อาหารไม่ย่อย (Indigestion)

ความหมาย อาหารไม่ย่อย (Indigestion)

อาหารไม่ย่อย (Indigestion) เป็นอาการปวดท้องช่วงบน ท้องอืด จุกเสียดแน่นท้อง จุกลิ้นปี่ รู้สึกอึดอัด ไม่สบายตัว หรือมีอาการแสบร้อนกลางอกหลังจากรับประทานอาหาร โดยเป็นอาการที่มักเกิดขึ้นจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม หรือเกิดจากปัญหาสุขภาพในระบบย่อยอาหารบางอย่าง ทั้งนี้ การรักษาอาการอาหารไม่ย่อยมีหลายวิธีขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ

โดยปกติแล้วเมื่อรับประทานอาหาร อาหารจะถูกส่งไปตามหลอดอาหารเพื่อเข้าสู่กระเพาะอาหาร และกรดในกระเพาะอาหารจะช่วยย่อยอาหารเหล่านั้น จากนั้นจึงส่งต่อไปยังลำไส้เล็กโดยมีเอนไซม์ช่วยย่อยอาหารภายในลำไส้เล็ก เพื่อดูดซึมสารอาหารไปใช้ประโยชน์ภายในร่างกาย แต่หากกระบวนการย่อยอาหารไม่ดำเนินไปตามปกติ อาจทำให้เกิดอาการอาหารไม่ย่อยได้

อาหารไม่ย่อย

สาเหตุของอาการอาหารไม่ย่อย

อาการอาหารไม่ย่อยสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้

พฤติกรรมการรับประทานอาหาร

อาการอาหารไม่ย่อยโดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม เช่น การรับประทานอาหารเร็วเกินไปหรือรับประทานอาหารในปริมาณมากเกินไป การรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงหรืออาหารที่มีรสเผ็ดจัด รวมถึงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน แอลกอฮอล์ หรือน้ำอัดลมมากเกินไปด้วย

ปัจจัยในชีวิตประจำวัน

ปัจจัยบางอย่างในชีวิตประจำวันอาจส่งผลให้เกิดอาการอาหารไม่ย่อยได้ เช่น การสูบบุหรี่ การมีภาวะเครียดหรือวิตกกังวล การมีภาวะอ้วนหรือน้ำหนักเกิน เพราะจะทำให้เกิดแรงดันในช่องท้องเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการตั้งครรภ์ ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ส่งผลให้ขนาดของมดลูกขยายจนเกิดแรงดันในช่องท้องเพิ่มขึ้น และนำไปสู่การเกิดอาการอาหารไม่ย่อยตามมา

การใช้ยาบางชนิด

การใช้ยาบางชนิดอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อระบบย่อยอาหาร จนนำไปสู่การเกิดอาการอาหารไม่ย่อยได้ เช่น การใช้ยาปฏิชีวนะเป็นประจำ รวมถึงการใช้ยาแก้ปวด ยาสเตียรอยด์ ยาต้านการอักเสบอย่างยาแอสไพริน ยาไอบูโพรเฟน ยาไดโคลฟีแนค และอาหารเสริมธาตุเหล็กด้วย

ปัญหาสุขภาพต่าง ๆ

ตัวอย่างปัญหาสุขภาพที่อาจทำให้เกิดอาการอาหารไม่ย่อยได้ เช่น

  • ภาวะกรดไหลย้อนหรือโรคกรดไหลย้อน 
  • การติดเชื้อแบคทีเรียเอชไพโลไร (H. pylori) บริเวณเยื่อบุกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็ก ซึ่งอาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็ก จนนำไปสู่อาการอาหารไม่ย่อยได้
  • การเกิดแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กจากสาเหตุอื่น ๆ
  • อาการท้องผูก เพราะอาจทำให้มีอาหารสะสมอยู่ในระบบย่อยอาหารจำนวนมาก
  • การอักเสบของอวัยวะในระบบย่อยอาหาร เช่น กระเพาะอาหาร หลอดอาหาร ลำไส้เล็ก หรือตับอ่อนซึ่งมีหน้าที่ผลิตเอนไซม์ที่ใช้ในการย่อยอาหาร
  • การมีนิ่วในถุงน้ำดี
  • ภาวะลำไส้อุดตัน
  • ภาวะลำไส้ขาดเลือด
  • ภาวะไส้เลื่อนกระบังลม
  • โรคมะเร็งกระเพาะอาหารหรือโรคมะเร็งหลอดอาหาร ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้น้อยมาก
  • โรคเซลิแอค (Celiac Disease) โดยหากรับประทานกลูเตนจะทำให้ลำไส้เสียหายและไม่สามารถดูดซึมสารอาหารประเภทไขมัน วิตามิน เกลือแร่ และสารอาหารอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อร่างกายได้อย่างเหมาะสม

นอกจากนี้ ยังมีอาการอาหารไม่ย่อยโดยไม่ทราบสาเหตุ (Functional หรือ Nonulcer Dyspepsia) ซึ่งเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ของผู้ที่มีอาการอาหารไม่ย่อยที่เกิดขึ้นอย่างซ้ำ ๆ แต่ไม่พบความผิดปกติใด ๆ ของอวัยวะในระบบย่อยอาหารด้วยเช่นกัน

อาการอาหารไม่ย่อย

เมื่ออาหารไม่ย่อยจะทำให้เกิดกลุ่มอาการที่เกี่ยวข้องกับอวัยวะในระบบย่อยอาหารอย่างกระเพาะอาหาร หลอดอาหาร และลำไส้เล็ก โดยผู้ที่มีอาการอาหารไม่ย่อยมักจะเกิดอาการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • รู้สึกปวดท้องช่วงบน จุกเสียดแน่นท้อง จุกแน่นลิ้นปี่ อึดอัด หรือไม่สบายตัว รวมถึงมีอาการท้องอืดท้องเฟ้อหลังจากรับประทานอาหาร
  • รู้สึกอิ่มเร็วหลังจากรับประทานอาหารเข้าไปได้ไม่นาน ทั้ง ๆ ที่ยังรับประทานอาหารไม่เสร็จ หรือยังไม่ได้รับประทานในอาหารปริมาณมาก
  • รู้สึกแสบร้อนกลางอกช่วงบริเวณระหว่างกระดูกหน้าอกกับสะดือ
  • รู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน
  • มีอาการเรอ

โดยส่วนใหญ่ อาการอาหารไม่ย่อยจะดีขึ้นและหายไปในเวลาไม่นาน แต่ในบางครั้งอาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นบ่อยจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน หรืออาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับระบบย่อยอาหารได้เช่นกัน

อาการอาหารไม่ย่อยที่ควรไปพบแพทย์

ผู้ที่มีอาการอาหารไม่ย่อยบ่อย ๆ ควรสังเกตอาการที่เกิดขึ้น และควรไปพบแพทย์หากมีอาการอาหารไม่ย่อยเกิดขึ้นบ่อย ๆ อย่างต่อเนื่องกว่า 2 สัปดาห์ โดยอาจมีอาการรุนแรงมากขึ้น หรือมีอาการสำคัญอื่น ๆ เกิดขึ้นร่วมด้วย เช่น

  • น้ำหนักตัวลดลงหรือไม่อยากอาหาร 
  • อาเจียนบ่อยหรืออาเจียนมีเลือดปน
  • ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำหรืออุจจาระมีเลือดปน
  • กลืนอาหารลำบากและมีอาการแย่ลงเรื่อย ๆ
  • เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของภาวะโลหิตจาง 

ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์อย่างเร่งด่วนหากพบอาการร่วมดังต่อไปนี้

  • หายใจไม่อิ่ม หายใจถี่ และมีเหงื่อออกมาก
  • รู้สึกเจ็บหน้าอกในขณะออกกำลังหรือใช้แรง
  • รู้สึกเจ็บหน้าอก และลามไปยังบริเวณกราม ลำคอ หรือแขน
  • น้ำหนักลดลงมากผิดปกติ

การวินิจฉัยอาหารไม่ย่อย

ในเบื้องต้น แพทย์จะสอบถามอาการที่เกิดขึ้น ซักประวัติสุขภาพของผู้ป่วย ตรวจร่างกายในบริเวณต่าง ๆ และอาจส่งตรวจเพิ่มเติมโดยขึ้นอยู่กับลักษณะ ความรุนแรงของอาการ และดุลยพินิจของแพทย์ว่าอาการอาหารไม่ย่อยของผู้ป่วยน่าจะเกิดจากสาเหตุใด 

การตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการอาหารไม่ย่อย ได้แก่

  • การตรวจเลือด ซึ่งเป็นการตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อเชื้อแบคทีเรียเอชไพโลไรที่อาจเป็นสาเหตุของอาการอาหารไม่ย่อย
  • การตรวจลมหายใจ เป็นการตรวจหาการติดเชื้อแบคทีเรียเอชไพโลไรเช่นกัน โดยแพทย์จะให้ผู้ป่วยดื่มเครื่องดื่มเฉพาะที่เตรียมไว้ แล้วพ่นลมหายใจเข้าไปในเครื่องทดสอบลมหายใจ
  • การตรวจอุจจาระ เพื่อตรวจหาการติดเชื้อในกรณีที่สงสัยว่าผู้ป่วยอาจมีอาการอาหารไม่ย่อยจากการติดเชื้อแบคทีเรียเอชไพโลไร
  • การฉายภาพอวัยวะภายใน โดยอาจใช้การเอกซเรย์ธรรมดา (X-ray) หรือการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) เพื่อตรวจหาการอุดตันภายในลำไส้ และอาจใช้การอัลตราซาวด์ (Ultrasound) เพื่อตรวจหาความผิดปกติที่อวัยวะต่าง ๆ ภายในช่องท้องด้วย
  • การส่องกล้องตรวจทางเดินอาหาร โดยใช้เครื่องมือพิเศษที่มีกล้องติดอยู่ตรงส่วนปลายท่อ สอดเข้าไปทางปากหรือทางทวารหนักของผู้ป่วย เพื่อตรวจดูความผิดปกติของอวัยวะภายใน
  • การตรวจตัวอย่างชิ้นเนื้อ เป็นขั้นตอนต่อเนื่องจากการส่องกล้อง โดยจะใช้เครื่องมือพิเศษตัดตัวอย่างชิ้นเนื้อในบริเวณที่ต้องการแล้วนำไปตรวจหาเชื้อหรือความผิดปกติต่าง ๆ ในห้องปฏิบัติการ

นอกจากนี้ อาจต้องใช้วิธีการอื่น ๆ ในการตรวจวินิจฉัยอาการอาหารไม่ย่อย หากแพทย์มีข้อสงสัยใด ๆ เพิ่มเติม ซึ่งแพทย์จะพิจารณาไปตามกรณี

การรักษาอาการอาหารไม่ย่อย

วิธีการรักษาอาการอาหารไม่ย่อยจะทำการรักษาที่ต้นเหตุของการเกิดอาการ ร่วมกับการรักษาเพื่อช่วยบรรเทาอาการที่เกิดขึ้น และการป้องกันการเกิดอาการอาหารไม่ย่อยโดยวิธีการรักษาอื่น ๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับโรคหรืออาการป่วยเหล่านั้นด้วย ตัวอย่างการรักษาอาการอาหารไม่ย่อย มีดังนี้

1. การใช้ยาลดการผลิตกรดในกระเพาะอาหาร

การรับประทานยาที่มีคุณสมบัติในการช่วยลดการผลิตกรดในกระเพาะอาหาร อาจสามารถช่วยบรรเทาอาการอาหารไม่ย่อยได้ ผู้ที่มีอาการอาหารไม่ย่อยอาจสามารถหาซื้อยาเหล่านี้ได้เองตามร้านขายยาทั่วไป แต่ต้องใช้ยาตามคำแนะนำบนฉลากและคำแนะนำจากเภสัชกรอย่างเคร่งครัด ตัวอย่างยาที่ช่วยลดการผลิตกรดในกระเพาะอาหาร เช่น

  • ยาโปรตอน ปั๊ม อินฮิบิเตอร์ (Proton Pump Inhibitors: PPIs) มีคุณสมบัติในการช่วยลดกรดในกระเพาะอาหาร และช่วยบรรเทาอาการอาหารไม่ย่อยที่มีอาการแสบร้อนกลางอกร่วมด้วย
  • ยาเอช 2 แอนตาโกนิสต์ (H-2-Receptor Antagonists: H2RAs) มีคุณสมบัติในการช่วยลดกรดในกระเพาะอาหาร
  • ยาโพรไคเนติก (Prokinetics) มีคุณสมบัติในการช่วยป้องกันไม่ให้กระเพาะอาหารเกิดอาการระคายเคืองจากกรด

2. การใช้ยาแก้อาการคลื่นไส้อาเจียน

อาการอาหารไม่ย่อยอาจทำให้เกิดความรู้สึกอึดอัด แน่นท้อง จนนำไปสู่การเกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย การใช้ยาแก้คลื่นไส้อาเจียนจึงเป็นการรักษาอีกวิธีหนึ่ง ตัวอย่างยาแก้คลื่นไส้อาเจียน เช่น ยาไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) หรือยาไดเมนไฮดริเนต (Dimenhydrinate)

3. การใช้ยาปฏิชีวนะ

การใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น  ยาอะม็อกซี่ซิลิน (Amoxicillin) ยาเมโทรนิดาโซล (Metronidazole) หรือยาคลินดามัยซิน (Clindamycin) จะใช้รักษาผู้ที่มีอาการอาหารไม่ย่อยจากการติดเชื้อแบคทีเรียเอชไพโลไร โดยในการใช้ยาปฏิชีวนะ ผู้ป่วยจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัดเสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพจากการใช้ยา

4. การปรับยารักษา

หากผู้ป่วยมีอาการอาหารไม่ย่อยที่เป็นผลข้างเคียงมาจากการใช้ยาบางชนิด ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์เพื่อปรับการใช้ยา เลิกใช้ยา หรือใช้ยาตัวอื่นทดแทนยาที่กำลังรับประทานอยู่ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการอาหารไม่ย่อยขึ้นอีก

นอกจากนี้ ในกรณีของอาการอาหารไม่ย่อยที่เกิดจากปัญหาสุขภาพอื่น ๆ แพทย์จะพิจารณารักษาตามอาการและความรุนแรงของโรค เช่น การผ่าตัดในกรณีที่มีความผิดปกติของอวัยวะภายในระบบย่อยอาหารและไม่สามารถรักษาด้วยวิธีการอื่นได้ หรือการทำเคมีบำบัดและรังสีบำบัดในผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็ง

ภาวะแทรกซ้อนของอาหารไม่ย่อย

อาการอาหารไม่ย่อยอาจรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย เช่น รู้สึกอึดอัดไม่สบายตัว ทำให้รับประทานได้น้อยลง หรือทำให้ประสิทธิภาพในการเรียนหรือการทำงานลดลงด้วย แต่โดยทั่วไปอาการอาหารไม่ย่อยมักไม่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย

อย่างไรก็ตาม หากอาการอาหารไม่ย่อยเกิดจากสาเหตุที่เป็นปัญหาสุขภาพรุนแรง อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้ เช่น

1. ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร

อาการอาหารไม่ย่อยอาจเกิดจากการมีกรดในกระเพาะมากเกินไปจนทำให้เกิดแผลหรือความเสียหายแก่อวัยวะภายในระบบทางเดินอาหาร และอาจนำไปสู่การเกิดภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารในอวัยวะต่าง ๆ เช่น หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็ก

2. ภาวะหลอดอาหารตีบ

หากเยื่อบุหลอดอาหารได้รับความเสียหายจากกรดไหลย้อนเพราะอาหารไม่ย่อยเป็นเวลานาน ๆ อาจทำให้เกิดรอยแผลเป็นได้ จนทำให้หลอดอาหารตีบแคบลง โดยอาการที่อาจเกิดขึ้นหลังหลอดอาหารตีบคืออาการกลืนลำบาก มีอาหารติดอยู่ในลำคอ หรือเจ็บหน้าอก ซึ่งอาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดขยายทางเดินอาหาร

3. ภาวะกระเพาะอาหารส่วนปลายตีบ

เมื่อได้รับความเสียหายจากการทำปฏิกิริยาของกรดในกระเพาะเป็นเวลานาน กระเพาะอาหารส่วนปลายบริเวณที่เชื่อมไปยังลำไส้เล็กจะเกิดแผลเป็นจนทำให้อวัยวะส่วนดังกล่าวตีบแคบลง ซึ่งอาจทำให้อาหารไม่ถูกย่อยอย่างเหมาะสมตามที่ควรจะเป็น และทำให้เกิดการอาเจียนได้ ภาวะนี้อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดแก้ไขกระเพาะอาหารส่วนปลายให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสม

4. ภาวะหลอดอาหารอักเสบเรื้อรังบาร์เร็ต (Barrett's Oesophagus)

เมื่อมีอาการกรดไหลย้อนซ้ำ ๆ อาจทำให้เซลล์บริเวณหลอดอาหารส่วนปลายเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ แต่มักไม่มีอาการแสดงที่ปรากฏชัดเจน เพราะอาการที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นอาการของภาวะกรดไหลย้อน ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงของเซลล์ที่เกิดขึ้นนับเป็นการเปลี่ยนแปลงในระยะก่อนมะเร็ง ซึ่งมีความเสี่ยงเล็กน้อยที่จะพัฒนาโรคไปสู่การเป็นมะเร็งหลอดอาหาร โดยอาการป่วยนี้มักพบในผู้ป่วยสูงวัยเป็นส่วนใหญ่

5. ภาวะกระเพาะอาหารทะลุ

ภาวะกระเพาะอาหารทะลุเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้น้อยแต่ก็มีความรุนแรงและเป็นอันตราย เนื่องจากหากเนื้อเยื่อที่ผนังกระเพาะอาหารฉีกขาดจนทะลุ อาจทำให้แบคทีเรียในกระเพาะอาหารแพร่กระจายไปยังเนื้อเยื่อส่วนอื่น ๆ ภายในช่องท้อง และอาจเกิดการติดเชื้อลุกลามนำไปสู่ภาวะเยื่อบุช่องท้องอักเสบได้

การป้องกันการเกิดอาหารไม่ย่อย

ผู้ที่มีอาการอาหารไม่ย่อยสามารถปรับพฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิต เพื่อช่วยป้องกันการเกิดอาการอาหารไม่ย่อยได้ด้วยตนเอง ดังนี้

  • ควรรับประทานอาหารให้ตรงเวลาเสมอ
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารเร็วเกินไป
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง อาหารที่มีรสเผ็ดจัด หรืออาหารสำเร็จรูป
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คาเฟอีน น้ำอัดลม หรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของโซดา
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารในปริมาณที่มากเกินไป โดยแบ่งปริมาณอาหารออกเป็นมื้อเล็ก ๆ หลาย ๆ มื้อ แทนการรับประทานอาหารปริมาณมากในมื้อเดียว
  • ควรเข้านอนตอนท้องว่าง และไม่รับประทานอาหารอย่างน้อย 3 ชั่วโมงก่อนเข้านอน
  • ไม่สูบบุหรี่หรือเลิกสูบบุหรี่ 
  • ควบคุมให้มีน้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม หรือควรลดน้ำหนักหากมีภาวะน้ำหนักเกินหรือภาวะอ้วน
  • ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอ เพื่อช่วยกระตุ้นให้อวัยวะภายในระบบย่อยอาหารให้มีสุขภาพดีและสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ปวด เช่น ยาแอสไพริน ยาไอบูโพรเฟน ยานาพรอกเซน และยาที่อาจมีผลข้างเคียงต่อระบบย่อยอาหารในระยะยาว หรือปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการใช้ยาและการปรับยา
  • เรียนรู้วิธีรับมือกับความเครียดอย่างเหมาะสม โดยการหาวิธีผ่อนคลาย เช่น นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เดินทางท่องเที่ยว ดูหนังฟังเพลงเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ หรือการทำสมาธิ

นอกจากนี้ อารมณ์ ความวิตกกังวล และความเครียด อาจทำให้เกิดอาการอาหารไม่ย่อยได้เช่นกัน ซึ่งแพทย์อาจรักษาปัญหาเหล่านี้ด้วยการให้ผู้ป่วยรับประทานยาต้านเศร้า (Antidepressants) และยาระงับอาการวิตกกังวล (Anti-anxiety) รวมถึงอาจแนะนำให้ผู้ป่วยเข้ารับการบำบัดทางจิตวิทยา เพื่อหาทางออกของปัญหาภายใต้คำแนะนำและการดูแลของผู้เชี่ยวชาญด้วย