาหารที่ไม่มีกลูเตน เพื่อให้ได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนแม้ไม่รับประทานกลูเตน เช่น

  • ข้าว มันฝรั่ง ถั่ว
  • ผักและผลไม้
  • เนื้อสัตว์
  • นม เนย
  • อาหารเสริมเพื่อเพิ่มสารอาหารที่ร่างกายขาดไป เช่น วิตามิน แคลเซียม ธาตุเหล็ก เป็นต้น

หากไม่มั่นใจว่าอาหารชนิดใดมีกลูเตนอยู่หรือไม่ ควรอ่านฉลากผลิตภัณฑ์ที่ระบุว่าปราศจากกลูเตนก่อนเลือกซื้อ และนอกจากกลูเตนในอาหารประเภทต่าง ๆ แล้ว เครื่องสำอางหรือยาบางชนิดก็มีกลูเตนเป็นส่วนผสมอยู่ด้วย ดังนั้น ควรอ่านฉลากผลิตภัณฑ์ให้ดีก่อนทุกครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีกลูเตนเป็นส่วนประกอบ หรือสอบถามพนักงานขายและเภสัชกรก่อนซื้อ เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ

ภาวะแทรกซ้อนของ Celiac Disease

เนื่องจาก Celiac Disease ทำให้ลำไส้เล็กดูดซึมสารอาหารไม่ได้ ส่งผลให้ร่างกายไม่ได้รับสารอาหาร ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายจึงอ่อนแอลง และอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ขึ้นได้ ดังนี้

  • ภาวะทุพโภชนาการ ร่างกายขาดสารอาหารไปบำรุงส่วนต่าง ๆ จึงทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนตามมาได้มากมาย เช่น มวลกระดูกน้อย โลหิตจาง เป็นต้น
  • ภาวะย่อยน้ำตาลแล็กโทสผิดปกติ เป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถย่อยน้ำตาลแล็กโทสได้หมด ทำให้เกิดอาการอย่างท้องอืดหรือปวดท้อง
  • ปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาท ผู้ป่วย Celiac Disease อาจเกิดอาการแทรกซ้อนที่เกี่ยวกับระบบประสาทได้ เช่น ปลายประสาทอักเสบ หรือชัก เป็นต้น
  • มะเร็ง แม้การเกิดมะเร็งจากโรคนี้นั้นมีโอกาสน้อย แต่หากผู้ป่วยยังคงรับประทานอาหารที่มีกลูเตนต่อไป อาจเพิ่มโอกาสในการเกิดมะเร็งมากยิ่งขึ้นได้ โดยเฉพาะมะเร็งลำไส้เล็กและมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

นอกจากนี้ หากผู้ป่วยเป็นสตรีมีครรภ์ อาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์มากขึ้นได้ เช่น ภาวะคลอดก่อนกำหนด หรือเด็กมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ เป็นต้น

การป้องกัน Celiac Disease

เนื่องจากโรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดจึงไม่อาจป้องกันอย่างเด็ดขาดได้ แต่สามารถลดความเสี่ยงของอาการได้แต่แรกเกิด โดยไม่ให้ทารกอายุน้อยกว่า 6 เดือนรับประทานอาหารที่มีกลูเตน และให้ดื่มแต่นมแม่เพียงอย่างเดียว

ทั้งนี้ Celiac Disease เป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และบางครั้งผู้ป่วยก็ไม่แสดงอาการ หรืออาจมีอาการไม่ชัดเจน จึงสังเกตได้ยากว่าป่วยเป็นโรคนี้ ฉะนั้น เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพจากโรคนี้ หากมีความกังวลหรือมีอาการผิดปกติที่เป็นสัญญาณของโรค ควรไปปรึกษาแพทย์และรับการตรวจวินิจฉัยให้แน่ชัด เพื่อหาทางรับมือและป้องกันอาการกำเริบอย่างถูกวิธี