อาหารไม่ย่อย รับมืออย่างไรให้อยู่หมัด

เชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยเกิดความรู้สึกเหมือนอาหารไม่ย่อยกันมาบ้าง ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกอิ่มเร็วและนานผิดปกติ แน่นหรือแสบร้อนบริเวณท้องช่วงบน เรอบ่อย มีรสเปรี้ยวในปาก คลื่นไส้ หรืออาเจียน จนทำให้ความสุขในการรับประทานอาหารลดน้อยลงไป มาหาคำตอบกันดีกว่าว่าเราจะรับมือกับอาการเหล่านี้อย่างไรได้บ้าง

อาหารไม่ย่อยเป็นอาการที่สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งพฤติกรรมการรับประทานอาหาร การใช้ชีวิตประจำวัน อาหารที่รับประทาน ความเครียด การใช้ยาบางชนิด โรคหรือภาวะผิดปกติบางอย่าง หรือในบางกรณีอาจเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ

อาหารไม่ย่อย รับมืออย่างไรให้อยู่หมัด

อาหารไม่ย่อย จัดการอย่างไรดี

โดยปกติแล้ว อาการอาหารไม่ย่อยมักจะค่อย ๆ ดีขึ้น และหายได้เองโดยไม่ต้องทำการรักษาใด ๆ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีอาการอาหารไม่ย่อยอาจลองนำวิธีดังต่อไปนี้ไปลองทำตาม เพื่อช่วยให้อาการต่าง ๆ ดีขึ้น และลดความเสี่ยงต่อการเกิดอาการอาหารไม่ย่อยที่อาจเกิดขึ้นซ้ำได้

  • หมั่นสังเกตตัวเองว่าอาหารชนิดใดที่มักกระตุ้นให้เกิดอาการ และคอยหลีกเลี่ยงอาหารเหล่านั้น โดยชนิดของอาหารที่มักส่งผลให้เกิดอาการอาหารไม่ย่อย เช่น อาหารที่มีไขมันสูง อาหารรสเผ็ดหรือเปรี้ยวจัด อาหารแปรรูป น้ำอัดลม อาหารหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีนเป็นส่วนผสม 
  • รับประทานอาหารในแต่ละมื้อให้น้อยลง แต่ให้เพิ่มจำนวนมื้อให้ถี่ขึ้น โดยอาจจะแบ่งเป็นประมาณ 6 มื้อต่อวัน หรือตามความเหมาะสม
  • เคี้ยวอาหารให้ละเอียด หลีกเลี่ยงการพูดคุยขณะรับประทานอาหาร เนื่องจากการพูดคุยขณะเคี้ยวอาหารอาจส่งผลให้เกิดการกลืนอากาศเข้าไปมากเกิน ซึ่งอาจนำไปสู่อาการอาหารไม่ย่อยได้
  • หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำในระหว่างที่รับประทานอาหารยังไม่เสร็จ
  • หลีกเลี่ยงการเอนตัวนอนในช่วงเวลาประมาณ 2–3 ชั่วโมงหลังจากรับประทานอาหารเสร็จ
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานในช่วงดึก
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ 
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  • หมั่นออกกำลังกายเพื่อช่วยควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เนื่องจากหากร่างกายมีน้ำหนักตัวเกิน อาจส่งผลให้บริเวณหน้าท้องได้รับแรงกดทับมากขึ้นจนกรดในกระเพาะไหลย้อนกลับทางหลอดอาหารได้
  • จัดการกับความเครียด โดยอาจจะเลือกเป็นกีฬาหรือกิจกรรมที่สนใจ เพื่อช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย
  • สำหรับผู้ที่ใช้ยาบางชนิดอยู่ โดยเฉพาะยาแอสไพริน (Aspirin) ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) และยานาพรอกเซน (Naproxen) ให้ปรึกษาแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจหาสาเหตุของอาการอาหารไม่ย่อยก่อนที่แน่ชัดก่อนโดยไม่หยุดใช้ยาเอง

ทั้งนี้ แม้อาการอาหารไม่ย่อยจะดูไม่รุนแรงและอาจหายเองได้ แต่ผู้ที่มีอาการอาหารไม่ย่อยติดต่อกันนานเกิน 2 สัปดาห์ ควรหาเวลาไปพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจหาสาเหตุที่แน่ชัดและรับการรักษาที่เหมาะสม

แต่ผู้ที่มีอาการอาหารไม่ย่อยร่วมกับอาการอื่น เช่น อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร กลืนลำบาก น้ำหนักลดผิดปกติ ปวดท้องขั้นรุนแรง อุจจาระสีดำสนิท อาเจียนบ่อย อาเจียนปนเลือด ผิวหรือตาเหลือง มีเหงื่อออกมากผิดปกติ หายใจไม่อิ่ม หรือรู้สึกเจ็บบริเวณหน้าอก ขากรรไกร คอ และแขน ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เนื่องจากอาการที่เกิดขึ้นอาจเป็นสัญญาณของโรคหรือภาวะผิดปกติที่รุนแรงได้