ข้อมูลควรรู้ก่อนส่องกล้องลำไส้ใหญ่

ส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) เป็นการใช้กล้องส่องตรวจชนิดพิเศษ (Colonoscope) ที่มีลักษณะเป็นท่อขนาดเท่านิ้วมือ ยืดหยุ่นได้ มีกล้องและแสงไฟติดอยู่บริเวณปลายท่อสอดเข้าทางทวารหนัก เพื่อตรวจหาหรือรักษาความผิดปกติภายในลำไส้ใหญ่และส่วนปลายของลำไส้เล็ก

การตรวจด้วยวิธีนี้เหมาะสำหรับการหาความผิดปกติในลำไส้ใหญ่ที่อาจเป็นสาเหตุของอาการปวดท้อง เลือดออกในลำไส้ อาการท้องผูกเรื้อรัง หรืออาการท้องร่วงเรื้อรัง โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และสาเหตุของความผิดปกติต่าง ๆ เช่น การถ่ายเป็นเลือด การมีเลือด หนองหรือเมือกในอุจจาระ การปวดท้องอย่างไม่ทราบสาเหตุหรือการทำงานอย่างผิดปกติของลำไส้ใหญ่ เป็นต้น

ข้อมูลควรรู้ก่อนส่องกล้องลำไส้ใหญ่

บทความนี้จึงอยากชวนทุกคนเข้ามาทำความรู้จักกับประโยชน์ ความสำคัญของการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ และรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการตรวจ เพื่อให้ผู้ป่วยเตรียมตัวก่อนส่องกล้องลำไส้ใหญ่ได้ดียิ่งขึ้น

ก่อนส่องกล้องลำไส้ใหญ่ควรเตรียมตัวอย่างไร

ผู้ป่วยที่จะส่องกล้องลำไส้ใหญ่ควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากกำลังตั้งครรภ์หรือมีโรคประจำตัว เช่น โรคปอด โรคหัวใจ และอาการแพ้ยาชนิดต่าง ๆ เป็นต้น รวมทั้งควรแจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยาที่เพิ่งรับประทานภายในช่วง 1 สัปดาห์ก่อนทำการส่องกล้องลำไส้ใหญ่โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และผู้ที่รับประทานยาหรืออาหารเสริมที่มีส่วนผสมของธาตุเหล็ก 

นอกจากนี้ยังมีการเตรียมตัวเพื่อช่วยให้การส่องกล้องลำไส้ใหญ่มองเห็นได้ชัดเจนขึ้น โดยแพทย์จะให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารย่อยง่ายหรืออาหารอ่อนเป็นเวลา 3 วันก่อนเข้ารับการตรวจ รับประทานอาหารเหลวใส (Clear Liquid Diet) ก่อนทำการตรวจ 1–3 วัน หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีสีแดงเพราะในระหว่างการตรวจแพทย์อาจเห็นเป็นเลือดและทำให้ผลการตรวจคลาดเคลื่อนได้ ในผู้ป่วยบางรายอาจต้องงดรับประทานอาหารและเครื่องดื่มตั้งแต่ช่วงหัวค่ำ 1 วันก่อนการตรวจ

ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ป่วยยังต้องรับประทานยาระบายในรูปแบบยาเม็ดหรือยาน้ำก่อนการส่องกล้องลำไส้ใหญ่เป็นเวลา 1 คืน หรืออาจให้รับประทานทั้งในคืนก่อนการตรวจและในตอนเช้าของการตรวจ แต่สำหรับผู้ป่วยบางรายแพทย์อาจแนะนำให้สวนทวารหนัก เพื่อชำระล้างลำไส้ใหญ่ในวันที่เข้ารับการส่องกล้องลำไส้ใหญ่

ส่องกล้องลำไส้ใหญ่ทำอย่างไรบ้าง

โดยทั่วไปแล้ว การส่องกล้องลำไส้ใหญ่เป็นการตรวจแบบผู้ป่วยนอก ซึ่งแพทย์จะให้ยาระงับความรู้สึก (Sedative) ก่อนการส่องกล้องเพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลายและง่วงขณะทำการตรวจ รวมทั้งไม่อาจจำขั้นตอนต่าง ๆ ระหว่างกระบวนการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ได้

ในระหว่างขั้นตอนส่องกล้องลำไส้ใหญ่ แพทย์จะตรวจโดยสวมถุงมือยางและให้ผู้ป่วยนอนตะแคงบนเตียงตรวจ จับให้เข่าชิดหน้าอกเพื่อให้ลำไส้ใหญ่อยู่ในองศาที่เหมาะสม จากนั้นจึงใช้นิ้วสอดเข้าไปเพื่อตรวจบริเวณลำไส้ตรง ก่อนจะสอดกล้องส่องตรวจชนิดพิเศษเข้าไป โดยแพทย์จะชโลมเจลหล่อลื่นกับอุปกรณ์ดังกล่าวเพื่อให้อุปกรณ์เข้าสู่ลำไส้ตรงได้ง่ายขึ้น

เมื่อกล้องส่องตรวจชนิดพิเศษอยู่ในตำแหน่งที่ต้องการแล้ว แพทย์จะขยายลำไส้ใหญ่ด้วยการเป่าลมหรือคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อให้เห็นภาพภายในลำไส้ใหญ่ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งภาพที่ได้จะถูกส่งไปยังมอนิเตอร์และนำไปใช้ในการวินิจฉัย โดยในระหว่างส่องกล้องลำไส้ใหญ่ แพทย์อาจตัดติ่งเนื้อขนาดเล็กหรือเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อ เพื่อนำมาใช้วินิจฉัยความผิดปกติในห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม

หลังการตรวจผนังลำไส้ใหญ่อย่างละเอียด แพทย์จะค่อย ๆ นำกล้องส่องตรวจชนิดพิเศษออก โดยรวมแล้วอาจใช้เวลาในการตรวจประมาณ 15 นาทีถึง 1 ชั่วโมง จากนั้นจึงค่อยพูดคุยกับผู้ป่วยถึงผลที่ได้หลังส่องกล้องลำไส้ใหญ่ อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยรู้สึกตัวระหว่างการส่องกล้องอาจจะไม่สบายท้อง เนื่องจากจะรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของลำไส้เมื่อแพทย์สอดอุปกรณ์เข้าไปหรือดันอุปกรณ์เข้าไปลึก แต่วิธีที่จะช่วยให้ผู้ป่วยผ่อนคลายนั้นได้แก่ การหายใจเข้าลึกและค่อย ๆ ผ่อนลมหายใจออกทางปาก 

ความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนของการส่องกล้องลำไส้ใหญ่

การตรวจด้วยวิธีส่องกล้องลำไส้ใหญ่เป็นวิธีที่ปลอดภัย แต่ก็อาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ในระหว่างการตรวจได้ เช่น

  • มีเลือดปนกับอุจจาระเป็นเวลา 1–2 วันหลังการตรวจ เนื่องจากการตัดติ่งเนื้อหรือเนื้อเยื่อภายในลำไส้ใหญ่ในระหว่างการตรวจ
  • ผนังลำไส้ตรงหรือลำไส้ใหญ่ฉีกขาด เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้น้อย แต่หากผู้ป่วยมีภาวะดังกล่าวเกิดขึ้นก็จำเป็นจะต้องเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัดเนื่องจากอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
  • เกิดการแพ้ยาสลบ เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้น้อย แต่อาจส่งผลให้มีอาการหายใจลำบาก เส้นเลือดในสมองแตก หัวใจขาดเลือดหรือเสียชีวิต  

ทั้งนี้แพทย์และพยาบาลจะต้องแจ้งให้ผู้ป่วยทราบถึงรายละเอียดของความเสี่ยง และสัญญาณอาการที่ควรมาพบแพทย์หรืออาการที่ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วนที่อาจเกิดขึ้นได้หลังการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ ซึ่งผู้ป่วยควรทำความเข้าใจข้อมูลดังกล่าวอย่างละเอียดเพื่อความปลอดภัยของตนเอง

แม้ว่าการส่องกล้องลำไส้ใหญ่จะช่วยให้ตรวจพบความผิดปกติในลำไส้ใหญ่และเริ่มรักษาก่อนที่อาการจะรุนแรงขึ้นได้ทัน แต่การดูแลรักษาลำไส้ใหญ่ให้มีสุขภาพดีอยู่เสมอก็เป็นเรื่องสำคัญที่เราทุกคนไม่ควรมองข้าม ซึ่งการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างอาหารอุดมไฟเบอร์ อาหารที่มีโพรไบโอติกและพรีไบโอติก หรือเนื้อสัตว์ที่ไม่มีไขมันหรือมีไขมันแทรกน้อย การรับประทานอาหารให้ตรงเวลา และการหมั่นจัดการความเครียดที่เกิดขึ้นก็เป็นวิธีที่จะช่วยให้ลำไส้ใหญ่มีสุขภาพดีได้ไม่ยาก