อาการมะเร็งตับอ่อน และสัญญาณสำคัญที่ไม่ควรเพิกเฉย

หากเคยปวดท้องอย่างต่อเนื่อง เบื่ออาหาร น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือดีซ่าน นั่นอาจเป็นอาการมะเร็งตับอ่อนที่คุณไม่เคยคาดคิดมาก่อน โดยมะเร็งตับอ่อนนั้นเป็นเนื้องอกร้ายที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ในตับอ่อนและเป็นมะเร็งชนิดที่รักษาได้ยาก โดยในระยะแรกผู้ป่วยมักไม่แสดงอาการออกมา แต่หากผู้ป่วยเกิดความผิดปกติร่วมกับมีอาการอื่น ๆ ดังข้างต้นเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย เพราะมันอาจเป็นสัญญาณเตือนของมะเร็งตับอ่อนหรือปัญหาสุขภาพนอกเหนือจากนี้ได้

2089 อาการมะเร็งตับอ่อน rs

มะเร็งตับอ่อนเป็นอย่างไร ?

มะเร็งตับอ่อนเกิดขึ้นภายในเนื้อเยื่อของตับอ่อน ซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญที่อยู่บริเวณด้านหลังของกระเพาะอาหาร โดยยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่ามะเร็งชนิดนี้มีสาเหตุมาจากอะไร แต่ก็มีปัจจัยเสี่ยงหลายประการ เช่น โรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง โรคเบาหวาน ครอบครัวมีประวัติเป็นโรคทางพันธุกรรม โรคอ้วน การสูบบุหรี่ การอยู่ในวัยผู้สูงอายุ เป็นต้น ทั้งนี้ กว่าครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยมะเร็งตับอ่อนรายใหม่ทั้งหมดมักมีอายุ 75 ปีขึ้นไป และพบได้น้อยในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี

สัญญาณอาการมะเร็งตับอ่อน

ผู้ป่วยมะเร็งตับอ่อนในระยะเริ่มแรกมักไม่มีอาการใด ๆ แสดงออกมา จึงมักทำให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้ยาก อย่างไรก็ตาม อาจมีอาการมะเร็งตับอ่อนที่เกิดขึ้นในช่วงแรก ๆ และอาจสังเกตได้ ดังนี้

  • ปวดบริเวณหลังหรือท้อง ซึ่งอาจปวดแบบเป็น ๆ หาย ๆ ในตอนแรก และมักอาการแย่ลงเมื่อล้มตัวนอนหรือหลังจากรับประทานอาหาร
  • เบื่ออาหารหรือน้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • มีอาการดีซ่าน ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้ปัสสาวะมีสีเข้ม อุจจาระมีสีซีด และคันตามผิวหนัง

นอกจากนี้ มะเร็งตับอ่อนอาจทำให้เกิดอาการอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น

  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • การขับถ่ายเปลี่ยนแปลงไป อย่างท้องเสียหรือท้องผูก
  • มีไข้และหนาวสั่น
  • ท้องอืด อาหารไม่ย่อย
  • เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน
  • อ่อนเพลีย
  • มีภาวะซึมเศร้า

ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ป่วยมะเร็งตับอ่อนอาจมีอาการของโรคเบาหวานด้วย เนื่องจากเนื้องอกที่เกิดขึ้นส่งผลให้ตับอ่อนไม่สามารถผลิตอินซูลินได้ตามปกติ ซึ่งหากผู้ป่วยมีอาการดังกล่าวเกิดขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจให้แน่ชัดว่าตนเองเสี่ยงเป็นมะเร็งตับอ่อนหรือไม่

ป้องกันมะเร็งตับอ่อนได้อย่างไร ?

แม้โรคนี้จะยังไม่มีวิธีป้องกันที่แน่ชัด แต่เราอาจลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งตับอ่อนได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างของตนเอง เช่น เลิกสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ ควบคุมน้ำหนัก เลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ หรือหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารเคมีบางชนิดที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งตับอ่อนได้ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังสามารถเข้ารับการปรึกษาทางพันธุศาสตร์หากคนในครอบครัวเคยมีประวัติป่วยเป็นมะเร็งตับอ่อนมาก่อน โดยผู้เชี่ยวชาญจะประเมินความเสี่ยงจากประวัติสุขภาพของคนในครอบครัว และอาจแนะนำให้ผู้ที่มาปรึกษาเข้ารับการตรวจทางพันธุกรรมในกรณีที่จำเป็น ซึ่งช่วยให้ทราบถึงความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งตับอ่อนหรือมะเร็งชนิดอื่น ๆ ได้