ปวดท้องตรงสะดือ 11 สาเหตุที่เป็นไปได้และวิธีรักษา

ปวดท้องตรงสะดือ เป็นอาการปวดที่รอบสะดือบริเวณกลางหน้าท้อง ซึ่งอาจมีอาการปวดแปลบ หรือปวดตื้อ ๆ อย่างต่อเนื่อง หรือมีลักษณะเป็น ๆ หาย ๆ โดยอาการจะขึ้นอยู่สาเหตุที่ทำให้ปวดท้องตรงสะดือ ซึ่งอาจเกิดได้จากอาการเจ็บป่วยทั่วไปอย่างอาหารไม่ย่อย ท้องผูก การตั้งครรภ์ ไปจนถึงโรคร้ายแรงที่ควรได้รับการรักษา

อาการปวดท้องตรงสะดืออาจดีขึ้นได้เองหลังจากปรับพฤติกรรม และใช้ยาที่หาซื้อได้เอง แต่หากอาการไม่ดีขึ้นหรือรุนแรงมาก อาจต้องได้รับการรักษาด้วยยาที่แพทย์สั่งจ่าย และการผ่าตัด หากมีอาการปวดท้องตรงสะดืออย่างเฉียบพลัน รุนแรง หรือไม่หายขาด ผู้ป่วยควรสังเกตอาการตัวเองและไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา

ปวดท้องตรงสะดือ 11 สาเหตุที่เป็นไปได้และวิธีรักษา

สาเหตุที่ทำให้ปวดท้องตรงสะดือ และวิธีรักษา

ปวดท้องตรงสะดือเกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งแต่ละสาเหตุมีวิธีรักษาที่แตกต่างกัน เช่น

1. อาหารไม่ย่อย

อาหารไม่ย่อยเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยของอาการปวดท้องตรงสะดือ โดยทำให้เกิดอาการปวดท้องแบบจุกเสียดแน่นท้องบริเวณใกล้สะดือ  และปวดแสบร้อนบริเวณใต้กระดูกหน้าอกลงมา และอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ท้องอืด รู้สึกอิ่มก่อนจะรับประทานอาหารเสร็จ และคลื่นไส้

อาการท้องอืดมักเกิดขึ้นหลังจากรับประทานอาหาร โดยเฉพาะการรับประทานอาหารเร็วเกินไป การรับประทาน อาหารที่มีรสเผ็ดจัด มีความเป็นกรดและมีไขมันสูง เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน แอลกอฮอล์ และน้ำอัดลม รวมทั้งพฤติกรรมอื่น ๆ เช่น การสูบบุหรี่ ความเครียด และการใช้ยา เช่น ยากลุ่ม NSAIDs และยาปฏิชีวนะ

การรักษาอาการอาหารไม่ย่อยทำได้โดยการปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่กระตุ้นให้เกิดอาการ จัดการกับความเครียด งดสูบบุหรี่ และรับประทานยาลดกรด เช่น อะลูมิเนียม ไฮดรอกไซด์ (Aluminium Hydroxide) ยาโปรตอน ปั๊ม อินฮิบิเตอร์ (Proton Pump Inhibitors: PPIs) 

2. ท้องผูก

ท้องผูกคือการขับถ่ายน้อยกว่า 2–3 ครั้งต่อสัปดาห์ มักทำให้เกิดอาการปวดแปลบอย่างเฉียบพลันที่บริเวณสะดือและท้องน้อย ถ่ายลำบาก รู้สึกเจ็บขณะขับถ่าย เนื่องจากอุจจาระแข็ง และอาจรู้สึกเหมือนขับถ่ายไม่สุด โดยท้องผูกอาจเกิดได้จากสาเหตุต่าง ๆ ได้แก่

  • พฤติกรรม เช่น รับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย ดื่มน้ำน้อย ไม่ออกกำลังกาย และกลั้นอุจจาระบ่อย
  • ปัจจัยด้านสุขภาพ เช่น การตั้งครรภ์ และผู้สูงอายุ
  • โรคประจำตัว เช่น โรคลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome) ไฮโปไทรอยด์ (Hypothyroidism) โรคเบาหวาน โรคถุงผนังลำไส้อักเสบ (Diverticulitis) และโรคแพ้ภูมิตัวเอง (Lupus)
  • การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs ยาต้านเศร้า ยาลดกรด ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง และยาแก้แพ้

อาการท้องผูกรักษาได้ด้วยการรับประทานอาหารที่มีกากใยสูง ดื่มน้ำให้เพียงพอ ออกกำลังกาย และใช้ยาที่ออกฤทธิ์ช่วยระบายภายใต้การดูแลของแพทย์ ผู้ที่มีโรคประจำตัวและใช้ยาที่ทำให้เกิดอาการท้องผูก ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำในการรักษา

3. ไส้เลื่อนบริเวณสะดือ (Umbilical Hernias)

ไส้เลื่อนเป็นภาวะที่อวัยวะภายในส่วนหนึ่งเคลื่อนตัวผ่านช่องเปิดบริเวณผนังหน้าท้องที่ความหย่อนยาน พบบ่อยบริเวณขาหนีบ โดยไส้เลื่อนที่สะดือ คือภาวะที่ลำไส้เคลื่อนตัวออกมาติดคาอยู่ที่กลางหน้าท้อง ทำให้เห็นเป็นก้อนนูนบริเวณสะดือ ซึ่งอาจทำให้ปวดท้องตรงสะดือและท้องน้อย โดนเฉพาะเวลาไอ จาม ยกของหนัก และออกกำลังกาย

ไส้เลื่อนบริเวณสะดือพบได้ทั้งในเด็กเล็กและผู้ใหญ่ ซึ่งอาการอาจดีขึ้นได้เองเมื่อเด็กอายุประมาณ 1–2 ปี ส่วนในผู้ใหญ่ แพทย์มักแนะนำให้ผ่าตัดด้วยวิธีส่องกล้อง หรือผ่าตัดแบบเปิด เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน

4. การตั้งครรภ์

การตั้งครรภ์โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 2 อาจทำให้เกิดอาการปวดท้องตรงสะดือ ซึ่งเกิดจากเอ็นที่ยึดระหว่างมดลูกและเชิงกราน (Round Ligaments) ยืดขยายเพื่อรองรับการเติบโตของทารกในครรภ์ ซึ่งทำให้รู้สึกปวดแปลบที่ท้องบริเวณรอบสะดืออย่างรุนแรงและเฉียบพลัน และจะปวดมากขึ้นเมื่อเปลี่ยนท่าทางกะทันหัน ไอ และจาม

อาการปวดนี้มักเกิดขึ้นช่วงสั้น ๆ แล้วหายไป ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ แต่กรณีที่มีอาการปวดรุนแรงมากและเป็นเวลานานโดยที่อาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษา

5. โรคโครห์น (Crohn’s Disease)

โรคโครห์นคือการอักเสบของเยื่อบุในระบบทางเดินอาหารเรื้อรัง โดยพบได้ทุกส่วนของอวัยวะในระบบทางเดินอาหาร แต่มักเกิดขึ้นที่ลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ ทำให้เกิดอาการปวดและบีบเกร็งที่ท้องบริเวณสะดือไปจนถึงท้องน้อย อาการปวดอาจรุนแรงเป็นช่วง ๆ จากนั้นอาการจะทุเลาลงหรือไม่มีอาการเลยเป็นเวลาหลายสัปดาห์หรือหลายปี อาการปวดสามารถกำเริบขึ้นอีกได้ตลอดเวลา

นอกจากอาการปวดท้อง ผู้ป่วยอาจมีอาการท้องเสีย ท้องผูก มีไข้ อ่อนเพลีย ไม่อยากอาหาร และถ่ายเป็นเลือด สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคโครห์นยังไม่แน่ชัด แต่อาจเกิดจากพันธุกรรม ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน การสูบบุหรี่จัด เป็นต้น 

ในปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้ การรักษาจะช่วยลดการอักเสบภายในช่องท้อง เช่น การใช้ยาสเตียรอยด์ และยากดภูมิคุ้มกัน ควบคู่กับการปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร งดสูบบุหรี่ และหากอาการรุนแรง เช่น ลำไส้ทะลุ หรือมีเลือดออกภายในระบบทางเดินอาหาร แพทย์อาจให้เข้ารับการผ่าตัด เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน

6. ไส้ติ่งอักเสบ (Appendicitis)

ไส้ติ่งอักเสบเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น มีเศษอุจจาระที่แข็งตัวหรือเนื้องอกอุดตันภายในไส้ติ่ง การติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย และปรสิตในระบบทางเดินอาหาร ทำให้เกิดอาการปวดเฉียบพลันบริเวณรอบสะดือและท้องน้อยด้านขวา โดยจะปวดมากขึ้นเมื่อไอหรือขยับตัวเร็ว ๆ และมีอาการอื่น เช่น อาหารไม่ย่อย คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก และมีไข้ 

หากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด อาจทำให้อาการรุนแรง เช่น ไส้ติ่งบวมขึ้น เกิดการขาดเลือด เน่าและแตกออก ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิต

7. โรคกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กอักเสบ (Gastroenteritis)

โรคกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กอักเสบเกิดจากการติดเชื้อไวรัส เช่น โนโวไวรัส (Norovirus) จากการสัมผัสสิ่งของหรือใกล้ชิดผู้ป่วยติดเชื้อ หรือแบคทีเรีย เช่น ซาลโมเนลลา (Salmonella) และอีโคไล (E. Coli) ซึ่งปนเปื้อนในอาหารและเครื่องดื่ม ทำให้เกิดอาการปวดเกร็งบริเวณกลางหน้าท้องและท้องน้อยเป็นพัก ๆ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย

โดยปกติแล้ว อาการอาจหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์ ผู้ป่วยควรพักผ่อนมาก ๆ และดื่มน้ำหรือเครื่องดื่มเกลือแร่ (ORS) ให้เพียงพอ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ หากติดเชื้อรุนแรง ผู้ป่วยอาจต้องไปพบแพทย์เพื่อรับยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียหรือปรสิต

8. แผลในกระเพาะอาหาร

แผลในกระเพาะอาหารอาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเอชไพโลไร (H. Pylori) การใช้ยาแก้ปวด เช่น แอสไพริน และไอบูโพรเฟนเป็นเวลานาน ซึ่งทำให้เกิดอาการปวดท้องบริเวณรอบสะดือและอาจปวดขึ้นไปถึงบริเวณหน้าอก ร่วมกับอาการอื่น เช่น ท้องอืด เรอ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ และอาเจียน

วิธีรักษาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุของการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร เช่น การใช้ยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ยา Proton Pump Inhibitors ยา H2-Receptor Antagonists เพื่อลดการสร้างกรดและรักษาแผลในกระเพาะอาหาร รวมทั้งการผ่าตัดในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง

9. ตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis)

ตับอ่อนอักเสบเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น นิ่วในถุงน้ำดี การดื่มสุรามากเกินไป การติดเชื้อไวรัส เนื้องอกที่ตับอ่อน และการใช้ยาบางชนิด ซึ่งอาการตับอ่อนอักเสบมักเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ทำให้ปวดกลางหน้าท้องอย่างรุนแรงและอาจปวดลามไปถึงหลัง คลื่นไส้ อาเจียน และมีไข้ ซึ่งแพทย์จะรักษาด้วยการให้สารน้ำผ่านทางหลอดเลือดและให้ยาแก้ปวด หากตับอ่อนอักเสบจากนิ่วในถุงน้ำดี อาจต้องผ่าตัดเอานิ่วหรือถุงน้ำดีออก

10. ลำไส้อุดตัน

ลำไส้อุดตันเกิดจากการมีสิ่งอุดตันในลำไส้ใหญ่หรือลำไส้เล็ก เช่น อุจจาระตกค้าง ไส้เลื่อน พังผืดจากการผ่าตัด โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง โรคถุงผนังลำไส้อักเสบ และมะเร็งลำไส้ใหญ่ ทำให้ปวดท้องส่วนบนและบริเวณสะดือ ท้องอืด ไม่สามารถผายลมได้ อาเจียน ท้องผูก และท้องเสีย

การรักษาลำไส้อุดตันจะแตกต่างกันตามสาเหตุ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาที่โรงพยาบาล โดยแพทย์อาจให้สารน้ำผ่านทางหลอดเลือด ใส่ท่อเพื่อระบายปัสสาวะ ใส่สายยางผ่านทางจมูกเพื่อดูดเอาอากาศและของเหลวออกจากกระเพาะอาหาร ให้ยาแก้ปวดและยาคลื่นไส้ และการผ่าตัด

11. ภาวะลำไส้ขาดเลือด (Mesenteric Ischemia)

ภาวะลำไส้ขาดเลือดเกิดจากการที่หลอดเลือดแดงในช่องท้องตีบแคบหรืออุดตัน ทำให้ขาดเลือดไหลเวียนไปสู่ลำไส้เล็ก ซึ่งเกิดขึ้นได้อย่างเฉียบพลันและเรื้อรัง โดยอาจเกิดจากการอุดตันของลิ่มเลือด หรืออาจเกิดจากการมีไขมัน ที่เรียกว่าพลัค (Plaque) สะสม ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis) จึงไม่สามารถส่งเลือดไปเลี้ยงลำไส้ได้

ภาวะลำไส้ขาดเลือดทำให้เกิดอาการปวดบริเวณกลางหน้าท้องและท้องส่วนบนอย่างรุนแรง กรณีที่มีอาการเรื้อรังมักเกิดอาการปวดหลังรับประทานอาหารประมาณ 30 นาที และอาจมีอาการอื่น เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ท้องผูก และถ่ายเป็นเลือด หากมีอาการลำไส้ขาดเลือดเฉียบพลันควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการผ่าตัดโดยเร็วที่สุด เพราะอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้

ปวดท้องตรงสะดือเกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งแต่ละสาเหตุมีอาการและวิธีรักษาที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม หากมีอาการปวดท้องตรงสะดือเรื้อรัง หรือมีอาการปวดรุนแรง และเฉียบพลัน พร้อมกับอาการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์

  • มีไข้
  • ท้องอืด แต่ผายลมไม่ออก
  • ท้องบวม กดแล้วรู้สึกเจ็บ
  • อาเจียน หรือท้องเสียไม่หยุด
  • อาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายอุจจาระเป็นเลือด
  • เวียนศีรษะ เป็นลม
  • น้ำหนักตัวลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • ตัวเหลือง